กลายเป็นเรื่องการเมืองไปแล้วสำหรับโครงการของรัฐบาลที่จะเปิดให้คนต่างชาติเป็นเจ้าของที่ดินคนละหนึ่งไร่ แลกกับการลงทุนมูลค่า 40 ล้านบาท หรือกว่า 1 ล้านดอลลาร์นิดๆ เมื่อเทียบกับอัตราแลกเปลี่ยนปัจจุบันที่ค่าเงินบาทอ่อนตัว
เป็นการ “ขายชาติ” อย่างที่ถูกฝ่ายไม่เห็นด้วยกล่าวหาหรือไม่ รัฐบาลพยายามให้โฆษกออกมาแจกแจงแม่น้ำทั้ง 5 อ้างว่าเป็นหนทางดึงเงินทุนจากต่างประเทศเข้า
เงินเพียง 40 ล้านบาทให้เอามาลงทุนอย่างน้อย 3 ปี ถือว่ากระจอกมาก ซื้อบ้านในโครงการหรูยังไม่ได้ และมีความจำเป็นอย่างไรที่จะต้องมีบ้านพื้นที่ 1 ไร่ ขณะที่โครงการบ้านหรูปัจจุบันมูลค่า 60-70 ล้านบาทยังมีพื้นที่แค่ 200 ตารางวา ไม่ถึง 1 ไร่
เอาเงินมากินดอกเบี้ยซื้อพันธบัตรแค่ 3 ปี ก็ได้คืน แต่ได้ที่ดินถาวร ขนาด 1 ไร่มากสำหรับครอบครัวจากชมพูทวีป สามารถแบ่งก่อสร้างให้เป็นชุมชนมีคนอยู่อาศัยมากถึง 40-50 คน แถมยังมีพื้นที่สำหรับเลี้ยงวัวและแพะนมได้อีก
เรื่องนี้ยังเป็นประเด็นถกเถียงอีกนาน เป็นเรื่องต่อสู้กันทางการเมืองไปแล้ว ยิ่งมีข้อกล่าวหาว่า “ขายชาติ” ตามรูปแบบการเมืองที่ใส่ไคล้ด้วยแล้ว ถือว่ารุนแรง
รัฐบาลเคยให้การส่งเสริมการลงทุน แลกกับการได้กรรมสิทธิ์ถือครองที่ดิน แต่ได้ผลไม่เต็มที่ พ่อค้าธรรมดาที่มีเจตนาอยู่ในประเทศไทยก็ทำมาค้าขาย หาวิธีอย่างอื่นเช่นสมรสกับหญิงไทย สามารถซื้อที่ดินได้ด้วยวิธีนิติกรรมอำพราง
นักธุรกิจภาคอสังหาริมทรัพย์ย่อมตอบรับนโยบายรัฐบาลเพราะจะกระตุ้นตลาดที่ซบเซา มีการทิ้งเงินดาวน์สำหรับคอนโดฯ โดยกลุ่มผู้ซื้อจากจีนที่เผ่นกลับประเทศช่วงการระบาดของโควิด-19 ทั้งยังมีคนขายบ้านทำให้ตลาดบ้านมือ 2 เพิ่มจำนวนอีก
คนไม่มีกำลังซื้อบ้านใหม่ หรือบ้านมือสอง โครงการใหม่ไม่เกิด เงินทุนจมลงไปในโครงการที่สร้างไม่เสร็จ หากจัดการไม่ได้ จะส่งผลกระทบต่อสถาบันการเงินผู้ให้กู้
สภาวะปัจจุบันประชาชนไม่สามารถกู้เงินซื้อบ้านได้ ถ้าถูกประเมินว่าไม่มีความมั่นคงด้านรายได้ ธนาคารไม่อยากปล่อยกู้ให้เป็นหนี้เสีย การให้กู้ซื้อบ้านไม่ก่อให้เกิดผลผลิตทางเศรษฐกิจ ทำให้พัวพันแยกไม่ออกว่าจะไปอย่างไรกันแน่
ยิ่งโครงการนี้มีเป้าหมายเป็นพวกเกษียณอายุ ต้องการเข้ามาใช้ชีวิตในประเทศไทย ก็ยิ่งไม่เป็นการเพิ่มผลผลิต เพราะคนเกษียณส่วนใหญ่มีข้อจำกัดด้านการเงิน คนอายุมากไม่มีความต้องการสินค้าอุปโภคบริโภค ไม่ส่งผลต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจ
เอาผู้สูงอายุมาเลี้ยงดูในประเทศ เท่ากับเป็นการสูญเปล่าของทรัพยากรธรรมชาติ ที่เคยมีก็เป็นชุมชนอยู่ในกลุ่มพวกเดียวกัน เงินหมุนเวียนในสังคมเดียวกัน ประเทศไม่ได้ประโยชน์อะไร ต่างจากการลงทุนด้านธุรกิจ
การเอาเงินมาจมในการซื้อพันธบัตร รัฐบาลที่มีปัญหาด้านรายได้ ถังแตกอาจได้ประโยชน์บ้าง เพียงแค่รายละ 40 ล้านบาท ไม่มีความหมายอะไร
รัฐบาลหวังว่าจะมีคนแห่มาซื้อที่ดินเป็นหมื่นเป็นแสนรายเช่นนั้นหรือ และคำนึงถึงผลกระทบที่จะทำให้ที่ดินราคาแพง เกินขีดความสามารถของคนไทยหรือไม่
รัฐบาลได้ส่งเสริมการลงทุน ทั้งพื้นที่อีอีซี ภาคตะวันออก แต่ไม่สามารถดึงนักลงทุนได้เพราะปัญหาค่าแรงแพงกว่าเวียดนามถึง 2 เท่า แม้แต่นักลงทุนจากไทยก็ย้ายไปลาวหรือเวียดนาม ทำให้ขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศลดลง
การขาดการพัฒนาบุคลากรที่จำเป็น คุณภาพการศึกษา ไม่ทำให้ไทยอยู่ในการแข่งขันการลงทุนด้านไฮเทคเพราะขาดแคลนแรงงานที่ภาคเอกชนต้องการ
การ “ขายที่ดิน” จึงสะท้อนให้เห็นสภาวะสิ้นคิดของผู้บริหารประเทศซึ่งมีเพียงแต่อำนาจ ขาดความรู้ วิสัยทัศน์ ความคิดริเริ่ม ขาดความเชื่อมโยงกับสถานการณ์โลกด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคมเพราะข้อจำกัดด้านภาษาอังกฤษ
แต่ละวันมีแต่อวดเก่ง โชว์ฟอร์มผู้นำในกลุ่มประชาชนระดับตลาดล่าง
ปัญหาของประเทศไทยอยู่ที่ผู้นำรัฐบาล ซึ่งนอกจากไม่มีความสามารถ ความรู้ทันโลกแล้ว ยังไม่สามารถหาคนดีมีฝีมือมาร่วมงานได้ คนเคารพตัวเอง มีเกียรติภูมิย่อมไม่อยากทำงานภายใต้บรรยากาศที่ด้อยสติปัญญา มีเอาตัวเองเป็นใหญ่
ดังนั้น ข้อกล่าวหาว่า “ขายชาติ” จึงเหมาะกับสภาพที่เป็นอยู่ของคนสิ้นคิด แต่ยังขอดันทุรังอยู่ในอำนาจ ไม่คิดว่าตัวเองนั้นเป็นวิกฤต ตัวถ่วงความเจริญของชาติ
มองดูเพื่อนบ้านในอาเซียน เว้นพม่า จะเห็นว่าแต่ละประเทศมีเป้าหมายการพัฒนา แต่ประเทศไทยแก้ปัญหาเอาตัวรอดแต่ละวัน ร้ายยิ่งกว่าแก้ผ้าเอาหน้ารอด
ชาวบ้านได้เห็นแต่ “จำอวดการเมือง” พวกสมุนบริวารในตำแหน่งเสนาบดีเดินตามก้นเจ้านายเป็นพรวน ตระเวนดูพื้นที่ ไม่ได้สร้างคุณประโยชน์แต่อย่างใด
ออกไปพบปะประชาชน ป้อนคำหวานสัญญาลมแล้งๆ พร้อมกับหายใจทิ้ง!
อยู่ไปแต่ละวัน ชาวบ้านไม่เห็นอนาคต พรรคการเมืองวุ่นอยู่กับการเลือกตั้ง หมายมั่นปั้นมือว่าจะได้เสียงข้างมากเพื่ออยู่ในฟากรัฐบาล ไม่มีใครอยากเป็นฝ่ายค้าน เพราะเห็นชัดอยู่แล้วในคณะปัจจุบันว่าอยู่ดีมีสุข ไม่อดอยากปากแห้ง
ประเทศไทยเสื่อมเสียเกียรติภูมิ กลายสภาพเป็นรัฐล้มเหลวเพราะกระบวนการยุติธรรมมีปัญหาด้านความน่าเชื่อถือ ทำกันอย่างไม่เกรงใจชาวบ้าน ประชาคมโลก
ปัญหาการทุจริต คอร์รัปชันเรื้อรัง เกาะกินประเทศทุกระดับมายาวนาน ผู้นำรัฐบาลประกาศว่าจะปราบอย่างจริงจัง สุดท้ายกลายเป็นเพียงผายลมสุนัขยามบ่าย