จั่วหัวแบบนี้ก็คงจะไม่ถูกใจใครหลายคน แต่วันศุกร์นี้ (30ก.ย.) ช่วงบ่ายสามก็จะรู้กันแล้วว่าลุงตู่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะอยู่หรือไป แม้ผมอ่านกฎหมายดูเจตนารมณ์ของคณะกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญจะมีความเห็นมาตลอดว่า น่าจะนับตั้งแต่เป็นนายกรัฐมนตรีตั้งแต่วันที่ 23 สิงหาคม 2557
ทั้งนี้ คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) บันทึกไว้ในหนังสือ “ความมุ่งหมายและคำอธิบายประกอบรายมาตราของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560” หน้า 275 อธิบายความมุ่งหมายของมาตรา 158 ไว้ตอนหนึ่งว่า...
“การกำหนดระยะเวลา 8 ปีไว้ก็เพื่อมิให้เกิดการผูกขาดอำนาจในทางการเมืองยาวเกินไปอันจะเป็นต้นเหตุเกิดวิกฤตทางการเมืองได้” มีคนบอกว่าที่เขียนไว้ตรงนี้เป็นการวางกับดักไว้สำหรับฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง
แต่ผมอยากฟันธงว่า ศาลรัฐธรรมนูญจะมีความเห็นต่างกับผม
นั่นคือผมเชื่อว่า ศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยว่า การนับวาระนายกรัฐมนตรีตามมาตรา 158 วรรค 4 ของรัฐธรรมนูญ 2560 นั้นน่าจะเริ่มจากรัฐธรรมนูญ 2560 ประกาศใช้ คือเริ่มนับในวันที่ 6 เมษายน 2560
วันก่อนคุยกับนักกฎหมายมหาชนท่านหนึ่งที่เคยร่วมร่างรัฐธรรมนูญมาแล้ว 2 ฉบับ แต่ไม่ได้ร่างฉบับ 2560 ท่านมีความเห็นว่า 8 ปีลุงตู่นับตั้งแต่รัฐธรรมนูญประกาศใช้ ดังนั้นวาระลุงตู่ยังเป็นได้อีก 2 ปีกว่าคือ จะครบ 8 ปีในปี 2568
แนวทางนี้มีนักกฎหมายที่เห็นตรงกันคือ สุรพล นิติไกรพจน์ สมคิด เลิศไพฑูรย์ วรเจตน์ ภาคีรัตน์ สดศรี สัตยธรรม
นักกฎหมายท่านนั้นอธิบายว่าที่รัฐธรรมนูญ มาตรา 264 เขียนไว้ว่า ให้คณะรัฐมนตรีที่บริหารราชการแผ่นดินอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้เป็นคณะรัฐมนตรีตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้นั้น ท่านอธิบายว่าทุกรัฐธรรมนูญเขียน ไว้ในบทเฉพาะกาลเพื่อให้เกิดความต่อเนื่อง ถ้าไม่เขียนไว้เมื่อประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2560 รัฐบาลนั้นก็สิ้นสภาพไปทันที ประเทศก็จะว่างเว้นรัฐบาล ซึ่งฟังดูก็มีเหตุผล
หรือคำอธิบายที่ว่า ถ้าสามารถย้อนหลังได้ สตง.ก็ต้องไปเรียกเงินคืนจากอดีตนายกฯ หรือทายาทที่เป็นนายกฯ เกิน8ปี หรือต่อไปก็มีคนเขียนรัฐธรรมนูญว่า ห้าม ส.ส.เป็นเกิน 8 ปี ก็จะมีคนจำนวนมากหมดสิทธิ์ลงสมัครถ้านับย้อนหลังได้
ส่วนความเห็นของมีชัย ฤชุพันธุ์หรือใครจะเห็นอย่างไรก็เป็นความเห็นเฉพาะตัว ไม่ใช่มติ ต้องว่ากันไปตามตัวบทกฎหมาย
เมื่อฟังแล้วก็มีเหตุผลเหมือนกัน เรียกว่าพอจะรับฟังได้และดูแล้วแนวโน้มศาลน่าจะออกแนวนี้ และเป็นทางลงให้พล.อ.ประยุทธ์อยู่จนครบสมัย สมัยหน้าแม้เหลืออีก 2 ปีก็คงไม่ไปต่อ เพราะอยู่ต่อก็ไม่ครบวาระ 4 ปี และส่วนตัวผมก็คิดว่าพล.อ.ประยุทธ์ควรจะพอได้แล้ว
ดังนั้นแม้ผมจะมีความเห็นต่างแต่ถ้าศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า เริ่มนับตั้งแต่ศาลรัฐธรรมนูญประกาศใช้คือปี 2560 ก็เป็นเหตุผลที่พอฟังได้ ส่วนถ้าจะออกว่านับตั้งแต่เป็นนายกรัฐมนตรีหลังเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ 2560 คือนับแต่ปี 2562 แม้จะมีนักกฎหมายบางคนชี้ช่องเอาไว้ ผมก็คิดว่ามันจะตะแบงเกินไป
แต่ใครจะเชื่ออย่างไรก็คงจะเชื่ออย่างนั้นยึดความคิดของตัวเองเป็นหลักก็ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร เพราะคนที่เรียนกฎหมาย คนใช้กฎหมาย อาจารย์สอนกฎหมายก็ยังมีความเห็นต่างกันได้ในกฎหมายมาตราเดียวกัน และศาลก็เป็นมนุษย์ที่ต่างมีความคิดเป็นของตัวเอง และดุลพินิจของมนุษย์นั้นเป็นเรื่องที่แตกต่างกันได้ ไม่เช่นนั้นถ้าศาลมีความคิดและคำวินิจฉัยเหมือนกันหมดก็คงไม่ต้องมี 3 ศาล (ในศาลปกติ) หรือต้องตัดสินออกมาเป็นเอกฉันท์ในทุกเรื่อง
หรือมีคนบอกว่า ศาลจะตัดสินทางไหนก็ออกไปได้ทั้ง 3 ทาง อยู่ที่จะอธิบายอย่างไร และความเชื่อของคนส่วนใหญ่ที่เคยผ่านคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญมาก็มีความเชื่อว่า ศาลจะยึดทั้งหลักกฎหมายและหลักรัฐศาสตร์ ซึ่งโดยส่วนตัวผมคิดว่า ไม่น่าจะถูกต้อง เพราะเห็นว่าศาลไม่ควรยึดหลักรัฐศาสตร์แต่ต้องยึดหลักกฎหมายอย่างเคร่งครัดในเรื่องของกฎหมายมหาชน แต่ถ้าเป็นเรื่องทางอาญาหรือแพ่งความรู้สึกผิดชอบชั่วดีของมนุษย์ศาลก็อาจจะยึดหลักมนุษยธรรมเจือปนอยู่ได้
แต่กระนั้นก็เชื่อว่าถ้าศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยออกมาว่าพล.อ.ประยุทธ์ยังอยู่ต่อได้อีกก็คงไม่จบง่าย เพราะฝ่ายตรงข้ามหรือฝ่ายที่ต้องการออกมาไล่นั้นฟันธงไปแล้วว่าต้องนับจากปี 2557 สถานเดียวและเชื่อในเหตุผลของตัวเองฝ่ายเดียว ม็อบก็คงออกมาตรึมอย่างที่หลายฝ่ายคาดการณ์กัน แถมตอนนี้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินก็งดใช้ไปแล้ว สถานการณ์จึงเอื้ออำนวยให้ออกมาชุมนุมอย่างยิ่ง
ตั้งแต่เราขัดแย้งกันทางการเมืองมา อำนาจบริหาร และอำนาจนิติบัญญัตินั้น มวลชนทั้งสองฝ่ายจะยอมรับฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติที่เป็นพวกตัวเอง และแข็งข้อถ้าอำนาจอยู่ในฝ่ายตรงข้าม ส่วนอำนาจตุลาการนั้น ถ้าตัดสินออกมาถูกใจก็จะยอมรับ แต่ถ้าตัดสินออกมาตรงข้ามกับใจก็จะไม่ยอมรับ ทำให้ทั้ง 3 อำนาจเผชิญวิกฤตศรัทธาที่ไม่ต่างกัน
อย่างไรก็ตาม โดยภาพรวมผมยังเชื่อมั่นในฝ่ายตุลาการและคิดว่ายังพอจะเป็นความหวังของประเทศได้ แม้ว่าการตัดสินบางครั้งจะขัดกับความเชื่อของผม และหลายครั้งผมจะมีคำโต้แย้งออกมาผมก็พยายามโต้แย้งด้วยเหตุผลไม่ใช่ด้วยอารมณ์ความรู้สึก แต่ผมก็ต้องยอมรับคำวินิจฉัยนั้น เพราะถ้าเราไม่ยอมรับอะไรเลย ก็เท่ากับไม่ยอมรับขื่อแปของบ้านเมือง และถ้าทุกคนไม่ยอมรับขื่อแปของบ้านเมืองเหมือนกัน ประเทศนี้และโลกนี้คงอยู่ด้วยกันยาก เราจะอ้างหลักประชาธิปไตยและเสรีภาพในทุกเรื่องไม่ได้
แม้ในโลกนี้ไม่ว่าที่ไหนก็จะมีความเห็นทางการเมืองที่ต่างกันเป็นฝ่ายอนุรักษนิยมกับเสรีนิยมหรืออุดมการณ์ทางการเมืองแบบอื่นที่แตกต่างออกไป หลายประเทศจะผลัดกันเข้ามาบริหารประเทศ เพราะความเชื่อทางการเมืองไม่ใช่เรื่องที่ผิด แต่ความเชื่อทางการเมืองของไทยนั้นปนไปด้วยความเกลียดชังและหยามหยันต่างก็คิดว่าอีกฝ่ายมีความคิดที่ไม่ถูกต้องและเลว ต้องเชื่อแบบที่ตัวเองเชื่อเท่านั้นจึงเป็นฝ่ายที่ถูก
ไม่ว่าศาลจะออกมาอย่างไรก็ตามก็ไม่ได้ทำให้การเมืองเปลี่ยนขั้วในฉับพลัน ถ้าพล.อ.ประยุทธ์ไม่ได้ไปต่อขั้วอำนาจเดิมก็เลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่จากขั้วเดิม แต่ถ้าพล.อ.ประยุทธ์ได้ไปต่อก็ยังอยู่ในอำนาจได้ไม่ถึง 6 เดือนจากนั้นก็จะไปเลือกตั้งกันใหม่ ดังนั้นถ้าประชาชนจะแสดงพลังก็ไปแสดงกันในคูหาเลือกตั้ง
แต่ไม่ใช่ผมหมายความว่าการชุมนุมไล่รัฐบาลเป็นสิ่งที่ทำไม่ได้ เพราะผมเองพูดเสมอว่า ในระบอบประชาธิปไตยเราสามารถไล่รัฐบาลที่ไม่ชอบธรรมได้ แต่เหตุผลในการขับไล่ของเราต้องชอบธรรมด้วย
และแม้ว่าศาลจะวินิจฉัยออกมาอย่างไรก็คงไม่ถูกใจทุกฝ่าย แต่ก็หวังให้ทุกฝ่ายพิจารณาคำวินิจฉัยที่ออกมาว่าพอจะรับฟังได้หรือไม่มากกว่าการยึดธงที่ตัวเองถืออยู่เพียงอย่างเดียว
ฟันธงอีกครั้งว่า ศาลจะออกตรงกลางคือนับตั้งแต่รัฐธรรมนูญประกาศใช้ปี 2560 แต่การเมืองของคนชื่อประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็น่าจะใกล้ถึงฉากสุดท้ายแล้ว
ติดตามผู้เขียนได้ที่https://www.facebook.com/surawich.verawan