ปีนี้การประชุมประจำปีของเหล่าผู้มีอิทธิพลต่อโลก (ทั้งภาครัฐ, ภาคเอกชน, ภาคประชาสังคม, องค์กรระหว่างประเทศ) ได้เลื่อนมา 5 เดือนคือ แทนที่จะจัดในเดือนมกราคม ท่ามกลางบรรยากาศหนาวเหน็บของเมืองดาวอส, บนยอดเขาแอลป์ของประเทศสวิตเซอร์แลนด์ที่เต็มไปด้วยหิมะ ปีนี้ได้มาจัดในปลายเดือนพฤษภาคม ในฤดูใบไม้ผลิ
สาเหตุก็คือ รอให้การระบาดของโอมิครอนมันเพลาๆ ลงไปบ้าง แต่ก็มาเจอสงครามยูเครนเมื่อปลายกุมภาพันธ์เข้าอีก จึงเป็นปีที่จัดแปลกกว่าทุกๆ ปี
ปีที่แล้ว 2021 มีการจัดแบบออนไลน์ ท่ามกลางการปะทุของโควิด และเป็นมกราคมที่เพิ่งค้นพบวัคซีนได้หมาดๆ ยังไม่ได้มีการฉีดกันแพร่หลาย จึงไม่สามารถจัดแบบพบกันตัวเป็นๆ ได้
ปีนี้ก็ดูเหมือนจะมีขนาดที่ย่อมลงมาจากขนาดใหญ่ที่เคยจัดก่อนโควิด เพราะผู้จะเข้าร่วมก็อาจยังไม่ค่อยไว้วางใจกับโควิดกลายพันธุ์ที่จะติดต่อเชื้อได้ง่ายขึ้น...ประกอบกับเศรษฐกิจทั่วโลก ได้รับผลพวงจากข้าวของขึ้นราคามหาศาล รวมทั้งการเดินทางที่แพงขึ้นมากมาย จากราคาพลังงานที่แพงหูฉี่ เนื่องจากการคว่ำบาตรพลังงานจากรัสเซีย
เหล่าผู้นำเสนอข้อคิดที่สำคัญๆ ก็ไม่ถึงกับคับคั่งเท่าอดีต...จึงขอนำข้อคิดบางส่วนที่น่าสนใจคือ
กรรมการผู้จัดการใหญ่ของไอเอ็มเอฟ นางคริสตาลินา จอร์เจียวา ออกมาเตือนถึงปัญหาการขาดแคลนอาหารของโลกจากสงครามยูเครน จะกระทบต่อประชาชนที่มีรายได้ทุกระดับ โดยเฉพาะพนักงานรายได้ปานกลางและแรงงานรายได้ต่ำ...เธอแนะนำให้ประเทศต่างๆ สร้างความหลากหลายด้านการนำเข้าเพื่อรักษาห่วงโซ่อุปทาน ไม่ให้ขาดตอน... น่าจะหมายถึงความหลากหลายของคู่ค้าให้มากกว่าที่เคยมีมาก่อนวิกฤตพลังงานและอาหารในขณะนี้...เธอเรียกร้องให้กลุ่มประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่สุดของโลกคือ G-20 (ซึ่งมีทั้งรัสเซียและจีนเป็นสมาชิกกลุ่มด้วย) ควรพัฒนากรอบการทำงานร่วมกัน!! (คำถามคือ จะทำงานร่วมกันได้อย่างไร ในเมื่อรัสเซียตกเป็นจำเลยให้โลกคว่ำบาตรไม่ซื้อสินค้าสำคัญๆ จากรัสเซีย)
กรรมการผู้จัดการใหญ่ไอเอ็มเอฟ ยังออกมาชี้ด้วยว่า โลกอาจจะไม่น่าเข้าสู่ภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจ (คือ ไม่เติบโตเป็นเวลา 2 ไตรมาส) แต่ขณะเดียวกัน เธอก็ไม่สามารถรับประกันได้ว่า เศรษฐกิจใหญ่ๆ ของโลกจะไม่เข้าสู่ภาวะถดถอยในปีนี้ (หมายถึงสหรัฐฯ และอียู)…ซึ่งเศรษฐกิจยักษ์ของโลก เป็นเครื่องจักรตัวใหญ่ที่ย่อมส่งผลต่อประเทศต่างๆ อย่างแน่นอน
ด้านองค์กรใหญ่ภาคประชาสังคมของอังกฤษ ออกซ์เฟม เรียกร้องให้รัฐบาลประเทศต่างๆ ดำเนินการอย่างเร่งด่วนในการจัดการปัญหาความเหลื่อมล้ำที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทั้งในช่วงการระบาดของโควิด และการเพิ่มขึ้นของราคาพลังงาน และอื่นๆ ที่กำลังกดดันประชากรหลายล้านคนทั่วโลก
ออกซ์เฟมชี้ (ทุกๆ ปีของการประชุม WEF ที่ดาวอส) ในปีนี้ว่า มีมหาเศรษฐีทั่วโลกเพิ่มขึ้นตั้งแต่โควิดเริ่มระบาด (2020) ถึงปีนี้ (2022) ถึง 513 ราย จนมีจำนวนมากถึง 2,700 คนในปัจจุบัน โดยเป็นเศรษฐีจากราคาอุตสาหกรรมอาหารและพลังงานเพิ่มมากสุด จากสินค้าโภคภัณฑ์ที่พุ่งขึ้นสูงลิบ
หมายถึงว่า เดิมเศรษฐีจาก New Economy พวกไอทีจะแซงหน้าจากการเพิ่มขึ้นของทรัพย์สินตั้งแต่ช่วงปี 2000 เรียกว่า แซงหน้าเศรษฐีจาก Old Economy เช่น ค้าปลีก (วอลมาร์ท) หรือบริษัทน้ำมัน เป็นต้น
แต่ช่วง 2 ปีนี้ เหล่าเศรษฐีหรือบริษัทที่ผลิตและค้าด้านพลังงาน, อาหาร, สินค้าโภคภัณฑ์ กลับเติบโตและมั่งคั่งแซงหน้าเหล่าบริษัททางไอทีกันทั่วหน้า
มีตัวอย่างชัดๆ คือ บริษัทน้ำมันแห่งชาติ ซาอุฯ คือ บริษัทอารามโก ตอนนี้มีทรัพย์สินใหญ่เป็นอันดับหนึ่งของโลก แซงหน้าบริษัทแอปเปิลไปเรียบร้อยแล้ว!
พ้องกับเลขาธิการยูเอ็นที่เตือนถึงข้าวยากหมากแพงทั่วโลก ตราบเท่าที่สงครามยูเครนยังดำเนินต่อไป เพราะเป็นบริเวณผลิตอาหารใหญ่ของโลก รวมทั้งรัสเซียที่เป็นแหล่งผลิตปุ๋ยใหญ่สุดของโลกด้วย
ด้านพ่อมดทางการเงินที่เคยถล่มค่าเงินปอนด์ของอังกฤษ และค่าเงินบาทของไทย (ก่อนเกิดต้มยำกุ้ง) รวมทั้งเงินตราต่างประเทศของหลายประเทศคือ นายโซรอส ซึ่งเป็นคนอเมริกันเชื้อสายฮังการี ได้ออกมาขู่ว่า อาจเกิดสงครามโลกครั้งที่ 3 จากการที่รัสเซียรุกรานยูเครน เพราะเป็นจุดเริ่มต้นที่อาจขยายเป็นสงครามโลกได้คือ มีการขับเคี่ยวอย่างรุนแรงระหว่างระบบการปกครอง 2 ระบบที่อยู่ตรงข้ามกันคือ สังคมแบบเปิดและแบบปิด
เขาตั้งข้อสังเกตว่า อียูรับมือกับการรุกรานยูเครนของรัสเซียได้เป็นอย่างดี เพราะได้รวมตัวเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวได้อย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน แต่ทว่าการพึ่งพิงพลังงานฟอสซิลจากรัสเซียก็ทำให้การตอบโต้ต่อรัสเซียมีข้อจำกัด...และขอกล่าวโทษนางอังเกลา แมร์เคิล อดีตผู้นำเยอรมนี ที่ได้ให้การสนับสนุนทั้งรัสเซีย และจีน และทำให้ยุโรปพึ่งพาพลังงานรัสเซียมากเกินไป
ด้านดร.เฮนรี คิสซินเจอร์ ในวัย 99 ปี (เพิ่งฉลองวันเกิดในวันศุกร์ที่ 20 พฤษภาคมนี้เอง อายุแก่กว่าโซรอส 8 ปี) และเป็นอดีตรมต.ต่างประเทศมือฉกาจที่นำพาให้สหรัฐฯ ดอดไปเปิดสัมพันธ์กับจีนในสมัยสงครามเย็น เพื่อดึงจีนมาอยู่ข้างฝ่ายสหรัฐฯ เพื่อสกัดสหภาพโซเวียต จนได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพด้วยซ้ำ ได้ออกมาเตือนสหรัฐฯ ว่าไม่ควรทั้งในทางลับและทางแจ้ง มีท่าทีสนับสนุนให้มีนโยบาย “สองจีน” แต่ควรยืนยันนโยบาย “จีนเดียว”
และสหรัฐฯ ควรหลีกเลี่ยงที่สุดที่จะเผชิญหน้าโดยตรงกับจีนทางทหาร โดยเฉพาะไม่ควรนำเอาไต้หวันเข้ามาเป็นส่วนสำคัญในการเจรจาต่อรองระหว่างสหรัฐฯ และจีน...หลังจาก ปธน.ไบเดนไปพูดที่โตเกียว (ช่วงประชุม QUAD) ว่า สหรัฐฯ พร้อมจะปกป้องทางทหารแก่ไต้หวันถ้าจีนบุกไต้หวัน...เพราะแม้จะมีกฎหมาย (1979) ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ กับไต้หวัน แต่กฎหมายนี้ไม่ใช่เหมือนมาตรา 5 ของนาโตที่จะให้สหรัฐฯ เข้าแทรกแซงทางทหารเพื่อปกป้องไต้หวันถ้าจีนจะรุกราน เพียงแต่เป็นกฎหมายที่มีสาระว่า สหรัฐฯ มีนโยบายที่ทำให้ไต้หวันมั่นใจที่จะมีทรัพยากร (อาวุธ) เพียงพอเพื่อปกป้องตนเองจากการถูกรุกรานจากจีน
คิสซินเจอร์ชี้ว่า เพื่อสันติสุขของโลก ทั้งสหรัฐฯ และจีนควรมีการเจรจาอย่างไม่รอช้าถึงหลักการต่างๆ ที่มีผลต่อความสัมพันธ์ที่เป็นปรปักษ์ต่อกัน เพื่อหาจุดที่สามารถร่วมมือผ่อนปรนกันได้ในบางเรื่องในที่สุด