วันนี้...คงต้องขออนุญาตไปหยิบเอาคำว่า “ขั้วอำนาจใหม่โลก” ที่สำนักข่าว “ผู้จัดการ” ของหมู่เฮานี่เอง ท่านหยิบมาพาดหัวข่าวไว้เมื่อช่วงวันที่ 22 พ.ค.ที่ผ่านมา หรือในช่วงวาระที่กลุ่มประเทศเศรษฐกิจใหม่ที่เรียกๆ กันว่า “BRICS” เขาได้ร่วมพบปะจัดประชุมทางไกล ทางออนไลน์ เมื่อช่วงวันพฤหัสฯ (19 พ.ค.) ที่ผ่านมา แล้วได้ตัดสินใจออก “แถลงการณ์ร่วม” ประกาศพร้อมที่จะ “เปิดรับสมาชิกใหม่” มาลองแยกแยะ สำรวจตรวจสอบ ว่าเอาไป-เอามาแล้ว พอจะถือเป็น “ขั้วอำนาจใหม่โลก” ได้หรือไม่-เพียงใด มาก-น้อยขนาดไหน และมีแนวโน้มที่จะเป็นไปในแบบไหน ในลักษณะใด ภายใต้เงื่อนไข เหตุปัจจัย ความเป็นไปของโลกที่ออกจะ “ทรหวนปั่นป่วนคลั่ง” ยิ่งเข้าไปทุกที...
คืออย่างที่พอรู้ๆ กันไปแล้วนั่นแหละว่า...การรวมตัวขึ้นเป็นกลุ่ม เป็นก้อน ในทางเศรษฐกิจ ของกลุ่มประเทศที่เรียกตัวเองว่า “BRICS” อันประกอบไปด้วยบราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน และแอฟริกาใต้ ไม่เพียงแต่เป็นอะไรที่น่าจับตาในทางเศรษฐกิจ การค้า-การขาย การเงิน-การทอง แต่เพียงเท่านั้น แต่ยังมี “นัยทางการเมือง” ที่บรรดาประเทศยักษ์ใหญ่ หรือบรรดามหาอำนาจทางเศรษฐกิจยุคเก่าๆ หนีไม่พ้นต้อง “เหล่ไป-เหล่มา” กันนับตั้งแต่แรก เพราะด้วยพลังอำนาจทางเศรษฐกิจ ไปจนถึงจำนวนประชากร หรือจะเรียกว่าพลังอำนาจทาง “ตลาด” ก็ย่อมได้ แม้ถือเป็นการรวมตัวของประเทศ “เศรษฐกิจใหม่” ก็เถอะ แต่ถ้าหากมันมีทิศทาง แนวทาง ที่ก้าวหน้า ทันสมัย ลึกซึ้งประณีตละเอียดอ่อนเอาจริงๆ โอกาสที่มันจะกลายเป็น “ขั้วอำนาจใหม่” ที่ผงาดขึ้นมาท้าทาย “ขั้วอำนาจเก่า” หรือขั้วอำนาจแบบเดิมๆ ที่ชักทำท่าว่ากำลังใกล้ทรุดโทรม เสื่อมโทรม ลงไปทุกที ก็ใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้เอาเลย...
เรียกว่า...แค่เฉพาะจำนวนประชากรของประเทศที่มีผู้คนร่วมพันๆ ล้านอย่างจีน อินตะระเดีย บวกเข้ากับบราซิล รัสเซีย และแอฟริกาใต้ ก็ปาเข้าไปเกือบจะ “ครึ่งโลก” ไปแล้วก็ว่าได้ ยิ่งถ้าคิดจะ “เปิดรับสมาชิกใหม่” เอาเฉพาะแค่บรรดาประเทศที่ได้รับการเชื้อเชิญให้เข้าร่วมสังเกตการณ์ในการประชุมของ “BRICS” ช่วงที่ผ่านมา หรือที่เรียกว่า “BRICS Plus” อย่างเช่นอินโดนีเซีย อาร์เจนตินา อียิปต์ คาชัคสถาน ไนจีเรีย ยูเออี ซาอุดีอาระเบีย เซเนกัล รวมทั้งประเทศไทยแลนด์ แดนสยาม ของหมู่เฮาอีกด้วย หยิบเครื่องคิดเลขขึ้นมาบวก-มาลบ ก็น่าจะปาเข้าไปประมาณ 3,900-4,000 ล้านคน หรือกว่าครึ่งของจำนวนประชากรโลกที่ว่ากันว่ามีอยู่ประมาณ 7,753 ล้านคน อย่างเห็นได้โดยชัดเจน ยิ่งถ้าเอาไปเทียบกับการรวมกลุ่ม รวมก้อน ของประเทศรวยๆ หรือประเทศมหาอำนาจเศรษฐกิจยุคเก่า ที่เคยสามารถสั่ง “หันซ้าย-หันขวา” โลกทั้งโลกมาโดยตลอด อย่างกลุ่มประเทศ “G-7” อันประกอบไปด้วยคุณพ่ออเมริกา แคนาดา อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี และญี่ปุ่น ในแง่ตลาด หรือในแง่จำนวนประชากรก็แค่ประมาณ 700 กว่าล้านคนเท่านั้นเอง ดังนั้นโดย “ศักยภาพ” ระหว่าง 2 กลุ่ม 2 ซีก เมื่อลองเทียบเคียงกันแล้ว ก็คงต้องถือเป็น “ขั้วอำนาจใหม่” อย่างมิอาจปฏิเสธได้เลย...
อีกทั้งภายใต้ภาวะที่โลกทั้งโลกกำลัง “ทรหวนปั่นป่วนคลั่ง” อยู่ในทุกวันนี้...สิ่งที่น่าสนใจเอามากๆ ก็คือว่า บรรดาประเทศ “BRICS” ทั้งหลายนั้น ออกจะมี “มุมมอง” มี “ทัศนคติ” ผิดแผกแตกต่างไปจากประเทศมหาอำนาจเศรษฐกิจยุคเก่าชนิด “คนละเรื่อง-คนละม้วน” เอาเลยก็ว่าได้ คือขณะที่กลุ่มประเทศ “G-7” นั้น ออกอาการกระเหี้ยนกระหือรือต่อการรุมเหยียบ รุมกระทืบประเทศหมีขาวรัสเซีย ที่ดันไป “บุกยูเครน” แบบกะจะให้ “ตายคาตีน” ให้จงได้ แต่สำหรับจีนและอินเดียไม่เพียงแต่ขออนุญาต “งดออกเสียง” ในการร่วมประณามรัสเซียในที่ประชุมสหประชาชาติเท่านั้น แต่ยัง “ไม่เห็นควรด้วย” โดยเด็ดขาดกับการงัดเอามาตรการแซงชั่นสุดโหด ออกมาเล่นงานรัสเซียในแต่ละเรื่อง แต่ละกรณี อีกทั้งยังพร้อมจะสั่งซื้อน้ำมันรัสเซีย แก๊สรัสเซีย หรือแม้กระทั่งอาวุธรัสเซีย ฯลฯ ด้วยเหตุผล ข้ออ้างที่ออกจะมีน้ำหนักพอสมควร หรือด้วยเหตุเพราะกรรมวิธีการเล่นงานในลักษณะดังกล่าว ไม่เพียงแต่ไม่ได้ช่วยให้เกิด “สันติภาพ” หรือการบรรลุข้อยุติ จุดลงตัว ในความขัดแย้งระหว่างยูเครนกับรัสเซียแต่เพียงเท่านั้น แต่ยังกลับมีส่วนก่อให้เกิด “ความฉิบหาย” แผ่ซ่านไปสู่โลกทั้งโลก ไม่ว่าในทางการเมือง การทหาร ไปจนถึงการค้า-การขาย หรือทำให้โลกทั้งโลกพลอย “ซวย” ไปด้วยอย่างมิอาจหลีกเลี่ยงและปฏิเสธได้เลย...
ไม่ต่างไปจากประเทศอย่างแอฟริกาใต้ ที่ผู้นำประเทศอย่างประธานาธิบดี “Cyril Ramaphosa” ถึงกับต้องออกมาตำหนิอเมริกาและตะวันตก แทนที่จะหันไปประณามรัสเซีย โดยเฉพาะในแง่ของการยุแยงตะแคงรั่ว หรือการสร้างแรงกดดันต่อประเทศรัสเซียด้วยความพยายามขยายอำนาจอิทธิพลทางทหารของ “นาโต” เข้าไปยังปากประตูบ้านของหมีขาวรัสเซียหรือแบบเดียวกับที่พระสันตะปาปา “ฟรานซิส” ท่านสรุปไว้สั้นๆ ประมาณว่า “ไปเห่าอยู่หน้าประตูบ้านรัสเซีย” ทำนองนั้น ส่วนบราซิลนั้น แม้ว่าในทางนิตินัยจะถือเป็น 1 ใน 141 ประเทศที่ร่วมประณามรัสเซียในสหประชาชาติ แต่ในทางพฤตินัยแล้ว การที่ผู้นำบราซิลอย่างประธานาธิบดี “Jair Bolsonaro” เดินทางไปจับเข่า จับหัวหน่าว ผู้นำรัสเซียถึงกรุงมอสโกก่อนหน้าที่กองทัพหมีขาวจะบุกยูเครนแค่ไม่กี่วัน แถมยังออกมา “ตำหนิ” รองประธานาธิบดีตัวเอง “นายHamilton Mourao” ที่เผลอไปด่ารัสเซีย โดยสรุปว่ามีแต่ตัวประธานาธิบดีเท่านั้นที่สามารถพูดถึงวิกฤตในยุโรปตะวันตกแต่เพียงรายเดียว ไปจนรัฐมนตรีต่างประเทศ “นายCarlos Franca” ที่ออกมาย้ำจุดยืนบราซิลไว้ชัดเจนว่า “บราซิลจะไม่เลือกข้างใดๆ” ในกรณีดังกล่าว หรือกระทั่งการเรียกร้องวิงวอนของอเมริกา ขอให้บราซิลเพิ่มผลผลิตน้ำมันเพื่อชดเชยกับราคาน้ำมันที่พุ่งทะลุเพดาน ทะลุหลังคา ก็ดูจะไม่ได้รับการตอบสนองแต่อย่างใด...
อะไรต่อมิอะไรเหล่านี้นี่เอง...ที่ทำให้ความเป็น “ขั้วอำนาจใหม่” ของ “BRICS” ออกจะแปลกแยกไปจาก “ขั้วอำนาจเก่า” อย่างกลุ่มประเทศ “G-7” อย่างเห็นได้โดยชัดเจน ดังนั้น...การ “เปิดรับสมาชิกใหม่” หรือการคิดขยายบทบาทของกลุ่ม “BRICS” ภายใต้เงื่อนไขและเหตุปัจจัยที่กำลังเกิด “การขยายตัวแห่งการเผชิญหน้าทางภูมิรัฐศาสตร์โลก” ดังถ้อยคำที่ปรากฏอยู่ใน “แถลงการณ์ร่วม” เมื่อช่วงวันพฤหัสฯ ที่ผ่านมา จึงต้องถือเป็นเรื่อง “ไม่ธรรมดา” หรือไม่ใช่เรื่อง “ล้อเหล้นน์น์น์” โดยเด็ดขาด หรืออาจเป็นไปดังที่รองรัฐมนตรีต่างประเทศรัสเซีย “นายSergey Ryabkov” ได้เคยให้สัมภาษณ์สำนักข่าว “RT” ไปเมื่อช่วงปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมานั่นแหละว่า...กลุ่มประเทศ “BRICS” นี่แหละ ที่อาจถือเป็น “กระดูกสันหลัง” แห่งการก่อเกิดและสร้างสรรค์สิ่งที่เรียกว่า “ระเบียบโลกแห่งความยุติธรรม” (Fair World Order) ขึ้นมาใหม่ แทนที่ระเบียบโลกแบบเดิมๆ ที่ไม่แฟร์ ไม่ยุติธรรม อันมีที่มาจากความปรารถนาต้องการของกลุ่มประเทศรวยๆ ที่มุ่งมั่นเพียรพยายาม “หันซ้าย-หันขวา” โลกทั้งโลกมาโดยตลอด...
การ “เปิดรับสมาชิกใหม่” ของกลุ่มประเทศ “BRICS” เลยคงไม่ต่างอะไรไปจากการเตรียมการ เตรียมพื้นฐาน เอาไว้สำหรับการสร้างสรรค์ “ระเบียบโลกแบบใหม่” ขึ้นมาในอีกไม่นาน-ไม่ช้านั่นเอง โดยจะมีเนื้อหา รายละเอียด ไปในแง่ไหน แนวไหน อันนี้...อันที่จริงผู้นำจีน อย่างประธานาธิบดี “สี จิ้นผิง” ท่านก็เคยเกริ่นๆเอาไว้มั่งแล้ว ในช่วงการประชุมครบรอบ 95 ปีแห่งการก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์จีน ตั้งแต่ช่วงวันที่ 1 ก.ค.ปี ค.ศ. 2016 โน่นเลย ดังคำพูด คำปาฐกถาบางช่วง บางตอน ที่ระบุเอาไว้ว่า “ระเบียบโลก...ไม่ควรต้องถูกตัดสินวินิจฉัยโดยประเทศใดประเทศหนึ่ง หรือกลุ่มประเทศแค่ไม่กี่ราย แต่ควรมีที่มาจากรูปคณะกรรมการ ซึ่งเกิดขึ้นบนข้อตกลงนานาชาติ ประชาชนของทุกประเทศควรได้มีส่วนร่วมในการตัดสินวินิจฉัยว่าระเบียบระหว่างประเทศและการบริหารจัดการโลก จะสามารถยังประโยชน์ให้กับโลกและประชาชนในทุกประเทศได้อย่างไร แน่ล่ะว่า...จีนมีความกระตือรือร้นอย่างแรงกล้า ที่จะร่วมกับประชาชนในประเทศต่างๆ เพื่อสร้างระเบียบโลกขึ้นมาใหม่ โดยนำเอาภูมิปัญญาของจีนเข้าไปช่วยปรับปรุงแต่ละสิ่งแต่ละอย่างให้ดีขึ้น จีนจะทำงานร่วมกับประชาชนในทุกๆ ประเทศ ในอันที่จะผลักดันระเบียบโลกและระบบบริหารจัดการโลก ให้เป็นไปในทางที่เป็นธรรมยิ่งขึ้น มีเหตุผลยิ่งขึ้น เราพร้อมที่จะสนับสนุนให้ประชาชนทั่วทุกประเทศ ร่วมกันแปรเปลี่ยนแรงกดดันจากการถูกกระทำให้กลายเป็นพลังอำนาจ แปรเปลี่ยนความเสี่ยงให้กลายเป็นโอกาส แทนที่การเผชิญหน้าระหว่างกันและกันให้กลายเป็นความร่วมมือ ขจัดลบล้างการผูกขาด ด้วยการอาศัยข้อตกลงที่จะนำมาซึ่งผลประโยชน์ร่วมกัน (Win-Win Deal)...ฯลฯ” นี่...จริง-ไม่จริง เป็นไปได้-เป็นไปไม่ได้ คงหนีไม่พ้นต้องเริ่มต้นด้วยการ “เปิดรับสมาชิกใหม่” ของกลุ่มประเทศ “BRICS” หรือ “BRICS Plus” นับจากนี้เป็นต้นไป นั่นแล...