เป็นที่น่าสังเกตว่า ประเทศเพื่อนบ้านโดยรอบของไทย ต่างตกอยู่ในการครอบครองของอังกฤษและฝรั่งเศสทั้งนั้นในยุคล่าอาณานิคม ประเทศไทยจึงเป็นดินแดนแห่งความปลอดภัยอยู่แห่งเดียวในย่านนี้ที่คนรักชาติจะมาวางแผนกู้ชาติกัน ทั้งพม่า ลาว เวียดนาม ก็ล้วนแต่มาวางแผนในเมืองไทยทั้งนั้น แม้แต่เอกราชของมาเลเซียก็ยังเกี่ยวข้องกับไทย
สำหรับพม่านั้น ผู้กู้เอกราชให้พม่าได้ก็คือ อองซาน ผู้ได้รับยกย่องเป็น “บิดาของพม่ายุคใหม่” เขามุ่งมั่นในการต่อต้านลัทธิล่าอาณานิคม โดยเฉพาะอังกฤษที่ปกครองพม่า ยอมออกจากการศึกษาคณะนิติศาสตร์เมื่ออายุ ๒๓ ปี เข้าเป็นสมาชิกของสมาคม “เราชาวพม่า” ต่อมาก็ได้เป็นเลขาธิการของสมาคม จัดงานชุมนุมประท้วงรัฐบาลใต้อำนาจอังกฤษ และจัดตั้งกองกำลังเพื่อต่อสู้แบบกองโจร
อองซานพยายามหาพันธมิตรมาช่วย และได้เดินทางไปขอความช่วยเหลือจากพรรคคอมมิวนิสต์จีน แต่ก็ผิดหวัง เมื่อกลับมาก็ได้รับความช่วยเหลือจากสายลับญี่ปุ่นที่อยู่ในโฉมหน้านักข่าว ประสานผลประโยชน์เพื่อต่อต้านกับอังกฤษแลกกับเอกราชเมื่อขับไล่อังกฤษออกไปได้
ในปี ๒๔๘๔ หน่วยข่าวกรองญี่ปุ่นได้ลักลอบส่งนักศึกษามหาวิทยาลัยร่างกุ้งรวม ๓๐ คนไปฝึกการรบที่เกาะไหหลำที่ญี่ปุ่นยึดครอง ต่อไปก็ย้ายไปศึกษาที่เกาะฟอร์โมซาหรือไต้หวัน ในกลุ่มนี้นอกจากจะมีอองซานแล้ว ยังมี ตะคีนนุ หรือ อูนุ และ เนวิน ผู้ต่อมาได้เป็นนายกรัฐมนตรีพม่าทั้ง ๒ คน
เมื่อจบหลักสูตรในเดือนธันวาคม ๒๔๘๕ ได้เดินทางกลับมาทางเรือและแวะไทย ที่กรุงเทพฯ นักกู้ชาติ ๓๐ คนได้เปิดการประชุมขึ้นที่บ้านของ หม่องลุนเผ่ เจ้าตำรับยาหม่อง และเป็นบิดาของ สันติ ลุนเผ่ นักร้องผู้เป็นศิลปินแห่งชาติ ซึ่งอยู่ที่ถนนราชบพิธ เพื่อทำพิธีสาบานตัวร่วมกันกู้ชาติในชื่อ “กลุ่ม ๓๐ สหาย” ให้อองซานเป็นหัวหน้ากลุ่ม จากนั้นก็กรีดเลือดใส่ถ้วยรวมกัน สาบานว่าจะไม่ทรยศต่อกัน แล้วเวียนดื่มเลือดทุกคน
น่าเสียดายที่ตึก ๒ ชั้นหลังนี้ซึ่งเป็นอนุสรณ์สำคัญในประวัติศาสตร์การกอบกู้เอกราชของพม่า และเป็นที่อยู่ของสันติ ลุนเผ่ตั้งแต่เด็กจนหนุ่มนั้น ได้ถูกรื้อไปหมดแล้วไม่เหลือร่องรอย
กลุ่ม ๓๐ สหายได้ต่อสู้จนอังกฤษยอมให้เอกราชแก่พม่า ด้วยสัญญา “แอตลี่อองซาน” ซึ่งลงนามโดยนายกรัฐมนตรีคลีเมนต์ แอตลีกับอองซาน แต่ยังไม่ทันถึงกำหนดประกาศเอกในวันที่ ๔ มกราคม ๒๔๙๑ ในวันที่ ๑๙ กรกฎาคม ๒๔๙๐ นายพลอองซาน ก็ถูกสังหารหมู่ร่วมกับคณะอีกหลายคน ขณะเป็นประธานการประชุมเพื่อเตรียมการประกาศเอกราช อูนุ ๑ ใน กลุ่ม ๓๐ สหายได้ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีคนแรกของพม่า เป็นได้ ๓ สมัยก็ถูกรัฐประหารยึดอำนาจโดยนายพลเนวิน ผู้ดื่มเลือดมาด้วยกัน
อดีตนายกรัฐมนตรีอูนุลี้ภัยมาอยู่ในประเทศไทยระยะหนึ่ง ในระหว่างนั้นผู้เขียนเคยเห็นท่านไปที่บ้านหลังหนึ่งใน อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย บ้านหลังนั้นเป็นบ้านไม้ชั้นเดียวใต้ถุนสูง หลังค่อนข้างใหญ่ บนหลังคามีไม้ไผ่ลำใหญ่ปักอยู่ ๔-๕ ลำ มีลวดโยงติดต่อกัน เห็นมีนักศึกษาพม่าอยู่กันหลายคน ทราบว่าท่านอดีตนายกฯพม่าไปปราศรัยออกอากาศทางวิทยุไปพม่า
ส่วนลาว เคยเขียนเล่าไปนานแล้วในเรื่อง “เจ้าลาวจำนำสมบัติซื้อปืนตั้งขบวนการกู้ชาติในไทย” ว่า เมื่อเกิดสงครามมหาเอเซียบูรพา ญี่ปุ่นได้ยึดอินโดจีนของฝรั่งเศส และช่วยให้ลาวประกาศเอกราช แต่พอสงครามยุติญี่ปุ่นเป็นฝ่ายแพ้ ฝรั่งเศสอยู่ฝ่ายชนะ เลยเข้ายึดเอาลาวกลับเป็นอาณานิคมอีก ผู้อยู่ในขบวนการประกาศเอกราชต้องลี้ภัยออกนอกประเทศ ในจำนวนนี้มี เจ้าเพชรราช อดีตอุปราชของลาว ถูกปลดออกจากตำแหน่งและถูกถอดศักดินา เจ้าสุภานุวงศ์ พระอนุชาต่างพระมารดาของเจ้าเพชรราช ซึ่งต่อมาเป็นหัวหน้าขบวนการปะเทดลาวกู้ชาติได้สำเร็จ เจ้าสมสนิท ต่อมาเป็นนายกรัฐมนตรี และท้าวเลื่อม อินทรศรีเชียงใหม่ ต่อมาได้เป็น รมต.คลัง เป็นต้น ได้เดินเท้าบุกป่าจากหลวงพระบางเข้ามาทางจังหวัดอุตรดิตถ์ในปี ๒๔๘๙
บุคคลในวงการรัฐบาลไทยได้ให้ความช่วยเหลือบุคคลสำคัญของลาวในเรื่องความเป็นอยู่และที่พัก แม้ไม่ได้ช่วยในด้านกู้ชาติ แต่นักการเมืองของลาวเหล่านั้นก็ได้จัดตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นขึ้น โดยมีเจ้าเพชรราชเป็นนายกรัฐมนตรี และเริ่มงานกู้ชาติ
การกู้ชาติต้องใช้อาวุธ หลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ อาวุธสงครามมีขายอยู่กราดเกลื่อนในราคาถูก อย่างปืนกลมือกระบอกละ ๘๐-๑๐๐ บาทเท่านั้น แต่รัฐบาลพลัดถิ่นของลาวก็ไม่มีเงินซื้อ ในที่สุดจึงต้องนำของมีค่าที่ติดตัวมาออกหาเงินทุน โดยเจ้าเพชรราชได้นำพระพุทธรูปทองคำหนัก ๖ กิโลกรัมไปจำนำกับบริษัทฝรั่งแห่งหนึ่งได้เงินมา ๒๐๐,๐๐๐ บาท ขอยืมเป็นการส่วนตัวกับพลเอกจรูญ เสรีเรืองฤทธิ์ แม่ทัพบูรพาของไทยในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๒ อีก ๕๐,๐๐๐ บาท เจ้าคำตันเอาดาบทองคำไปจำนำกับตำรวจสันติบาลคนหนึ่งได้เงินมา ๒๐,๐๐๐ บาท และยังกู้ยืมจากคนคุ้นเคยอีกหลายราย จนเริ่มงานกู้ชาติได้
เจ้าสุภานุวงศ์ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้บัญชาการกองกำลัง นำพลพรรคทยอยข้ามโขงลอบเข้าลาว ตั้งฐานที่ซำเหนือและพงศาลี ในภาคเหนือ ประสานงานกับกองกำลังเวียดมินห์ของโฮจิมินห์ รวมทั้งเขมรอิสระ เจ้าสุภานุวงศ์ได้ประกาศตัวเป็นหัวหน้า “ขบวนการปะเทดลาว” ในเดือน ธันวาคม ๒๔๙๓ จนสามารถเข้ายึดอำนาจการปกครองได้โดยเด็ดขาดในวันที่ ๒ ธันวาคม ๒๕๑๘ ตั้งเป็นสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว มี ท้าวไกสอน พมวิหาน เป็นนายกรัฐมนตรีคนแรก
ส่วนญวน ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๑ มาแล้ว องเชียงสือ เจ้าเมืองไซ่ง่อน ต้องทิ้งเมืองหนีกบฏ พามารดา ลูกเมีย และขุนนาง ลงสำเภาหนีมาไทย แต่ไม่กล้าเข้ามาถึงกรุงเทพฯ แอบซุ่มอยู่ที่เกาะกระบือ แถวตะวันออก พระยาชลบุรีตระเวนปราบโจรสลัดไปพบเข้า จึงพาไปอยู่ที่บ้าน และรายงานมายังกรุงเทพฯ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงพระกรุณามีตราออกไปให้องเชียงสือมาเข้าเฝ้า
นอกจากจะพระราชทานบ้าน เบี้ยหวัดเงินปี เครื่องยศ และให้เข้าเฝ้าฝึกราชการทุกวันแล้ว เมื่อองเชียงสือกลับไปทวงราชบัลลังก์คืน ก็ทรงส่งทั้งเรือรบและกำลังพลไปช่วย จนองค์เชียงสือกลับสู่ราชบัลลังก์ได้สำเร็จ
ในยุคใหม่ที่ญวนถูกฝรั่งเศสยึดครอง “ลุงโฮ” โฮจิมินห์ นักกู้ชาติอีกคนก็ลี้ภัยมาอยู่ในไทยนานถึง ๗ ปี เคลื่อนย้ายหลบซ่อนอยู่หลายจังหวัด และเป็นนักกู้ชาติคนเดียวที่มีอนุสรณ์สถานอยู่ในประเทศไทยที่บ้านนาจอก ตำบลหนองญาติ อำเมือง จังหวัดนครพนม ซึ่งโฮจิมินห์อยู่บ้านนี้มากที่สุด และใช้เป็นที่ประสานงาน
ในวัยหนุ่ม โฮจิมินห์มีโอกาสได้ไปศึกษาหาประสบการณ์ในหลายประเทศ โดยขณะอายุ ๒๑ ปีได้สมัครเป็นผู้ช่วยพ่อครัวในเรือเดินสมุทรไปทั้งยุโรปและอเมริกา เมื่อสงครามโลกครั้ง ๑ ยุติลง มีการประชุมของฝ่ายสัมพันธมิตรที่พระราชวังแวร์ในฝรั่งเศส โฮจิมินห์ผู้มุ่งมั่นจะเรียกร้องเอกราชให้แผ่นดินเกิด ได้อาจหาญจะเข้ายื่นข้อเรียกร้องต่อประธานาธิบดีวูดโรว์ วิลสัน แห่งสหรัฐอเมริกาที่มาประชุม แต่ถูกกีดกันไม่ให้เข้าพบ ความห้าวหาญนี้ทำให้ถูกชักชวนเข้าร่วมพรรคคอมมิวนิสต์ ต่อมาโฮจิมินห์ได้ไปร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์จีน เมื่อถูกรัฐบาลก๊กมินตั๋งของเจียงไคเช็คปราบปรามอย่างหนัก จึงหลบหนีมาไทย โดยเปลี่ยนสถานที่และใช้ชื่อต่างๆกัน บางครั้งก็บวชเป็นพระภิกษุ
ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ เมื่อฝรั่งเศสถูกเยอรมันยึด ญี่ปุ่นเข้าครอบครองอินโดจีน โฮจิมินห์จึงกลับไปเวียดนาม จัดตั้งพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามขึ้น แต่เมื่อสงครามสงบ ฝรั่งเศสกลับมามีอำนาจอีก โฮจิมินห์จึงนำพลพรรคลงใต้ดินต่อสู้กับฝรั่งเศสถึง ๙ ปี จนฝรั่งเศสพ่ายแพ้อย่างน่าอับอายที่ป้อมใหญ่เดียนเบียนฟู จึงยอมทำสัญญาสงบศึก แบ่งประเทศเป็นเวียดนามเหนือและเวียดนามใต้ โฮจิมินห์จึงได้ขึ้นเป็นประธานาธิบดีคนแรกของเวียดนามเหนือ และยังต้องใช้ความพยายามรวมเวียดนามเหนือกับเวียดนามใต้เข้าด้วยกันอีก ตอนนี้ฝรั่งเศสหมดน้ำยาแล้ว นักเลงโตรายใหม่จึงเข้ามาอเมริกา ซึ่ง “ลุงโฮ” ปลอบขวัญพลพรรคว่า “ครั้งนี้เรารบกับเศรษฐี ช้าหน่อย...” ต้องทำสงครามกันถึง ๑๖ ปี ในที่สุดอเมริกาก็มีชะตากรรมไม่ต่างไปจากฝรั่งเศส
โฮจิมินห์ไม่ได้เห็นอเมริกันเก็บของแทบไม่ทันในวันที่ต้องหนีออกจากไซ่ง่อนในปี ๒๕๑๘ เพราะอสัญกรรมด้วยโรคหัวใจในวันที่ ๒ กันยายน ๒๕๑๒ ขณะวัย ๗๙ ปี
ขณะที่เป็นประธานาธิบดี “ลุงโฮ” ก็ยังใช้ชีวิตที่เรียบง่ายแบบเดิม ในช่วงปี ๒๕๐๐ นักข่าวไทยจะได้รับเชิญไปเยือนจีนหลายคณะ ขณะนั้นยังมีกฎหมายป้องกันการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ และไม่อาจเดินทางกลับทางเครื่องบินผ่านฮ่องกงได้ ต้องกลับมาทางเวียดนามและลาว จึงถือโอกาสเข้าขอเข้าพบประธานาธิบดี ซึ่ง “ลุงโฮ” ก็ให้การต้อนรับที่ทำเนียบประธานาธิบดี แต่เมื่อนักข่าวไทยเห็น “ลุงโฮ” ต่างก็ตะลึงไปตามกัน เพราะท่านประธานาธิบดีสวมรองเท้าที่ตัดจากยางรถยนต์ เช่นเดียวกับที่ชาวเวียดนามใส่เดินตามถนน
ชาวเวียดนามได้ยกย่องโฮจิมินห์เป็น “บิดาแห่งเวียดนาม” และกำหนดให้วันที่ ๒ กันยายนเป็นวันชาติ เปลี่ยนชื่อเมืองไซ่ง่อนเป็น โฮจิมินห์ซิตี้ และในปี ๒๕๓๐ องค์การยูเนสโกยกย่องให้โฮจิมินห์เป็นบุคคลสำคัญของโลก
เมื่อปี ๒๕๕๗ รัฐบาลเวียดนามได้มอบเงินประมาณ ๔๕ ล้านบาทให้จังหวัดนครพนมและสมาคมไทยเวียดนาม สร้าง “อนุสรณ์สถานประธานโฮจิมินห์” เป็นเกียรติประวัติแก่ “บิดาแห่งเวียดนาม” ณ บริเวณบ้านที่ “ลุงโฮ” มาหลบภัย
ส่วน “บิดาแห่งมาเลเซีย” ตนกู อับดุล เราะห์มาน บุตรของสุลต่านอับดุล ฮามิด แห่งรัฐเคดาห์ หรือไทยบุรี กับหม่อมเนื่อง นนทนาคร มารดาผู้มีเชื้อสายมอญที่อพยพเข้ามากับ “พระยาเจ่ง” เจ้าพระยามหาโยธา และเรียนที่โรงเรียนเทพศิรินทร์ก่อนจะไปต่อที่ลอนดอน
ตนกู อับดุล เราะห์มานไม่ได้ใช้สงครามกองโจรกู้ชาติ แต่ใช้การเมืองและความสามารถในทางเจรจา จนอังกฤษต้องยอมมอบเอกราชให้ ตนกูอับดุล เราะห์มาน ได้รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนแรกของประเทศ และได้รับยกย่องเป็น “บิดาแห่งเอกราชของมาเลเซีย”
นี่คือประเทศไทยดินแดนแห่งความสงบร่มเย็น เป็นที่พึ่งพิงของผู้ที่เดือดร้อนมาทุกยุคสมัย และอาจจะต้องเป็นเช่นนี้ต่อไปอีกในอนาคต