xs
xsm
sm
md
lg

คำขาด ‘จะเป็นหรือยอมตาย’

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: โสภณ องค์การณ์



ชะตากรรมของทหารยูเครนและทหารรับจ้างต่างชาติที่โดนปิดล้อมในโรงงานผลิตเหล็กอาซอฟในเมืองท่ามาริอูโปลได้ถูกตัดสินว่า “เป็นหรือตาย” แล้วหรือไม่ หลังจากกระทรวงกลาโหมรัสเซียได้ยื่นคำขาดให้ยอมจำนนตอนเช้าวันอาทิตย์ตามเวลารัสเซีย

ในคำขาดนั้นได้บอกว่า “เพื่อเลี่ยงกับหายนะที่จะเกิดขึ้น ให้กองกำลังหัวรุนแรง ทหารแนวคิดชาตินิยมและทหารรับจ้างในโรงงานเหล็กยอมวางอาวุธ จะได้รับการไว้ชีวิตตามหลักมนุษยธรรม ในเวลา 6.00 น. เวลามอสโก วันที่ 17 เมษายน 2022”

คำประกาศสำทับว่า “ทหารที่โดนปิดล้อมอยู่ในสภาวะสิ้นหวัง ขาดทั้งอาหารและน้ำดื่ม” กองทัพรัสเซียที่ปิดล้อมใช้เครื่องเสียงประกาศเป็นระยะทุกครึ่งชั่วโมง

แต่ในช่วงเย็นวันอาทิตย์ตามเวลาบ้านเรา รัสเซียประกาศว่าได้ “ปิดไฟเขียว” สำหรับทางออกสำหรับทหารที่โดนปิดล้อมแล้ว ซึ่งหมายความว่าพวกที่โดนปิดล้อมไม่ได้ยอมวางอาวุธตามคำขาด จะต่อสู้ได้นานแค่ไหน ทหารรัสเซียกวาดล้างอย่างไร

ทหารรัสเซียประกาศว่าให้ทหารยูเครนและทหารรับจ้างยกธงขาวแสดงให้เห็นทุกทิศเข้าออกของอาคารโรงงาน ทหารที่ถูกล้อมอยู่ในส่วนที่เป็นชั้นใต้ดินของโรงงาน

จากการสื่อสารระหว่างทหารที่โดนปิดล้อมกับฝ่ายบัญชาการของรัฐบาล แต่ถูกดักฟังโดยฝ่ายรัสเซียบอกว่า “กำลังอยู่ในสภาวะลำบาก ขาดอาหาร น้ำดื่ม และกระสุนสำหรับต่อสู้” แต่มีคำสั่งจากหน่วยเหนือ “ห้ามยอมจำนน” เด็ดขาด

แม้จะขอร้องให้อนุมัติการยอมแพ้ หน่วยเหนือก็ขู่ว่าถ้าทำอย่างนั้นจะโดนโทษประหารชีวิตเพราะยอมแพ้ต่อศัตรู แสดงให้เห็นว่าหน่วยเหนือไม่สนใจว่าทหารที่อยู่ในแนวรบจะเป็นหรือตาย ก่อนหน้านั้นมีหน่วยนาวิกโยธินของยูเครนกว่าพันคนยอมแพ้

หน่วยเหนือของทหารยูเครนคงมองเห็นว่าการยอมแพ้ครั้งนั้นได้ส่งผลเสียหายด้านจิตวิทยาต่อกองทัพยูเครน ในกลุ่มยอมแพ้นั้นมีทหารรับจ้างอังกฤษ 2 นายด้วย

ทหารรับจ้างทั้งสองยอมเปิดปากสารภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่ลำบากขณะที่สู้รบโดยไม่มีฝ่ายสนับสนุน ทั้งเสบียงและอาวุธเสริม ทหารบาดเจ็บไม่ได้รับการรักษา

มีรายงานข่าวจากกระทรวงกลาโหมรัสเซียว่าทหารในโรงเหล็กอาซอฟมีทั้งทหารของยูเครนและทหารรับจ้างอีกกว่า 400 นาย รวมทั้งกองกำลังกองพันอาซอฟซึ่งเป็นหน่วยนาซีใหม่ เดิมเป็นกองกำลังติดอาวุธพวกหัวรุนแรง แต่ถูกรับเข้าประจำการ

รัสเซียไม่ชอบทหารอาซอฟนาซีใหม่เพราะได้เข่นฆ่าชาวเมืองในแคว้นดอนบาสส์ซึ่งมี 2 รัฐประกาศเป็นอิสระ ทหารรัสเซียถึงกับยอมถอนจากพื้นที่อื่นเพื่อปิดล้อมทหารยูเครนและกองกำลังอาซอฟในแคว้นดอนบาสส์ ให้พลเมืองมีความปลอดภัย

แต่ทหารอาซอฟในโรงเหล็กรู้ชะตากรรมดีว่าไม่ว่าจะเป็นหรือตายก็คงไม่ต่างกันเมื่อเผชิญกับทหารรัสเซีย แต่ทหารยูเครนที่ยอมจำนนได้รับการปฏิบัติอย่างดีเหมือนเชลยสงคราม ทหารบาดเจ็บได้รับการเยียวยา ถือว่าเป็นชนเผ่าสลาฟด้วยกัน

ทหารในโรงเหล็กอาซอฟถูกทอดทิ้งโดยหน่วยเหนือแน่ชัด ยอมจำนนก็ไม่ได้

นั่นเท่ากับว่าให้ทหารที่โดนปิดล้อม ไร้หนทางต่อสู้นั้นต้องสู้จนตัวตาย หรือยอมจำนนเมื่อถึงวินาทีสุดท้ายก่อนโดนปิดล้อมสังหาร เพราะต้องรักตัวกลัวตาย ขอเอาตัวรอด ยอมแพ้ดีกว่าต้องโดนจับตัวขึ้นศาลทหารเพราะโทษขัดคำสั่ง และหนีทัพ

หัวหน้าหน่วยทหารของเชชเนียซึ่งช่วยกองทหารของรัสเซียรบในยูเครนก็ย้ำเช่นกันว่าการยอมจำนนเป็นทางเลือกเดียวที่จะรักษาชีวิตของตนเอง ดีกว่าสู้ตาย เมื่อหน่วยเหนือไม่สนใจกับชีวิตของพวกทหาร ก็ไม่จำเป็นต้องเชื่อฟังคำสั่งอีกต่อไป

สู้จนตัวตายไม่ได้อะไร เอาตัวรอดไว้ก่อนดีกว่า จากนั้นเป็นเรื่องอนาคต

นี่เป็นการพิสูจน์ให้เห็นว่าประธานาธิบดี โวโลดิมีร์ เซเลนสกี้ อดีตนักแสดงตัวตลกไม่ได้ใส่ใจชีวิตของทหารของตัวเองหรือทหารรับจ้าง รวมทั้งไม่ใส่ใจต่อชะตากรรมของชาวยูเครน รวมทั้งอนาคตของประเทศที่จะต้องพินาศย่อยยับเพราะสงคราม

ชาวยูเครนกว่า 4.7 ล้านคนได้อพยพหนีออกนอกประเทศ อีกกว่า 10 ล้านคนขาดที่อยู่อาศัยเพราะถูกทำลายจากการสู้รบในหลายเมือง ผู้นำตัวตลกยังสนุกกับการเป็นผู้นำที่เป็นเพียงแค่เบี้ยไร้ค่าในสายตาของสหรัฐฯ และกลุ่มประเทศตะวันตก

มีข่าวว่าเซเลนสกี้ได้ขู่รัสเซียว่าจะปิดช่องทางการเจรจากับผู้นำรัสเซีย ถ้ากองทัพที่โดนปิดล้อมในโรงงานเหล็กถูกสังหาร แค่นี้เซเลนสกี้ยังไม่รู้ตัวอีกว่าวลาดิมีร์ ปูตินไม่เคยให้ราคากับตัวตลก ไม่เจรจาด้วย แม้ได้รับการติดต่อหลายครั้ง

เซเลนสกี้ยังเที่ยวอ้อนวอนขอรับการสนับสนุนด้านอาวุธยุทโธปกรณ์ต่างๆ จากสหรัฐฯ และสมาชิกองค์การนาโต โดยไม่ตระหนักว่าสู้ในสงครามที่ไม่วันเอาชนะได้

ช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมากองทัพรัสเซียเริ่มปฏิบัติการใหม่ โจมตีด้วยอาวุธหนักถล่ม 68 เป้าหมายทางการทหารในพื้นที่บริเวณรอบกรุงเคียฟ เมืองหลวง และเมืองเลอวีฟ ซึ่งมีทั้งคลังเก็บกระสุน โรงงานผลิตจรวด คลังน้ำมัน โรงงานผลิตรถถัง

ที่สำคัญ อีก 2 เป้าหมายที่โดนทำลายคือฐานเรดาร์สำหรับจรวด เอส-300 ที่ยูเครนได้รับจากประเทศสมาชิกนาโตที่เคยสังกัดในกลุ่มสนธิสัญญาวอร์ซอ ยุคที่รัสเซียและประเทศยุโรปตะวันออกอยู่ภายใต้เครือข่ายพันธมิตรของสหภาพโซเวียต

สหรัฐฯ และพันธมิตรยังขยายมาตรการคว่ำบาตรรัสเซียต่อเนื่อง แต่ไม่ได้เพิ่มความรุนแรงมากกว่าที่เป็นอยู่ ผลของการคว่ำบาตรทำให้เกิดวิกฤตราคาพลังงาน นำไปสู่ปัญหาเงินเฟ้อรุนแรงถึง 7.5-8.5 เปอร์เซ็นต์ ทั้งในสหรัฐฯ และยุโรป

วิกฤตเศรษฐกิจกำลังเป็นสงครามแนวใหม่ที่ส่งผลกระทบไปทั่วโลก ทำให้ผู้นำสหรัฐฯ โจ ไบเดนมีปัญหาความนิยมตกต่ำเหลือเพียง 38 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น


กำลังโหลดความคิดเห็น