xs
xsm
sm
md
lg

บาดแผลร้าวลึกของสังคมไทย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: สุรวิชช์ วีรวรรณ



ความขัดแย้งในสังคมไทยที่ทอดยาวนานมาเกือบสองทศวรรษที่เริ่มต้นมาจากประชาชนกลุ่มหนึ่งออกมาขับไล่ระบอบทักษิณนั้น แลกมาด้วยการรัฐประหารสองครั้ง แต่ครั้งที่สองนั้นคณะรัฐประหารอยู่ในอำนาจมาแล้ว 8 ปี โดยอยู่ในสภาวะเผด็จการ 5 ปีและผ่านการเลือกตั้งที่เขียนรัฐธรรมนูญให้ตัวเองได้เปรียบมาแล้ว 3 ปี

ในห้วง 20 ปีเราผ่านวงจรอุบาทว์มาแล้ว 2 วง เลือกตั้ง ประท้วง รัฐประหาร เลือกตั้ง ประท้วง รัฐประหาร แล้วเลือกตั้ง ฯลฯ แม้ว่าการรัฐประหารในแต่ละครั้งจะมีเหตุผลและความจำเป็นของมันทั้งเพื่อยับยั้งความรุนแรงที่เกิดขึ้นและแก้ปัญหาอำนาจรัฐที่ล้มเหลว แต่ก็มีคำถามตามมานั่นแหละว่า เราจะรอดพ้นจากวงจรอุบาทว์นี้ไปได้ไหม

แม้สถานภาพของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะมาจากการเลือกตั้ง แต่ท่ามกลางวิกฤตโลกทั้งความผันผวนทางด้านเศรษฐกิจที่มีอัตราการเติบโตที่ต่ำ และความสามารถในการแข่งขันถดถอย มาจนถึงการเกิดโรคระบาด และสงคราม หลายคนตั้งคำถามถึงศักยภาพของพล.อ.ประยุทธ์ ว่ามีความรู้ ความสามารถ และสติปัญญาที่เพียงพอกับโลกในวันนี้หรือไม่

แน่นอนความเห็นของประชาชนนั้นแบ่งออกมาเป็น 2 ฝั่ง ที่เป็นผลพวงมาจากความขัดแย้งตั้งแต่คนเมืองกับชนบท ที่เราบอกว่าคนชนบทเลือกรัฐบาลแต่คนเมืองล้มรัฐบาล มาจนถึงสงครามสีเสื้อ มาจนถึงความขัดแย้งของคนต่างรุ่นในปัจจุบัน

จนเหมือนกับคนในสังคมไทยสองฝ่ายอยู่กันคนละโลก ฝ่ายหนึ่งมองว่ารัฐบาลล้มเหลวในทุกด้าน ไม่ว่าทำอะไรก็ผิดไปหมด ฝ่ายหนึ่งมองว่า รัฐบาลชุดนี้สร้างประโยชน์ให้กับประเทศชาติอย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน แม้รัฐบาลทำอะไรก็รู้สึกน่าชื่นชมไปหมด และเปิดสงครามข่าวสารกันด้วยโซเชียลมีเดียและไอโอทั้งสองฝ่าย

ความขัดแย้งที่เริ่มจากความเห็นต่างทางการเมือง การเชื่อมั่นในตัวบุคคลที่ต่างกัน ค่อยๆ พัฒนามาเป็นความขัดแย้งในเชิงระบอบที่คนกลุ่มหนึ่งสามารถปลูกฝังความคิดในคนรุ่นใหม่ให้ทั้งคำถามต่อโครงสร้างของสังคมไทย และทำให้คนรุ่นใหม่รู้สึกพะอืดพะอมเมื่อพูดถึงความเป็นไทยค่านิยมและจารีตของสังคมไทย

ส่วนตัวนั้นผมเชื่อว่า แม้คนเสื้อแดง เสื้อเหลือง คนรุ่นเก่าและรุ่นใหม่ล้วนแล้วแต่มีความหวังดีต่อประเทศชาติ เพียงแต่ว่าเราไม่สามารถหาจุดร่วมกันได้ และต่างฝ่ายต่างเชื่อว่าตัวเองถูกและฝ่ายตรงข้ามผิด และวันนี้เราไม่มีคนกลางที่จะทำให้คู่ความขัดแย้งหันหน้ามาหาทางออกร่วมกันได้อีกแล้ว ดูเหมือนจะรอวันแตกหักเท่านั้น

จากความขัดแย้งของสีเสื้อ ฝ่ายเสื้อแดงซึ่งอ้างว่าตัวเองเป็นฝ่ายประชาธิปไตยสามารถสร้างแนวร่วมเป็นคนรุ่นใหม่ที่เรียกร้องการเปลี่ยนแปลงแบบพลิกฝ่ามือ ในขณะที่คนเสื้อเหลืองนั้นยึดโยงกับคนรุ่นเก่าอำนาจเก่าที่มีแนวคิดอนุรักษนิยมที่ต้องการการเปลี่ยนแปลงแบบค่อยเป็นค่อยไป

สังคมไทยวันนี้จึงยังตั้งอยู่ในลักษณะเผชิญหน้ากัน ที่พร้อมจะปะทุความขัดแย้งออกมาเป็นความรุนแรง เพราะต่างฝ่ายต่างยึดมั่นในแนวทางของตัวเองอย่างสุดโต่ง ไม่มีวันที่จะประนีประนอมกันได้

ความขัดแย้งในพ.ศ.นี้ลงลึกกว่าความขัดแย้งเดิม อย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เพราะไม่ได้ขัดแย้งเพราะความเห็นต่างทางการเมืองหรือความขัดแย้งในความนิยมชมชอบตัวบุคคลที่ต่างกัน แต่มีความขัดแย้งกันในเชิงระบอบที่มีคนรุ่นใหม่จำนวนมากจนออกมาท้าทายต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ผ่านการเรียกร้องให้มีการปฏิรูปที่แอบแฝงความมุ่งหวังที่มากกว่านั้นเอาไว้

จนกลายเป็นว่าฝ่ายหนึ่งมุ่งหวังที่จะทำลายความศรัทธาของอีกฝ่าย ซึ่งไม่ว่าจะเกิดขึ้นมาเมื่อไหร่ก็มักจะตามมาด้วยความสูญเสียและโศกนาฏกรรม

การดำรงอยู่ของพล.อ.ประยุทธ์ที่ผูกพันกันของพี่น้อง 3 ป. พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ และพล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา แม้เราจะเห็นว่าพวกเขาอยู่ด้วยมือในสภาฯ ที่มากกว่ามาจากเสียงโหวตและการเลือกตั้ง แต่เราก็สามารถสัมผัสได้ด้วยอำนาจที่ซ่อนตัวอยู่ข้างหลังทั้งกองทัพและมือที่มองไม่เห็นที่เกื้อหนุนพวกเขา ไปจนถึงพวกเขาต้องพึ่งพิงกลไกของ Deep State อำนาจเหนือรัฐที่ขัดขวางกลไกของประชาธิปไตยเพื่อรักษาอำนาจของตัวเองด้วยข้ออ้างด้านความมั่นคง

ต้องยอมรับว่า 8 ปีของรัฐบาลประยุทธ์นั้นก็เป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้การเมืองมาสู่ความขัดแย้งที่เปลี่ยนจากความขัดแย้งระหว่างความเห็นต่างทางการเมือง ฝ่ายที่ชื่นชอบระบอบทักษิณกับฝ่ายต่อต้านระบอบทักษิณกลายมาเป็นความขัดแย้งในระบอบของรัฐจนรุกล้ำมาสู่การเรียกร้องให้ปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์

ช่วง 5 ปีที่มีอำนาจแบบเบ็ดเสร็จของรัฐบาลประยุทธ์นั้น ถ้าหากพล.อ.ประยุทธ์มองเห็นปัญหาและอุปสรรคของการพัฒนาประเทศเพื่อให้ก้าวพ้นจากวงจรอุบาทว์เพื่อทำให้บ้านเมืองสามารถเดินไปตามกลไกของระบอบประชาธิปไตยได้ พล.อ.ประยุทธ์มีอำนาจและโอกาสมากที่จะปฏิรูปในด้านต่างๆ แต่กลับไม่ได้ทำอะไรเลย นอกจากตั้งคณะกรรมการปฏิรูปขึ้นมาจำนวนมาก แต่ไม่มีผลลัพธ์อะไรที่เป็นรูปธรรมออกมา

ทั้งนี้สภาพการเมืองปัจจุบันพล.อ.ประยุทธ์และ 3 ป.มุ่งเน้นที่จะรักษาอำนาจมากกว่า ยิ่งไม่ต้องคาดหวังเลยว่า ในสภาวะที่รัฐบาลประยุทธ์ดำรงอยู่ด้วยมือในสภาฯ ที่จวนอยู่จวนไปและมีความขัดแย้งกันแบบนี้ จะทำให้การปฏิรูปที่เคยเป็นข้ออ้างและสัญญาในวันที่เข้ามายึดอำนาจจะประสบความสำเร็จได้เลย

คนจำนวนหนึ่งจึงมองว่าการดำรงอยู่ของ 3 ป.นั้นกลายเป็นส่วนหนึ่งของการฉุดรั้งการพัฒนาระบอบประชาธิปไตย พัฒนาประเทศ ทำให้คนรุ่นใหม่จำนวนหนึ่งมองไม่เห็นอนาคตของตัวเอง และส่งผลให้การต่อต้านรัฐบาลลามไปสู่การตั้งคำถามต่อสถาบันพระมหากษัตริย์นั่นเอง และวันนี้คนรุ่นใหม่เหล่านั้นต่างแสดงออกที่รุนแรงโดยไม่สนใจความผิดที่จะตามมา

ห้วงสองทศวรรษของสภาพบ้านเมืองกึ่งประชาธิปไตย ทำให้คนรุ่นใหม่ที่เติบโตขึ้นมากลายเป็นเครื่องมือของนักวิชาการและปัญญาชนจำนวนหนึ่งที่ต้องการเรียกร้องให้เปลี่ยนแปลงการปกครองหรืออย่างน้อยต้องลดทอนบทบาทและสถานะของสถาบันพระมหากษัตริย์ลงมา ซึ่งง่ายเพราะคนรุ่นใหม่ที่เติบโตมาในห้วง 20 ปี สัมผัสกับอำนาจรัฐประหารถึง 2 ครั้งในช่วงชีวิตของพวกเขา ซึ่งมันตรงกันข้ามกับระบอบประชาธิปไตยที่พวกเขาเข้าใจ

ในอีกด้านยิ่งคนรุ่นใหม่เคลื่อนไหวเรียกร้องการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์มากขึ้นเท่าไหร่ รัฐบาลก็ย่อมจะมีความชอบธรรม ที่จะใช้เครือข่ายกลไกของรัฐในการขัดขวางไม่ว่าจะเป็นการใช้อำนาจที่ชอบธรรมเปิดเผยหรือใช้อำนาจของ Deep State ก็ตามมาเป็นเครื่องมือในการรักษาความมั่นคง และใช้ความขัดแย้งของประชาชนที่ฝ่ายหนึ่งสนับสนุนรัฐบาลเป็นหลังพิง

แต่ในขณะเดียวกันยิ่งรัฐใช้อำนาจรัฐและกลไกในทางกฎหมายในการจัดการมากเท่าไหร่ พวกที่ซ่อนตัวอยู่ข้างหลังก็ยิ่งกล่าวหาว่ารัฐใช้อำนาจที่ไม่ชอบธรรมมากขึ้นเท่านั้น และใช้เป็นเครื่องมือปลุกเร้าให้คนรุ่นใหม่กระทำการที่รุนแรงมากขึ้นและท้าทายมากขึ้น ยิ่งพวกเขาเชื่อมั่นว่าพวกเขามีความชอบธรรมมากกว่า และได้รับการสนับสนุนในทางสากลมากกว่าตามที่เรียกขานพวกเขาเองว่าฝ่ายประชาธิปไตย อีกฝ่ายจึงเป็นฝ่ายต่อต้านประชาธิปไตยซึ่งไม่ใช่ค่านิยมสากล ความฮึกเหิมและเชื่อมั่นว่าตัวเองเป็นฝ่ายที่ถูกต้องก็มากขึ้น

ไม่ว่าจะรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม 8 ปีที่ผ่านมามันทำให้บาดแผลในสังคมไทยยิ่งร้าวลึกจนยากจะเยียวยา

ติดตามผู้เขียนได้ที่ https://www.facebook.com/surawich.verawan


กำลังโหลดความคิดเห็น