xs
xsm
sm
md
lg

“อานันท์” หนุนรุ่นใหม่ ความคิดเก่าๆ ใช้ไม่ได้แล้ว แนะลดโทษ ม.112 ชี้ ตปท.เรียกร้องมากนายกฯลาออก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



อดีตนายกฯ มองคนบริหารชาติต้องรุ่นใหม่ ความคิดเก่าๆ ใช้ไม่ได้แล้ว คนมีอำนาจต้องทำความเข้าใจ แต่ติงปฏิรูปสถาบันบางครั้งก็มันปากไป หนุนแก้ ม.112 โทษเบาลง มีผู้รับผิดชอบชัดเจน ไม่ใช่ฟ้องแกล้งใครก็ได้ อ้าง ตปท.เรียกร้องมากๆ นายกฯลาออกแล้ว

วันนี้ (6 มี.ค.) นายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ช่องยูทูบสภาที่ 3 ถึงคนรุ่นใหม่ที่ออกมาเรียกร้องประชาธิปไตย รัฐบาลควรจะฟังหรือมีทางออกอย่างไร ว่า รัฐบาลต้องมองถึงอนาคตด้วย คนแก่อย่างผม ต้องรู้ว่า เวลาของเรามันหมดไปแล้ว ความจริงแล้ว คนอย่างรุ่นของผม มันต้องอยู่ข้างนอกเวที ซึ่งเราอาจจะออกความเห็นนอกเวทีได้ แต่คนที่จะบริหารประเทศต้องเป็นคนรุ่นใหม่แล้ว ส่วนคนรุ่นใหม่จะมีอายุเท่าไหร่นั้นก็ตาม แต่จะต้องเป็นคนที่มีความคิดใหม่ๆ จะนำความคิดเก่าๆ มาใช้ไม่ได้แล้ว

“อย่างผมมีทั้งลูกมีทั้งหลานและมีทั้งเหลน ลูกของเราก็สอนอย่างหนึ่ง คือ มีความเห็นอย่างหนึ่ง หลานอีกอย่างหนึ่ง ส่วนเหลนผม 3 ขวบ สามารถพูดโต้กับคุณทวดได้แล้ว เขามีวิธีคิดของเขาโอเคมาก เนื่องจากเขาเป็นเหลนเราจะทำอะไร อาจจะเป็นสิ่งที่น่ารักน่าดูตลอดไป แต่ถ้าเราบอกว่าเด็กคนนี้ทำอะไรขวาง ไปขวางเขาก็ไม่ได้” นายอานันท์ กล่าว

เมื่อถามอีกว่า คนรุ่นเก่ามองว่าเด็กรุ่นใหม่ ที่เคลื่อนไหวเรียกร้องเรื่องปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ เป็นเรื่องที่สุดโต่งเกินไปหรือไม่ อดีตนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เพ้อฝัน บางกรณีก็มีเหมือนกัน วาทะทำให้หลงระเริงไป มันๆ กับการพูด ก็เลยอาจจะเลยเถิดไปบ้าง แต่คิดว่านั่นไม่ใช่ของแปลกหรือของเสียหาย แต่มันต้องการความเข้าใจ

“ถ้าเห็นว่าสุดโต่ง เราก็อย่าไปยุ่งกับเรื่องสุดโต่ง เราต้องหาทางประนีประนอมกัน คือ ต้องคุยกัน แต้ถ้าจะมาตั้งหน้าตั้งตาไม่คุยหรือพูดกันไม่รู้เรื่อง ไม่คุยจะบอกว่าเด็กพวกนี้จะรู้ดีได้อย่างไร มันไม่เคยปกครองประเทศมา จะพูดอย่างนี้ไม่ได้ หรือถ้าเด็กบอกว่าผู้ใหญ่พวกนี้พูดกันไม่รู้เรื่องเลย ทำอะไรก็ไม่เป็น ก็ไม่ได้อีก ทุกคนมีทั้งส่วนดีและส่วนไม่ดี ก็ต้องคุยกัน ซึ่งผมเคยพูดว่าผู้ใหญ่ต้องเห็นใจเด็กมากกว่า หรือคุยกันไม่ใช่กันแบบ 50-50 หลายสิ่งหลายอย่างผู้ใหญ่ต้องให้เด็ก 60 หรือ 70 คนที่มีอำนาจคนที่มีอายุอยู่ในฐานะที่จะแสดงความเห็นอกเห็นใจได้ง่ายกว่า แต่คนที่ถูกตัดสิทธิต่างๆ มาโดยตลอด คนที่เกิดมาในสังคม ที่มีความเดือดร้อนเอาเปรียบซึ่งกันและกัน เขาเป็นผู้เสียมาตลอดชีวิต” นายอานันท์ กล่าว

เมื่อถามว่า ถ้ามองถึงปัญหาความขัดแย้งในมาตรา 112 จะมีทางออกอย่างไร นายอานันท์ กล่าวว่า ส่วนตัวของผมไม่มีปัญหาที่จะมีมาตรา 112 แต่อาจต้องมีการปรับปรุงบางอย่าง จะมีการปรับคำพูดนั้นโอเค ผมไม่คิดว่าโดยทั่วไปต่างประเทศ หรือหลายประเทศที่เขายังมีกฎหมายข้อนี้ใช้อยู่ เขาไม่ถือว่ามันเป็นอาชญากรรม แต่ส่วนมากเขาจะฟ้องในเรื่องทางแพ่ง หลายประเทศที่ปกครองโดยมีพระเจ้าแผ่นดิน อยู่ภายใต้กฎหมาย อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ หรือบางประเทศมีแล้วเขาไม่นำมาใช้เลย แต่ประเทศที่ยังนำมาใช้อยู่ เขาพยายามทำให้โทษเบาลงไป นอกจากนี้ ในปัจจุบันมาตรา 112 ใครฟ้องก็ได้ ผมอยากจะแกล้งคุณ ผมบอกว่าคุณพูดอย่างนั้นอย่างนี้ แล้วผมไปรายงานตำรวจถ้าตำรวจไม่ทำอะไร ก็จะถูกกล่าวหาว่าไม่ปฏิบัติหน้าที่ ตำรวจก็ต้องจดบันทึกเอาไว้ เขาก็กลัวว่าถ้าไม่ดำเนินการอะไร ก็อาจจะมีปัญหาของตัวเอง และก็เสนอขึ้นไปเรื่อยจนไปถึงยอดสุด ก็มีการสั่งฟ้อง

“บางกรณีที่สั่งฟ้องนั้น ต้องเรียกว่ามันโง่เง่า ตรงนี้คือเรื่องของการใช้อำนาจที่ไม่ถูกต้อง เพราะฉะนั้นถ้ากฎหมายนี้จะอยู่ต่อไป ก็ต้องระบุให้ชัดว่าใครเป็นคนที่จะสั่งให้สอบสวนสั่งให้ดำเนินคดีขึ้นสู่ศาลได้ สมมติอาจจะเป็นนายกรัฐมนตรี หรือเป็นรัฐมนตรีมหาดไทย รัฐมนตรียุติธรรม ต้องมีคนรับผิดชอบทางด้านการเมือง แต่อย่าไปยุ่งเกี่ยวกับสถาบัน อย่าไปแตะต้องสถาบันเลย อย่าไปดึงสถาบันลงมาอยู่กับเรา สถาบันต้องอยู่เหนือกว่ากฎหมายธรรมดาอยู่แล้ว ที่ผ่านมา ผมได้ประสบกับชีวิตส่วนตัว สถาบันไม่มายุ่งเรื่องการเมือง ฉะนั้น เมื่อเราอย่าเอาการเมืองเข้าไปสู่ในวัง ต้องยกวังขึ้นมา” อดีตนายกรัฐมนตรี กล่าว

ถามถึงกรณีคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เมื่อตอนรัฐประหารที่ผ่านมา เหมือนกับว่า น่าจะอยู่ได้ไม่นาน แต่ไปๆ มาๆ ก็อยู่ได้ 8 ปี มีเสียงเรียกร้องให้นายกฯลาออก แต่ พล.อ.ประยุทธ์ ก็ยังอยู่มาได้ สะท้อนอะไรถึงสังคมไทย ทั้งที่บริหารงานล้มเหลวมากมาย นายอานันท์ กล่าวพร้อมหัวเราะว่า “เรื่องนี้คุณต้องไปถามนายกฯประยุทธ์เอง” เมื่อถามอีกว่า บางคนเทียบกับพล.อ.สุจินดา คราประยูร แต่ พล.อ.สุจินดา กลับโดนว่ามาจนถึงทุกวันนี้

นายอานันท์ กล่าวว่า “คุณสุจินดา เขายังมีความละอาย อย่างตอนเกิดเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ ท่านทรงเรียกคุณจำลอง ศรีเมือง และ พล.อ.สุจินดา เข้าไปในวัง และท่านทรงขอให้ว่าอย่าสู้รบกันนะ เพราะประชาชนเสียหาย ประชาชนตายไม่มีใครชนะ ท่านพูดแค่นั้น ในหลวงไม่ได้บอกว่าให้ลาออก แต่ทั้ง 2 คนก็แสดงความเข้าใจว่าอะไรกำลังเกิดขึ้น ในหลวงท่านไม่ได้ทรงบอกว่าพวกคุณต้องลาออกไป เพราะฉะนั้นมันอยู่ที่จิตสำนึกของคน”

เมื่อถามว่า เสียงเรียกร้องรัฐบาลก็เยอะ ตามหลักการแล้ว ถ้าเสียงเรียกร้องมากๆ นายกฯควรจะพิจารณาตัวเองอย่างไร อดีตนายกฯ กล่าวว่า ไม่รู้ แต่ถ้าดูที่ต่างประเทศ เขาลาออกกันง่ายๆ มีเรื่องอะไรที่บางครั้งไม่ใช่เรื่องที่พิสูจน์ได้ด้วยซ้ำ ในฐานะนายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรี ถ้ามีการกล่าวหาหรือเรียกร้องว่า มีการเกิดความสงสัยอย่างมาก เรื่องของบุคลิกของตัวเอง หรือนโยบาย มันก็อยู่ที่ผู้นั้นจะใช้วิจารณญาณ ในต่างประเทศส่วนใหญ่ก็จะมีการลาออก


กำลังโหลดความคิดเห็น