"ปัญญาพลวัตร"
"พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต"
แม้อารยธรรมของมนุษย์เกิดมานานหลายพันปี มีการสร้างหลักคิด ความเชื่อ และเหตุผลเชิงคุณธรรมมากมายเหลือคณานับ เพื่อใช้เป็นกรอบแนวทางของอยู่ร่วมกันอย่างสงบสันติและเกื้อกูลกัน แต่ดูเหมือนว่า พลังของคุณธรรมที่ใช้ในการชำระล้างสัญชาตญาณดั้งเดิมแห่งการแก่งแย่งช่วงชิงและการใช้ความรุนแรงกระทำต่อกันยังไม่เข้มแข็งเพียงพอ การทำลายล้างกันอย่างรุนแรงทั้งในระดับบุคคล กลุ่ม และประเทศจึงเกิดขึ้นอยู่เสมอ
สงครามระหว่างชนเผ่า รัฐ และประเทศเกิดขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่าเพื่อทำลายหรือครอบครองซึ่งกันและกัน สงครามส่วนใหญ่เกิดขึ้นจากการที่รัฐหรือประเทศที่ใหญ่กว่า มีแสนยานุภาพและอาวุธที่ทรงพลานุภาพมากกว่าใช้กำลังเข้าไปรุกรานและครอบครองประเทศที่เล็กกว่า ในอดีต การรุกรานไม่จำเป็นต้องมีข้ออ้างเชิงคุณธรรมอะไรมากมายนัก ส่วนมากเป็นเรื่องของความต้องการขยายอำนาจ และการฉกฉวยทรัพยากรและผลประโยชน์จากประเทศที่ถูกครอบครอง และเมื่อยึดครองแล้ว ผู้รุกรานก็ปฏิบัติอย่างโหดร้ายป่าเถื่อนต่อประชาชนของประเทศที่ถูกยึดครอง แต่สำหรับรัฐสมัยใหม่ในยุคปลายศตวรรษที่ 20 เป็นต้นมา เหตุผลที่อ้างเพื่อเข้าไปรุกรานมีความซับซ้อนยิ่งขึ้น และบางครั้งก็อ้างการกระทำในนามของคุณธรรมด้วยซ้ำไป
สงครามใหญ่ในระดับโลกครั้งแรกของศตวรรษที่ 21 เกิดขึ้นในปี 2003 ผู้ก่อสงครามคือประเทศสหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร และพันธมิตร ซึ่งรวมกำลังเข้าไปบุกยึดประเทศอิรัก และยึดได้สำเร็จโดยใช้เวลาประมาณ 1 เดือน สำหรับข้ออ้างของการก่อสงครามคือ การกล่าวหาว่ารัฐบาลอิรักครอบครองอาวุธที่มีอานุภาพในการทำลายล้างสูง อันได้แก่อาวุธนิวเคลียร์ ซึ่งปรากฎหลักฐานภายหลังว่าประเทศอิรักไม่มีอาวุธดังกล่าวแต่อย่างใด
การรุกรานประเทศใดโดยใช้ข้ออ้างว่าอีกฝ่ายครอบครองอาวุธทำลายล้างสูง เกิดจากความกลัวว่าประเทศนั้นจะใช้อาวุธกับฝ่ายตนเอง ข้ออ้างแบบนี้มักเป็นสิ่งที่ประเทศใหญ่ ๆ ใช้กับประเทศเล็กที่มีแสนยานุภาพด้อยกว่าประเทศตนเองมาก และมักกล่าวในทำนองที่ว่า การพัฒนาอาวุธของประเทศเล็กเป็นการยั่วยุประเทศใหญ่ กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ เมื่อใดที่ประเทศใหญ่มีความรู้สึกหรือเชื่อว่าประเทศเล็กมีการกระทำใดที่อาจส่งผลอันตรายต่อประเทศตนเอง ประเทศใหญ่ก็มีแนวโน้มจะส่งกำลังเข้าไปยึดครองประเทศเล็ก และจัดตั้งรัฐบาลที่อยู่ภายใต้อาณัติของตนเองขึ้นมาปกครองประเทศ
อย่างไรก็ตาม แม้ในกรณีที่ประเทศใหญ่รู้อยู่แล้วว่า ประเทศเล็กที่ตนเองกำลังรุกราน ไม่มีอาวุธร้ายแรงแต่อย่างใด แต่รัฐบาลประเทศเล็กมีนโยบายที่ขัดแย้งกับผลประโยชน์และหลักความเชื่อของประเทศตนเอง รัฐบาลประเทศใหญ่ก็ไม่ลังเลที่จะเข้าไปแทรกแซงในรูปแบบรูปแบบหนึ่งเสมอ
วิธีการที่ประเทศใหญ่เข้าไปแทรกแซงเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลประเทศเล็กมีหลาย วิธีแรก คือการจัดตั้งและสนับสนุนกลุ่มทหารภายในประเทศนั้นเพื่อก่อการรัฐประหารโค่นล้มรัฐบาลที่เป็นปรปักษ์กับผลประโยชน์ของประเทศใหญ่ วิธีนี้ประเทศสหรัฐอเมริกาในยุคสงครามเย็นใช้บ่อย เช่น การสนับสนุนนายพลในประเทศชิลีก่อการรัฐประหารประธานาธิบดีที่มาจากการเลือกตั้ง หรือแม้กระทั่งในประเทศไทย สหรัฐฯ ก็เคยสนับสนุนทหารกลุ่มจอมพลสฤษดิ์ ทำการรัฐประหารรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม
วิธีที่สอง คือการสนับสนุนกลุ่มต่อต้านรัฐบาล ทั้งในรูปแบบของการส่งอาวุธและการอบรมทางทหาร และในหลายกรณีก็ได้ส่งกองกำลังทหารของตนเองเข้าไปหนุนช่วยฝ่ายต่อต้านโดยตรง เพื่อโค่นล้มรัฐบาลที่ประเทศใหญ่ไม่ชอบ และสวมแทนด้วยรัฐบาลที่อยู่ภายใต้อาณัติของตนเอง และเมื่อรัฐบาลที่ตนเองหนุนหลังครองอำนาจแล้ว รัฐบาลประเทศใหญ่ก็ยังคงกำลังทหารต่อไปในประเทศนั้นเพื่อเป็นหลักประกันว่ารัฐบาลที่ตนเองสนับสนุนจะไม่ถูกฝ่ายอื่น ๆ โค่นล้มโดยง่ายดังเช่น ประเทศสหรัฐอเมริกาส่งกำลังทหารเข้าไปในประเทศอัฟกานิสถาน (ในปัจจุบันรัฐบาลอัฟกานิสถานที่สหรัฐหนุนหลังพ่ายแพ้ฝ่ายต่อต้าน และสหรัฐอเมริกาได้ถอนทหารกลับไปแล้ว)
วิธีที่สาม การส่งกองกำลังทหารเข้าไปบุกยึดประเทศใดประเทศหนึ่งโดยตรง กรณีประเทศสหรัฐอเมริกาส่งกำลังไปยึดประเทศอิรักคือตัวอย่างที่ดีของรูปแบบนี้ หลังจากยึดได้ก็ให้ทหารของตนเองตรึงกำลังอยู่ในประเทศนั้น และดำเนินการจัดหารัฐบาลใหม่ที่อยู่ภายใต้การกำกับของตนเองขึ้นมาบริหารประเทศ พร้อมกับดำเนินการปราบปรามฝ่ายต่อต้านที่ยังคงหลงเหลืออยู่
ในปัจจุบันประเทศรัสเซียก็ได้ใช้วิธีการนี้ โดยส่งกองกำลังเข้ารุกราน พยายามโค่นล้มรัฐบาล และยึดประเทศยูเครน เหตุผลที่รัฐบาลรัสเซียอ้างคือ รัฐบาลยูเครนดำเนินนโยบายต่างประเทศที่จะเป็นภัยต่อประเทศรัสเซีย โดยเฉพาะการพยายามเข้าไปเป็นสมาชิกองค์กรสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือหรือนาโต้
หากย้อนประวัติศาสตร์ ยูเครนแยกตัวจากสหภาพโซเวียตมาเป็นประเทศอิสระเมื่อปี 1991 หลังจากนั้น ความขัดแย้งทางการเมืองภายในประเทศยูเครนระหว่างประชาชนที่ต้องการเป็นอิสระและนิยมตะวันตก กับประชาชนฝ่ายที่มีต้องการมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับรัสเซียก็มีมาโดยตลอด ขณะเดียวกันความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลยูเครนกับรัฐบาลรัสเซียก็ไม่ราบรื่นนัก มีการกระทบกระทั่งมาอย่างต่อเนื่องเช่นเดียวกัน อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่าประชาชนชาวยูเครนส่วนใหญ่มีแนวสนับสนุนรัฐบาลที่มีโน้มเอียงไปทางนิยมประเทศเสรีนิยมประชาธิปไตยตะวันตกมากกว่ารัฐบาลที่สนับสนุนและนิยมประเทศรัฐเซีย
เมื่อประเทศใดประเทศหนึ่งเป็นรัฐเอกราชแล้ว ก็มีบรรทัดฐานสากลว่า การที่ประเทศอื่นส่งกำลังทหารเข้าไปยึดครองเป็นสิ่งไม่ชอบธรรม ดังนั้นหากยึดบรรทัดฐานนี้ การที่รัฐบาลรัสเซียส่งทหารเข้าไปรุกรานและพยายามยึดครองยูเครนย่อมเป็นสิ่งไม่ชอบธรรม เช่นเดียวกันกับที่สหรัฐอเมริกาเคยส่งทหารเข้าไปยึดครองประเทศอิรัก
อย่างไรก็ตาม ประเทศผู้รุกรานพยายามหาเหตุผลและอ้างความชอบธรรมในการรุกรานอยู่เสมอ ที่อ้างบ่อยคือ ประเทศที่ถูกรุกรานกำลังกระทำสิ่งที่เป็นภัยต่อความมั่นคงของประเทศตนเอง และในยุคศตวรรษที่ 21 อีกเหตุผลหนึ่งที่ผู้รุกรานใช้บ่อยคือ การเข้าไปช่วยเหลือประชาชนให้หลุดพ้นจากการปกครองที่โหดร้ายทารุณของผู้ปกครองประเทศนั้น ๆ
ผลที่ตามมาจากการรุกรานจะเป็นอย่างไรขึ้นอยู่กับสถานภาพทางอำนาจของประเทศผู้รุกรานเป็นหลัก แต่อย่างไรเสีย สิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นค่อนข้างแน่คือ การมีประเทศจำนวนมากไม่เห็นด้วยกับการรุกรานและประณามการรุกราน บางประเทศก็มีมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่อประเทศที่รุกราน ส่วนจะมากจะน้อยก็ขึ้นอยู่กับเครือข่ายอำนาจทางเศรษฐกิจของประเทศที่ไม่เห็นด้วย อย่างเช่น การรุกรานของสหรัฐอเมริกาต่อประเทศอิรัก แทบไม่มีประเทศใดที่ไม่เห็นด้วยกับการรุกรานใช้มาตรการคว่ำบาตรหรือตัดความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับสหรัฐอเมริกา อย่างมากก็เพียงแค่ประณาม แต่กรณีประเทศรัสเซียรุกรานยูเครนครั้งนี้ มีหลายประเทศในตะวันตกดำเนินการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรงต่อประเทศรัสเซีย
ส่วนมาตรการอื่นที่มีความเข้มข้นมากขึ้น อย่างการกระโดดเข้าร่วมสงคราม โดยอยู่ข้างประเทศที่ถูกรุกรานอย่างเต็มตัวมีค่อนข้างน้อย ยิ่งประเทศผู้รุกรานที่มีแสนยานุภาพมากเท่าไร โอกาสที่จะมีประเทศใดเข้าไปสนับสนุนทางทหารแก่ประเทศที่ถูกรุกรานก็ยิ่งมีความเป็นไปได้น้อย เพราะต่างก็เกรงกลัวว่า จะทำให้สงครามขยายตัวและกลายมาเป็นสงครามโลกนั่นเอง การสนับสนุนประเทศที่ถูกรุกรานจึงมักเป็นการสนับสนุนในเชิงให้กำลังใจ เชิงมนุษยธรรม และบางกรณีก็อาจสนับสนุนอาวุธบ้าง
สิ่งที่เราเห็นบ่อยในยุคปัจจุบันคือ แม้ว่าประเทศใหญ่อาจยึดครองประเทศเล็ก สามารถจำกัดรัฐบาลที่ปรปักษ์ และจัดตั้งรัฐบาลหุ่นเชิดขึ้นมาได้ แต่การสู้รบมักไม่จบลง เพราะมีประชาชนบางกลุ่มของประเทศเล็กที่ไม่ยอมอยู่ใต้อาณัติของรัฐบาลหุ่นเชิด พยายามจัดตั้งกองกำลังติดอาวุธขึ้นมาต่อสู้กับรัฐบาลหุ่นเชิด และเปลี่ยนสถานการณ์ของประเทศนั้นเข้าสู่สถานการณ์สงครามกลางเมือง ซึ่งในมุมมองของประชาชนคือสงครามเพื่ออิสระภาพ แต่ในมุมของผู้ยึดครองคือสงครามก่อการร้าย
กรณีรัสเซียบุกยูเครน ในช่วงแรกมีการประเมินกันว่า รัสเซียสามารถยึดได้ภายในไม่กี่วัน แต่ในสถานการณ์จริง ปรากฎว่ากองกำลังรัสเซียกลับเผชิญการต่อต้านจากรัฐบาลและประชาชนยูเครนอย่างไม่หวั่นเกรง ซึ่งทำให้สงครามยืดเยื้อ และเมื่อประเมินสถานการณ์ในเรื่องความพร้อมรบและความกล้าหาญในการต่อสู้กับผู้รุกรานของประชาชนและรัฐบาลยูเครนแล้ว ก็บ่งบอกได้ว่า ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยสำหรับรัสเซียที่จะสามารถยึดครองยูเครนได้อย่างเบ็ดเสร็จเร็ววัน และแม้ว่าในสุดรัสเซียอาจจะยึดครองยูเครนได้ก็ตาม
ในกรณีที่รัสเซียยึดยูเครนได้ คาดว่าสงครามระหว่างประชาชนยูเครนกับกองกำลังทหารรัสเซียจะยังไม่จบลงง่าย ๆ และมีความเป็นไปได้สูงว่า สงครามแห่งการยึดครองจะเปลี่ยนสภาพเป็นสงครามการเมือง ซึ่งจะยิ่งสร้างผลกระทบและความยากลำบากไม่เพียงแต่กับประชาชนยูเครนเท่านั้น แต่จะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อรัสเซียเองด้วยทั้งทางเศรษฐกิจและการเมือง ผลกระทบทางเศรษฐกิจจะเกิดจากการมาตรการลงโทษของกลุ่มประเทศตะวันตก และส่วนผลกระทบทางการเมืองเกิดจากแรงกดดันภายในประเทศที่มาจากประชาชนรัสเซีย ที่ได้ผลกระทบทางเศรษฐกิจ ดังนั้นยิ่งสงครามยืดเยื้อมากเท่าไร ก็มีความเป็นไปได้สูงว่า จะสร้างปัญหาต่อเสถียรภาพของรัฐบาลรัสเซีย
สงครามเป็นเสมือนจุดบกพร่องทางจิตวิญญาณที่ยากแก่การลบเลือนของมนุษย์ เป็นสิ่งบ่งบอกถึงการดำรงอยู่ของสัญชาตญานดิบแห่งการทำลายล้างที่ฝังแน่นอยู่ในตัวมนุษย์ และในที่สุดก็อาจนำไปสู่โศกนาฏกรรมแห่งการสิ้นเผ่าพันธุ์ของมนุษย์ในอนาคตก็เป็นได้