คนแคระบนบ่ายักษ์
ไชยันต์ ไชยพร
ข้อความตอนหนึ่งของบทความคราวที่แล้ว ผู้เขียนได้กล่าวว่า “ อนึ่ง สำหรับคำว่า absolutist นั้น ต้องเข้าใจว่า ในยุคที่ผู้คนในยุโรปต้องการให้กษัตริย์มีอำนาจมาก ก็จะเรียกกษัตริย์ว่าเป็น absolutist ซึ่งมีความหมายในด้านบวกเพราะผู้คนปรารถนาให้พระองค์มีอำนาจมาก ต่อมาคนที่ไม่ชอบกษัตริย์ก็จะกล่าวถึงกษัตริย์ว่าเป็น absolutist เช่นกัน แต่มีความหมายในด้านลบ นั่นคือ มีอำนาจมากเกินไป (ใครไม่เชื่อที่ผู้เขียนกล่าวมานี้ ให้ยกมือขึ้น ! นั่นคือ ตั้งคำถามมาใน FB ของผู้เขียนได้ ผู้เขียนจะได้หาหลักฐานอ้างอิงมาให้ดู !)” ปรากฏว่า มีผู้อ่านได้แสดงความเห็นมาใน FB ดังต่อไปนี้
คุณ Ekapon Juntaravisud: “เท่าที่เห็น อดีตชอบอวยกษัตริย์เพื่อยศตัวเอง ช่วงหลังล้มกษัตริย์เพื่อจะเป็นกษัตริย์เอง หาประโยชน์เองได้เต็ม 100 โดยอ้างประชาชน วันที่กษัตริย์ร่วมแก้ปัญหาประเทศ สร้างบ้านเมืองมา คนพวกนี้หายหัวไปหมด ส่วนตัวมองว่ากษัตริย์ควรมีอยู่เพราะ กษัตริย์มีความเป็นเจ้าของประเทศและจะทำเพื่อประเทศเป็นส่วนใหญ่ครับ ประชาชนคือลูก แตกต่างจากนักการเมืองที่ทำเพื่อครอบครับและพวกพ้องเป็นส่วนใหญ่ครับ”
คุณ Suphot Manalapanacharoen: “คำว่า absolutist มีรากมาจากภาษาละติน absolustus legibus absolute เป็นคำคุณศัพท์ แปลว่า ‘จบสิ้นสุดอย่างสมบูรณ์ ไม่มีเงื่อนไข ไม่จำกัด’ เมื่อคำคุณศัพท์นี้ผันเข้ากับคำนาม ๓ เพศ (maskulinum, femininum หรือ neutrum) จะได้ absolutus, absoluta หรือ absolutum ส่วนคำว่า legibus มาจากรูปคำนาม „lex“ (เพศ femininim) แปลว่า ‘กฎเกณฑ์ เงื่อนไข ข้อห้าม’ สัญญา lex เป็นเอกพจน์ leges/ legis เป็นพหูพจน์ legisbus อยู่ในกรรมของ dativus ซึ่งแปลอนุมานได้ว่า ‘แห่งกฎเกณฑ์เงื่อนไขทั้งหมด’ absolutus legibus มีความหมายในทางรัฐศาสตร์ “absolute monarchy“ ตามที่อาจารย์ชัยอนันต์กล่าวไว้ และหมายถึงระบบการปกครองของพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ ซึ่งเป็นตัวอย่างที่เราพบเห็นในหนังสือเรียน”
และ คุณ Suphot Manalapanacharoen ยังกล่าวต่อไปอีกว่า “absolute monarchy“ มีมาก่อนรัชสมัยพระเจ้าหลุยส์ ประมาณ ๑๐๐ ปี โดยนักทฤษฎีชาวฝรั่งเศส Jean Bodin ตลอดจน Thomas Hobbes (ในหนังสือ Leviathan) ทั้งสองให้คำจำกัดความในงานเขียนของเขา ถ้าได้ศึกษางานเขียน ๒ เล่มนี้อย่างจริงจัง จะทำให้เราเข้าใจที่มาที่ไปของคำนี้ และระบบการบริหารราชการแผ่นดินของพระราชา โดยมีเงื่อนไขทางประวัติศาสตร์ เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรมในสมัยนั้น มันไม่ได้มีเพียงมุมมองที่เราเข้าใจในปัจจุบันเท่านั้น หรือพยายามนิยามเพื่อสนับสนุนผลประโยชน์ทางการเมืองของกลุ่มตนเอง”
คุณ Sirichai Sirichai: “อาจารย์ครับ เป็นไปได้ไหมครับที่ในยุคกลาง ศาสนจักรมีอำนาจพอๆ หรือเหนือกว่าอาณาจักร การบัญญัติศัพท์ใหม่ขึ้นใช้เรียกแทน king ด้วยเพราะความหมายครอบคลุมกว่าหรือเปล่าครับ ?”
จากข้างต้น แสดงให้เห็นว่า ประเด็นเกี่ยวกับ absolute monarchy นี้ ควรจะได้ความสนใจและช่วยกันศึกษาหาข้อมูลเกี่ยวกับที่มาที่ไปของคำๆ นี้ และตอบคำถามว่า ตกลงแล้ว มีระบอบการปกครองที่เรียกว่า absolute monarchy นี้ในทางปฏิบัติจริงหรือไม่ ? และหากมีจริง มันมีหน้าตาอย่างไร ? และหากไม่มี ทำไมเราถึงคิดว่า ประเทศในยุโรปหลายประเทศเคยปกครองภายใต้ absolute monarchy มาก่อน และรวมถึงของไทยเราด้วย ซึ่งผู้เขียนจะได้กล่าวถึง absolute monarchy ต่อจากประเด็น “Enlightened Monarch: ราชาหรือราชินีผู้ทรงภูมิปัญญา” ที่ยังค้างอยู่
หลังจากที่กล่าวถึงที่มาของแนวคิดเรื่อง Enlightened King/Despot/Monarch ไปแล้ว และกล่าวถึงกษัตริย์ยุโรปพระองค์แรกที่ได้รับการยกย่องให้เป็น Enlightened King/Despot/Monarch นั่นคือ พระเจ้าฟรีดริชที่สองแห่งปรัสเซีย (ครองราย์ ค.ศ. 1740-1786) คราวนี้จะกล่าวถึงกษัตริย์ยุโรปอีกพระองค์หนึ่งที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นกษัตริย์ที่ “Enlightened” เช่นกัน นั่นคือ พระเจ้ากุสตาฟที่สามแห่งสวีเดน (เกิด ค.ศ. 1746-ค.ศ. 1792/พ.ศ. 2289-2335 คาบเกี่ยวรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศและรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าอุทุมพร)
การที่กษัตริย์พระองค์ใดจะ “Enlightened” ได้นั้น ย่อมต้องเกี่ยวกับภูมิปัญญาความรู้ที่พระองค์มี และในกรณีของพระเจ้ากุสตาฟที่สาม พระองค์ได้รับอิทธิพลการอบรมสั่งสอนจากพระอาจารย์ของพระองค์ โดยเฉพาะพระอาจารย์สองท่านที่ชื่อว่า เทสสิน (C.G. Tessin) และดาลิน (Olof von Dalin) เทสสินและดาลินต่างได้รับอิทธิพลจากกระแสความคิดภูมิปัญญาของยุโรป (European Enlightenment) จากนักคิดนักปรัชญาชาวฝรั่งเศส และสาเหตุสำคัญที่ทำให้พระองค์ได้รับการถวายความรู้จากพระอาจารย์ทั้งสองนี้คือ พระมารดาของพระองค์ นั่นคือ สมเด็จพระราชินีลุยซ่า โอริกะ (Louisa Ulrika) ซึ่งก่อนที่พระนางจะมาเป็นพระราชินีแห่งสวีเดน พระนางเป็นเจ้าหญิงแห่งปรัสเซีย และที่สำคัญคือ พระนางเป็นพระขนิษฐาของพระเจ้าฟรีดริชที่สองแห่งปรัสเซีย กษัตริย์ยุโรปพระองค์แรกที่ได้รับการยกย่องว่าเป็น “Enlightened King” นั่นเอง
จากการที่พระเจ้ากุสฟาฟที่สามได้ศึกษากับเทสสินและดาลิน ส่งผลให้พระองค์เป็นกษัตริย์ที่ทรงปัญญารอบรู้ โดยเฉพาะการเจริญปัญญาในแนวทางสมัยใหม่ของกระแสภูมิปัญญา (Enlightenment) และจากการที่เทสสินและดาลินต่างได้รับอิทธิพลจากกระแสความคิดของฝรั่งเศส ก็ส่งผลให้พระเจ้ากุสตาฟที่สามมีความใกล้ชิดสนิทสนมกับนักคิดฝรั่งเศสอย่างวอลแตร์ (Voltaire) และนักคิดกลุ่ม “the Encyclopedists” ด้วย โดยเฉพาะพวก “philosophes” ที่มีแนวคิดสมัยใหม่และเชื่อในเหตุผล
กลุ่ม “Encyclopedists” คือกลุ่มของนักคิดนักเขียนฝรั่งเศสที่รวมรวมข้อมูลความรู้ต่างๆ แล้วจัดเป็นหมวดหมู่ตามลำดับตัวอักษร อันเป็นต้นกำเนิดของหนังสือ “เอนไซโคลพิเดีย” หรือ “สารานุกรม” นั่นเอง แต่การอธิบายให้ความหมายคำต่างๆนักคิดนักเขียนกลุ่มนี้จะเป็นไปในแนวสมัยใหม่ นั่นคือ ตามกระแสภูมิปัญญา (Enlightenment) นักคิดที่เป็นผู้นำในกลุ่มนี้ได้แก่ ดิเดโรต์ (Diderot) และดาลอมเบต์ (D’Alembert)
ส่วนพวก “philosophes” ดังที่กล่าวไปแล้วว่า เป็นพวกที่เชื่อในเหตุผล มีความคิดสมัยใหม่ที่เป็นวิทยาศาสตร์เชื่อในความก้าวหน้าของมนุษย์และปฏิเสธความเชื่องมงายทางศาสนา
พระเจ้ากุสตาฟที่สามจึงเป็นกษัตริย์ที่มีหัวสมัยใหม่ก้าวหน้ากว่ากษัตริย์สวีเดนที่ผ่านมา แต่สิ่งที่น่าแปลกใจและน่าสนใจอย่างยิ่งคือ หลังจากที่พระองค์เสด็จขึ้นครองราชย์ได้ไม่ถึงสามเดือน พระองค์ทรงทำรัฐประหารยึดอำนาจจากสภาของพวกอภิชน เพราะก่อนรัชสมัยของพระองค์ อำนาจทางการเมืองภายใต้รัฐธรรมนูญ ค.ศ. 1720 ของสวีเดนได้ให้อำนาจตกอยู่แก่พวกอภิชนและรัฐสภา ส่วนกษัตริย์นั้นไม่มีอำนาจอะไรเลย ซึ่งหากมีเวลา ผู้เขียนจะกล่าวถึงที่มาของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เพราะก่อนหน้าจะมีรัฐธรรมนูญฉบับนี้ สวีเดนปกครองภายใต้ระบอบที่มักเรียกกันว่า “สมบูรณาญาสิทธิราชย์” และในการรัฐประหาร พระเจ้ากุสตาฟที่สามได้บังคับให้พวกอภิชนรัฐสภายอมรับรัฐธรรมนูญฉบับ ค.ศ. 1772 ที่พระองค์ทรงร่างขึ้น
การทำรัฐประหารของพระเจ้ากุสตาฟที่สามเป็นกรณีที่น่าสนใจอย่างยิ่ง ! ด้วยคำถามก็คือ การตัดสินใจกลับสู่ระบอบการปกครองที่กษัตริย์มีอำนาจมากนั้นไม่ขัดกับกระแสภูมิปัญญาสมัยใหม่หรือ (Enlightenment) ที่พระองค์ยึดถือหรือ ? และการทำรัฐประหารของพระองค์นับว่าเป็นการเสี่ยงอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในปี ค.ศ. 1772 อันเป็นช่วงเวลาที่ยุโรปกำลังอยู่ในช่วงแห่งการปฏิวัติเปลี่ยนแปลง นั่นคือ การปฏิวัติฝรั่งเศสในปี ค.ศ. 1789
ในการตอบคำถามดังกล่าวนี้ คงต้องกลับมาพิจารณาแนวคิดที่เรียกว่า “enlightened despot” (รวมถึง enlightened absolutism, benevolent or enlightened despotism ด้วย)
ความหมายของแนวคิดดังกล่าวนี้หมายถึง ผู้ปกครองที่เป็นกษัตริย์ในระบอบที่เข้าใจกันว่าเป็นระบอบ “สมบูรณาญาสิทธิราชย์” หรือกษัตริย์ที่มีอำนาจ “สมบูรณ์เด็ดขาด” ที่ได้รับอิทธิพลจากกระแสภูมิปัญญาสมัยใหม่ (Enlightenment) โดยเฉพาะอย่างยิ่งการยอมรับหลักการความคิดที่มีเหตุมีผล และการประยุกต์ใช้หลักการดังกล่าวในการบริหารกิจการบ้านเมือง
หลักการความคิดที่มีเหตุผลที่ว่านี้ย่อมนำมาหลักการสำคัญดังนี้คือ
หนึ่ง มุ่งให้สังคมมีขันติธรรมทางศาสนา (religious toleration) ไม่งมงายคลั่งไคล้จนทำร้ายผู้อื่นที่มีความคิดเห็นแตกต่าง
สอง การเชื่อในความคิดที่มีเหตุมีผลย่อมเปิดโอกาสให้ทุกคนมีเสรีภาพในการแสดงความคิดและมีเสรีภาพในการเผยแพร่ความคิดเห็นของตนเพื่อรับฟังการวิพากษ์วิจารณ์ (freedom of speech and freedom of press)
สาม ยอมรับกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินส่วนบุคคล และ
สี่ มุ่งพัฒนาการศิลปะวิทยาการและการศึกษา
โดยทั่วไป กล่าวได้ว่า กษัตริย์หรือผู้ที่เชื่อในแนวคิดดังกล่าวนี้ แม้ว่าจะยังยืนยันในอำนาจการปกครองที่สมบูรณ์เด็ดขาด แต่พวกเขาไม่เชื่อว่าอำนาจการปกครองนี้เป็นอาณัติจากพระผู้เป็นเจ้าตามทฤษฎีเทวสิทธิ์ (divine right) ตามความคิดทางการเมืองที่เกิดขึ้นในยุโรปตั้งแต่ยุคกลางอีกต่อไป แต่พวกเขามักจะยอมรับในหลักการสัญญาประชาคม (social contract) นั่นคือ อำนาจสมบูรณ์เด็ดขาดขององค์อธิปัตย์หรือกษัตริย์เป็นอำนาจที่มาจากการยอมรับของประชาชน และกษัตริย์หรือผู้ปกครองมีหน้าที่ต้องปกครองด้วยปัญญาอย่างมีเหตุมีผล
อย่างไรก็ตาม เกณฑ์ที่จะบอกว่ากษัตริย์พระองค์ใดเป็น “enlightened despot” โดยยึดกับแนวคิด “สัญญาประชาคม” นั้น อาจจะใช้ไม่ได้เสมอไป เพราะในกรณีของ สมเด็จพระจักรพรรดินีแคเธอรีนที่ ๒ แห่งรัสเซีย (ครองราชย์ ค.ศ. 1762-1769) ซึ่งพระองค์ก็ได้รับการขนานนามว่าเป็น “enlightened despot” ด้วย แม้พระองค์จะทรงรับแนวคิดสมัยใหม่ (Enlightenment) อย่างมากและทรงรับแนวคิดของพวก “philosophes” ของฝรั่งเศสเช่นกัน----โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มงเตสกิเออ (Montesquieu) นักทฤษฎีการเมืองฝรั่งเศสเจ้าของทฤษฎีการแบ่งแยกการใช้อำนาจอธิปไตย----อีกทั้งทรงริเริ่มการปฏิรูประบบกฎหมายของรัสเซียให้ทันสมัยและเที่ยงธรรม แต่พระองค์กลับทรงปฏิเสธหลักการปกครองแนว “สัญญาประชาคม” โดยสิ้นเชิง !
อย่างไรก็ตาม บรรดานักประวัติศาสตร์ต่างก็ยังถกเถียงเกี่ยวกับแนวคิด “ผู้ปกครองผู้ทรงภูมิปัญญา” (Enlightened Ruler) นั่นคือ ฝ่ายหนึ่งเน้นไปที่ความเป็นผู้ทรงภูมิปัญญาของตัวกษัตริย์เท่านั้น แต่อีกฝ่ายหนึ่งเน้นไปที่การที่กษัตริย์พยายามที่จะเปลี่ยนแปลงสังคม
อย่างในกรณีของพระเจ้าฟริดริชที่สองแห่งปรัสเซียหรือที่คนไทยมักเรียกกันว่า “พระเจ้าเฟดริกมหาราชแห่งปรัสเซีย” ในตอนที่ทรงพระเยาว์ พระองค์ได้รับการอบรมสั่งสอนตามภูมิปัญญาความรู้สมัยใหม่ของฝรั่งเศส (the French Enlightenment) และพระองค์ทรงดำเนินชีวิตส่วนพระองค์ตามแนวทางดังกล่าว แต่มิได้ทรงมีพระราชประสงค์ที่จะใช้ความรู้ดังกล่าวในการปฏิรูปเปลี่ยนแปลงประเทศแต่อย่างใด แตกต่างไปจากอัครมหาเสนาบดีของโปรตุเกสอย่าง เซบาสเตียน โฮเซ เดอ คาร์วาลโล เอ เมโล (Sebastião José de Carvalho e Melo อยู่ในอำนาจระหว่าง ค.ศ. 1750-1777) ที่พยายามใช้ภูมิปัญญาสมัยใหม่ในการปฏิรูปประเทศ และเพิ่มความเข้มแข็งให้กับอำนาจเด็ดขาดของเขา จัดการกับฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง และไม่เปิดให้มีการวิพากษ์วิจารณ์ใดๆ ทั้งสิ้น ด้วยความเชื่อมั่นในความถูกต้องของแนวทางการปฏิรูปสังคมของตัวเองเท่านั้น !