xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ศาสตราจารย์ ดร. ชัยอนันต์ สมุทวนิช (57) : พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว กับ Thomas Carlyle

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


โทมัส คาไลน์ | พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
คนแคระบนบ่ายักษ์
ไชยันต์ ไชยพร

 Frederick the Great ของ Thomas Carlyle เป็นหนังสืออ้างอิงเล่มสุดท้ายที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงใช้ในการพระราชนิพนธ์เรื่อง  The War of the Polish Succession (สงครามสืบราชสมบัติโปแลนด์)  ที่ได้รับการตีพิมพ์จากสำนักพิมพ์อังกฤษ T. Fisher Unwin ในปี พ.ศ. 2445

 สิ่งที่จะแนะนำผู้อ่านเกี่ยวกับหนังสือเล่มนี้คือ หนึ่ง ใครคือ “เฟรเดอริคมหาราช” (Frederick the Great) เขามีความสำคัญอย่างไร ? และโทมัส คาร์ไล Thomas Carlyle ผู้แต่งหนังสือเป็นนักประวัติศาสตร์ระดับไหน ? ทำไมพอมีนักวิชาการเมืองไทยทราบว่า พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงใช้หนังสือของโทมัส คาร์ไล ถึงจะต้องกล่าวว่าน่าสนใจมากด้วย !? 

 ก่อนอื่นคงต้องคลายความสงสัยของท่านผู้อ่านที่ไม่ได้ติดตามเรื่องนี้มาก่อนว่า เฟรเดอริคมหาราช หรือพระเจ้าฟรีดริชที่ 2 แห่งปรัสเซียเกี่ยวอะไรด้วยกับสงครามสืบราชสมบัติโปแลนด์ ?

 คำตอบก็คือ มหาอำนาจต่างชาติในยุโรปมีความขัดแย้งกันเกี่ยวกับผู้สืบราชสมบัติในโปแลนด์ โดยแบ่งออกเป็นสองฝ่าย ฝ่ายหนึ่งสนับสนุน Augustus III พระราชโอรสของ Augustus II กษัตริย์โปแลนด์ที่เพิ่งสิ้นพระชนม์ลง ส่วนอีกฝ่ายหนึ่งสนับสนุน Stanislaw I Leszczynski เพราะพระองค์เคยขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์โปแลนด์ในช่วงที่สวีเดนโดยพระเจ้าชาร์ลสที่สิบสองบังคับให้ Augustus II สละราชสมบัติ 
 
ฝ่ายแรกนำโดยออสเตรียและรัสเซีย ส่วนฝ่ายหลังนำโดยสเปนและฝรั่งเศส และยังมีชาติต่างๆ สนับสนุนแต่ละฝ่าย อีกทั้งผู้คนในโปแลนด์เองก็แบ่งเป็นสองฝ่ายด้วยเช่นกัน และ ปรัสเซียเกี่ยวข้องกับสงครามสืบราชสมบัติโปแลนด์เพราะเข้ามาสนับสนุนออสเตรียและรัสเซีย
 
ต่อมา เฟรเดอริคมหาราช หรือพระเจ้าฟรีดริชที่ 2 แห่งปรัสเซียมีความสำคัญอย่างไร ? ก่อนอื่นจะขอเล่าถึงการเป็นกษัตริย์ที่มีชื่อเสียงและได้รับการยกย่องอย่างยิ่งในยุโรปก่อน

 พระเจ้าฟรีดริชที่ 2 แห่งปรัสเซียทรงครองราชย์ระหว่าง พ.ศ. 2283-2319 (ค.ศ. 1740-1786) พระองค์เป็นกษัตริย์ยุโรปพระองค์แรกที่ได้รับการขนานนามว่าเป็น “กษัตริย์ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิ์ที่ทรงภูมิธรรม” หรือ “enlightened absolutist” หรือบางทีก็เรียกว่า “enlightened king” หรือบางทีก็เรียกว่า “enlightened despot” เพราะการบริหารราชการแผ่นดินในรัชสมัยของพระองค์ได้กลายเป็น “ตัวแบบ” ให้กับกษัตริย์พระองค์อื่นๆ ในยุโรปด้วย  


พระองค์มีความสนพระทัยและมีผลงานในหลายๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นงานด้านปรัชญาความคิด กวี ดนตรี ประพันธ์เพลง นักวิจารณ์ แม้ว่าพระองค์จะไม่ได้ทรงอัจฉริยภาพขนาดมืออาชีพ แต่ผลงานของพระองค์ก็มีความโดดเด่นมากทีเดียวเมื่อเทียบกับสิ่งที่กษัตริย์พระองค์อื่นโดยทั่วไป อีกทั้งพระองค์ยังทรงเป็นนักคิดในทางศีลธรรมจริยธรรมและเป็นผู้รักและให้ความสำคัญในเรื่องสุนทรียะอย่างมุ่งมั่นจริงจัง
 
ผู้เขียนเชื่อว่า ผู้อ่านจำนวนไม่น้อยคงติดใจกับคำว่า  “enlightened absolutist/king/despot ” ว่าหมายถึงอะไร ? เพราะ  พระยากัลยาณไมตรี (ฟรานซิส บี. แซร์)  ที่ปรึกษากฎหมายของสยามในช่วงรัชกาลที่หกและรัชกาลที่เจ็ดก็ใช้คำว่า  “enlightened king” ในการกล่าวถึง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  ดังที่เขาได้เขียนไว้ในบันทึกตอบพระราชหัตถเลขาของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัววันที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2469 ว่า


 “In the hands of an enlightened Monarch, such as King Chulalogkorn, rapid progress can be made and national interest can be greatly advanced, but if an incompetent or weak Monarch comes to the throne all the progress of a former reign may be lost and the country may be faced with the dire alternative of disaster or revolution.” (ในการปกครองที่อำนาจสูงสุดอยู่ที่พระมหากษัตริย์ หากพระมหากษัตริย์พระองค์นั้นเป็น “พระมหากษัตริย์ที่ทรงภูมิธรรม” อย่างเช่นพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า จะเกิดความก้าวหน้าได้อย่างรวดเร็วและประโยชน์ของประเทศชาติจะพัฒนาก้าวหน้าไปอย่างยิ่งยวด แต่ถ้าพระมหากษัตริย์อ่อนแอหรือไร้ความสามารถ ความก้าวหน้าทั้งหลายที่พระมหากษัตริย์พระองค์ก่อนได้ทรงสร้างไว้ ก็อาจจะหายไปและประเทศอาจจะเผชิญกับทางที่หายนะหรือเกิดการปฏิวัติ” 

 

Stanislaw I Leszczynski| Augustus III

พระเจ้าฟรีดริชที่ 2 แห่งปรัสเซีย| Wilhelm Georg Friedrich Roscher
ทีนี้เรามาดูกันว่า คำว่า “enlightened king/despot” นี้มีกำเนิดจากไหน ?

คำว่า enlightened despot ถูกบัญญัติขึ้นในปี พ.ศ. 2390 (ค.ศ. 1847) ตรงกับช่วงปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ผู้ที่บัญญัติคำดังกล่าวนี้ขึ้นมาคือ นักเศรษฐศาสตร์และประวัติศาสตร์ชาวเยอรมันชื่อ  วิลเฮล์ม รอสเชอร์ (Wilhelm Georg Friedrich Roscher: พ.ศ. 2360-2437/ ค.ศ. 1817-1894) โดยเขาต้องการให้คำว่า enlightened despot นี้สื่อถึง ผู้ปกครองที่เป็นกษัตริย์ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์หรือผู้ปกครองที่มีอำนาจสมบูรณ์เด็ดขาดที่ได้รับอิทธิพลจากกระแสภูมิปัญญาสมัยใหม่ (Enlightenment) โดยเฉพาะอย่างยิ่งการยอมรับหลักการความคิดที่มีเหตุมีผล และประยุกต์ใช้หลักการดังกล่าวในการบริหารกิจการบ้านเมือง

 หลักการความคิดที่มีเหตุผลที่ว่านี้ย่อมนำมาซึ่งหลักการสำคัญหลักๆ สี่ประการ นั่นคือ หนึ่ง มุ่งให้สังคมมีขันติธรรมทางศาสนา (religious toleration) ไม่งมงายคลั่งไคล้จนทำร้ายผู้อื่นที่มีความคิดเห็นแตกต่าง (ซึ่งปัญหาความขัดแย้งทางศาสนาเป็นประเด็นสำคัญยิ่งในยุโรป) สอง เชื่อในความคิดที่มีเหตุมีผล เปิดโอกาสให้ทุกคนมีเสรีภาพในการแสดงความคิดและเผยแพร่ความคิดเห็นของตนเพื่อรับฟังการวิพากษ์ วิจารณ์ (freedom of speech and freedom of press) สาม ยอมรับกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินส่วนบุคคล และสี่ มุ่งพัฒนาการศิลปะวิทยาการและการศึกษา  


จะว่าไปแล้ว แนวคิดเรื่อง “พระมหากษัตริย์ผู้ทรงภูมิธรรมหรือภูมิปัญญา” *ก็ดูจะไม่ต่างจากแนวคิด “ราชาปราชญ์” หรือ “philosopher king” ของนักปรัชญาการเมืองกรีกโบราณผู้ยิ่งใหญ่อย่าง เพลโตเพราะ เลียวนาร์ด ไครเกอร์ (Leonard Krieger: พ.ศ. 2461-2533/ ค.ศ. 1918-1990)  ศาสตราจารย์ทางประวัติศาสตร์ยุโรปสมัยใหม่ชาวอเมริกันแห่งมหาวิทยาลัยชิคาโก ผู้ได้รับการยกย่องว่าเป็น “นักประวัติศาสตร์ความคิดที่โดดเด่นที่สุดของอเมริกันในยุคสงครามเย็น”-------ก็ได้กล่าวเช่นเดียวกันนี้ในตำราชื่อ “ราชาและปราชญ์ ค.ศ. 1689-1789 (Kings and Philosophers, 1689-1789)

ไครเกอร์กล่าวว่า ตลอดระยะเวลาสองพันห้าร้อยกว่าปีมานี้ (นั่นคือ ไครเกอร์เริ่มนับตั้งแต่เพลโตได้เสนอตัวแบบ “ราชาปราชญ์” เป็นครั้งแรกในหนังสือ the Republic และที่จริงแล้ว ในระยะเวลาไล่เลี่ยกัน เราก็พบแนวคิดใกล้เคียงกันนี้ในงานของปราชญ์ผู้ยิ่งใหญ่ของโลกอีกท่านหนึ่งด้วย นั่นคือ ขงจื่อ ดังที่รู้จักกันในแนวคิด “sage-king”) ผู้คนมักคาดหวังอยากได้ผู้นำที่ทั้งมีอำนาจเต็มที่และมีสติปัญญาความรู้และคุณธรรม โดยเชื่อว่าผู้นำเช่นว่านี้จะพัฒนาประเทศชาติและทำให้ชีวิตผู้คนอยู่ดีมีสุข ความคิดและความคาดหวังใน “ราชาปราชญ์” มาปรากฏขึ้นชัดเจนอีกครั้งในปี พ.ศ. 2390 โดยปรากฎในคำที่แตกต่างออกไปนั่นคือ “enlightened despot” และคำๆ นี้ได้ถูกใช้ขนานนามกษัตริย์และราชินีบางพระองค์ของประเทศบางประเทศในยุโรป

คำว่า “enlightened despot” ใช้เฉพาะกับยุคสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์เท่านั้น และต้องเป็นบางช่วงบางสมัยของสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่มีความโดดเด่นชัดเจน นั่นคือ ในยุคที่กษัตริย์ทรงตอบสนองต่อเงื่อนไขทางสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป รวมทั้งสนองตอบต่อปรัชญาสมัยใหม่แห่งยุคภูมิปัญญา การสนองตอบของพระองค์ประจักษ์ชัดเจนจากการที่พระองค์ได้ทรงทำให้การปกครองของพระองค์มีประสิทธิภาพอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนโดยมีเป้าหมายหลักในการพัฒนาสิทธิเสรีภาพและความอยู่ดีกินดีของราษฎรทั้งปวงภายใต้พระราชอำนาจอันสมบูรณ์เด็ดขาดของพระองค์

แต่ผู้ที่ไม่เชื่อในแนวคิดดังกล่าวนี้ได้โต้แย้งว่า การสร้างแนวคิด “enlightened despot” เป็นเพียงความพยายามที่จะเคลือบฉาบแต่งเติมเสริมภาพของการปกครองแบบเผด็จการให้ดูดีขึ้นเท่านั้น และจริงๆ แล้ว ความพยายามที่จะตีความผู้ปกครองแบบนี้ให้ดูดีถือเป็นการบิดเบือนทางประวัติศาสตร์อย่างร้ายแรง (historical distortion) หาได้เป็นอะไรอื่นนอกจากการเล่นลิ้นโวหารของฝ่ายเจ้าหรือฝ่ายนิยมเจ้าที่ใช้คำว่า “enlighten” ที่เป็นคำที่ได้รับความนิยมและมีความหมายในด้านบวกในช่วงยุคภูมิปัญญา (Enlightenment) มาตกแต่งการใช้อำนาจของผู้ปกครองเผด็จการให้มีนัยในแง่ดีในช่วงเวลาที่ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์กำลังสั่นคลอนจากการท้าทายของแนวคิดสมัยใหม่ ส่งผลให้นโยบายหรือพระบรมราชโองการของกษัตริย์ดูดีมีเหตุผล-ยังประโยชน์ต่ออาณาประชาราษฎร แต่จริงๆ แล้วไม่ได้มีอะไรที่เป็นจริงเช่นนั้นหรือเป็นสาธารณะประโยชน์ที่เป็นชิ้นเป็นอันเท่าไรนัก

มีประเด็นที่ทำให้เราอดตั้งข้อสังเกตไม่ได้ นั่นคือ หากแนวคิด “enlightened despot” (หรือบางทีก็เรียกว่า enlightened despotism/absolutism) เป็นเพียง “โวหาร” (rhetoric) ที่ถูกคิดค้นหรือสร้างขึ้นมาเพื่อรับใช้หรือสร้างความชอบธรรมให้กับผู้ปกครองในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ (absolute monarchy) หรือเป็นเครื่องมือในการต่ออายุให้ระบอบดังกล่าว ทำไมถึงไม่กลับไปใช้แนวคิด “philosopher king” หรือ “ราชาปราชญ์” ของเพลโตที่เป็นแนวคิดต้นแบบ (prototype) ? หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ “philosopher king” เป็นแนวคิดตัวพ่อของ “enlightened despot” นั่นเอง

หากไม่ใช้คำว่า “philosopher” แต่ต้องการใช้คำว่า “enlightened” เพราะเป็นคำที่อยู่ในกระแสความนิยมของผู้คนทั่วไปในยุโรป---โดยเฉพาะอย่างยิ่งพวกนักคิดปัญญาชน---ในศตวรรษที่สิบแปดมากกว่าคำว่า “philosopher” แต่กระนั้น ทำไมไม่ยืนหยัดใช้คำว่า “king” ต่อไป ทำไมไปใช้คำว่า “despot” แทน ? เพราะ “despot” มีความหมายในด้านลบอย่างยิ่งเมื่อเทียบกับคำว่า “king” ! หรือแม้กระทั่งในปัจจุบัน เราจะพบความหมายของ “despot” ในแง่ลบในพจนานุกรมแทบทุกเล่ม เช่น ใน Longman Dictionary of Contemporary English (พ.ศ. 2552) อธิบายว่า despot ไว้ว่าหมายถึง คนบางคน โดยเฉพาะผู้ปกครอง ที่ใช้อำนาจอย่างโหดร้ายและไม่เป็นธรรม มีความหมายในทำนองเดียวกันกับ tyrant หรือ “ทรราช” (“someone, especially a ruler, who uses power in a cruel and unfair way; tyrant”) หรือจาก Oxford dictionary ฉบับออนไลน์ อธิบาย despot ว่าหมาFยถึง ผู้ปกครองหรือบุคคลที่มีอำนาจสมบูรณ์เด็ดขาด โดยเฉพาะผู้ซึ่งใช้อำนาจอย่างโหดร้ายและกดขี่ (“a ruler or other person who holds absolute power, typically one who exercises it in a cruel or oppressive way.”

ส่วนคำว่า king ใน Longman Dictionary of Contemporary English อธิบายว่า คนที่ปกครองประเทศเพราะเขามาจากพระบรมวงศานุวงศ์ (“a man who rules a country because he is from a royal family.” ) และใน Oxford dictionary ฉบับออนไลน์เดียวกันข้างต้นให้ความหมายว่า ผู้ปกครองผู้เป็นชายของรัฐอิสระ โดยเฉพาะผู้ซึ่งขึ้นสู่ตำแหน่งนี้ตามสิทธิโดยกำเนิด (“the male ruler of an independent state, especially one who inherits the position by right of birth.”)

 เมื่อเปรียบเทียบคำว่า “despot” กับคำว่า “king” จะเห็นได้ว่า หากจะมุ่งสร้างภาพให้กษัตริย์ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ น่าจะใช้คำว่า “king” มากกว่า “despot” เพราะการใช้คำว่า “enlightened despot” มันหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะนำไปสู่ความหมายที่ว่า “ผู้ปกครอง ที่ใช้อำนาจอย่างโหดร้ายและไม่เป็นธรรม” (despot) แต่เป็น “ผู้ทรงไว้ซึ่งภูมิปัญญาความรู้และคุณธรรม” (enlightened) หรือพูดง่ายๆก็คือ “ทรราชผู้ทรงภูมิปัญญาคุณธรรม” ซึ่งเป็นการนำคำสองคำที่ขัดแย้งกันอย่างสิ้นเชิงมารวมไว้ด้วยกัน ! 


กำลังโหลดความคิดเห็น