หลังจากทำรัฐประหารยึดอำนาจรัฐบาลได้ครบรอบ 1 ปี ป่านนี้พลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย นายกรัฐมนตรีเมียนมา ได้ตระหนักและซึ้งในหัวอกหรือยังว่าการครองอำนาจนั้นไม่ง่าย ยังไม่มีวี่แววว่าจะเอาชนะการลุกฮือต่อต้านของประชาชนได้
ย่างเข้าปีที่ 2 พลเอกมิน อ่อง หล่าย คงรู้แล้วว่าประเทศกำลังอยู่ในสภาวะสงครามกลางเมือง นับวันจะขยายตัว การสู้รบรุนแรงมากขึ้น พร้อมกับความล่มสลายของระบบเศรษฐกิจ ประชาชนยากไร้ ลำบากทั่วทุกหัวระแหง
ประชาชนกว่า 4 แสนคน ต้องทิ้งบ้านเรือนเพื่อหนีสภาวะสงครามเข้าไปในอินเดียและไทย การทำร้ายและเข่นฆ่าโดยกองทัพได้เห็นความเหี้ยมโหดในการสังหาร เผาประชาชนในหลายพื้นที่ ตัวเลขอย่างไม่เป็นทางการ มีผู้เสียชีวิตแล้ว 12,000 คน
ไม่มีทางที่จะประเมินยอดผู้เสียชีวิตได้อย่างละเอียดเพราะรัฐบาล มิน อ่อง หล่ายจำกัดความเคลื่อนไหวของสื่อ และจะทำทุกอย่างเพื่อรักษาอำนาจ
พูดได้ว่ามิน อ่อง หล่าย ได้ยกระดับตัวเองเป็นเผด็จการทรราชเต็มขั้น และเป็นอาชญากรสงครามรับผิดชอบกับการสังหารประชาชนและฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ด้วย
การยกระดับในการต่อต้านด้วยอาวุธได้ขยายตัวหลังจากกองกำลังป้องกันของประชาชน หรือ PDF ได้รับการฝึกอาวุธจากกองกำลังของชนกลุ่มน้อยซึ่งได้เข้าร่วมเปิดศึกกับรัฐบาลทหารของมิน อ่อง หล่าย มีทั้งการรบแบบจรยุทธ์ในเมืองด้วย
ก่อนหน้านี้ในยุคของพลเอกเนวิน ประเทศได้อยู่ในภาวะนาฬิกาตาย เนื่องจากการปิดประเทศ มีการปกครองแบบสังคมนิยมแบบพม่า นำไปสู่ความล้าหลัง มีการประท้วงและการปราบปรามประชาชนอย่างรุนแรง 2 ครั้งเมื่อมีการเรียกร้องเสรีภาพ
ทหารพม่าสังหารนักศึกษา พระสงฆ์ และชาวบ้านทั่วไปเสียชีวิตหลายพันคน ไม่มีการต่อต้านยืดเยื้อ ประเทศอยู่ภายใต้เผด็จการทหารต่อเนื่อง จนกระทั่งยอมคายอำนาจในยุคของผู้นำพลเรือน นางอองซาน ซูจี นำไปสู่รัฐบาลประชาธิปไตย 3 ปี
แต่มิน อ่อง หล่ายทนไม่ได้ เพราะอำนาจและผลประโยชน์ทางธุรกิจมหาศาล ซึ่งครอบครองโดยผู้นำกองทัพรุ่นก่อน เมื่อรัฐบาลพลเรือนบริหารประเทศ ทำให้ผลประโยชน์ต่างๆ จะหลุดจากมือ จึงต้องหาเหตุต่างๆ เพื่อทำรัฐประหาร
กองทัพและผู้นำทหารรุ่นก่อนและปัจจุบันมีธุรกิจแทบทุกอย่าง ธนาคาร ห้างสรรพสินค้า เหมืองแร่ ปศุสัตว์ ปิโตรเลียม เครือข่ายธุรกิจคมนาคม สื่อวิทยุ โทรทัศน์ การนำเข้า ส่งออก สร้างรายได้อย่างมากจากการทรัพยากรของชาติ
รายได้ส่วนหนึ่งเข้าสู่รัฐ นำไปเป็นงบประมาณซื้ออาวุธจากจีนและรัสเซีย ชดเชยการสูญเสียจากการสู้รบกับกองกำลังชนกลุ่มน้อย ส่วนหนึ่งใช้เลี้ยงดูปรนเปรอทหารในกองทัพเพื่อรักษาความจงรักภักดี ทหารมีเครื่องแบบ อาวุธอย่างดี
ชีวิตความเป็นอยู่ของทหารจึงดีกว่าข้าราชการหน่วยอื่น เพราะเป็นกองกำลังค้ำอำนาจเผด็จการ มีทหารหนีทัพหลายนายเพราะทนความอัปยศไม่ได้
ประชาชนหนีการระบาดของโควิด-19 ความอดอยาก ขาดแคลนสินค้าอุปโภค บริโภค ไม่สามารถดำเนินชีวิตตามปกติเมื่อทหารเข้าตรวจค้นเคหสถานแม้ในหมู่บ้าน มีการสังหารหมู่ในรัฐกะยา และกะเหรี่ยง มีตัวแทนองค์กรช่วยเหลือเด็กถูกสังหาร 2 ราย
องค์กรต่างได้เรียกร้องให้สหประชาชาติเข้าสอบสวนฆาตกรรมหมู่ประชาชน สหรัฐฯ และกลุ่มประเทศตะวันตกได้ประกาศมาตรการคว่ำบาตรผู้นำทหาร ทำให้การค้า การลงทุนหยุดชะงัก บริษัทผลิตน้ำมันต่างชาติ 2 รายถอนตัวออกจากประเทศ
บริษัทที่ยังคงทำธุรกิจอยู่ ไม่สามารถดำเนินไปตามปกติ เสี่ยงต่อความเสียหาย
สหรัฐฯ ไม่มีเวลามาเหลียวมองเหตุการณ์ในพม่า เพราะมีปัญหาอย่างอื่นตึงมือ นั่นคือวิกฤตยูเครนกับรัสเซีย ปัญหาในคาบสมุทรเกาหลี เมื่อเกาหลีเหนือแสดงแสนยานุภาพด้านขีปนาวุธเป็นระยะๆ ไม่หวั่นต่อคำเตือนของผู้นำทำเนียบขาว
สหรัฐฯ ยังมีความกังวลเรื่องการขยายอิทธิพลของจีนในทะเลจีนใต้ การโชว์พลังขีดความสามารถในการบุกยึดไต้หวัน ปัญหาสงครามในเยเมนที่ยังไม่จบแม้จะลากยาวมานาน 7 ปี ซาอุฯ และพันธมิตร 8 ชาติไม่สามารถเอาชนะกบฏฮูตีได้
ประชาชนชาวเยเมนเกือบ 4 แสนคนเสียชีวิต กว่า 20 ล้านอยู่ในสภาวะลำบาก ดังนั้นเหตุการณ์ในพม่าจึงยังไม่อยู่ในความสนใจของชาติตะวันตกเหมือนช่วงแรก ทำให้มิน อ่อง หล่าย ทำอะไรโดยไม่ต้องหวั่นว่าจะมีการแทรกแซงโดยชาติตะวันตก
การเร่งทำศึกกับกองกำลังชนเผ่าต่างๆ และประชาชนที่จับอาวุธต่อสู้ทั่วประเทศจะทำให้พม่าต้องอยู่ในมิคสัญญีอีกยาว ผู้นำเผด็จการ มิน อ่อง หล่าย ยังคงหาทางปราบปรามประชาชน ควบคุมสถานการณ์ให้ได้ แม้จะต้องเข่นฆ่าอีกมาก
คำถามก็คือ มิน อ่อง หล่ายจะอยู่ในอำนาจอีกนานแค่ไหน จะต้องมีคนเสียชีวิตอีกมากเท่าไหร่ การสู้รบจะยืดเยื้อระหว่างกองกำลังชนเผ่าต่างๆ หรือไม่ บ้านเมืองอยู่ในความวุ่นวาย เศรษฐกิจล่มสลายกลายเป็นเหมือนซีเรีย หรือไม่
มิน อ่อง หล่าย ใช้วิธีตีตราการต่อสู้ของประชาชนว่าเป็นขบวนการก่อการร้าย ทำให้เป็นข้ออ้างในการใช้อาวุธปราบปรามอย่างรุนแรง สภาพที่เป็นอยู่อาจเป็นรัฐแตกสลายเหมือนยูโกสลาเวีย โดยมีกลุ่มต่างๆ ประกาศแยกตัวเป็นรัฐอิสระ
กลุ่มประเทศอาเซียนทำอะไรไม่ได้มากไปกว่าขอให้มิน อ่อง หล่ายหยุดใช้มาตรการรุนแรง ผู้นำกัมพูชา ฮุนเซน ได้ติดต่อพบกับมิน อ่อง หล่าย แต่ไม่มีผลอะไรคืบหน้า ยังมีคำถามว่าฮุนเซนจะเชิญผู้นำพม่าประชุมสุดยอดอาเซียนปีนี้หรือไม่