xs
xsm
sm
md
lg

พม่าขู่จะขังยาวผู้ประท้วงครบ 1 ปียึดอำนาจ มะกัน-พันธมิตรงัดมาตรการคว่ำบาตรใหม่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รอยเตอร์ - รัฐบาลทหารพม่าขู่จำคุกผู้ประท้วงต่อต้านการรัฐประหารที่เข้าร่วมการ “สไตรค์เงียบ” ในวันอังคาร (1 ก.พ.) ซึ่งเป็นวันครบรอบ 1 ปีที่กองทัพเข้ายึดอำนาจ ขณะที่อเมริกา อังกฤษ และแคนาดาประกาศมาตรการคว่ำบาตรระลอกใหม่

พม่าเข้าสู่ความโกลาหลนับจากที่อองซาน ซูจี และสมาชิกคนอื่นๆ ของพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (เอ็นแอลดี) ถูกบุกจับในข้อหาโกงการเลือกตั้งปี 2020 ที่เอ็นแอลดีได้ชัยชนะ

การล้มรัฐบาลของซูจีนำไปสู่การประท้วงใหญ่บนถนนเมื่อปีที่แล้ว และกองกำลังความมั่นคงเข่นฆ่าผู้ต่อต้านหลายร้อยคน และเป็นจุดเริ่มต้นของกองกำลังปกป้องประชาชนเพื่อต่อสู้กับกองทัพที่มีอาวุธครบมือ

ช่วงไม่กี่วันมานี้นักเคลื่อนไหวเรียกร้องให้ประชาชนงดออกจากบ้านและห้างร้านต่างๆ ปิดทำการในวันอังคาร

นักเคลื่อนไหวคนหนึ่งที่หวังว่า การสไตรค์เงียบจะเป็นการส่งข้อความถึงรัฐบาลทหาร บอกว่า พวกเขาอาจถูกจับและถ้าโชคดีคงได้ใช้ชีวิตในคุก หรือถูกทรมานและฆ่าถ้าโชคร้าย

สื่อของทางการพม่ารายงานว่า มิน อ่อง หล่าย ผู้นำรัฐบาลทหาร ประกาศเมื่อวันจันทร์ (31 ม.ค.) ขยายสถานการณ์ฉุกเฉินออกไปอีก 6 เดือนเพื่ออำนวยความสะดวกในการเลือกตั้งตามที่สัญญาไว้ และเสริมว่าจำเป็นต้องกำหนดแนวทางที่เหมาะสมเพื่อให้เกิดประชาธิปไตยแบบหลายพรรคอย่างแท้จริง

รายงานที่เผยแพร่โดยโกลบัล นิว ไลต์ ออฟ เมียนมาร์ ยังระบุว่า มิน อ่อง หล่ายกล่าวถึงภัยคุกคามจากผู้ก่อวินาศกรรมทั้งภายในและภายนอก ตลอดจนถึงการโจมตีและการทำลายล้างของผู้ก่อการร้าย

หนังสือพิมพ์ฉบับดังกล่าวซึ่งเป็นของรัฐบาลสำทับว่า รัฐบาลทหารจะพยายามจัดการเลือกตั้งใหม่เมื่อสถานการณ์สงบสุขและมีเสถียรภาพแล้ว โดยไม่ได้ระบุวันที่ที่แน่นอน

ที่เมืองมิตจีนาทางตอนเหนือ กองทัพพม่าได้เผยแพร่ภาพเตือนประชาชนไม่ให้เข้าร่วมการประท้วงเงียบ ไม่เช่นนั้นจะถูกจำคุกสูงสุด 20 ปี ขณะที่ภาพบนโซเชียลมีเดียเมื่อวันอังคารเผยให้เห็นถนนที่ร้างผู้คนเป็นส่วนใหญ่ ส่วนในย่างกุ้งนั้น แกนนำการประท้วงเผยแพร่ภาพกลุ่มผู้ประท้วงขนาดเล็กเทสีแดงราดบนถนน

ผลจากการเรียกร้องให้ประชาชนทั่วประเทศร่วมประท้วงยังไม่ชัดเจน อิรวดีไทมส์รายงานว่า มีประชาชนอย่างน้อย 4 คนถูกจับในเมืองพะสิมจากการเรียกร้องบนโซเชียลให้ประชาชนประท้วงเงียบ

ก่อนวันครบรอบการยึดอำนาจในพม่า แอนโตนิโอ กูเตียร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติ (ยูเอ็น) เรียกร้องให้รัฐบาลทหารอนุญาตให้มีการเข้าถึงความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมมากขึ้น

รัฐบาลทหารพม่ากล่าวหายูเอ็นอคติและแทรกแซง รวมทั้งปฏิเสธที่จะยอมจำนนต่อแรงกดดันจากนานาชาติแม้ธุรกิจล่าถอยจากพม่า และแม้ถูกมาตรการคว่ำบาตร ซึ่งล่าสุดเมื่อวันจันทร์อเมริกา อังกฤษ และแคนาดาประกาศขึ้นบัญชีดำผู้ที่เชื่อมโยงกับรัฐบาลทหารพม่าเพิ่มเติม

สำหรับชาวพม่าทั่วไป นับจากการรัฐประหาร การดำเนินชีวิตยากแค้นอย่างมากในภาวะที่เศรษฐกิจเหี่ยวเฉา มีการตัดไฟฟ้าและจำกัดการใช้อินเทอร์เน็ตเป็นประจำ ทั้งยังต้องหวาดกลัวว่าจะถูกจับกุม

กองกำลังความมั่นคงพม่าไล่กวาดล้างผู้ต่อต้านและสังหารประชาชนอย่างน้อย 1,500 คน และมีผู้ถูกจับกุม 11,838 คน นับตั้งแต่มีการยึดอำนาจ จากข้อมูลของสมาคมช่วยเหลือนักโทษการเมือง

ซูจี เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ วัย 76 ปี อยู่ระหว่างการพิจารณาคดีกว่าสิบข้อหาที่นักวิจารณ์ระบุว่า กำหนดขึ้นเพื่อให้ซูจีไม่สามารถกลับเข้าวงการการเมืองได้อีก เนื่องจากอาจมีโทษจำคุกสูงสุดกว่า 150 ปี

รัฐมนตรีต่างประเทศออสเตรเลีย อังกฤษ เกาหลีใต้ แคนาดา และอเมริกา ตลอดจนถึงสหภาพยุโรป (อียู) ออกแถลงการณ์ร่วมเรียกร้องให้นานาชาติยุติการส่งอาวุธ วัสดุ อุปกรณ์ที่ใช้ได้สองทาง และความช่วยเหลือทางเทคนิคให้รัฐบาลทหารพม่า

ขณะเดียวกัน ความพยายามทางการทูตของสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ที่ได้รับการสนับสนุนจากนานาชาติล้มเหลว เนื่องรัฐบาลทหารพม่าไม่ยอมปฏิบัติตามคำมั่นในการยุติการเป็นปรปักษ์และสนับสนุนการเจรจา ซึ่งทำให้สมาชิกหลายชาติที่รวมถึงสิงคโปร์ไม่พอใจ

แถลงการณ์ของกระทรวงต่างประเทศสิงคโปร์เนื่องในวันครบรอบ 1 ปีการยึดอำนาจในพม่า ระบุว่า สภาพการดำรงชีวิตในพม่าเลวร้ายลง และเรียกร้องให้ปล่อยตัวซูจีและนักโทษการเมืองทั้งหมด
กำลังโหลดความคิดเห็น