xs
xsm
sm
md
lg

รมว.ต่างประเทศฟิลิปปินส์ย้ำเจรจาสันติภาพพม่าต้องมี 'ซูจี' ไม่เช่นนั้นไร้ความหมาย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รอยเตอร์ - รัฐมนตรีต่างประเทศของฟิลิปปินส์กล่าวว่า อองซานซูจี ผู้นำที่ถูกขับออกจากตำแหน่ง ‘เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้’ ในการฟื้นฟูประชาธิปไตยในพม่า และต้องรวมอยู่ในการเจรจาสันติภาพ

ในการตำหนิอย่างรุนแรงต่อรัฐบาลทหารพม่าที่โค่นล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของซูจีเมื่อปีก่อน ทีโอโดโร ล็อกซิน รัฐมนตรีต่างประเทศของฟิลิปปินส์ ได้กล่าวประณามการตัดสินลงโทษซูจีเมื่อสัปดาห์ก่อน และกล่าวหาว่ากองทัพใช้ระบบตุลาการบดขยี้ฝ่ายตรงข้าม

ล็อกซิน กล่าวว่า เขาจะขอใช้คำกล่าวของรัฐมนตรีต่างประเทศของนอร์เวย์คำต่อคำที่เรียกร้องให้รัฐบาลทหารปล่อยนักโทษการเมือง ยุติความรุนแรง และเคารพสิทธิมนุษยชน

“ผมรู้สึกกังวลเป็นอย่างยิ่งต่อความทุกข์ทรมานของประชากรพลเรือน และเรียกร้องให้ผู้นำทหารมีส่วนร่วมในการเจรจาอย่างครอบคลุมและฟื้นกระบวนการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตย” ล็อกซิน กล่าวในคำแถลง

คำแถลงของเขามีขึ้นในขณะที่สมาชิกของสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) เพิ่มแรงกดดันต่อทหารพม่า หลังจากในปี 2564 พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย ผู้นำรัฐบาลทหาร ถูกกีดกันจากการประชุมสุดยอดผู้นำเนื่องจากความล้มเหลวที่จะปฏิบัติตามคำมั่นต่อแผนสันติภาพภายใต้การนำของอาเซียน

พม่ากล่าวว่า ความพยายามของพวกเขากำลังถูกขัดขวางจากผู้ก่อการร้ายที่พยายามทำลายประเทศ

ล็อกซิน กล่าวว่า การเจรจาจะไม่มีความหมายหากปราศจากซูจี ที่จนถึงขณะนี้เธอถูกตัดสินจำคุก 6 ปี และอยู่ระหว่างการพิจารณาคดีมากกว่า 12 คดี จากข้อหาการทุจริตคอร์รัปชัน ไปจนถึงการละเมิดความลับทางการ ที่เธอปฏิเสธ

รัฐมนตรีต่างประเทศฟิลิปปินส์ระบุว่า ซูจีเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในการฟื้นฟูระบอบประชาธิปไตย ที่ไม่ก่อให้เกิดภัยคุกคามของอนาธิปไตย การล่มสลาย และความไม่สงบ

ล็อกซินยังให้คำมั่นสนับสนุนด้วยความเต็มใจต่อนายกรัฐมนตรีฮุนเซน ประธานอาเซียนคนใหม่ สำหรับการเยือนพม่าเมื่อต้นเดือนนี้ การเยือนที่เป็นประเด็นถกเถียงว่าสมาชิกบางประเทศมีความกังวลว่าอาจเป็นการบ่งชี้ถึงการยอมรับรัฐบาลทหารของอาเซียน ตามการระบุของนักการทูตระดับสูงของมาเลเซีย

ล็อกซิน ยังกล่าวอีกว่า ฟิลิปปินส์จะผลักดันให้เกิดความคืบหน้าในฉันทมติ 5 ข้อของอาเซียนเกี่ยวกับวิกฤตในพม่า ข้อตกลงที่รวมถึงการเจรจาสันติภาพ การยุติการสู้รบ และการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม.


กำลังโหลดความคิดเห็น