เอเอฟพี - นายกรัฐมนตรีฮุนเซน ของกัมพูชา เดินทางถึงพม่าวันนี้ (7) เพื่อหารือกับรัฐบาลทหาร ที่นับเป็นผู้นำต่างชาติคนแรกที่เดินทางเยือนตั้งแต่นายพลยึดอำนาจเมื่อปีก่อน
พม่าอยู่ในความโกลาหลวุ่นวายนับตั้งแต่การรัฐประหารวันที่ 1 ก.พ. ที่ขับไล่รัฐบาลพลเรือนของอองซานซูจี และยุติการปกครองระบอบประชาธิปไตยที่ดำเนินมาได้เพียงทศวรรษเดียวของประเทศ
พลเรือนมากกว่า 1,400 คน ถูกสังหารในการปราบปรามผู้เห็นต่างของกองทัพ ตามการระบุของกลุ่มสังเกตการณ์ท้องถิ่น และกองกำลังติดอาวุธต่อต้านรัฐบาลทหารจำนวนมากผุดขึ้นทั่วประเทศ
ฮุนเซน ที่ในปัจจุบันประเทศดำรงตำแหน่งประธานหมุนเวียนของสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) เดินทางถึงกรุงเนปีดอ พร้อมกับหน้ากากอนามัย 3 ล้านชิ้น และอุปกรณ์ทางการแพทย์อื่นๆ เพื่อเป็นของขวัญให้รัฐบาลทหาร
เขากล่าวว่า เขาจะใช้การประชุมกับ พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย ผู้นำทหาร ผลักดันฉันทมติ 5 ข้อ ที่ผู้นำอาเซียนได้เห็นพ้องกันเมื่อปีก่อน ที่เป็นแนวทางในการคลี่คลายวิกฤตพม่า
ก่อนการเยือน ฮุนเซนเรียกร้องการหยุดยิง และเรียกร้องให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องยุติความรุนแรงที่ทำลายประเทศมาเกือบ 1 ปี
กลุ่มสิทธิมนุษยชนและนักเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลทหารในท้องถิ่นได้เรียกร้องให้ฮุนเซนยกเลิกการเดินทางเยือนพม่า โดยระบุว่า การเยือนจะเป็นการสร้างความชอบธรรมให้รัฐบาลทหาร
แต่ฮุนเซน เรียกร้องให้มีความอดทน โดยยืนยันว่าการเยือนจะส่งผลเชิงบวก
ชาติมหาอำนาจได้เพิ่มแรงกดดันทางการทูตต่อฝ่ายบริหารราชการของทหารพม่า ที่มีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่า สภาบริหารแห่งรัฐ แม้กระทั่งพันธมิตรดั้งเดิมเช่น จีน ก็ไม่แสดงท่าทีสนับสนุนมากนัก
แต่การประณามซ้ำๆ และแม้แต่การคว่ำบาตรครั้งใหม่ก็ยังไม่ทำให้นายพลออกจากเส้นทางที่พวกเขาเลือก
ในความโหดร้ายล่าสุด มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 30 คน ในวันก่อนวันคริสต์มาส จากการสังหารหมู่ที่กล่าวโทษว่าเป็นฝีมือของทหาร
การเยือนของฮุนเซนเกิดขึ้นในขณะที่อาเซียนพยายามที่จะช่วยพม่าพ้นจากวิกฤต
อาเซียนพยายามที่จะขจัดชื่อเสียงที่ว่าเป็นเพียงเสือกระดาษไร้เขี้ยวเล็บ และดำเนินการกับพม่า โดยบรรดาผู้นำได้เห็นพ้องต่อฉันทมติ 5 ข้อ เมื่อปีก่อน
ในเดือน ต.ค. กลุ่มได้ดำเนินการขั้นตอนที่ผิดแผกไปอย่างมากในการยกเว้น พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย จากการประชุมสุดยอด ตอบโต้ที่ผู้แทนอาเซียนถูกปฏิเสธไม่ให้พบหารือกับซูจี
กัมพูชาได้กล่าวว่า ต้องการที่จะนำพม่ากลับสู่สถานะเดิม และเมื่อต้นสัปดาห์ ปรัก สุคน รัฐมนตรีต่างประเทศกัมพูชา กล่าวว่า การเยือนครั้งนี้มีจุดมุ่งหมายที่จะสร้างพื้นที่สำหรับการเจรจาอย่างครอบคลุมและความไว้วางใจทางการเมืองระหว่างทุกฝ่าย
การเยือนของฮุนเซนเผชิญกับการวิพากษ์วิจารณ์จากกลุ่มสิทธิมนุษยชนและกลุ่มสมาชิกสภานิติบัญญัติที่ถูกขับไล่ หรือรู้จักในชื่อ คณะกรรมการผู้แทนสภาแห่งสหภาพ (CRPH)
CRPH ออกคำแถลงว่า การเยือนของฮุนเซนจะไม่ก่อประโยชน์และประชาชนชาวพม่าจะโกรธเคืองต่อท่าทีที่มีต่อกองทัพ
องค์การนิรโทษกรรมสากลยังประณามการเยือนครั้งนี้ว่า อาจส่งผลเสียมากกว่าผลดี
“หากฮุนเซนต้องการที่จะช่วยจริงๆ เขาควรยกเลิกการเดินทางครั้งนี้และนำอาเซียนไปสู่การดำเนินการอย่างแข็งขันเพื่อแก้ไขสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนที่เลวร้ายของประเทศมากกว่าที่จะยอมตามในท่าทีที่ว่างเปล่า” เอเมอร์ลีน จิล จากองค์การนิรโทษกรรมสากล ระบุในคำแถลง
รัฐบาลทหารให้เหตุผลการรัฐประหารโดยกล่าวหาว่ามีการโกงการเลือกตั้งในการเลือกตั้งปี 2563 และซูจี กำลังเผชิญกับข้อหาจำนวนมากที่อาจทำให้เธอถูกจำคุกหลายสิบปี.