xs
xsm
sm
md
lg

ทหารพม่ายังฆ่าไม่เลือกหน้า

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: โสภณ องค์การณ์



ทหารพม่าได้ปฏิบัติการโหดด้วยการสังหารหมู่อีกแล้ว ครั้งนี้เหยื่อของการฆ่ามีอย่างน้อย 30 รายซึ่งมีทั้งผู้หญิงและเด็กๆ ถูกฆ่าทิ้งในรัฐคะยา ซึ่งเป็นพื้นที่ปกครองโดยชาวกะเหรี่ยงซึ่งอยู่ไม่ห่างจากพรมแดนไทยด้านเชียงใหม่

มีการรายงานของกลุ่มสิทธิมนุษยชนกะเหรี่ยงว่าอย่างน้อยสมาชิก 2 รายขององค์การสากลทำงานด้านพิทักษ์เด็กได้สูญหายไปในช่วงการโจมตีโดยทหารพม่า

ในพื้นที่เมืองพรูโซในรัฐคะยามีภาพถ่ายของซากการเผาๆ ยานพาหนะอย่างน้อย 3 คันเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม ที่ผ่านมานี่เอง มีการต่อสู้ในพื้นที่และกระสุนได้ข้ามมาตกในฝั่งไทย และชาวกะเหรี่ยงได้อพยพหนีตายข้ามชายแดนเข้ามาด้วย

กองทัพพม่าได้ออกแถลงการณ์ว่าได้ยิงและสังหารกลุ่มคนโดยไม่ทราบจำนวนซึ่งเป็นผู้ก่อการร้ายพร้อมอาวุธอยู่ภายใต้กองกำลังฝ่ายตรงข้ามในหมู่บ้านนั้น โดยมียานพาหนะ 7 คันซึ่งไม่ยอมหยุดให้เจ้าหน้าที่ทหารตรวจค้น

เหตุการณ์ดังกล่าวมีอยู่ในรายงานของสำนักข่าว CNN และบีบีซีและผู้สื่อข่าวของ CNN ได้สอบถามตัวแทนของกองทัพพม่าเกี่ยวกับเหตุการณ์ดังกล่าว แต่ก็ไม่ยอมให้รายละเอียดแต่อย่างไร

กองกำลังป้องกันแห่งชาติของกะเหรี่ยงหรือเคเอ็นดีเอฟ ซึ่งเป็นกลุ่มติดอาวุธของพลเมืองขนาดใหญ่หน่วยหนึ่งของกองกำลังกะเหรี่ยง ได้แจ้งผู้สื่อข่าวรอยเตอร์ว่าผู้ถูกสังหารไม่ได้เป็นสมาชิกของกลุ่มติดอาวุธ แต่เป็นกลุ่มผู้หลบหนีภัยจากการสู้รบ

สำนักงานเอ็นจีโอด้านพิทักษ์เด็กได้แจ้งว่าสมาชิกขององค์กร 2 รายซึ่งเดินทางกลับบ้านจากการพักผ่อนในวันหยุดก็ติดอยู่ในเหตุการณ์นั้นด้วย ตอนนี้ยังไม่ทราบว่าเป็นตายร้ายดีอย่างไรเพราะได้หายตัวไป

องค์กรได้ออกแถลงการณ์ว่า “เราได้รับการยืนยันว่ายานพาหนะส่วนตัวของทั้งคู่ได้ถูกโจมตีและเผาทิ้ง มีรายงานยืนยันว่าทหารพม่าได้บังคับให้ประชาชนลงจากรถ จากนั้นทำการจับกุมและฆ่าทิ้ง รวมถึงเผาศพด้วยเพื่อทำลายหลักฐาน”

“องค์กรพิทักษ์เด็กขอประณามการโจมตีครั้งนี้ และการละเมิดกฎหมายสิทธิมนุษยชนสากล เรารู้สึกสยดสยองกับความรุนแรงซึ่งกองทัพพม่าได้กระทำกับพลเรือนและพนักงานขององค์กรของเราซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ต่างๆ”

“คนเหล่านั้นได้อุทิศตัวเองช่วยเหลือคนอื่นด้านมนุษยธรรม และสนับสนุนเด็กเป็นล้านคนซึ่งต้องการความช่วยเหลือทั่วทั้งประเทศพม่า” แถลงการณ์ระบุ

ผู้บริหารขององค์กรพิทักษ์เด็ก อิงเกอร์ อาชิง ได้ยืนยันในแถลงการณ์ว่าจะมีการสอบสวนถึงเหตุร้ายต่างๆ ที่เกิดขึ้น “การโจมตีทำร้ายกลุ่มผู้เป็นหน่วยงานช่วยเหลือสาธารณะเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้”

สำนักข่าว CNN รายงานว่ากำลังติดต่อหลายหน่วยงานเพื่อขอข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับเหตุการณ์โจมตีและสังหารหมู่ชาวบ้าน

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่กองทัพพม่าได้สังหารหมู่ชาวบ้านซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับสงครามกลางเมืองที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ หลังจากที่กองทัพพม่านำโดยพลเอกอาวุโสมิน อ่อง หล่าย ได้ยึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือนเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ปีนี้

เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา มีข่าวว่าทหารพม่าได้สังหารโหดชาวบ้านมากกว่า 40 รายและขุดหลุมฝังซึ่งมีการค้นพบไม่นานมานี้ สำนักงานสหประชาชาติกำลังสอบสวนเหตุการณ์โหดร้ายและพฤติกรรมทารุณประชาชนโดยทหารกองทัพพม่า

ตั้งแต่การรัฐประหารรัฐบาลทหารได้ออกกฎคุมเข้ม ควบคุมการเบิกถอนเงินจากธนาคาร ประชาชนและกลุ่มองค์กรต่างๆ พนักงานของรัฐผละงานหลบไปร่วมกับกองกำลังชนกลุ่มน้อยเพื่อฝึกการรบแล้วหวนกลับสู่เมืองเพื่อต่อสู้กับทหารพม่า

การปฏิบัติการที่ผ่านมา มีทั้งการลอบโจมตีโรงงาน หน่วยงานของกองทัพกิจกรรมธุรกิจของทหาร เช่นเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ ห้างร้านต่างๆ ซึ่งกองทัพเป็นเจ้าของ การลอบสังหารเจ้าหน้าที่ของรัฐและสร้างความโกรธแค้นให้กับทหารพม่า

องค์กรภายใต้สหประชาชาติ กลุ่มสิทธิมนุษยชน และสื่อในพื้นที่ได้บันทึกภาพเหตุการณ์การสังหารหมู่การจับกุมคุมขังคนกลุ่มใหญ่ การทรมาน การบังคับให้ออกจากพื้นที่ ผู้หญิง ผู้ชาย และเด็กถูกสังหารอย่างไม่ปรานี

กองทัพพม่าได้ใช้อาวุธหนักรวมทั้งปืนใหญ่ในการโจมตีหมู่บ้านเพื่อขุดรากถอนโคนกลุ่มผู้ที่รวบรวมกำลังจับอาวุธต่อสู้กับรัฐบาลทหารพม่า ทั้งสกัดกั้นความช่วยเหลือจากองค์กรสากลและกลุ่มที่ต้องการช่วยเหลือประชาชนเพื่อมนุษยธรรม

ทหารพม่าได้สังหารประชาชนไปมากกว่า 1,300 ราย และจับกุมไปมากกว่า 11,000 ราย ทั้งนี้เป็นรายงานจากหน่วยงานสมาคมที่ช่วยเหลือนักโทษการเมือง

รัฐบาลทหารพม่าได้ปฏิเสธข้อมูลและรายงานนี้ซึ่งองค์การสหประชาชาติได้ถูกนำไปใช้ แต่กองทัพพม่าอ้างว่าเป็นอคติที่มีต่อรัฐบาลพลเอกมิน อ่อง หล่าย

รัฐบาลทหารพม่ารวมถึงคณะรัฐมนตรีได้ถูกกลุ่มประเทศตะวันตกคว่ำบาตร และทรัพย์สินของรัฐบาลถูกอายัดไว้ในบัญชีต่างประเทศ แต่ก็ยังได้รับความช่วยเหลือด้านอาวุธจากรัสเซีย และใช้ปราบปรามเข่นฆ่าประชาชน

รัฐบาลทหารพม่าพยายามหารายได้จากการขายทรัพย์สิน เช่น หยก ทองแดงผลิตภัณฑ์ป่าไม้รวมถึงสินแร่หายากผ่านพรมแดนตอนเหนือให้ผู้ซื้อในประเทศจีน

ทุกวันนี้เหตุการณ์ในพม่ายังไร้ทางออก พลเอกมิน อ่อง หล่าย ไม่ยอมแสดงท่าทีว่าจะลงจากอำนาจเมื่อไหร่และยังพยายามหาทางเชื่อมกับประเทศอาเซียน โดยยังรักษาความสัมพันธ์อันดีกับรัฐบาลกัมพูชาของนายกรัฐมนตรีฮุน เซน



กำลังโหลดความคิดเห็น