ลุงห้าวเป้งหัวหน้ารัฐบาลเดินทางไปซาอุฯ อ้างภารกิจสำคัญ หวังฟื้นฟูความสัมพันธ์หลังจากซาอุฯ หมางเมินไทยประมาณ 30 ปี หลังจากกรณีฉาวเรื่องเพชรซาอุฯ และการอุ้มฆ่านักธุรกิจซาอุฯ แม้คดีจบไปแล้ว ซาอุฯ ยังไม่ยอมตั้งทูตมาทำหน้าที่
ปล่อยให้เป็นระดับรองฯ หรือเทียบเคียง แทบไม่มีการคบค้าสมาคมด้วยกัน แรงงานไทยหมดโอกาสได้เป็น “ขุดทอง” ซาอุฯ เห็นแต่อูฐกับทะเลทราย เก็บเงินกลับบ้าน ทั้ง 2 คดียังคาใจซาอุฯ อยู่ เพราะเรื่องอุ้มฆ่านักธุรกิจซาอุฯ มองว่าไม่กระจ่าง
มาบัดนี้สถานการณ์เปลี่ยนไป ประจวบเหมาะกับมีความจำเป็นทั้งสองประเทศ เวลาผ่านมานาน จนซาอุฯ มีผู้นำคนใหม่ ฝ่ายไทยก็เปลี่ยนรัฐบาลไปหลายชุด
ความพยายามจะรื้อฟื้นคดีเกี่ยวโยงกับซาอุฯ บางครั้งถูกมองว่าเป็นการหวังผลทางการเมือง เล่นงานฝ่ายตรงข้าม สุดท้ายเรื่องไปจบที่ศาล ฟ้องร้องแนวเอาคืนกัน
ผู้นำมีอำนาจเต็มคือมกุฎราชกุมาร โมฮัมหมัด บิน ซัลมาน “เอ็มบีเอส” ส่งคำเชิญมาให้ท่านผู้นำห้าวเป้งไปเจรจาด้วย ไม่มีรายละเอียดมากจากรัฐบาล คณะไทยก็รีบบินไปช่วงคืนวันจันทร์ ไม่พักที่ไหน เจรจาเสร็จก็บินกลับ นอนในเครื่องนั่นแหละ
หนีบรัฐมนตรีแรงงาน และรัฐมนตรีพลังงานที่เป็นรองนายกฯ ไปด้วย คงไปเจรจาเรื่องแรงงาน และพลังงาน ไทยต้องการน้ำมัน แต่ซาอุฯ มีโครงการอะไรเหลือ
เป็นการเยือนอย่างง่ายๆ ไม่มีพิธีรีตองมากเรื่อง ก็แปลกไปอีกอย่าง หลังจากการเยือน ใครจะได้อะไร มากน้อยแค่ไหน ต้องรอท่านผู้นำกลับมาแถลง ประโยชน์ชัดเจนคือได้ไปนอกประเทศ เลี่ยงตอบปัญหาด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม
ที่สำคัญ ยังมีช่องว่างสำหรับผ่อนลมหายใจ หลังจากเกิดปัญหาในพรรคแกนนำรัฐบาล ทำให้สถานภาพของลุงห้าวเป้งเป็นหัวหน้ารัฐบาล “เป็ดง่อย” อยู่แบบง่อนแง่น เสียงในสภาฯ ยิ่งกว่าปริ่มน้ำ จะอยู่รอดได้อีกนานแค่ไหนก็ไม่รู้
แม้กระนั้น ก็ยังต้องรีบกลับ เพราะไม่ไว้ใจว่าช่วงที่ไม่อยู่ อาจเกิดอะไรขึ้นก็ได้ เหมือนกรณีโทนาฟ ดูไบ เดินทางไปคิวบาในปี 2549 ทำให้ขาเก้าอี้นายกฯ หัก
งานสำคัญในซาอุฯ แท้จริงแล้วมีอะไร มีการเตรียมการอะไรก่อนหรือไม่ มีข่าวแว่วว่าการทาบทามนั้นเกิดก่อนหน้าที่มีประชุมร่วมกันมีตัวแทนซาอุฯ มาด้วย
ซาอุฯ ยามนี้ โดยเฉพาะ “เอ็มบีเอส” ไม่ได้มีชื่อหอมหวนชวนให้คบหาสมาคมด้วย กรณีส่งทีมไม่ฆ่านักหนังสือพิมพ์ จามาล คาช็อกกี ในกรุงอิสตันบูล ทีมฆ่าทรมานรีดข้อมูล จากนั้นหั่นศพเป็นชิ้นๆ โยนลงถังน้ำกรด จนเรื่องแดงเพราะตุรกียัวะ
แน่นอน “เอ็มบีเอส” มีแพะรับบาป ก็โดนสอบสวนจับกุมติดคุกไป ส่วนตัวการใหญ่รอดไปแต่แทบไม่มีใครคบ ปีที่ผ่านมา จัดงานสัมมนาเรื่องการลงทุนในซาอุฯ โดนคว่ำบาตรจากหลายประเทศ สื่อนานาชาติไม่ยอมรายงานข่าว
ครั้งนั้นถือเป็นความเสียหน้าสำหรับ “เอ็มบีเอส” ที่ควบหลายตำแหน่ง รวมทั้งรัฐมนตรีกลาโหม รองนายกฯ งานด้านความมั่นคง เรียกว่ากุมอำนาจคับประเทศ
“เอ็มบีเอส” ยังโดนกล่าวหาว่าส่งทีมไปฆ่าคนต่อต้านถึงในแคนาดา แต่ไม่สำเร็จ เคยจับบรรดาพระญาติร่วม 30 พระองค์ไปขังไว้ในโรงแรมหรู ทำให้ต้องจ่ายเงินค่าปล่อยตัวมากถึง 1 แสนล้านดอลลาร์ จึงรอดมากได้ แต่ต้องเก็บตัวเงียบ
ซ้ำร้าย “เอ็มบีเอส” ยังเป็นหัวโจกนำ 7 ประเทศในอ่าวเปอร์เซียทำสงครามในเยเมน ตั้งแต่ปี 2015 ทำให้คนบาดเจ็บล้มตายเกือบ 4 แสนคน ประชาชนเยเมนกว่า 20 ล้านคนต้องอยู่ในสภาพทุกข์ยาก คนขาดอาหาร กลายเป็นภัยพิบัติของมนุษยชาติ
มีอาวุธจากสหรัฐฯ อังกฤษ ฝรั่งเศส อิตาลี และกองทัพอากาศในกลุ่มอาหรับรุมกินโต๊ะกบฏฮูตีในเยเมน ก็ยังไม่สามารถเอาชนะได้ ทำให้ “เอ็มบีเอส” เสียหน้ามาก
ดูแล้ว “เอ็มบีเอส” น่าจะอยากหาเพื่อนมากกว่า เพราะไม่กี่วันก่อนเพิ่งโดนสหประชาชาติประณามว่าได้ส่งเครื่องบินรบไปถล่มคุกในเยเมน นักโทษตายไปกว่า 80 ราย บาดเจ็บอีกหลายราย มีชาวบ้านโดนลูกหลงด้วย ยูเอ็นกำลังสอบสวนอยู่
“เอ็มบีเอส” เสี่ยงที่จะโดนข้อหาอาชญากรรมฆ่าล้างเผ่าพันธุ์เพราะพฤติกรรมทิ้งระเบิดไม่เลือกเป้าในเยเมน มีทั้งโรงพยาบาล โรงเรียน สถานที่ต่างๆ ไม่เกี่ยวกับสงคราม มีหลายกรณี ยังไม่รู้ว่าองค์กรต่างๆ ของยูเอ็นจะทำอะไรได้
องค์กรสากลต่างๆ ที่เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน ได้กล่าวหา “เอ็มบีเอส” ด้านละเมิดสิทธิมนุษยชน อาชญากรรมต่อมนุษยชาติ แทบไม่มีใครคบ ที่อยู่ได้เพราะเป็นประเทศร่ำรวย มีน้ำมันเยอะ เป็นตัวสำคัญในโอเปก มีอิทธิพลด้านราคาน้ำมัน
แต่เกือบไปไม่รอด มีปัญหาด้านการเงินอย่างหนัก เมื่อราคาน้ำมันตกในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจจากผลกระทบในกรณีสถาบันการเงินสหรัฐฯ มีปัญหาในปี 2008
การหันมาคบกับประเทศไทย ทำให้ซาอุฯ มีเพื่อนมากขึ้น 1 ราย ไทยจะได้อะไรยังต้องประเมิน เพราะยุคที่จะส่งแรงงานไทยไปหาเงินขุดทองที่ซาอุฯ นั้นจบไปแล้ว ทุกวันนี้ไทยยังต้องนำเข้าแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านหลายล้านคน
สถานการณ์ในซาอุฯ ใช่ว่าจะวางใจได้ เพราะโดนเยเมนส่งจรวดและโดรนโจมตีเสมอ เคยสร้างความเสียหายต่ออุตสาหกรรมน้ำมันในซาอุฯ และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ใครก็ตามที่ร่วมกับซาอุฯ มีโอกาสโดนโจมตีโดยกลุ่มกบฏฮูตีเช่นกัน
อาชีพที่ไทยพอจะทำได้ก็ถูกชาติอื่นๆ กวาดไปแทบไม่เหลือ การใช้ชีวิตในซาอุฯ มีข้อจำกัดมาก ถ้ามีปัญหาการทำผิดกฎหมาย โอกาสจะสู้คดีไม่ใช่เรื่องง่าย แรงงานจากหลายชาติ โดยเฉพาะสตรีถูกพฤติกรรมย่ำยีเอารัดเอาเปรียบสารพัด
ดูกันให้ดีๆ อย่าเพิ่งใจเร็วด่วนได้ก็แล้วกัน แม้การเป็นมิตรดีกว่าเป็นศัตรูก็ตาม