ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์
สาขาวิชาวิทยาการประกันภัยและการบริหารความเสี่ยง
สาขาวิชาปัญญาและการวิเคราะห์ธุรกิจ
คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
การปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข สถาบันพระมหากษัตริย์ถือว่าเป็นสถาบันหลักที่มีความสำคัญที่สุด หากปล่อยให้มีการบ่อนทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์ซึ่งเป็นศูนย์รวมยึดเหนี่ยวจิตใจของคนในชาติ บ้านเมืองก็จะระส่ำระสาย เกิดความแตกแยก ขาดความสามัคคี อันเป็นการง่ายต่อการถูกรุกราน หรือแทรกแซงจากผู้ไม่หวังดีต่อประเทศชาติได้ ดังนั้น จึงมีการบัญญัติความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 อยู่ในลักษณะความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร
สำหรับอำนาจอธิปไตยทางศาลนั้นแต่เดิมพระมหากษัตริย์ มีพระราชอำนาจเป็นล้นพ้นในการวินิจฉัยอรรถคดี ต่อมาทรงมอบภาระหน้าที่ให้บรรดาลูกขุน ตระลาการช่วยปฏิบัติหน้าที่แทนแต่ในการวินิจฉัยขั้นสุดท้ายเป็นของพระมหากษัตริย์ อำนาจอธิปไตยทางศาลจึงเป็นพระราชอำนาจโดยแท้มาแต่เดิม แม้จะผ่านผู้พิพากษาตุลาการ แต่ก็ยังมีความเกี่ยวเนื่องกันตามนิติประเพณีและตามกฎหมาย กล่าวคือ การพิจารณาพิพากษาอรรถคดีเป็นอํานาจของศาล ต้องดําเนินการให้เป็นไป ตามกฎหมาย และกระทำภายในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์
ทั้งนี้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 181 บัญญัติไว้ว่า ผู้พิพากษาและตุลาการย่อมมีอิสระในการพิจารณาพิพากษาอรรถคดีตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย ให้เป็นไปโดยรวดเร็ว เป็นธรรม และปราศจากอคติทั้งปวง นอกจากนี้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 191 บัญญัติไว้อีกด้วยว่าก่อนเข้ารับหน้าที่ ผู้พิพากษาและตุลาการต้องถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์ ด้วยถ้อยคํา ดังต่อไปนี้
“ข้าพระพุทธเจ้า (ชื่อผู้ปฏิญาณ) ขอถวายสัตย์ปฏิญาณว่า ข้าพระพุทธเจ้าจะจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ และจะปฏิบัติหน้าที่ในพระปรมาภิไธยด้วยความซื่อสัตย์สุจริตโดยปราศจากอคติทั้งปวง เพื่อให้เกิดความยุติธรรมแก่ประชาชน และความสงบสุขแห่งราชอาณาจักร ทั้งจะรักษาไว้และปฏิบัติตามซึ่งการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยและกฎหมายทุกประการ”
แต่อย่างไรก็ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 24 ได้บัญญัติไว้ว่า การถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์ตามรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย พระมหากษัตริย์จะโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้กระทําต่อพระรัชทายาทซึ่งทรงบรรลุนิติภาวะแล้ว หรือต่อผู้แทนพระองค์ก็ได้ ในระหว่างที่ยังมิได้ถวายสัตย์ปฏิญาณตามวรรคหนึ่ง จะโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ผู้ซึ่งต้องถวายสัตย์ปฏิญาณปฏิบัติหน้าที่ไปพลางก่อนก็ได้
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 190 ยังกำหนดไว้ว่า พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งและให้ผู้พิพากษาและตุลาการพ้นจากตําแหน่ง ในกรณีที่พ้นจากตําแหน่งเพราะความตาย เกษียณอายุ ตามวาระ หรือพ้นจากราชการเพราะถูกลงโทษ ให้นําความกราบบังคมทูลเพื่อทรงทราบ
ในการนี้ผู้เขียนขออัญเชิญตัวอย่างพระราชดำรัส ในโอกาสที่ประธานศาลฎีกานำผู้พิพากษาประจำกระทรวง เฝ้าฯในหลวงรัชกาลที่ 9 เพื่อถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนเข้ารับหน้าที่ ณ ท้องพระโรงศาลาเริง วังไกลกังวล เมื่อวันพุธที่ 9 กรกฎาคม 2546 มีความตอนหนึ่งว่า
“ท่านได้บอกว่าจะปฏิบัติในพระปรมาภิไธย หมายความว่า ข้าพเจ้าถ้าได้เห็นท่านทั้งหลายปฏิบัติดีชอบจริง ๆ ก็สบายใจ แต่ว่าถ้าสงสัยว่าท่านจะทำอะไรไม่ถูกต้อง ข้าพเจ้าเดือดร้อน ที่เดือดร้อนเพราะว่าเมื่อปฏิบัติในพระปรมาภิไธย พูดง่าย ๆ ในนามของพระเจ้าอยู่ ถ้าทำอะไรที่มิดีมิชอบ พระเจ้าอยู่ ก็เป็นคนทำมิดีมิชอบ”
และในวันที่ 24 พฤษภาคม 2550 ในหลวงรัชกาลที่ 9 พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ นายอักขราทร จุฬารัตน์ ประธานศาลปกครองสูงสุด พร้อมคณะตุลาการศาลปกครอง และข้าราชการฝ่ายศาลปกครอง จำนวน 20 คน เข้าเฝ้าฯ ทูลเกล้าฯ ถวายเสื้อครุยตุลาการศาลปกครอง เนื่องในโอกาสการจัดงานฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี โอกาสนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำรัสแก่คณะผู้เข้าเฝ้าฯความว่า
“วันนี้ถึงบอกท่านว่า ท่านเอาเสื้อครุยมาให้ เอาความเดือดร้อนมาให้ เพราะว่าเอาเสื้อครุยมาให้ก็หมายความว่า ข้าพเจ้าก็มีหน้าที่ผู้พิพากษาศาลปกครองเหมือนกัน แต่ตัดสินอะไรพิพากษาอะไรไม่ได้ ท่านเองก็ตัดสินอะไรไม่ได้...ท่านให้ครุยแล้ว ข้าพเจ้าก็เป็นเหมือนผู้พิพากษาคนหนึ่ง มีสิทธิและมีหน้าที่ที่จะทำให้คนเข้าใจถึงหน้าที่ของประชาชน หน้าที่ของข้าราชการ ตุลาการที่จะทำเพื่อให้บ้านเมืองรอดพ้นจากความยุ่งยาก ยากเข็ญ ก็จะขอขอบใจท่านทั้งหลายที่จะพยายามคิดให้ทำให้บ้านเมืองไปรอดจากวิกฤตการณ์ปัจจุบันนี้ เพื่อการนี้” (จากหนังสือพิมพ์คมชัดลึกฉบับลงวันที่ 25 พฤษภาคม 2550)
เมื่อผู้พิพากษาตุลาการถวายสัตย์ปฏิญาณต่อหน้าพระพักตร์พระมหากษัตริย์แล้ว ก็จะทรงพระราชทานพระราชอำนาจในทางตุลาการให้แก่ผู้พิพากษาและตุลาการเพื่อปฏิบัติหน้าที่แทนพระมหากษัตริย์ตามรัฐธรรมนูญ ดังนั้น ผู้พิพากษาตุลการจึงต้องน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณปกเกล้าปกกระหม่อม และต้องพึงระลึกอยู่เสมอว่า ต้องทำหน้าที่ในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์ ทั้งนี้ เพื่อประโยชน์ของประชาชนทุกคนไม่เลือกชนชั้นวรรณะไม่แบ่งฝ่าย โดยเฉพาะคนยากจนเดือดร้อน ดังจะเห็นได้จากพระมหากษัตริย์จะทรงพระราชทานความช่วยเหลือโดยตลอดอย่างรวดเร็ว โดยไม่แบ่งเชื้อชาติศาสนา ต่างได้รับพระมหากรุณาธิคุณที่ได้เข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร จึงเห็นเป็นที่ประจักษ์ว่า ประชาชนทุกหมู่เหล่าที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณ จะน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณและมีความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์มาโดยตลอด
การที่พระองค์ทรงเป็นพระประมุขทำเพื่อประโยชน์สุขแก่ประชาชนทุกคน จึงต้องทรงมีความเป็นกลางและปราศจากอคติ ไม่ว่าจะมีบุคคลกลุ่มใดหรือคณะหนึ่งคณะใด ที่มุ่งร้ายต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ก็ไม่เคยที่จะทรงมีอคติ ใช้พระราชอำนาจให้หน่วยงานราชการใดต้องดำเนินการมุ่งมั่นปราบปรามกำจัดบุคคลเหล่านั้นให้สิ้นซากไป แต่เป็นเรื่องที่เจ้าพนักงานผู้รักษากฎหมายจะต้องดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมาย โดยเหตุผลที่ผู้พิพากษาตุลาการถือเป็นตัวแทนของพระมหากษัตริย์ในการทำงานในพระปรมาภิไธย จึงต้องทำงานเพื่อให้เกิดความยุติธรรม เป็นไปโดยสุจริตและปราศจากอคติ ไม่สามารถเลือกที่รักมักที่ชังเช่นเดียวกับพระมหากษัตริย์ที่ไม่สามารถที่จะเลือกที่รักหรือมักที่ชังพสกนิกรของพระองค์ได้ รัฐธรรมนูญจึงบัญญัติให้พระสถานะของพระมหากษัตริย์สถิตอยู่ในที่สูงส่ง ไม่ให้มีข้อพิพาทโต้แย้งกับประชาชน ดังนั้น ผู้ใดจะกระทำการล่วงละเมิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ไม่ได้
แต่อย่างก็ตามในสถานการณ์ปัจจุบันมีกลุ่มบุคคล กระทำการเป็นขบวนการเพื่อล่วงละเมิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ มีแนวคิดทำลายล้างสถาบันพระมหากษัตริย์ อันเป็นการกระทำที่มีผลกระทบกระเทือนต่อความมั่นคงของชาติ ดังคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 19/2564 (ดูคำวินิจฉัยฉบับเต็มได้ที่ http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2564/A/080/T_0022.PDF ) ที่กล่าวโดยสรุปว่า การปกครองตามระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขของไทยนั้น ปวงชนชาวไทยผูกพันกับสถาบันพระมหากษัตริย์มานานนับหลายร้อยปี พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นประมุขจึงได้รับความยินยอมจากปวงชนชาวไทยให้ทรงใช้อํานาจอธิปไตยตามรัฐธรรมนูญ ทางรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาล สถาบันพระมหากษัตริย์ของไทยเป็นเสาหลักสําคัญที่จะขาดเสียมิได้ในการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ดังนั้น การกระทําใด ๆ ที่มีเจตนาเพื่อทําลายหรือทําให้สถาบันพระมหากษัตริย์ต้องสิ้นสลายไป ไม่ว่าจะโดยวิธีการพูด การเขียน หรือการกระทําต่าง ๆ เพื่อให้เกิดผลเป็นการบ่อนทําลาย ด้อยคุณค่า หรือทําให้อ่อนแอลง ย่อมแสดงให้เห็นถึงการมีเจตนาเพื่อล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์ การใช้สิทธิหรือเสรีภาพของผู้ถูกร้องที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ไม่เป็นไปตามหลักการประชาธิปไตย การกระทําของผู้ถูกร้องที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 เป็นการอ้างสิทธิหรือเสรีภาพเพียงอย่างเดียว โดยไม่คํานึงถึงหลักความเสมอภาค และภราดรภาพ ผู้ถูกร้องที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น โดยไม่รับฟังความเห็นของผู้อื่น ไม่ยอมรับความเห็นที่แตกต่างของบุคคล จนถึงกับล่วงละเมิดสิทธิส่วนตัวของบุคคลอื่นที่เห็นต่างด้วยการด่าทอ รบกวนพื้นที่ส่วนตัว ยุยงปลุกปั่นด้วยข้อเท็จจริงที่บิดเบือนจากความจริง ซึ่งปรากฏข้อเท็จจริงประจักษ์ว่าการกระทําของผู้ถูกร้องที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 มีการจัดตั้งกลุ่มในลักษณะองค์กรเครือข่ายกระทําการใช้ความรุนแรงต่อเนื่อง บางเหตุการณ์ผู้ถูกร้องที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 มีส่วนจุดประกายโดยการปราศรัยปลุกเร้าให้เกิดความรุนแรงในบ้านเมือง ทําให้เกิดความแตกแยกของคนในชาติ อันเป็นการทําลายหลักการความเสมอภาค และภราดรภาพ ผลของการกระทําของผู้ถูกร้องที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 นําไปสู่การล้มล้างระบอบประชาธิปไตยในที่สุด นอกจากนี้ ข้อเท็จจริงยังปรากฏว่า การชุมนุมหลายครั้งมีการทําลายพระบรมฉายาลักษณ์ของพระมหากษัตริย์ การแสดงออกโดยลบแถบสีน้ำเงินซึ่งหมายถึงองค์พระมหากษัตริย์ออกจากธงไตรรงค์ ข้อเรียกร้อง 10 ประการของผู้ถูกร้องที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 เช่น การยกเลิก มาตรา 6 ของรัฐธรรมนูญ การยกเลิกการบริจาคและรับบริจาคโดยเสด็จพระราชกุศล การยกเลิกพระราชอํานาจในการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองในที่สาธารณะ เป็นข้อเรียกร้องที่ทําให้สถานะของสถาบันพระมหากษัตริย์ไม่เป็นไปตามประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยของชาติไทยที่ยึดถือปฏิบัติกันตลอดมา ทั้งพฤติการณ์และเหตุการณ์ต่อเนื่องจากการกระทําของผู้ถูกร้องที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 แสดงให้เห็นมูลเหตุจูงใจของผู้ถูกร้องที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ว่าการใช้สิทธิหรือเสรีภาพของผู้ถูกร้องที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 มีเจตนาซ่อนเร้นเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ไม่ใช่เป็นการปฏิรูป การใช้สิทธิหรือเสรีภาพของผู้ถูกร้องที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 เป็นการแสดงความคิดเห็นโดยไม่สุจริต เป็นการละเมิดกฎหมาย มีมูลเหตุจูงใจเพื่อล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่ง ซึ่งคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญให้เป็นเด็ดขาด มีผลผูกพันรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล องค์กรอิสระและหน่วยงานของรัฐอันเป็นไปตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 211 วรรคสี่
เมื่อเป็นเช่นนี้ผู้พิพากษาตุลาการในศาลยุติธรรมหรือศาลอื่นที่ทำงานในพระปรมาภิไธยของพระมหากษัตริย์ ต้องมีความละเอียดรอบคอบในการปฏิบัติหน้าที่โดยน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณและพระเกียรติคุณที่จะถูกล่วงละเมิดมิได้ ทั้งนี้การปฏิบัติหน้าที่ในพระปรมาภิไธยของพระมหากษัตริย์ในพิจารณาพิพากษาคดีจะต้องปราศจากอคติ ให้สมกับที่ทรงไว้วางพระราชหฤทัย
ทั้งนี้ ด้วยสถานการณ์ในปัจจุบันมีกลุ่มบุคคลหรือคณะบุคคลที่มีเจตนาเพื่อที่จะล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์ มีการเสนอข่าวทางโซเชียลมีเดีย มอมเมา ให้เยาวชนคนรุ่นใหม่ ใส่ความแสดงความอาฆาตมาดร้าย เกลียดชังสถาบันพระมหากษัตริย์ มีการใช้เงินจำนวนมากจ่ายผ่านองค์กรระหว่างประเทศ โดยมีการกล่าวหาว่ามีอดีตนักการเมืองที่สูญเสียอำนาจและมุ่งหาผลประโยชน์ผูกขาดกับกิจการของรัฐอยู่เบื้องหลัง มีการใช้เงินผ่านพรรคการเมือง แก้ไขกฎหมายเพื่อประโยชน์แก่ตนเองและพวกพ้อง มีการเข้ามาเป็นเจ้าของกิจการสื่อสารมวลชน เพื่อกำหนดทิศทางในการเสนอข่าวที่เป็นประโยชน์แก่ตนเองและให้ท้ายหรือสนับสนุนเยาวชนให้กระทำการอันเป็นปฏิปักษ์ต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ มีการสนับสนุนผู้บริหารและครูบาอาจารย์ในสถาบันการศึกษา ร่วมกับนักวิชาการอิสระที่มีแนวความคิดความอคติต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ แสดงออกเชิงสัญลักษณ์โดยทำงานกันอย่างเป็นระบบ ทำให้ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมามีกลุ่มเยาวชนผู้หลงผิดไปกระทำความผิดเป็นจำนวนมากและกล่าวหาว่าสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นต้นเหตุแห่งความขัดแย้ง อันเป็นความเท็จ จนกระทั่งมีผู้ไปยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญว่าการกระทำของกลุ่มเยาวชนดังกล่าวเป็นการล่วงละเมิดและเป็นการล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์ ตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่กล่าวมาข้างต้น
จนกระทั่งเมื่อไม่นานมานี้ปรากฏข่าวว่าในโซเชียลว่าเผยแพร่ว่า มีผู้พิพากษาศาลยุติธรรมแห่งหนึ่ง มีคำพิพากษาในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์ ว่าการหมิ่นประมาทในหลวงรัชกาลที่ 9 ซึ่งถือเป็นอดีตพระมหากษัตริย์ไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 โดยยกเหตุผลอ้างอิงความเห็นของนักวิชาการที่มีอคติและมีความเชื่อส่วนตัวซึ่งไม่มีความเป็นกลาง แม้จะมีการยกเอาคำอธิบายประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ของอดีตตุลาการชั้นผู้ใหญ่ซึ่งเป็นปรมาจารย์ทางด้านกฎหมายอาญามาเป็นเหตุผลอธิบายในคำพิพากษาเพื่อสนับสนุนความเห็นของตนเอง
สิ่งที่น่าจะได้ตั้งข้อสังเกตไว้อีกประการหนึ่งคือ คำพิพากษาของศาลชั้นต้นนี้ได้ขัดแย้งกับแนวทางการวินิจฉัยของคำพิพากษาศาลฎีกา ที่ 6374/2556 (องค์คณะผู้พิพากษา นายศิริชัย วัฒนโยธิน, นายทวีป ตันสวัสดิ์, นายพศวัจณ์ กนกนาก) ได้วินิจฉัยไว้อย่างชัดเจนแล้วว่า มาตรา 112 คุ้มครองและหมายรวมถึงอดีตพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสถาบันพระมหากษัตริย์ ดังนี้
"ตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชต้นราชวงศ์ตลอดมาจนกระทั่งรัชกาลปัจจุบัน ประชาชนในประเทศจึงผูกพันกับพระมหากษัตริย์ในฐานะที่เป็นที่เคารพสักการะซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยจึงบัญญัติให้พระมหากษัตริย์ทรงอยู่เหนือ บุคคลใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องในทางใด ๆ มิได้ ด้วยเหตุนี้การที่กฎหมายมิได้บัญญัติว่า พระมหากษัตริย์จะต้องครองราชย์อยู่เท่านั้น ผู้กระทำจึงจะเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 แม้จะกระทำต่ออดีตพระมหากษัตริย์ซึ่งสวรรคตไปแล้ว ก็ยังเป็นความผิดตามบทกฎหมายดังกล่าว การหมิ่นประมาทอดีตพระมหากษัตริย์ก็ย่อมกระทบถึงพระมหากษัตริย์องค์ปัจจุบันที่ยังคงครองราชย์อยู่ ดังจะเห็นได้ว่าพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเป็นพระราชบิดาของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวซึ่งเป็นพระอัยกาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลปัจจุบัน หากตีความว่าพระมหากษัตริย์ต้องเป็นองค์ปัจจุบันที่ยังทรงครองราชย์อยู่ ก็จะเป็นช่องทางให้เกิดการละเมิด หมิ่นประมาท ให้กระทบต่อพระมหากษัตริย์องค์ปัจจุบันได้ ดังได้กล่าวในเบื้องต้นมาแล้วว่าประชาชนชาวไทยผูกพันกับสถาบันกษัตริย์มาตลอด แม้จะเสด็จสวรรคตไปแล้วประชาชนก็ยังเคารพพสักการะ ยังมีพิธีรำลึกถึงโดยทางราชการจัดพิธีวางพวงมาลาทุกปี ดังนั้น หากมีการดูหมิ่นหรือหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ที่เสด็จสวรรคตไปแล้วก็ยังกระทบกระเทือนต่อความรู้สึกของประชาชนอันจะนำไปสู่ความไม่พอใจและอาจส่งผลกระทบกระเทือนต่อความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรได้" ศาลฎีกาพิพากษายืนตามศาลชั้นต้น
และเมื่อได้พิเคราะห์ถึงเนื้อหาข้อเท็จจริงในคำพิพากษาก็จะเห็นว่า สภาพการณ์และบริบทของการใช้กฎหมายแตกต่างกับในปัจจุบัน ประกอบกับความรู้สึกผิดชอบชั่วดีของผู้กระทำความผิดแล้ว ไม่ตรงกับคำอธิบายหลักกฎหมายในอดีต เพราะว่าการจะพิจารณาพิพากษาตัดสินคดีเกี่ยวกับความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 นั้นจะต้องคำนึงถึงเจตนาพิเศษเป็นสำคัญว่าผู้ที่กล่าวถ้อยคำดูหมิ่นหมิ่นประมาทนั้นมีเจตนาที่จะแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อพระมหากษัตริย์องค์ปัจจุบันหรือไม่ เพราะว่าการที่ดูหมิ่นในหลวงรัชกาลที่ 9 ซึ่งเป็นพระราชบิดาของในหลวงรัชกาลที่ 10 ถือว่าเป็นการกระทำที่มีเจตนาให้กระทบกระเทือนเบื้องพระยุคลบาทในหลวงรัชกาลที่ 10 ซึ่งเป็นพระมหากษัตริย์องค์ปัจจุบันโดยตรง
ดังนั้น คำพิพากษาของศาลยุติธรรมดังกล่าว จึงถูกตั้งเป็นข้อสงสัยว่ามีความเป็นกลางและปราศจากอคติหรือไม่?
นอกจากนี้การดำเนินการของผู้พิพากษาเป็นไปตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญหรือไม่?
เป็นคำพิพากษาที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่?
ผู้พิพากษามีการปรึกษาหารือกับผู้พิพากษาหัวหน้าศาล หรืออธิบดีผู้พิพากษา หรือไม่?
หากผู้พิพากษาหัวหน้าศาลหรืออธิบดีผู้พิพากษา เห็นด้วยกับคำพิพากษาฉบับนี้ ประธานศาลฎีกาและคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรมก็ต้องกลับไปทบทวนว่า ผู้พิพากษาซึ่งทำงานในพระปรมาภิไธยของพระมหากษัตริย์ได้ดำเนินการไปโดยถูกต้องตามบทบัญญัติของกฎหมายหรือไม่?
ทั้งที่ผู้พิพากษาเองทำงานในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์ โดยที่หัวกระดาษในคำพิพากษาจะเป็นตราครุฑมีคำว่า ในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์ ซึ่งเปรียบเสมือนพระมหากษัตริย์เป็นผู้ตัดสินคดีเอง แล้วผู้พิพากษาที่ตัดสินคดีเช่นนั้น จะมีสำนึกหรือไม่?
เพราะว่าหากผู้พิพากษาตัดสินโดยปราศจากอคติ ก็จะต้องพิจารณาให้เห็นอย่างถ่องแท้ว่า พระองค์ท่านจะมีความเห็นอย่างไร หากว่ามีคนที่มาดูหมิ่นประมาทหรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อองค์พระราชบิดาท่าน จะไม่เป็นความผิดกระนั้นหรือ?
ผู้เขียนมีความกังขาต่อตัวผู้พิพากษาศาลยุติธรรมท่านนั้นว่า ได้ใช้ความระมัดระวังในการพิจารณาพิพากษาโดยสุจริตเที่ยงธรรมปราศจากอคติหรือไม่?
และที่สำคัญคำพิพากษาของท่านฉบับนี้ ไม่ได้เป็นไปตามที่ได้ถวายสัตย์ปฏิญาณต่อหน้าพระพักตร์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ไม่การปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ที่เป็นสถาบันหลักของชาติ แต่กลับเป็นการสนับสนุนกลุ่มคนหรือกระบวนการให้ทำลายล้างสถาบันพระมหากษัตริย์อันเป็นการล้มล้างการปกครอง ซึ่งเป็นการฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่ง ตามที่ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยไปแล้ว
นอกจากนี้ผู้เขียนยังคาดหวังว่า พนักงานอัยการผู้เป็นทนายแผ่นดินและเป็นผู้ที่ได้ถวายสัตย์ปฏิญาณต่อหน้าพระพักตร์ของพระมหากษัตริย์จะได้มีการอุทธรณ์คำพิพากษาฉบับนี้ แต่หากไม่มีการอุทธรณ์ พนักงานอัยการจะให้เหตุผลว่าอย่างไร?
พนักงานอัยการจะตอบสังคมได้หรือไม่ว่าพนักงานอัยการมีความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์หรือไม่?
สุดท้ายนี้ผมขอให้พระสยามเทวาธิราช ดลบันดาลให้ผู้หลงผิด คิดกลับตัวกลับใจ แก้ไขในสิ่งผิด หากทำได้ก็ขอให้มีความสุขความเจริญ หากทำไม่ได้ก็ขอให้ประสบภัยพิบัติแก่ตนและครอบครัว ขอให้ทุกท่านติดตามกันต่อไป