ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์
สาขาวิชาปัญญาและการวิเคราะห์ธุรกิจ
สาขาวิชาวิทยาการประกันภัยและการบริหารความเสี่ยง
คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
ผมเป็นคนที่ติดนวนิยายกำลังภายในจีนเป็นอย่างมาก ดังจะเห็นได้ว่าเวลาผมเขียนบทความผมมักจะอ้างถึงตัวละครในนิยายกำลังภายในจีน เช่น ดาบมังกรหยก มังกรหยกภาค 1 ภาค 2 หรือแม้กระทั่งแปดเทพอสูรมังกรฟ้าหรือลูกปลาน้อยเซียวฮื่อยี้
ผมติดเปาบุ้นจิ้นอย่างงอมแงม แล้วผมก็พิจารณาเห็นว่าเปาบุ้นจิ้นนั้นเป็นเจ้าเมืองไคฟงทำหน้าที่เป็นเจ้าเมืองหรือมหาดไทยต่างพระเนตรพระกรรณในการปกครองบ้านเมือง ในขณะเดียวกันเปาบุ้นจิ้นก็ทำหน้าที่ฝ่ายตุลาการอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดด้วยเช่นกัน
ศาลไคฟงทำหน้าที่เป็นตำรวจโดยทำหน้าที่สืบสวน สอบสวน ปราบปราม จับกุม และป้องกันอาชญากรรมและรวมไปถึงทั้งคดีแพ่งและคดีอาญาและรวมไปถึงคดีทางปกครองอีกด้วย
ในขณะเดียวกันอำนาจในการสั่งฟ้องก็อยู่ที่เจ้าเมืองไคฟง-เปาบุ้นจิ้นอีกเช่นกัน
และเปาบุ้นจิ้นเองก็ทำหน้าที่เป็นตุลาการผู้พิพากษาเบ็ดเสร็จเด็ดขาดอยู่ในตนเอง
สรุปง่าย ๆ คือตำแหน่งเจ้าเมืองไคฟงหรือเจ้าเมืองในประเทศจีนในสมัยที่ยังเป็นสมบูรณาญาสิทธิราชย์นั้นทำหน้าที่ทั้งมหาดไทย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานอัยการสูงสุด และศาลยุติธรรมไปในเวลาเดียวกัน มีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดทั้งในทางปกครองและในทางตุลาการ
ระบบแบบศาลไคฟงนั้นเป็นระบบไต่สวน ไม่ใช่ระบบกล่าวหา ถึงแม้จะมีการกล่าวหาบ้างก็คือประชาราษฎรมาตีกลองร้องทุกข์ที่หน้าศาลไคฟง และให้ปากคำ แต่ที่เหลือทั้งหมดเปาบุ้นจิ้นและทีมงานอันได้แก่หวังเฉาหม่าฮั่น จางหลงเจ้าหู่ จั่นเจาและกงซุน ทำหน้าที่ตั้งแต่ชั้นตำรวจ ชั้นอัยการ และชั้นศาล อาจจะรวมไปถึงชั้นราชทัณฑ์ด้วย เพราะในศาลไคฟงนั้นก็มีคุกสำหรับคุมขังนักโทษทั้งที่ฝากขังรอดำเนินคดี และที่ตัดสินเด็ดขาดแล้ว
กระบวนการยุติธรรมของไทยในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์นั้นก็ค่อนข้างคล้ายคลึงกัน กับระบบของศาลไคฟงในประเทศจีน เมืองแต่ละเมืองมีเจ้าเมืองเป็นผู้แทนพระองค์ต่างพระเนตรพระกรรณ บ้างก็เรียกว่าเทศาภิบาล
ในขณะเดียวกันแต่ละเมืองก็จะมีผู้ที่ทำหน้าที่สอดส่องดูแลอรรถคดีที่เรียกว่ายกกระบัตร ยกตัวอย่างเช่น สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก หรือ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เคยทรงรับราชการเป็นยกกระบัตรเมืองราชบุรี
ในราชการส่วนกลางคือในพระนครนั้น เวียงในจตุสดมภ์ 4 ทำหน้าที่พิพากษาคดีและก็คงจะเป็นระบบไต่สวนบวกระบบกล่าวหาที่อาจจะไม่เข้มข้นนัก ข้อนี้ทำให้ตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงวังมีราชทินนามเป็นเจ้าพระยาธรรมาธิกรณาธิบดี ทั้งนี้เพราะทำหน้าที่ประธานในการระงับอธิกรณ์ก่อให้เกิดเป็นความเป็นธรรม ดังจะเห็นได้ว่ามาจากรากศัพท์คำว่าธรรม + อธิกรณ์ + อธิบดี
การปฏิรูปการปกครองแผ่นดินหลังรัตนโกสินทร์ศก 112 ทำไปอย่างรวดเร็ว มีการเขียนประมวลกฎหมายอาญาซึ่งถือว่าเป็นกฎหมายลายลักษณ์อักษรโดยนายโรลัง ยัคมินส์ ที่ปรึกษาราชการแผ่นดินประจำพระองค์ชาวเบลเยี่ยม เริ่มมีการตั้งกระทรวงยุติธรรมและเริ่มมีการแบ่งแยกหน้าที่ระหว่างตำรวจ อัยการ และตุลาการออกจากกันมาเป็นลำดับ
กระบวนการยุติธรรมของเรานั้นปรับเปลี่ยนทันสมัยให้เป็นแบบตะวันตก โดยที่มีการแยกส่วนงานของตำรวจ อัยการ และศาลออกจากกัน เพื่อให้ตรวจสอบถ่วงดุลและเป็นอิสระจากกันและกัน
เหตุที่เราจำเป็นต้องปฏิรูปการปกครองแผ่นดินโดยเฉพาะการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมนั้นเป็นเพราะว่าเรามีปัญหาสิทธิสภาพนอกอาณาเขต เนื่องจากชาวต่างชาติในประเทศไทยที่เรียกกันว่าสับเยก หรือ subject ของชาติต่าง ๆ นั้นไม่ว่าจะอังกฤษ ฝรั่งเศส ต่างพากันปฏิเสธ ศาลไทย ไม่ยอมขึ้นศาลไทยซึ่งใช้วิธีการตามกฎหมายตราสามดวงอันเป็นกฎหมายที่ร่างมาตั้งแต่รัชกาลที่ 1 และเป็นกฎหมายแบบตะวันออก
ทำไมฝรั่งถึงไม่ยอมรับกระบวนการยุติธรรมแบบตะวันออกก็เพราะว่ากระบวนการยุติธรรมแบบตะวันออกนั้นเช่นศาลไคฟงที่ยกตัวอย่างไป เจ้าเมืองแต่ละเมืองทำหน้าที่ตุลาการด้วย หากได้เจ้าเมืองที่ไม่ดีแล้วความยุติธรรมก็จะไม่บังเกิดขึ้นในบ้านเมืองนั้นหากการตรวจสอบถ่วงดุลและความเป็นอิสระแก่กันในกระบวนการยุติธรรมซึ่งเป็นสิ่งที่น่ากังวลยิ่ง
เมื่อเร็ว ๆ นี้มีการเสนอความคิดเห็นว่าให้มีคณะกรรมการกลั่นกรองคดีมาตรา 112 โดยให้สังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติแต่มีองค์ประกอบของคณะกรรมการ 7 ท่านประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิด้านรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์อย่างละ 2 คน ตัวแทนจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตัวแทนจากสำนักงานอัยการสูงสุด และตัวแทนจากศาลฎีกาอย่างละ 1 ท่านรวมเป็น 7 ท่าน
เมื่อผมได้เห็นองค์ประกอบของคณะกรรมการนี้แล้วก็ทำให้รู้สึกกังวลใจมากว่า ทำไมจึงไปดึงตัวแทนจากสำนักงานอัยการสูงสุดและตัวแทนจากศาลฎีกามาเข้าร่วมในคณะกรรมการกลั่นกรองคดีมาตรา 112
กลายเป็นว่าเรากำลังย้อนกระบวนการยุติธรรมของไทยให้กลับไปเป็นเหมือนสมัยศาลไคฟงหรือสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ที่ฝ่ายปกครองหรือฝ่ายบริหารเข้ามาทำหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรมตั้งแต่ต้นจนจบ
ทั้งนี้กรรมการชุดนี้มีที่มาจากการนำเสนอของกระทรวงยุติธรรม อยู่ภายใต้การดูแลของสำนักงานตำรวจแห่งชาติซึ่งถือว่าเป็นฝ่ายบริหาร
หลักเสรีและความเป็นอิสระแก่กันของอำนาจอธิปไตยโดยเฉพาะอย่างยิ่งอำนาจตุลาการจะไปอยู่ที่ตรงไหน จะขาดหายไปหรือไม่ ก็เป็นสิ่งที่สังคมพึงถามได้
ถ้ามาประชุมร่วมกัน กรรมการชุดนี้จะอ่านสำนวนคดีมาตรา 112 ที่หนาเป็นร้อยเป็นพันหน้าของแต่ละคดีที่มีเป็นพันคดีไหวหรือไม่
และเมื่อประชุมร่วมกันนั้น ใน 7 เสียงน้ำหนักเสียงของกรรมการท่านใดจะมากกว่ากัน
หากองค์ประกอบของคณะกรรมการอีก 4 ท่านซึ่งมาจากผู้ทรงคุณวุฒิทางรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์มีความเป็นกลางหรือมีเสียงเท่ากันจากฝ่ายปฏิกษัตริย์นิยมและฝ่ายกษัตริย์นิยม บรรยากาศในการประชุมน่าจะเป็นว่า
ผู้แทนจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติคงจะถามผู้แทนจากสำนักงานอัยการสูงสุดว่า ถ้าหากคดีเป็นเช่นนี้ มีรูปคดีเช่นนี้ มีหลักฐานเช่นนี้ อัยการจะสั่งฟ้องหรือไม่
เมื่อผู้แทนจากสำนักงานอัยการสูงสุดแสดงความเห็นว่ามีหลักฐานเพียงพอที่จะสั่งฟ้องในคดีนี้ ผู้แทนจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติก็คงจะถามไปยังผู้แทนของศาลฎีกาว่า ท่านครับท่านคิดว่าศาลชั้นต้นจะพิพากษาคดีนี้อย่างไร จะมีแนวทางในการวินิจฉัยคดีนี้เช่นไร เมื่อได้รับคำตอบก็จะนำคำตอบเหล่านี้ตอบกลับไปยังพนักงานสืบสวนของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
ดังนั้นจึงมีความเป็นไปได้สูงมากที่ตัวแทนจากสำนักงานอัยการสูงสุดและตัวแทนจากศาลฎีกาจะเป็นผู้มีอิทธิพลสูงยิ่งในคณะกรรมการกลั่นกรองคดีมาตรา 112
ตัวแทนจากศาลฎีกาคงจะเลือกมาจากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา หากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาลงความเห็นว่าจะส่งตัวแทนเข้ามาเป็นกรรมการในคณะกรรมการชุดนี้
ในขณะเดียวกันคณะกรรมการอัยการหรือ กอ. เป็นคนลงมติเลือกผู้แทนจากสำนักงานอัยการสูงสุดมาเป็นคณะกรรมการในกรรมการชุดนี้เช่นกัน
ผมยังไม่มั่นใจว่าสำนักงานอัยการสูงสุด หรือ กอ. ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาหรือคณะกรรมการตุลาการหรือ กต. จะเห็นด้วยหรือไม่กับการส่งผู้แทนเข้าร่วมในคณะกรรมการชุดนี้ เพราะดูแล้วจะเป็นการถอยหลังกระบวนการยุติธรรมของไทยซึ่งออกแบบระบบมาเป็นอย่างดีให้ถอยหลังกลับไปใช้ระบบใกล้เคียงกับศาลไคฟงอันเป็นระบบแบบโบราณที่ไม่ได้เป็นที่ยอมรับกันในปัจจุบันเสียแล้ว
โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อน้ำหนักของตัวกรรมการที่เป็นผู้แทนของสำนักงานอัยการสูงสุดและของศาลฎีกานั้นจะมีน้ำหนักในคณะกรรมการชุดนี้สูงมาก จนมีอิทธิพลในคณะกรรมการกลั่นกรองคดีมาตรา 112 ชุดนี้สูงมาก แล้วอัยการชั้นผู้น้อยหรือผู้พิพากษาชั้นต้นหากเห็นสำนวนคดีซึ่งผ่านการพิจารณาและให้คำปรึกษาจากคณะกรรมการกลั่นกรองคดีมาตรา 112 มาให้สั่งฟ้องหรือให้มีคำวินิจฉัยพิพากษาจะไม่รู้สึกอึดอัดหรือได้รับแรงกดดันและอิทธิพลจากอัยการอาวุโสหรือผู้พิพากษาศาลฎีกาซึ่งนับถือกันเป็นครูบาอาจารย์ของอัยการผู้ช่วยและผู้ช่วยผู้พิพากษาซึ่งพึ่งขึ้นมาเป็นผู้พิพากษาหรืออัยการหมาดๆ เลยหรือไม่
ต่อให้ทำงานมาแล้วสักพัก พอพิจารณาเห็นรายชื่อกรรมการกลั่นกรองคดีมาตรา 112 จะตัดสินสั่งฟ้องหรือเขียนคำพิพากษา โดยไม่เกรงใจหรือไม่ได้รับอิทธิพลจากครูบาอาจารย์ของตนระดับอัยการอาวุโสหรือผู้พิพากษาอาวุโสเชียวหรือ
ในทางกลับกันถ้าหากคณะกรรมการกลั่นกรองคดีมาตรา 112 มีความเห็นว่าไม่ให้สั่งฟ้อง ซึ่งอาจจะมาจากหลายสาเหตุเช่น กรรมการส่วนใหญ่ของคณะกรรมการชุดนี้เป็นพวกล้มเจ้าหรือปฏิกษัตริย์นิยม หรืออาจจะมีแรงกดดันทางการเมืองมาที่กรรมการชุดนี้อ้างว่าต้องการปรองดองสมานฉันท์สามัคคี ลดความตึงเครียดแบ่งฝักแบ่งฝ่ายในบ้านเมือง กลายเป็นประเด็นทางการเมืองมากกว่าประเด็นความมั่นคงไปเสีย แล้วพนักงานสอบสวนของสำนักงานตำรวจแห่งชาติจะกล้ามีความเห็นแย้งได้หรือไม่ หรือจะไม่กล้าทำคดีต่อหรือไม่ ก็เป็นประเด็นที่น่าพิจารณาอีกเช่นกัน
ต่อให้ไม่ใช่พนักงานสอบสวนชั้นผู้น้อยของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เอาเป็นคณะกรรมการคดีความมั่นคงของสำนักงานตำรวจแห่งชาติซึ่งประกอบด้วยรองผบตร. นายตำรวจชั้นผู้ใหญ่ที่เป็นพนักงานสอบสวนกันมาเป็นสิบๆ ปี จะกล้ามีความเห็นแย้งกับคณะกรรมการกลั่นกรองคดีมาตรา 112 หรือไม่ ก็เป็นสิ่งที่เราคงต้องถามกันอีกเช่นกัน หรือเราจะยุบคณะกรรมการกลั่นกรองคดีความมั่นคงของสำนักงานตำรวจแห่งชาติไปเสียเลย เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาการใช้ดุลพินิจที่ไม่ตรงกันอีกต่อไปในอนาคต
การตั้งคณะกรรมการเป็นวิธีทางการเมืองของนักการเมืองและข้าราชการของไทยที่นิยมใช้กันมากเหลือเกินเพื่อแบ่งเบาภาระความรับผิดชอบ บางครั้งก็เป็นการเตะถ่วง บางครั้งก็เป็นการกระจายความผิด บางครั้งก็เป็นการปัดสวะให้พ้นตัว หรือบางครั้งก็ตั้งเพื่อหาเสียงและให้ผลประโยชน์ต่างตอบแทน
มีน้อยครั้งมากที่คณะกรรมการที่ตั้งโดยเหตุผลทางการเมืองหรือที่ราชการนำเสนอให้แต่งตั้งนั้นทำหน้าที่ได้อย่างดียอดเยี่ยม เบี้ยประชุมแค่ไม่กี่บาท ความรับผิดชอบสูง ไปประชุมแต่ละครั้งต้องบอกให้บันทึกกันตนเองติดคุกติดตาราง หรือแม้กระทั่งเดินออกจากที่ประชุมหรือไม่เข้าประชุมในวาระที่มีความเสี่ยงสูงหรือรับผิดชอบสูง
ในบางครั้งการไปร่วมประชุมบางคณะกรรมการก็รู้สึกว่าไม่ได้อะไร ไม่เกิดประโยชน์ กลายเป็นเรื่องที่ฝรั่งพูดกันว่า pass the bug หรือปัดสวะพ้นตัวไปแค่นั้นเอง
ผมมีความเห็นว่าการตั้งคณะกรรมการกลั่นกรองคดีมาตรา 112 ที่พยายามทำกันอยู่นี้เป็นการแทรกแซงกระบวนการยุติธรรมของไทยให้ถอยหลังกลับไปเป็นระบบเหมือนศาลไคฟงในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ซึ่งไม่น่าจะเป็นที่ยอมรับ
เราคงต้องแยกแยะให้ออกและไม่ควรนำผู้แทนของสำนักงานอัยการสูงสุดและผู้แทนของศาลฎีกาเข้ามาเป็นองค์ประกอบในคณะกรรมการกลั่นกรองคดีมาตรา 112 โดยเด็ดขาดไม่ว่ากรณีใดๆก็ตาม เพื่อไม่ให้กระบวนการยุติธรรมของไทยถอยหลังกลับไปใกล้เคียงกับศาลไคฟง เพราะเราไม่มั่นใจว่าเราจะได้คนอย่างเปาบุ้นจิ้นมาทำหน้าที่อยู่ที่ศาลไคฟงเสมอไปหรือไม่ โดยเฉพาะสำหรับประเทศไทยที่คนอย่างเปาบุ้นจิ้นอาจจะหาได้ยากยิ่ง ยากกว่าการโยนหินแบบสุ่ม ๆ เพื่อหานักการเมืองเลวและข้าราชการที่รักตัวกลัวเสียเก้าอี้มากกว่ารักประเทศไทย