วันนี้ (4 ม.ค.) นายสามารถ เจนชัยจิตรวนิช อดีตผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงยุติธรรม เปิดเผยว่า วันนี้ตนได้รับข้อมูลจากพ่อแม่พี่น้องประชาชนเรื่องให้มีการแต่งตั้งบอร์ดกลั่นกรองคดีมาตรา 112 ขึ้นมา โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้เห็นชอบ และมี อดีต ส.ส. เป็นผู้เสนอ ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อนมาก เพราะมีพี่น้องประชาชนจำนวนมากที่รักสถาบัน รวมทั้งตนก็มีจุดยืนในการปกป้องการแก้ มาตรา 112 มาโดยตลอด ตนพูดอยู่หลายครั้งว่า มาตรา 112 นั้น เป็นกฎหมายที่ปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ ได้ดีที่สุด
นายสามารถ เผยว่า ทุกวันนี้กฎหมาย มาตรา 112 ถ้าไม่มีใครพาดพิงหรือพูดให้ร้ายสถาบันอันเป็นที่รักของประชาชนคนไทย ก็ไม่มีใครคนไหนจะฟ้องร้องดำเนินคดีได้ ซึ่งเป็นที่ทราบโดยทั่วไป กฎหมาย มาตรา 112 เปรียบเสมือนปลั๊กไฟ ถ้าไม่เอานิ้วไปแหย่ปลั๊กไฟ ก็จะไม่ถูกไฟดูด ฉะนั้น ตนก็เห็นปลั๊กไฟอยู่ทั่วประเทศ ไม่เห็นมีใครเอาที่อุดไปอุดปลั๊กกันไฟดูดเลย เพราะถ้าไม่เอานิ้วไปแหย่ก็ไม่ถูกไฟดูดและนั้นก็เป็นสิ่งที่ทุกคนเข้าใจ โดยกฎหมาย มาตรา 112 ก็เช่นเดียวกัน สำหรับตนคิดว่ากฎหมายมาตรานี้เบาเกินไปหรือไม่ เพราะยังมีคนปล่อยเฟกนิวส์ ด้อยค่าให้ร้ายสถาบัน อันเป็นที่รักของประชาชนอยู่ทุกวันในสื่อออนไลน์และข้อมูลเหล่านั้นก็ถูกแชร์นำส่งต่อ ถูกขยายผลด้วยข้อมูลเท็จทำให้ประชาชนเชื่อในข้อมูลที่ผิด ถือว่าเป็นเรื่องร้ายแรง เหมือนเป็นมะเร็งร้ายทางความคิด
“ดังนั้น สิ่งที่ต้องทำคือ ฟ้องร้องคดีให้เร็วที่สุดเพื่อให้กระบวนการยุติธรรมพิสูจน์เจตนา ความผิดว่าการกระทำดังกล่าวนั้นผิดหรือไม่ ซึ่งพอมาดูกระบวนการยุติธรรมก็มีการกลั่นกรอง มีการพิสูจน์ความจริงให้ความยุติธรรมอยู่แล้ว อย่าลืมว่าคดี มาตรา 112 เป็นคดีอาญา ต้องมีองค์ประกอบความผิดทั้งภายนอกและภายใน มีการพิจารณาสร้างความถ่วงดุลให้กับผู้บริสุทธิ์ มีพนักงานสอบสวน มีพนักงานอัยการ มีศาลในการกลั่นกรองให้ความยุติธรรม ไม่ใช่จะฟ้องร้องกันง่ายๆ”
ทั้งนี้ ศาลยุติธรรมยังมีกระบวนการให้ความเป็นธรรมอีก 3 ศาลด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ และศาลฎีกา ซึ่งกระบวนการเหล่านี้ก็ให้พิสูจน์ความจริง ความบริสุทธิ์อยู่แล้ว เราในฐานะคนธรรมดามีใครมาหมิ่นประมาทเรายังใช้สิทธิในการฟ้องร้อง และตนเห็นพี่น้องประชาชนหลายๆ คน หรือแม้แต่คนที่ต้องการให้แก้กฎหมาย มาตรา 112 เมื่อมีใครมาหมิ่นประมาทก็ฟ้องร้องเขากลับในข้อหาหมิ่นประมาทเช่นกัน และพยายามเร่งรัดให้คดีนั้นรวดเร็ว แต่กลับกันสถาบันพระมหากษัตริย์กลับให้คนที่มาหมิ่นประมาท ดูถูก ด้อยค่าได้ยื้อเวลา ตนคิดว่าเป็นการไม่สมควร และเป็นการแทรกแซงกระบวนการยุติธรรมเพราะประชาชนทั่วไปก็ไม่มีบอร์ดกลั่นกรองแบบนี้
นายสามารถ เผยอีกว่า ส่วนที่ตนพูดว่ามันเป็นเรื่องละเอียดอ่อนนั้นต่องยอมรับว่าการหมิ่น มาตรา 112 วันนี้ และไม่ได้จับพรุ่งนี้ แต่มีกระบวนการรวบรวมหลักฐาน ขอศาลอนุมัติออกหมายจับโดยใช้เวลาเป็นเดือนๆ มีตัวอย่างให้เห็นและตนไม่ต้องพูดขยายความ ซึ่งเราพูดกันมาตลอดว่า ความล่าช้าของกระบวนการยุติธรรม คือ ความไม่ยุติธรรม ดังนั้น การตั้งบอร์ดกลั่นกรองขึ้นมาเป็นการแทรกแซงกระบวนการยุติธรรมหรือไม่ อย่างไร เป็นการทำให้กระบวนการล่าช้าของความยุติธรรมเกิดขึ้นหรือไม่
นายสามารถ กล่าวเสริมว่า สถาบันพระมหากษัตริย์ไม่เคยลงมาเล่นการเมือง และอยู่เหนือการเมือง อยู่กับประเทศไทยมานาน อย่าลืมรากเหง้าวัฒนธรรมประเพณี เพราะนั้นคือสิ่งที่บรรพบุรุษสอนเรามาตลอด ตนในฐานะประชาชนคนหนึ่งที่มีจุดยืนในการปกป้องสถาบันและการแก้มาตรา 112 มาตลอด พร้อมกับประชาชนจำนวนมากที่ส่งข้อมูลมาให้ในทุกๆทางว่าช่วยเป็นปากเป็นเสียงในเรื่องดังกล่าวด้วย จึงต้องออกมาสื่อสารให้ผู้มีอำนาจได้ทบทวนและพิจารณา ตนหวังว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้นำแนวคิดหรือความเห็นนี้ไปประกอบการพิจารณาด้วย
“สถาบันพระมหากษัตริย์เป็นสถาบันหลักของชาติเพราะเป็นสีในธงชาติไทย เราจะทำอย่างไรให้สถาบันอยู่คู่กับสังคมไทยสืบไปนานเท่านาน ก็คือ ไม่ให้ใครพูดโกหก พูดเท็จ ด้อยค่าทำลายสถาบันนั้นคือการปกป้องที่ดีที่สุด ตนคิดว่า มาตรา 112 เป็นกฎหมายที่ดีและเชื่อว่า คนไทยทั้งประเทศก็สนับสนุนให้มีกฎหมายมาตรานี้ต่อไปอย่างแน่นอน”