xs
xsm
sm
md
lg

รัฐประหารในบูร์กินาฟาโซ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: โสภณ องค์การณ์



ประเทศในทวีปแอฟริกาได้พิสูจน์อีกครั้งว่าการรัฐประหารโดยกองทัพเพื่อล้มล้างรัฐบาลและยึดอำนาจนั้นยังเป็นสิ่งที่ไม่ล้าสมัย ไม่ยากที่จะประสบความสำเร็จ ถ้ามีข้ออ้างอย่างมีเหตุผลพอสมควร และไม่ถูกต่อต้านโดยประชาชน

ล่าสุดกองทัพประเทศบูร์กินาฟาโซได้ยึดอำนาจจากรัฐบาลของประธานาธิบดีโรช คาโบเร วันจันทร์ที่ผ่านมาโดยไร้แรงต้าน ได้ควบคุมคณะรัฐมนตรีไปขังไว้ในค่ายทหาร ประชาชนออกมาแสดงความยินดีสนับสนุนการรัฐประหาร แต่มีเสียงประณามจากองค์การสหประชาชาติ

สหรัฐอเมริกาได้เรียกร้องให้กองทัพคืนอำนาจให้กับประธานาธิบดีคาโบเร และปลดปล่อยตัวผู้ถูกคุมขัง ท่าทีเช่นนี้ก็เป็นปฏิกิริยาที่คาดหมายได้ แต่ก็ไม่ได้หวังว่าจะได้รับการตอบสนองจากกลุ่มผู้ทำรัฐประหารเพราะมีเสียงสนับสนุนจากประชาชน

ในการยึดอำนาจครั้งนี้ ฝ่ายทหารนำโดยพันโทพอล อองรี ซานเดาโก ดามิบา อ้างว่ารัฐบาลไม่สามารถจัดการปราบปรามกับกองกำลังกลุ่มมุสลิมหัวรุนแรงหรือกองทัพจิฮาดิสก์ ซึ่งได้ก่อเหตุร้ายลอบสังหารเจ้าหน้าที่ความมั่นคงของรัฐ

นายทหารยศพันโท อายุ 41 ปี ได้รับการศึกษาวิชาการทหารในฝรั่งเศส ได้รับปริญญาโทด้านอาชญวิทยา ได้เขียนหนังสือเกี่ยวกับกองทัพและการก่อการร้ายในแถบแอฟริกาตะวันตก เป็นหัวหอกในการต่อสู้กับกลุ่มมุสลิมหัวรุนแรงมาโดยตลอด

นายทหารผู้นี้ได้ต่อต้านการรัฐประหารในปี 2015 ซึ่งใช้เวลา 7 วัน และได้เป็นนายทหารอารักขาประธานาธิบดีในช่วงที่ผู้นำคนก่อนถูกรัฐประหารในปี 2014

ประเทศบูร์กินาฟาโซ อยู่ในส่วนแอฟริกาตะวันตก ไม่มีทางออกทางทะเลพรมแดนติดกับประเทศมาลี ซึ่งก็มีการรัฐประหารโดยกองทัพ 2 ครั้ง บูร์กินาฟาโซ ได้เป็นเมืองขึ้นของฝรั่งเศสและรับอิสรภาพ ในปี 2503 ชื่อเดิมคือ อัปเปอร์โวลต้า

ประเทศนี้ผ่านการปกครองแบบเผด็จการมายาวนานนับตั้งแต่เป็นอิสรภาพ และมีการรัฐประหารบ่อยครั้งสลับกับการมีรัฐบาลพลเรือน การเมืองในระบบประชาธิปไตยไม่มั่นคงสำหรับประเทศนี้ซึ่งมีพลเมืองเกือบ 15 ล้านคน

เป็นธรรมเนียมของการรัฐประหารทั่วไปที่จะต้องยกเลิกรัฐสภา รัฐธรรมนูญชั่วคราว พร้อมกับคำมั่นว่าจะฟื้นฟูประเทศ ความมั่นคงก่อนจะคืนอำนาจให้สู่ระบบการเมืองแบบการเลือก ตั้งถ้าสถานการณ์ด้านความมั่นคงดีขึ้น

นักวิเคราะห์มองว่าการรัฐประหารครั้งนี้ไม่อยู่เหนือความคาดหมายเพราะฝ่ายกองทัพได้เรียกร้องให้รัฐบาลจัดการปราบปรามกับกลุ่มมุสลิมก่อการร้ายให้สำเร็จ เพราะมองว่าความมั่นคงมีปัญหาเลวร้ายถ้าจัดการไม่สำเร็จ

กลุ่มกองกำลังอิสลามหัวรุนแรงมีทั้งไอซิส และอัลกออิดะห์ มีความเชื่อมโยงกับกลุ่มมุสลิมหัวรุนแรงในประเทศอื่นๆ ในทวีปแอฟริกา

วันอาทิตย์ก่อนการรัฐประหาร 1 วันได้มีการลุกฮือในค่ายทหารหลายแห่งในเมืองหลวงคือวากาดูกู และเมืองคายาซึ่งอยู่ด้านเหนืออันเป็นผลมาจากการเดินขบวนของประชาชนเรียกร้องให้ประธานาธิบดีลาออก

กลุ่มหัวรุนแรงซึ่งปฏิบัติการในปี 2015 ได้สร้างความเสียหายมาก โดยมีผู้เสียชีวิตมากกว่า 2,000 รายและทำให้ประชาชน 1.5 ล้านคนต้องโยกย้ายจากถิ่นฐานเดิมตามรายงานของสหประชาชาติทำให้โรงเรียนต้องปิดตัวลงในหลายส่วนของประเทศเพราะสถานการณ์อันตรายเกินกว่าที่จะเปิดให้สอนหนังสือได้

หลังจากการประท้วงอย่างต่อเนื่องของประชาชนทำให้ความเชื่อมั่นในการจัดการของประธานาธิบดีตกต่ำ มีวิกฤตด้านความมั่นคงอันเป็นผลมาจากการโจมตีหมู่บ้านโซฮาน ในเดือนมิถุนายน 2021 มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 100 ราย ในครั้งนั้นเป็นฝีมือของกลุ่มหัวรุนแรง ที่ข้ามพรมแดนมาจากประเทศมาลี

การโจมตีนำไปสู่การเดินขบวนประท้วงในเมืองหลวงทำให้ประธานาธิบดีคาโบเรต้องปรับคณะรัฐมนตรีและตั้งให้ตัวเองควบตำแหน่งรัฐมนตรีกลาโหม

มีการโจมตีโดยกลุ่มมุสลิมหัวรุนแรงที่ค่ายทหารเมืองอินาตาในเดือนพฤศจิกายน 2021 ส่งผลให้ประชาชนโกรธแค้นรัฐบาลยิ่งขึ้นเพราะมีเจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคงมากกว่า 50 นายถูกสังหาร

ทหารในค่ายนี้ได้ขอความช่วยเหลือด้านอาหารและอุปกรณ์ต่างๆ 2 สัปดาห์ก่อนการโจมตีจากรัฐบาล แต่ก็ไม่ได้รับการตอบสนองทำให้ประธานาธิบดีคาโบเรปรับรัฐมนตรี ตั้งนายกรัฐมนตรีใหม่ก่อนเริ่มเจรจาเพื่อความปรองดองกับฝ่ายค้าน

ที่ผ่านมาบูร์กินาฟาโซ อยู่ในความสงบแม้จะมีปัญหาด้านความมั่นคงและความง่อนแง่นทางการเมืองในย่านแอฟริกาตะวันตก เมื่อเกิดการลุกฮือประท้วงในปี 2014 ทำให้มีการขับไล่ประธานาธิบดีเบลส์ คอมปาโอเร ซึ่งครองตำแหน่งมายาวนาน

ได้มีความพยายามกระทำรัฐประหารในปี 2015 ซึ่งทำให้กองทัพอยู่ในภาวะแตกแยก และคาโบเร ได้รับการเลือกตั้งโดยให้คำมั่นว่าจะทำให้ประเทศเป็นเอกภาพ

แต่กลุ่มหัวรุนแรงแทรกซึมมาจากประเทศมาลี และการก่อการร้ายแยกดินแดนในปี 2012 ทำให้ถูกครอบงำโดยกลุ่มจิฮาดิสต์ และได้เข้าโจมตีก่อนที่คาโบเร เข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการ

กลุ่มกองกำลังติดอาวุธได้ฉวยโอกาสขณะที่การอารักขาอ่อนแอและสภาพของบูร์กินาฟาโซ สุ่มเสี่ยงต่อการถูกโจมตีบ่อยครั้งและกลุ่มก่อการร้ายมุสลิมได้ทำให้เกิดการแตกแยกในชุมชนซึ่งนับถือศาสนาคริสต์และมุสลิมในประเทศ

อนาคตของบูร์กินาฟาโซ จะไปทิศทางใดเพราะมีปัญหากับสหประชาชาติ สภาพแอฟริกัน และสหรัฐฯ ซึ่งไม่ยอมรับรัฐบาลนี้ ดังนั้นความสำเร็จของผู้นำทหารจะเป็นตัววัดความนิยมของประชาชนและการยอมรับว่าจะอยู่ในอำนาจได้นานหรือไม่


กำลังโหลดความคิดเห็น