ประชาธิปไตยของซูดานภายใต้การบริหารงานของรัฐบาลพลเรือน ต้องสะดุดอีกรอบเมื่อนายกรัฐมนตรี อับดัลลา ฮัมด็อก ตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งหลังจากเข้ารับหน้าที่ได้ไม่นาน ทำให้ประเทศในทวีปแอฟริกาแห่งนี้เผชิญกับความไม่แน่นอนอีกรอบ
และยังไม่แน่นอนว่าจากนี้ไป ซูดานจะอยู่ภายใต้การบริหารงานของรัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้ง หรือว่ากองทัพจะหวนกลับเข้ามากุมอำนาจโดยอ้างเสถียรภาพและความมั่นคง
ซูดานเป็นประเทศที่มีการเปลี่ยนแปลงด้านการเมืองจากรัฐประหารไปสู่เผด็จการ และรัฐประหาร มีรัฐบาลพลเรือน แต่ไม่มีความจีรังเพราะกองทัพเล็งที่จะกุมอำนาจ ครั้งล่าสุดที่ผ่านมาเมื่อปีที่แล้ว ก็ได้ยึดอำนาจ แต่คราวนี้ไม่ง่าย
ประชาชนหลายหมื่นคนเดินขบวนประท้วงการรัฐประหารและความพยายามจะกุมอำนาจ จับกุมนายกฯ ฮัมด็อก ซึ่งดำรงตำแหน่งในขณะนั้นไปคุมตัวที่บ้านพร้อมคณะรัฐมนตรี โดยคณะทหารนำโดยพลเอกอับเดล ฟัตตอห์ อัล-เบอร์ฮาน
แต่ประชาชนชาวซูดานไม่ยอม รวมตัวกันเดินขบวนต่อต้านอย่างต่อเนื่อง เรียกร้องให้ปลดปล่อยคณะรัฐมนตรีที่ถูกจับกุม ทหารได้ใช้กำลังปราบปรามประชาชนรวมทั้งการใช้กระสุนจริง ทำให้มีผู้เสียชีวิตหลายคน
เมื่อคุมสถานการณ์ไว้ไม่อยู่ พลเอกอัล-เบอร์ฮานต้องยอมคืนอำนาจให้นายฮัมด็อกได้เป็นผู้นำรัฐบาลภายใต้ข้อตกลงการแบ่งอำนาจบริหารประเทศ นั่นเป็นเพราะประชาชนซูดานไม่ยอมอยู่ภายใต้อำนาจของกองทัพอีกรอบ
ที่ผ่านมา การรัฐประหารประสบความสำเร็จ ไม่มีแรงต้านพอ คราวนี้ต่างกัน
ชาวซูดานไม่ยอม ยังเดินขบวนต่อเนื่อง ไม่ต้องการให้กองทัพเข้ามามีส่วนควบคุมรัฐพลเรือน ทหารยังใช้วิธีปราบปราม ล่าสุดได้สังหารผู้เดินขบวนประท้วงเสียชีวิตไป 3 ราย เป็นผลให้นายฮัมด็อกตัดสินใจลาออกวันอาทิตย์ที่ผ่านมา
ในการแถลงผ่านโทรทัศน์ฮัมด็อกชี้แจงว่าต้องการให้ “บุตรหญิงชาย” ของประเทศได้มีส่วนให้กำหนดเส้นทางชะตากรรมและอนาคตของประเทศ ในช่วงของการเปลี่ยนผ่านอำนาจ พร้อมทั้งยกย่องประชาชนซูดานในจุดยืนอันมั่นคง
นายฮัมด็อกชมประชาชนในความแน่วแน่ในการผลักดันให้มีเสรีภาพ ความยุติธรรมในช่วงการเดินขบวนประท้วงต่อต้านการยึดอำนาจโดยกองทัพ “ลูกหลานชาวซูดานจะมีอนาคตที่ดีกว่าอย่างแน่นอนด้วยจิตวิญญาณด้านการปฏิวัติ”
ฮัมด็อกยังชี้แจงอีกว่าการยอมรับภารกิจในการเป็นนายกฯ ในช่วงเดือนสิงหาคม 2019 นั้นอยู่บนพื้นฐานของรัฐธรรมนูญและข้อตกลงระหว่างพลเรือนและกองทัพในการ “เป็นต้นแบบของการแบ่งอำนาจการบริหารที่ซูดานสามารถทำได้”
“แต่ผลที่ตามมากลับไม่ประสบผลสำเร็จอย่างราบรื่นดังที่ตั้งใจและเจตนารมณ์ร่วมกันในการกระทำข้อตกลงช่วงนั้น” แต่ไม่ยอมอธิบายว่าปัญหาที่เกิดนั้นเป็นอะไร
การร่วมกันบริหารประเทศซึ่งเริ่มในเดือนสิงหาคม 2019 ประสบปัญหาในเดือนตุลาคมเมื่อกองทัพตัดสินใจทำรัฐประหาร ยึดอำนาจรัฐ ยกเลิกการแบ่งอำนาจการบริหารผ่านองค์กรเอกรัฐ ซึ่งดูแลรับผิดชอบช่วงเปลี่ยนผ่านอำนาจ
ฮัมด็อกและคณะรัฐมนตรีถูกควบคุมตัว แต่รัฐบาลทหารอยู่ได้ไม่นานเมื่อประชาชนไม่ยอมรับด้วยการเดินขบวนประท้วงลามไปทั่วประเทศ แม้จะโดนปราบปรามอย่างหนัก ผลสุดท้ายพลเอกอัล-เบอร์ฮานตัดสินใจคืนอำนาจ
แต่นั่นก็เป็นข้อตกลงใหม่ ในการแบ่งอำนาจการบริหารอีกครั้ง
ก่อนหน้านี้รัฐบาลเผด็จการของประธานาธิบดี โอมาร์ อัล-บาชีร์ ได้บริหารประเทศ ทำให้ซูดานประสบปัญหาด้านการเมืองเศรษฐกิจ สังคม มีการทุจริต อย่างมากมาย ทำให้กองทัพตัดสินใจทำรัฐประหารในปี 2019
มีข่าวบางกระแสชี้ว่าการที่ฮัมด็อกลาออกเป็นเพราะประชาชนซูดานจะเดินขบวนรอบใหม่ เป็นครั้งใหญ่ทั่วประเทศ หลังจากทหารได้สังหารผู้ประท้วง 3 ราย ในกลุ่มนั้น มี 2 รายถูกยิงเข้าหน้าอก อีก 1 รายมีแผลที่ศีรษะเป็นผลของความรุนแรง
มีภาพจากสำนักข่าวหลายแห่งแสดงให้ประชาชนรวมตัวเป็นกลุ่มวิ่งฝ่ากลุ่มควันสีขาว ซึ่งน่าจะเป็นแก๊สน้ำตา และแตกกระเจิงเมื่อมีเสียงกระสุนยิงแบบรัว
การเดินขบวนบนท้องถนนเป็นเพราะระบบการสื่อสารผ่านเครือข่ายโทรศัพท์มือถือและอินเทอร์เน็ตขัดข้อง ไม่สามารถติดต่อกันได้
การประท้วงวันอาทิตย์ที่ผ่านมาในเมืองออมเดอร์มาน ซึ่งอยู่ห่าง 25 กิโลเมตรจากเมืองคาร์ทูม เป็นการเดินขบวนต่อเนื่อง 14 วันเพื่อต่อต้านการปกครองโดยทหาร นับจากการรัฐประหารวันที่ 25 ตุลาคม อย่างน้อยมีประชาชนเสียชีวิต 57 ราย
เป็นการถูกสังหารโดยเจ้าหน้าที่ฝ่ายรักษาความมั่นคง คือหน่วยงานกองทัพ การเดินขบวนครั้งล่าสุดเกิดที่ย่านอัล-ดาอิม ซึ่งอยู่ชานเมืองคาร์ทูม วันที่ 2 ที่ผ่านมา เป็นการระลึกถึงการสูญเสียชีวิตของผู้ประท้วงโดยการถูกสังหารหลายครั้งที่ผ่านมา
รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ นายแอนโทนี บลิงเคน ได้ออกแถลงการณ์ในวาระขึ้นปีใหม่ ซึ่งครบรอบ 66 ปีของการประกาศอิสรภาพของซูดาน ทั้งยังตำหนิการปราบปรามประชาชนด้วยวิธีรุนแรง โดยเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง
“เราหวังว่าปี 2021 จะเปิดโอกาสให้เราได้เป็นพันธมิตรกับประชาธิปไตยซูดาน แต่กลายเป็นการยึดอำนาจโดยกองทัพและกระทำต่อประชาชนด้วยความรุนแรง”
“สิ่งที่เกิดขึ้นได้สร้างความไม่แน่นอนต่ออนาคตของซูดาน และเราหวังว่าซูดานจะไม่หวนคืนสู่อดีต และเราพร้อมที่จะตอบโต้บรรดากลุ่มที่ขัดขวางเจตนารมณ์ และความต้องการของชาวซูดานในการแสวงหาประชาธิปไตย” นายบลิงเคน กล่าว