xs
xsm
sm
md
lg

สหรัฐฯ-อิหร่านเข้าใกล้โต๊ะเจรจา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: โสภณ องค์การณ์



การเจรจาเงื่อนไขและข้อตกลงระหว่างสหรัฐอเมริกากับอิหร่านคาดว่าจะเริ่มในกรุงเวียนนาในอีกไม่ช้านี้ หลังจากที่ได้มีความพยายามจะพูดคุยเรื่องหาทางออกจากปัญหาด้านความพยายามของอิหร่านในการพัฒนาศักยภาพด้านอาวุธนิวเคลียร์

เจ้าหน้าที่ซึ่งเกี่ยวข้องกับการเจรจาพยายามจะให้สหรัฐฯ หวนคืนสู่เวทีการเจรจากับอิหร่านให้ได้หลังจากที่อดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ได้ถอนตัวจากข้อตกลงในปี 2018 จากนั้นก็ได้ฟื้นฟูมาตรการคว่ำบาตรต่ออิหร่านอีกรอบ

อิหร่านอยู่ในสภาวะลำบากด้านเศรษฐกิจหลายสิบปีตั้งแต่มีปัญหากับสหรัฐฯ แต่ก็มีอิทธิพลในหลายประเทศเช่น อิรัก เลบานอน ซีเรีย และเยเมน เป็นผู้สนับสนุนกองกำลังต่างๆ ซึ่งอยู่ฝ่ายตรงข้ามกับซาอุดีอาระเบียและอิสราเอล

ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ได้แสดงออกถึงความตั้งใจที่จะเจรจากับอิหร่านด้วยหวังว่าอิหร่านจะไม่มีการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์อีกต่อไปเพื่อแลกกับการยกเลิกมาตรการคว่ำบาตร

โจ ไบเดนก็แสดงออกถึงท่าทีว่าจะยกเลิกการคว่ำบาตรด้วย เพียงขอให้อิหร่านแสดงท่าทีว่าจะหยุดการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ แต่อิหร่านก็เกี่ยงงอนอ้างว่าให้สหรัฐฯ เป็นฝ่ายเริ่มต้น ด้วยการหยุดมาตรการคว่ำบาตรเสียก่อน

ประเด็นที่ว่าใครควรจะเริ่มอะไรก่อนทำให้การเจรจาที่ผ่านมาไม่คืบหน้า แม้จะมีความพยายามไกล่เกลี่ยโดยตัวแทนของหลายประเทศตะวันตกก็ตาม

บรรดานักการทูตฝ่ายโลกตะวันตกก็เตือนว่าเวลาสำหรับการเริ่มเจรจาเพื่อหาทางออกเกี่ยวกับปัญหาเรื่องนี้เริ่มจะสั้นลง เพราะว่าฝ่ายอิหร่านได้พัฒนาด้านอาวุธนิวเคลียร์ไปไกลแล้วรวมถึงการพัฒนาสารยูเรเนียมซึ่งสำคัญต่อการโครงการ

ขณะที่อิหร่านก็แย้งว่าโครงการพัฒนานิวเคลียร์ของตนเองนั้นเพื่อแนวทางสันติภาพมากกว่า ไม่ได้มุ่งเน้นการสร้างความเป็นปฏิปักษ์ แต่เป็นที่รู้กันว่าการครอบครองอาวุธนิวเคลียร์จะทำให้สถานภาพการต่อรองของอิหร่านเข้มแข็งมากขึ้น

ฝ่ายสหรัฐฯ และอิสราเอลก็ตระหนักดีว่าถ้าอิหร่านมีอาวุธนิวเคลียร์ ดุลยภาพด้านอำนาจในตะวันออกก็จะเปลี่ยนไป ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงในภูมิภาค โดยเฉพาะกลุ่มประเทศที่เป็นปฏิปักษ์กับอิหร่าน เช่นซาอุดีอาระเบีย และอิสราเอล

ที่ผ่านมาทางด้านอิหร่านได้เจรจากับ 5 ประเทศซึ่งยังคงอยู่เป็นคู่สัญญาเกี่ยวกับการพัฒนาโครงการอาวุธนิวเคลียร์ซึ่งมีจีน ฝรั่งเศส เยอรมนี รัสเซีย และอังกฤษ หลังจากสหรัฐฯ ได้ถอนตัวออกไปจากข้อตกลงเดิม

ตัวแทนของประเทศเหล่านี้ได้พบปะเจรจากันในกรุงเวียนนาเมืองหลวงของออสเตรีย โดยมีตัวแทนของสหรัฐฯ เข้าร่วมอย่างไม่เป็นทางการโดยตลอด

เจ้าหน้าที่อาวุโสรายหนึ่งได้บอกกล่าวหนังสือพิมพ์ นิวยอร์ก ไทมส์ว่าขั้นตอนต่างๆ ซึ่งจำเป็นสำหรับสหรัฐฯ และอิหร่านจะได้บรรลุข้อตกลงนั้น ส่วนใหญ่ก็สำเร็จแล้วก่อนที่การเลือกตั้งของประธานาธิบดีอิหร่านในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา

ผู้นำคนใหม่ของอิหร่าน อิบราฮิม ไรซี ซึ่งถูกมองว่าเป็นผู้นำสายแข็งกร้าว และมีทัศนคติไม่เอื้อต่อโลกตะวันตก เป็นฝ่ายชนะการเลือกตั้งสืบทอดอำนาจจากฮัสซัน โรฮานีซึ่งเป็นฝ่ายเดินสายกลาง ได้เจรจาเรื่องนิวเคลียร์ยุคของ บารัก โอบามา

ผู้นำอิหร่านคนใหม่ได้ให้สัญญาก่อนที่จะดำรงตำแหน่งในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาว่าตนเองจะไม่ยอมให้การเจรจายืดเยื้อ แต่ก็ยังอิดออดไม่ยอมเข้าร่วมเจรจาในกรุงเวียนนา จนกระทั่งยินยอมในช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา

แต่ไรซี ยืนหยัดอย่างหนักแน่นว่าคณะผู้เจรจาของอิหร่านจะไม่ยอมถอยแม้แต่ก้าวเดียว จากความพยายามที่จะปกป้องผลประโยชน์ของประเทศ

ขณะเดียวกันยังมีข้อกังวลว่าอิสราเอลซึ่งต่อต้านการครอบครองอาวุธนิวเคลียร์โดยอิหร่านได้พยายามส่งสัญญาณว่าอาจจะลงมือโจมตีสถานที่พัฒนาโครงการนิวเคลียร์ซึ่งอาจจะใช้เครื่องบินโจมตี เหมือนที่ได้เคยทำกับโครงการของอิรัก

แต่ครั้งนี้จะไม่ง่ายเพราะอิหร่านได้เตรียมพร้อมสำหรับตั้งรับการโจมตีของอิสราเอล ซึ่งถ้าเกิดขึ้นจริงก็คงจะนำไปสู่การตอบโต้อย่างรุนแรงและเกิดสงครามระหว่าง 2 ประเทศ ซึ่งไม่เป็นที่ปรารถนาของชาติมหาอำนาจต่างๆ

การที่อิสราเอลแสดงออกถึงความต้องการจะใช้กำลังจัดการกับอิหร่านคงเป็นเพราะคาดหมายว่าสหรัฐอเมริกาจะสนับสนุนแม้จะไม่ออกหน้าออกตาก็ตาม แต่ในยุคของโจ ไบเดน อาจจะไม่ง่ายเช่นนั้น เหมือนยุคโดนัลด์ ทรัมป์ ที่หนุนอิสราเอลสุดๆ

อิสราเอลเองก็มีผู้นำคนใหม่และทัศนคติต่ออิหร่านก็ไม่ได้แข็งกร้าว เมื่อเทียบกับผู้นำคนเดิม เบนจามิน เนทันยาฮู

เป็นที่รู้กันว่าอิสราเอลครอบครองระเบิดนิวเคลียร์ แต่ไม่เป็นที่เปิดเผย และพร้อมจะให้อาวุธนี้โจมตีหรือปกป้องตัวเองถ้าถูกคุกคามอย่างรุนแรง


กำลังโหลดความคิดเห็น