ดร.โฉมศรี ชูช่วย
คณะการจัดการสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
ศาสตราจารย์ญาณวิทย์ ดร.ศิวัช พงษ์เพียจันทร์
ศูนย์วิจัยและพัฒนาการป้องกันและจัดการภัยพิบัติ คณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หัวหน้าโครงการสร้างพลเมืองสร้างสรรค์ (Active Citizen) และผู้นำเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลง (Prime Mover) ในบริบทการจัดการคุณภาพอากาศสำหรับประเทศไทย สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
Email: pongpiajun@gmail.com
การปรับปรุงคุณภาพอากาศได้กลายเป็นประเด็นที่หลายพื้นที่ทั่วโลกให้ความสำคัญเป็นลำดับต้นๆ [1] ซึ่งเป็นผลทำให้หลายพื้นที่มีการกำหนดกลยุทธ์และหายุทธวิธีเพื่อแก้ไขปัญหามลภาวะทางอากาศ [2] ดังนั้นการปรับปรุงคุณภาพอากาศจึงไม่เพียงแต่ต้องได้รับการสนับสนุนจากนโยบายของภาครัฐและความตระหนักในการปกป้องสิ่งแวดล้อมของสาธารณชนเท่านั้น แต่ยังต้องอาศัยนวัตกรรมเทคโนโลยีการผลิตเพื่อลดการปล่อยมลพิษด้วย เนื่องจากการปล่อยไอเสียจากการผลิตเป็นปัจจัยสำคัญที่ก่อให้เกิดมลภาวะทางอากาศ [3]
จากการศึกษาวิจัยของนักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกที่ได้ทุ่มเทให้กับการสำรวจนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆหลายๆงาน อย่างเช่น การผลิตยานพาหนะพลังงานใหม่ (New Energy Vehicle: NEV) โดยใช้พลังงานไฟฟ้าทดแทนการใช้ยานพาหะที่ใช้น้ำมันเพื่อปรับปรุงคุณภาพอากาศ [4] จากการพัฒนาเทคโนโลยีดังกล่าวแสดงหลักฐานให้เห็นว่านวัตกรรม NEV แบบไฮบริดและแบบเสียบปลั๊กสามารถบรรเทาการปล่อย CO2 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ [5] และนวัตกรรมทางเทคโนโลยีด้านพลังงานหมุนเวียนสามารถลดความเข้มข้นของNO2 ในอากาศได้ [6] และนอกจากนี้งานวิจัยในประเทศจีนซึ่งเป็นประเทศลำดับต้นๆที่ปล่อยมลพิษทางอากาศได้แสดงให้เห็นว่านวัตกรรมเทคโนโลยีสำหรับ NEV ได้กระตุ้นการเติบโตอย่างมากในการผลิตและการซื้อ NEV ซึ่งสามารถปรับปรุงคุณภาพอากาศได้เมื่อใช้แทนที่รถยนต์พลังงานแบบดั้งเดิมโดยคิดจากอัตราส่วนของประชาชนที่หันมาให้ความสนใจกับการใช้ยานพาหนะไฟฟ้าเพิ่มขึ้น [7] แต่ทั้งนี้เทคโนโลยีใหม่จะสามารถสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อคุณภาพอากาศได้ก็ต่อเมื่อประชากรเปลี่ยนพฤติกรรมการซื้อและเริ่มใช้งาน โดยประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปส่วนใหญ่เสนอสิ่งจูงใจทางภาษีหรือเงินช่วยเหลือสำหรับการซื้อและใช้งานยานพาหนะไฟฟ้า [8] นอกจากนี้ประเทศบราซิลยังใช้วิธีการจูงใจประชาชนให้หันมาใช้รถไฟฟ้าเพิ่มขึ้นโดยการไม่ต้องเสียภาษีการนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าหรือรถยนต์ไฮโดรเจน [9] แต่อย่างไรก็ตามรถยนต์ไฟฟ้ายังคงผลิตอนุภาคที่เกิดจากการสึกหรอของยางและเบรกและการเสียดสีบนท้องถนน จากงานวิจัยในสหราชอาณาจักรปี 2015 พบว่า 31% ของ PM10 ถูกปล่อยออกมาจากท่อไอเสีย, 45% มาจากการสึกหรอของยางและเบรก และ 24% มาจากการเสียดสีบนท้องถนน [10] ดังนั้นในระยะยาวจะมีการพัฒนานวัตกรรมยานพาหนะไฟฟ้าขับเคลื่อนอัตโนมัติโดยจะส่งผลดีต่อคุณภาพอากาศโดยช่วยลดแนวโน้มของมนุษย์ในการหยุด-ออกรถซึ่งจะช่วยลดการสึกหรอของยางและเบรก นอกจากนี้ยังมีเทคโนโลยีที่จะทำให้รถยนต์ดีเซลและเบนซินมีอัตราการปล่อยสารมลพิษออกสู่ชั้นบรรยากาศน้อยลง เช่น เครื่องฟอกไอเสียเชิงเร่งปฏิกิริยา อุปกรณ์ที่ทำให้ท่อไอเสียมีอันตรายน้อยลง โดยเป็นข้อกำหนดทางกฎหมายสำหรับรถยนต์ใหม่ในสหราชอาณาจักรและประเทศอื่นๆ ซึ่งอาจส่งผลดีต่อการลดการปล่อย NOx และ PM ให้น้อยลง [11] นวัตกรรมอีกอย่างที่น่าสนใจคือหอฟอกอากาศสูง 60 เมตรในเมืองซีอาน ซึ่งมีรูปร่างเหมือนปล่องไฟและใช้เรือนกระจกเพื่อเคลื่อนย้ายอากาศผ่านระบบกรองโดยใช้พลังงานแสงอาทิตย์ให้ความร้อนและยังเป็นการใช้พลังงานสะอาดที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างแท้จริง โดยหอฟอกอากาศยังได้รับการทดลองในอีกหลายประเทศ ได้แก่ เนเธอร์แลนด์ ญี่ปุ่น และอังกฤษ เป็นต้น [12]
นอกเหนือจาก "การแก้ไขปัญหาโดยใช้เทคโนโลยี" แล้ว การติดตามตรวจสอบคุณภาพอากาศทั้งในอดีตละปัจจุบันยังคงมีความสำคัญต่อการให้ข้อมูลเพื่อวัตถุประสงค์ด้านกฎระเบียบ การสัมผัสสารมลพิษเพื่อศึกษาผลกระทบด้านสุขภาพของมนุษย์และสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ยังมีความสำคัญต่อการทำความเข้าใจผลกระทบของมาตรและนโยบายที่ถูกนำมาใช้ เช่น ประสิทธิภาพของเขตอากาศสะอาด หรือการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ "อากาศสะอาด" ระดับชาติ การปรับปรุงคุณภาพอากาศที่มีประสิทธิภาพสูงสุดนั้นขึ้นอยู่กับการรู้ทั้งระดับมลพิษทางอากาศโดยรวมและองค์ประกอบทางเคมีของมลพิษ ดังนั้นแนวทางการตรวจสอบคุณภาพอากาศจึงต้องมีการจัดการอย่างเป็นระบบ [13] และจำเป็นต้องขยายเครือข่ายการตรวจสอบให้ครบข้อกำหนดเบื้องต้นขั้นพื้นฐานสำหรับการปรับปรุงคุณภาพอากาศ ตัวอย่างเช่นเครือข่าย CITI-sense ที่ได้รับทุนสนับสนุนจากสหภาพยุโรป และการตรวจสอบที่นำโดยพลเมืองรวมถึงการสร้างเครือข่ายระดับประเทศในการติดตาม PM2.5 ของรัฐบาลจีน และในหลายพื้นที่ทั่วโลกสามารถติดตามตรวจสอบสภาวะมลพิษอากาศได้แบบเรียลไทม์ผ่านแอปพลิเคชันรวมถึงประเทศไทย ดังนั้นในการเฝ้าติดตามเพื่อปรับปรุงคุณภาพอากาศจึงมีความเชื่อมโยงผสมผสานกันกับเทคโนโลยีที่สามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้ [14]
ตัวอย่างการปรับปรุงคุณภาพอากาศ : กรณีศึกษาของเมือง
ในส่วนนี้ผู้เขียนขอยกตัวอย่างการริเริ่มนโยบายของ 3 เมืองที่มีประสิทธิภาพในการจัดการคุณภาพอากาศระดับต้นๆของโลก ได้แก่ โฮโนลูลู (ฮาวาย) ทาลลินน์ (เอสโตเนีย) และเอดินบะระ (สกอตแลนด์), เนื่องจาก 3 เมืองนี้เป็นเมืองที่มีการจัดการ PM2.5 ได้ดีตามฐานข้อมูลคุณภาพอากาศทั่วโลกขององค์การอนามัยโลก (WHO) ซึ่งมุ่งเน้นไปที่การริเริ่มนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการปล่อยมลพิษจากการขนส่งทางถนน โดยเริ่มที่กฎหมายและมาตรการต่างๆในการกำกับดูแลและสิ่งจูงใจทางการเงิน เพื่อให้ครอบคลุมเป้าหมายการลดมลพิษทางอากาศอย่างมีประสิทธิภาพและเพื่อให้ภาพรวมของความคิดริเริ่มที่ใช้โดยทั่วไปในเมืองสามารถเพิ่มคุณภาพอากาศที่ดีขึ้นได้
• โฮโนลูลู
โฮโนลูลูเป็นเมืองหลวงของรัฐฮาวายของสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นเครือเกาะในแปซิฟิกกลาง ในฐานะที่เป็นหนึ่งรัฐในสหรัฐอเมริกา กฎหมายที่ครอบคลุมซึ่งควบคุมคุณภาพอากาศในเมืองคือพระราชบัญญัติ Clean Air ของรัฐบาลกลางสหรัฐฯ โฮโนลูลูมีประชากรประมาณ 350,395 คน เมืองนี้มีความเข้มข้นของ PM10 เฉลี่ยต่อปีที่ 6 µg m-3 และความเข้มข้นของ PM2.5 ที่ 3 µg m-3 [15] สิ่งที่น่าสนใจคือ โฮโนลูลูมีกฎระเบียบค่อนข้างน้อยที่ห้ามไม่ให้มีกิจกรรมก่อมลพิษ ในเมืองไม่มีเขตการปล่อยมลพิษต่ำหรือเป็นศูนย์ และไม่มีการห้ามรถยนต์ดีเซลและเบนซิน [16] แต่อย่างไรก็ตามฮาวายก็มีการจำกัดความเร็วเมื่อเทียบกับรัฐอื่นๆ ในสหรัฐอเมริกาและประเทศในยุโรปซึ่งมีข้อกำหนดความเร็วประมาณ 25 ไมล์/ชั่วโมง ในเขตที่อยู่อาศัย 45 ไมล์/ชั่วโมง บนถนนสายหลักใจกลางโฮโนลูลู และ 55 ไมล์/ชั่วโมง บนทางหลวงพิเศษ [17] และนอกจากนี้ทางรัฐยังเสนอทางเลือกที่เป็นไปได้สำหรับการให้ประชาชนลดการใช้รถยนต์ส่วนตัว เช่น ขนส่งสาธารณะที่ดีและการจัดเตรียมช่องทางการปั่นจักรยาน ซึ่งเป็นกุญแจสำคัญในการส่งเสริมพฤติกรรมที่ก่อให้เกิดมลพิษน้อยลง โฮโนลูลูมีเครือข่ายขนส่งสาธารณะที่กว้างขวางโดยมีรถโดยสารประจำทาง 104 เส้นทางทั่วเมือง นอกจากนี้ครัวเรือนที่ระบุว่ามีรายได้ต่ำมากมีสิทธิ์ได้รับบัตรโดยสารประเภทอุดหนุน และมีบริการขนส่งสำหรับคนพิการโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย โดยเกาะโออาฮู ซึ่งโฮโนลูลูตั้งอยู่ มีเส้นทางจักรยานยาวถึง 147 ไมล์ [18] รวมถึงฮาวายมีอัตราภาษีน้ำมันสูงสุดแห่งหนึ่งในสหรัฐฯ ดังนั้นฮาวายจึงสนับสนุนการซื้อรถยนต์ไฟฟ้าโดยเสนอเครดิตภาษีของรัฐบาลกลางสูงถึง 7,500 เหรียญสหรัฐ นโยบายและการสนับสนุนจากทางภาครัฐเหล่านี้ส่งผลให้โฮโนลูลูมีคุณภาพอากาศในทิศทางบวก
• ทาลลินน์
ทาลลินน์เป็นเมืองหลวงของเอสโตเนียและมีประชากรประมาณ 450,531 คน มีค่าความเข้มข้นของ PM10 เฉลี่ยต่อปี 12 µg m-3 และ 5 µg m-3 สำหรับ PM2.5 เนื่องด้วยเอสโตเนียเป็นประเทศสมาชิกในสหภาพยุโรปด้วยเหตุนี้จึงอยู่ภายใต้กฎหมายว่าด้วยคุณภาพอากาศของสหภาพยุโรป และสิ่งที่น่าสนใจของเมืองนี้คือไม่มีเขตการปล่อยมลพิษต่ำหรือเป็นศูนย์และไม่มีการห้ามรถยนต์ดีเซลหรือเบนซินเข้าในเขตเมือง แต่มีการจำกัดความเร็วไว้ที่ 31 ไมล์/ชั่วโมง ในพื้นที่ก่อสร้าง และ 56-68 ไมล์/ชั่วโมง บนทางหลวงพิเศษ [19] ในปี 2013 ระบบขนส่งสาธารณะในทาลลินน์เปิดให้ใช้บริการฟรี หลังจากการลงประชามติซึ่งประชาชนลงมติเห็นชอบกับข้อเสนอนี้ และผู้อยู่อาศัยในทาลลินน์ที่ได้ “กรีนการ์ด” ก็ได้รับอนุญาตให้เข้าถึงเครือข่ายรถบัส รถราง และรถไฟของเมืองได้ฟรีเช่นกัน [20] หนึ่งปีหลังจากเริ่มโครงการมีการใช้งานระบบขนส่งสาธารณะเพิ่มขึ้นถึง 14% ซึ่งหมายความว่า โครงการบรรลุเป้าหมายในการเพิ่มการใช้ระบบขนส่งสาธารณะ และตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2018 เป็นต้นมา ทุกมณฑลในเอสโตเนียเพิ่มทางเลือกในการใช้ระบบขนส่งสาธารณะฟรี ให้แก่ประชาชนโดยได้รับความช่วยเหลือจากเงินทุนเพิ่มเติมจากรัฐบาลแห่งชาติ [21] ทาลลินน์ไม่ใช่เขตเทศบาลเพียงแห่งเดียวที่สร้างรูปแบบการขนส่งสาธารณะฟรี เนื่องจากมีโครงการที่คล้ายคลึงกันในเมืองต่างๆ ทั่วโลกที่ประสบความสำเร็จแตกต่างกันไป [22] เช่น รัฐบาลเยอรมนีได้ประกาศแผนทดลองใช้บริการขนส่งสาธารณะฟรีใน 5 เมืองหลักในปี 2018 เพื่อลดระดับมลพิษให้เท่ากับมาตรฐานของสหภาพยุโรป นอกจากนี้ทาลลินน์ยังมีเครือข่ายเส้นทางจักรยานที่ค่อนข้างกว้างขวาง แต่สัดส่วนในการหันมาใช้จักยานยังมีอัตราที่ต่ำมาก (ร้อยละหนึ่ง) [23] เนื่องจากสภาพอากาศที่ไม่เอื้ออำนวยอาจเป็นปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลต่อการตัดสินใจปั่นจักรยานของประชากรในพื้นที่
• เอดินบะระ
ในฐานะเมืองหลวงของสกอตแลนด์ เอดินบะระอยู่ภายใต้ข้อบังคับคุณภาพอากาศของสหภาพยุโรป แม้จะมีค่าความเข้มข้นรายปีของ PM10 เฉลี่ย 9 µg m-3 และ 6 µg m-35 [24] แต่เอดินบะระยังได้รับความเดือดร้อนจากระดับ NO2 ที่สูงโดยมีพื้นที่การจัดการคุณภาพอากาศที่เกี่ยวข้องกับ NO2 5 แห่งซึ่งปัจจุบันกำลังดำเนินการอยู่ โดยเอดินบะระมีประชากรประมาณ 512,150 คน โดยปัจจุบันรัฐบาลสก็อตแลนด์ได้ประกาศแผนการเพิ่มเขตการปล่อยมลพิษต่ำในเอดินบะระ กลาสโกว์ อเบอร์ดีน และดันดี [25] ซึ่งนโยบายนี้จะช่วยเสริมความมุ่งมั่นของรัฐบาลในการยุติการขายรถยนต์ดีเซลและเบนซินใหม่ภายในปี 2032 [26] และนอกจากนี้ยังมีการใช้มาตรการจัดการความเร็วโดยเริ่มใช้ขีดจำกัดความเร็ว 20 ไมล์/ชั่วโมง ในช่วงต่างๆตั้งแต่ปี 2015 สำหรับถนนที่อยู่อาศัย ใจกลางแหล่งชอปปิ้ง และใจกลางเมือง [27] ทั้งนี้ระบบขนส่งสาธารณะที่ดีของเมืองและมีเครือข่ายรถประจำทางให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง [28] ทำให้ประชาชนหันมาใช้บริการขนส่งสาธารณะมากขึ้น [29] และเมืองนี้ยังมีเครือข่ายเส้นทางจักรยานที่ข้างกว้างขวางและเมื่อไม่นานมานี้รัฐได้มีการจัดสรรเงินทุนจำนวน 12 ล้านปอนด์สำหรับการขยายเส้นทางรถจักรยาน [30] รวมถึงนโยบายทางด้านการเงินที่ บริษัท Transport Scotland ได้เปิดตัวโครงการสินเชื่อปลอดดอกเบี้ยสำหรับการซื้อรถยนต์ไฟฟ้า มอเตอร์ไซค์หรือสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้า ถึงแม้ว่าจะมีประชาชนสนใจสมัครเข้าร่วมโครงการน้อยมากในช่วง 2-3 ปีแรก แต่อย่างไรก็ตามความสนใจของประชาชนก็เพิ่มขึ้นตามลำดับเนื่องจากนโยบายภาษีน้ำมันเชื้อเพลิงที่เพิ่มขึ้น ดังนั้นจึงส่งผลให้เอดินบะระเป็นหนึ่งในเมืองที่มีคุณภาพอากาศในทิศทางบวก
ดังที่ผู้เขียนได้กล่าวมาทั้งหมดนี้ “เราจะจัดการคุณภาพอากาศอย่างไรให้ได้ผล”เมื่อหันกลับมามองการจัดการคุณภาพอากาศของประเทศไทย การตรวจสอบมลพิษทางอากาศให้ข้อมูลได้แค่พื้นฐาน แต่ถ้าเป้าหมายคือการปรับปรุงคุณภาพอากาศและลดการสัมผัสมลพิษอากาศของประชาชน ก็ควรค่าแก่การสะท้อนว่าเพียงแค่ "การเพิ่มการตรวจสอบ" หรือ "การปรับปรุงเทคโนโลยี" จะไม่บรรลุเป้านี้แน่นอน เนื่องจากมลพิษทางอากาศไม่ใช่ปัญหาง่ายๆที่จะสามารถแก้ไขได้ในช่วงระยะเวลาสั้นๆ ดังนั้นเราจึงไม่สามารถคาดหวังวิธีแก้ปัญหาง่ายๆได้ด้วยการแก้ไขทางเทคโนโลยีเพียงวิธีเดียว โดยรวมแล้วมีเส้นทางสู่ความสำเร็จที่ชัดเจน แต่ในท้ายที่สุดธรรมชาติและขอบเขตของความสำเร็จใดๆ ที่เกิดขึ้นจะขึ้นอยู่กับเจตจำนงและการขับเคลื่อนในเชิงนโยบาย เนื่องจากการตัดสินใจเชิงนโยบายในอดีตมีส่วนทำให้เกิดความรุนแรงและขนาดของการปล่อยมลพิษจากมนุษย์ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของคุณภาพอากาศที่ไม่ดีในปัจจุบัน ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญจริงๆ จำเป็นต้องมีการเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมของเราไม่ว่าจะอยู่ภายใต้นโยบายหรือไม่ก็ตาม และอีกส่วนหนึ่งคือการรับรู้และยอมรับว่ามลพิษทางอากาศที่เป็นอันตรายส่วนใหญ่เกิดจากการกระทำของมนุษย์ ในฐานะปัจเจกบุคคลและในฐานะชุมชน การกระทำที่เริ่มต้นในวันนี้อาจเป็นเพียงการตระหนักว่าการเปลี่ยนแปลงกิจกรรมของเราเพียงเล็กน้อย เช่น การเดิน ขี่จักรยาน และการใช้ระบบขนส่งสาธารณะแทนรถยนต์ส่วนบุคคลสามารถมีส่วนร่วมในการช่วยลดมลภาวะทางอากาศให้ดีขึ้นได้
อ้างอิง
[1] Yu, L.; Rong, L.L.; Yang, S.; Zhi, J.Z. The role of environmental tax in alleviating the impact of environmental pollution on residents’ happiness in China. Int. J. Environ. Res. Public Health 2019, 16, 4574.
[2] Li, Y.Y.; Huang, S.; Yin, C.X.; Sun, G.H.; Ge, C. Construction and countermeasure discussion on government performance evaluation model of air pollution control: A case study from Beijing-Tianjin-Hebei region. J. Clean. Prod. 2020, 254, 120072.
[3] Zhai, X.Q.; An, Y.F. Analyzing influencing factors of green transformation in China’s manufacturing industry under environmental regulation: A structural equation model. J. Clean. Prod. 2020, 251, 119760.
[4] Lin, B.Q.; Zhu, J.P. The role of renewable energy technological innovation on climate change: Empirical evidence from China. Sci. Total Environ. 2019, 659, 1505–1512.
[5] Tan, R.P.; Tang, D.; Lin, B.Q. Policy impact of new energy vehicles promotion on air quality in Chinese cities. Energy Policy 2018, 118, 33–40.
[6] Yang, T.; Xing, C.; Li, X.Y. Evaluation and analysis of new-energy vehicle industry policies in the context of technical innovation in China. J. Clean. Prod. 2021, 281, 125126.
[7] Zhang, L.H.; Wang, L.W.; Chai, J.X. Influence of new energy vehicle subsidy policy on emission reduction of atmospheric pollutants: A case study of Beijing, China. J. Clean. Prod. 2020, 275, 124069.
[8] Overview on Tax Incentives for Electric Vehicles in the EU. Available online: https://www.acea.be/uploads/publications/EV_incentives_overview_2018.pdf
[9] Slovic, A.; Ribiero, H. Policy instruments surrounding urban air quality: The cases of São Paulo, New York City and Paris. Environ. Sci. Policy 2018, 81, 1–9.
[10] Transport Statistics Great Britain 2017. Available online: https://assets.publishing.service.gov.uk/government/uploads/system/uploads/attachment_data/file/664323/tsgb-2017-print-ready-version.pdf
[11] 6 New Technologies Which Could Improve Urban Air Quality. Available online: https://policyexchange.org.uk/6-new-technologies-which-could-improve-urban-air-quality/
[12] A Layer of Sunscreen on the Street Might Fight Smog. Available online: https://theconversation.com/a-layerof-sunscreen-on-the-street-might-fight-smog-16545
[13] Actions on Air Quality: Policies and Programmes for Improving Air Quality around theWorld. Available online: http://ccacoalition.org/sites/default/files/resources/AQ_GlobalReport_Summary.pdf
[14] Dutta, J.; Chowdhury, C.; Roy, S.; Middya, A.; Gazi, F. Towards Smart City: Sensing Air Quality in City based on Opportunistic Crown-Sensing. In Proceedings of the 18th International Conference on Distributed Computing and Networking, Hyderabad, India, 5–7 January 2017.
[15] WHO Global Ambient Air Quality Database. Available online: http://www.who.int/airpollution/data/cities/en/
[16] All Four Hawaii Counties Formally Join Drive Electric Hawaii. Hawaiian Electric. Available online: https://www.hawaiianelectric.com/all-four-hawaii-counties-formally-join-drive-electric-hawaii
[17] Office of Transportation and Air Quality. Compilation of State, County, and Local Anti-Idling Regulations. Available online: https://www.epa.gov/sites/production/files/documents/CompilationofStateIdlingRegulations.pdf
[18] Department of Transportation Services. Public Transit. Available online: http://www.honolulu.gov/dts/aboutus/publictransit.html
[19] Republic of Estonia Road Administration. Speed Limits in Estonia. Available online: https://www.mnt.ee/eng/speed-limits-estonia
[20] The Tallin Experiment: What Happens When a City Makes Public Transport Free? Available online: https://www.theguardian.com/cities/2016/oct/11/tallinn-experiment-estonia-public-transport-free-cities
[21] World Economic Forum. Estonia Is Making Public Transport Free. Available online: https://www.weforum.org/agenda/2018/06/estonia-is-making-public-transport-free/
[22] National Center for Transportation Research. Advantages and Disadvantages of Fare-Free Transit Policy. Available online: http://www.fdot.gov/research/Completed_Proj/Summary_PTO/FDOT_BC137_38_FF_rpt.pdf
[23] Cats, O.; Susilo, Y.; Reimal, T. The prospects of fare-free public transport: Evidence from Tallinn. Transportation 2016, 44, 1083–1104.
[24] Deweerdt, S. The urban downshift. Nature 2016, 531, S52–S53.
[25] Cleaner Air for Scotland (CAFS) Strategy. Available online: http://www.scottishairquality.co.uk/lez/
[26] Scotland to ‘Phase out’ New Petrol and Diesel Cars by 2032. Available online: https://www.independent.co.uk/news/uk/politics/scotland-petrol-diesel-cars-phase-out-ban-2032-nicolasturgeon-snp-environment-air-pollution-a7930781.html
[27] About 20 mph for Edinburgh. Available online: http://www.edinburgh.gov.uk/info/20243/20mph_for_edinburgh/1024/about_20mph_for_edinburgh/1
[28] Our Trams. Available online: http://edinburghtrams.com/about-trams/our-trams
[29] The City of Edinburgh Council. Public Transport. Available online: http://edinburgh.cdmf.info/public/bus/list.htm
[30] £12m Dedicated Cycling Network to Be Installed in Edinburgh.Available online: https://www.edinburghnews.scotsman.com/news/12m-dedicated-cycling-network-to-be-installed-in-edinburgh-1-4563673