xs
xsm
sm
md
lg

กลุ่ม ปตท.เตรียมพร้อมสู่องค์กร Net Zero ชูลงทุนพลังงานอนาคต-ธุรกิจคาร์บอนต่ำ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



การประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ครั้งที่ 26 (COP26) ณ เมืองกลาสโกว์ ประเทศสกอตแลนด์ ในเครือสหราชอาณาจักร พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้แสดงเจตนารมณ์ความมุ่งมั่นร่วมมือกับประชาคมโลกเพื่อแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก โดยประเทศไทยจะยกระดับการแก้ไขปัญหาอย่างเต็มที่ เพื่อให้ไทยบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี ค.ศ. 2050 และบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ได้ในปี ค.ศ. 2065 

บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) และบริษัทในเครือ เป็นองค์กรที่เริ่มวางกรอบการดำเนินธุรกิจเพื่อให้สอดรับการเข้าสู่สังคมคาร์บอนต่ำ หลังกระแสเรียกร้องในเรื่องนี้ทวีความเข้มข้น และกลายเป็นเครื่องมือในการกีดกันทางการค้าในอนาคต โดย ปตท.จะเสนอคณะกรรมการบริษัทเพื่ออนุมัติแผนการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในเดือนธันวาคมนี้ เพื่อให้เป็นกรอบในการดำเนินการไปในทิศทางเดียวกันทั้งเครือ ปตท.


นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ขณะนี้โลกให้ความสำคัญด้านสิ่งแวดล้อมมากขึ้น มีการพัฒนานวัตกรรมเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว ในอนาคตการใช้พลังงานก็มุ่งไปสู่พลังงานสีเขียวและไฟฟ้ามากขึ้น สิ่งเหล่านี้ได้ส่งผลต่อการทำธุรกิจทั่วโลกรวมถึงองค์กร ปตท.ด้วย

ดังนั้น ปตท.ได้ปรับวิสัยทัศน์ใหม่เป็น “Powering life with Future energy and Beyond” หรือ “ขับเคลื่อนทุกชีวิต ด้วยพลังงานแห่งอนาคตและเติบโตในธุรกิจใหม่ที่ไกลกว่าพลังงาน” เพื่อให้สอดรับเทรนด์พลังงานโลกที่จะเปลี่ยนแปลงไปสู่ “Go Green” และ “Go Electric” มากขึ้น พร้อมทั้งกำหนดกลยุทธ์ PTT Group Clean and Green Strategy ในการควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการดําเนินธุรกิจ โดยมีเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปี 2030 ลงร้อยละ 15 จากปริมาณการปล่อยคาร์บอนปี ค.ศ. 2020 ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างทบทวนเป้าหมายสำหรับการมุ่งสู่ Net Zero ของกลุ่ม ปตท.

สำหรับแนวทางการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพื่อให้บรรลุเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจก เช่น Carbon Capture Storage and Utilization (CCSU), การซื้อขายคาร์บอนเครดิต, การปลูกป่า, การใช้พลังงานหมุนเวียนในกระบวนการผลิต, การใช้พลังงานไฮโดรเจน การทดแทนก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยด้วย LNG และการปรับเปลี่ยนการดำเนินธุรกิจ เป็นต้น

นายอรรถพลกล่าวว่า แม้ว่าแนวโน้มการใช้พลังงานจากฟอสซิลอย่างถ่านหินและน้ำมันจะลดลง โลกหันไปพึ่งพลังงานทดแทนมากขึ้น แต่ก๊าซฯ ถือเป็นพลังงานฟอสซิลที่สะอาดที่ยังมีการเติบโตในอนาคต เพราะถูกนำมาใช้ในช่วงเปลี่ยนผ่านก่อนเข้าสู่พลังงานทดแทนเต็มรูปแบบ ขณะเดียวกัน พลังงานไฟฟ้านับวันมีการใช้มากขึ้นเพราะมีความสะดวกและสะอาด โดยตัวผลักดันการใช้ไฟฟ้าคือยานยนต์ไฟฟ้า (EV) และเทคโนโลยีแบตเตอรี่

ดังนั้น กลุ่ม ปตท.ได้ตั้งบลงทุน 5 ปีนี้ (2564-68) อยู่ที่ 8.65 แสนล้านบาท เป็นการลงทุนของ ปตท.เอง 1.17 แสนล้านบาท โดยในปี 2564 กลุ่ม ปตท.จะใช้เงินลงทุน 4.3 แสนล้านบาท แบ่งเป็นการลงทุนเฉพาะ ปตท. 6.75 หมื่นล้านบาทเพื่อสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน โดยปรับสัดส่วนการลงทุนภายใต้กรอบวิสัยทัศน์ใหม่และสอดคล้องกับทิศทางในอนาคต มุ่งสู่สังคมคาร์บอนต่ำ

ปตท.รุกสู่พลังงานในอนาคต (Future Energy) โดยปรับพอร์ตเป้าหมายกำลังการผลิตพลังงานหมุนเวียนเพิ่มขึ้นจาก 8,000 เมกะวัตต์เป็น 12,000 เมกะวัตต์ภายในปี 2573 โดยมี บมจ.โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ (GPSC) เป็นหัวหอกในการลงทุน ซึ่งได้มีการลงทุนพลังงานทดแทนในประเทศอินเดียและไต้หวัน จนปัจจุบันมีการลงทุนพลังงานทดแทนรวมทั้งสิ้น 2,000 เมกะวัตต์ รวมไปถึงการศึกษาพลังงานรูปแบบใหม่คือไฮโดรเจน


ขณะเดียวกัน ปตท.เตรียมพร้อมรองรับกระแสยานยนต์ไฟฟ้า โดยบริษัทได้จับมือกับบริษัท หงไห่ พริซิชั่น อินดัสทรี จำกัด หรือ Foxconn จากไต้หวัน ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์รายใหญ่ของโลก เพื่อร่วมลงทุนพัฒนาแพลตฟอร์มผลิตยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ในไทย คาดว่าจะใช้เงินราว 1,000- 2,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งเป็นโมเดลการทำธุรกิจ โดย ปตท.จะไม่ได้ผลิตรถ EV ภายใต้แบรนด์บริษัทร่วมทุน แต่จะมุ่งเน้นการออกแบบ รับจ้างผลิตรถ EV ให้กับค่ายรถอื่นๆ แทน คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ในปี 2565

ขณะเดียวกันก็เร่งติดตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้าสำหรับ EV ทั้งในและนอกสถานีบริการน้ำมัน PTT Station รวมทั้งดำเนินธุรกิจ EV Service Platform ชื่อ “EVme” ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มให้บริการเช่ารถ EV หลากหลายแบรนด์ สำหรับผู้สนใจที่ต้องการลองขับก่อนตัดสินใจซื้อจริง นับเป็นการกระตุ้นความต้องการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศให้เกิดเร็วยิ่งขึ้น

ส่วนธุรกิจใหม่ ปตท.ก็เดินหน้าในการรุกธุรกิจวิทยาศาสตร์เพื่อชีวิต (Life science) ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจยา อาหารเสริม (Nutrition) และอุปกรณ์การแพทย์ ดึงความเชี่ยวชาญจากต่างประเทศ จับมือพันธมิตรทั้งในไทยและต่างชาติ

ธุรกิจ Logistic & Infrastructure ก็เป็นธุรกิจที่ ปตท.ให้ความสนใจ โดยได้ร่วมกับพันธมิตรพัฒนาโครงการท่าเทียบเรือมาบตาพุด เฟส 3 และโครงการท่าเทียบเรือแหลมฉบัง เฟส 3 ล่าสุด ปตท.ยังศึกษาที่จะเข้าไปร่วมลงทุนโครงการรถไฟทางคู่ด้วย

รวมถึงการลงทุนธุรกิจที่มีศักยภาพตามทิศทางโลก เช่น มุ่งสู่กลุ่มผลิตภัณฑ์มูลค่าสูงในธุรกิจปิโตรเคมีและการกลั่น ธุรกิจ Mobility & Lifestyle มีอาร์โอเร่งดำเนินการขยายการลงทุนอยู่ และธุรกิจ AI Robotics Digitalization ทาง ปตท.สผ.ได้ตั้งบริษัทย่อย คือบริษัท เอไอ แอนด์ โรโบติกส์ เวนเจอร์ส จำกัด (ARV) เพื่อพัฒนาด้าน AI และหุ่นยนต์ เนื่องจากเป็นธุรกิจที่จะมีส่วนสำคัญที่จะขับเคลื่อนให้ประเทศไทยโตไปอีกขั้น โดย ปตท.ตั้งเป้าหมายว่าจะมีกำไรจากธุรกิจพลังงานอนาคตและธุรกิจใหม่มากกว่า 30% ในปี 2573


ปตท.สผ.เริ่มโครงการ CCUS แล้ว

บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ PTTEP (ปตท.สผ.) ก็ต้องเผชิญความท้าทาย โดยเฉพาะความคาดหวังจากโลก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสิ่งแวดล้อม การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก กระแสการเปลี่ยนผ่านพลังงานรูปแบบเดิมที่ใช้พลังงานฟอสซิลไปสู่พลังงานสะอาดมากขึ้น โดยธุรกิจน้ำมันและก๊าซถูกจับตามองว่าเป็นภาคส่วนที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุด

นายมนตรี ลาวัลย์ชัยกุล ผู้จัดการใหญ่ เป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัทมีเป้าหมายสร้างความเข้มแข็งธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียม (E&P) เพื่อความยั่งยืนด้านพลังงาน ก้าวข้ามความท้าทายในยุคดิจิทัลและการเปลี่ยนแปลงรูปแบบพลังงาน โดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) โดยกำหนดเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากกิจกรรมการดำเนินงานของบริษัทให้ได้อย่างน้อยร้อยละ 25 ภายในปี 2573 เมื่อเทียบกับปีฐาน 2555 โดยสิ้นไตรมาส 3/2564 ปตท.สผ.สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ร้อยละ 16.6

นอกจากนี้ บริษัทจะเดินหน้าโครงการ Carbon Capture Utilization and Storage (CCUS) หรือการดักจับและจัดเก็บคาร์บอนเพื่อลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก เป็นการวางรากฐานกำหนดเป้าหมาย Net Zero Carbon Emission โดย ปตท.สผ.ได้เริ่มทดลองทำการดักจับและจัดเก็บคาร์บอนอัดกลับไปในชั้นที่แหล่งอาทิตย์แล้ว ศึกษาการใช้ประโยชน์จากคาร์บอน ตลอดจนวางบทบาทเป็น Cautious Diversified Player ในโครงการ Gas to Power โดยอยู่ระหว่างดำเนินโครงการในเมียนมา รวมทั้งสนใจธุรกิจพลังงานหมุนเวียน และพลังงานรูปแบบใหม่ อาทิ ไฮโดรเจน พร้อมตั้งเป้าเป็นผู้นำทางด้านเทคโนโลยี นวัตกรรม โดยมีบริษัทลูกคือ ARV ดำเนินการร่วมกับพันธมิตรในการพัฒนาด้าน AI &Robotic


GPSC เพิ่มสัดส่วนพลังงานสะอาดกว่า 50% ปี 73

นายวรวัฒน์ พิทยศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC กล่าวว่า บริษัทได้ปรับกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับแนวทางการเปลี่ยนแปลงทิศทางพลังงานโลกและแผนพลังงานชาติ (National Energy Plan) ของไทยที่มุ่งไปสู่พลังงานสะอาด โดยผ่าน 4 กลยุทธ์หลัก หรือ 4S ประกอบด้วย S1: Strengthen and Expand the Core S2: Scale-up Green Energy S3: S-Curve & Batteries และ S4: Shift to Customer-centric Solutions ซึ่งจะช่วยขับเคลื่อนให้ GPSC ก้าวสู่การเป็นบริษัทชั้นนำด้านนวัตกรรมพลังงานเพื่อความยั่งยืน 1 ใน 3 ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ทั้งนี้ บริษัทมีเป้าหมายเพิ่มสัดส่วนพลังงานสะอาดในพอร์ตการลงทุนให้มีสัดส่วนมากกว่า 50% จากกำลังการผลิตรวมภายในปี 2573 พร้อมทั้งก้าวสู่นวัตกรรมระบบกักเก็บพลังงาน (ESS) ด้วยเทคโนโลยี Semi Solid เพื่อต่อยอดสู่ธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้า (EV) และธุรกิจที่เกี่ยวข้อง โดยตั้งโรงงานผลิตแบตเตอรี่ Semi Solid ใช้เทคโนโลยี 24M แห่งแรกในอาเซียน ด้วยกำลังการผลิตเริ่มต้น 30 MWh (เมกะวัตต์ชั่วโมง) ต่อปี และจะขยายเป็น 10 GWh (กิกะวัตต์) ต่อปีภายใน 10 ปีข้างหน้า

ปัจจุบันบริษัทฯ มีกำลังการผลิตไฟฟ้าตามสัดส่วนการถือหุ้นรวม 7,102 เมกะวัตต์ แบ่งเป็นการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดในสัดส่วน 37% ก๊าซธรรมชาติ 48% ถ่านหิน 11% และอื่น ๆ 4% เมื่อเร็วๆ นี้ บริษัทฯ ได้ลงนามความร่วมมือกับ บริษัท ผลิตไฟฟ้าและพลังงานร่วม จำกัด (CHPP) บริษัทย่อยที่บริษัทถือหุ้น 100% และพันธมิตร เพื่อสนับสนุนโครงการสนับสนุนการลงทุนติดตั้งพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา (โซลาร์รูฟท็อป) และการขึ้นทะเบียนคาร์บอนเครดิตภายใต้โครงการ Solar Orchestra ที่จะสนับสนุนให้ผู้ประกอบการเข้ามาลงทุนโซลาร์รูฟท็อปและขึ้นทะเบียนโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจหรือโครงการ T-VER และการรับรองปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ลดได้ หรือ “คาร์บอนเครดิต” โดยตั้งเป้าหมายการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปกว่า 100 เมกะวัตต์ภายในสิ้นปี 2565


 PTTGC ทุ่ม 5 พันล้านดอลลาร์สู่ NET Zero

ด้านบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) (PTTGC) ก็ประกาศแผนงานสู่เป้าหมาย “Together To Net Zero” เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิให้เป็นศูนย์ในปี 2593 โดยไม่กระทบต่อการเติบโตทางธุรกิจในอนาคต โดย PTTGC ได้ตั้งงบลงทุนใน 30 ปีข้างหน้า (2564-2593) ประมาณ 22,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 726,000 ล้านบาท ใช้ในการลงทุนปรับโครงสร้างธุรกิจ 17,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 561,000 ล้านบาท เพื่อปรับพอร์ตธุรกิจไปสู่ธุรกิจคาร์บอนต่ำ รวมไปถึงการควบรวมหรือเข้าซื้อกิจการ(M&A) ที่เน้นธุรกิจที่มีการปลดปล่อยคาร์บอนต่ำด้วย เช่นการซื้อกิจการของ Allnex และโครงการผลิตพลาสติกชีวภาพชนิด PLA ในไทยของบริษัทร่วมทุน NatureWorks

ส่วนอีก 5,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 165,000 ล้านบาท ใช้ลงทุนเพื่อให้บรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในปี พ.ศ. 2593 ในเบื้องต้นจะลงทุนราว 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐภายในปี 2573 เพื่อลดการปล่อยคาร์บอนลง 20%

นายคงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) (PTTGC) กล่าวว่า บริษัทวางเป้าหมายระยะปานกลางในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลดลง 20% ภายในปี 2573 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2593 โดยใช้กลยุทธ์ผ่าน 3 เสาหลัก คือ Efficiency-driven มีการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาเพื่อลดการใช้ทรัพยากร และลดการใช้พลังงาน คาดช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนได้ 20%

Portfolio-driven ปรับพอร์ตโฟลิโอธุรกิจและผลิตภัณฑ์ไปสู่คาร์บอนต่ำ โดยเน้นลงทุนในธุรกิจเคมีภัณฑ์ชนิดพิเศษมูลค่าสูง ผลิตภัณฑ์ชีวภาพ และผลิตภัณฑ์ที่ใช้วัสดุหมุนเวียน ช่วยลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 25% และ Compensation-driven เป็นเสาหลักสุดท้ายของกรอบนโยบายการเปลี่ยนผ่านสู่ธุรกิจคาร์บอนต่ำ ด้วยการจัดหาและลงทุนในเทคโนโลยีใหม่ๆ ในการดักจับคาร์บอน ผ่านแนวทางต่างๆ ได้แก่ Corporate Venture Capitals การสร้างพันธมิตร และการร่วมทุนทางธุรกิจ เพื่อให้เกิดกระบวนการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ คาดว่าจะลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 50%

ทั้งนี้ การบรรลุเป้าหมาย Net Zero จำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐในการปรับปรุงกฎระเบียบข้อกฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง และภาคเอกชนกำหนดเป้าหมายชัดเจนและเดินหน้าเพื่อให้บรรลุเป้าการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์อย่างจริงจัง ขณะที่ภาคสังคมและประชาชนที่ต้องร่วมมือกัน เพื่อส่งต่อโลกที่น่าอยู่ให้คนรุ่นต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น