ปตท.เดินหน้าสู่พลังงานแห่งอนาคตและธุรกิจใหม่ที่ไกลกว่าพลังงาน เร่งเครื่องลงทุนพลังงานทดแทนเพิ่มเป็น1.2หมื่นเมกะวัตต์และลุยธุรกิจใหม่ กลุ่มปตท.อัดงบลงทุน5ปีนี้ 8.65 แสนล้านบาท ลั่นต่อโครงการ “Restart Thailand”อีก 1ปี ว่าจ้างแรงงานและนักศึกษาจบใหม่รวม 2.5 หมื่นอัตรา กระตุ้นการฟื้นตัวเศรษฐกิจในปีหน้า
นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (PTT) กล่าวในงานสัมมนา “Boost Up Thailand 2022” ว่า แนวโน้มการใช้พลังงานจะเปลี่ยนแปลงไปสู่ “Go Green” และ “Go Electric” จากเดิมที่ใช้พลังงานฟอสซิลทั้งถ่านหินและน้ำมันไปสู่การใช้พลังงานทดแทนมากขึ้นในระยะยาว โดยมีการใช้ก๊าซฯที่เป็นพลังงานฟอสซิลที่สะอาดเป็นพลังงานที่ใช้ในช่วงเปลี่ยนผ่านก่อนไปสู่พลังงานทดแทนเต็มรูปแบบ และมีการใช้ไฟฟ้า (Go Electric )ที่มีความสะดวกและสะอาดเพิ่มมากขึ้น โดนตัวผลักดันการใช้ไฟฟ้าคือยานยนต์ไฟฟ้า(อีวี)และเทคโนโลยีแบตเตอรี่
ทำให้ปตท.ต้องปรับวิสัยทัศน์ขององค์กรใหม่เป็น “powering life with future energy and beyond” หรือ “ขับเคลื่อนทุกชีวิต ด้วยพลังงานแห่งอนาคตและเติบโตในธุรกิจใหม่ที่ไกลกว่าพลังงาน” พร้อมวางแผนกลยุทธ์เพื่อให้สอดคล้องกับเทรนด์พลังงานโลกที่เปลี่ยนแปลงไปและสอดรับกับนโยบายประเทศไทยที่ประกาศจุดยืนเป็น Net Zero ในปีค.ศ. 2065
ทั้งนี้ กลุ่มปตท.ได้ตั้งบลงทุน5ปีนี้(2564-68) อยู่ที่ 8.65 แสนล้านบาท เป็นการลงทุนปตท.เอง 1.17 แสนล้านบาท โดยในปี2564 กลุ่มปตท.จะใช้เงินลงทุน 4.3แสนล้านบาท แบ่งเป็นการลงทุนเฉพาะปตท. 6.75หมื่นล้านบาทเพื่อสร้างความมั่นคงด้านพลังงานและขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศไทย
นายอรรถพล กล่าวว่า กลุ่มปตท.ได้วางเป้าหมายการลงทุนธุรกิจพลังงานทดแทนอยู่ที่ 1.2 หมื่นเมกะวัตต์ในปี 2573 โดยมีบริษัทลูก คือ บมจ.โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ (GPSC)เป็นหัวหอกในการลงทุน โดยได้มีการลงทุนพลังงานทดแทนในประเทศอินเดียและไต้หวัน จนปัจจุบันมีการลงทุนพลังงานทดแทนรวมทั้งสิ้น 2พันเมกะวัตต์ ขณะเดียวกันก็ศึกษาโอกาสการลงทุนพลังงานทดแทนในไทยเพิ่มมากขึ้น รวมไปถึงการลงทุนระบบกักเก็บพลังงาน คือแบตเตอรี่ ซึ่งได้ตั้งโรงงานนำร่องผลิตหน่วยกักเก็บพลังงาน G-Cell แบตเตอรี่ชนิดกึ่งแข็ง แบบ LFP สูตร SemiSolid แห่งแรกในอาเซียน ใช้เทคโนโลยี 24M จากสหรัฐฯ ด้วยกำลังการผลิตเริ่มต้น 30 MWh รวมทั้งมีการเร่งติดตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้าสำหรับรถอีวีทั้งในสถานีบริการน้ำมันPTT Station ของโออาร์ และนอกปั๊มน้ำมันของบริษัทย่อย คือ อรุณพลัส รวมทั้งศึกษาพลังงานไฮโดรเจนด้วย
นอกจากนี้ปตท.ร่วมทุนฟ็อกซ์คอนน์ตั้งบริษัทร่วมทุนผลิตรถอีวีในพื้นที่อีอีซี โดยจะเป็นโรงงานรับจ้างผลิตรถอีวีด้วยบริการครบวงจร ทั้งการออกแบบ ผลิต EV ตลอดจนผลิตชิ้นส่วนสำคัญ เช่น Battery Platform Drivetrain หรือ Motor คาดใช้เงินลงทุน 1-2 พันล้านเหรียญสหรัฐรองรับการเปลี่ยนแปลงทิศทางพลังงานในอนาคต ขานรับนโยบายภาครัฐในการส่งเสริมอุตสาหกรรมเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้าสมัยใหม่
ส่วนธุรกิจใหม่ (Beyond)ปตท.มุ่งเน้นการลงทุนในธุรกิจ Life Science ที่ประกอบด้วยธุรกิจยา อุปกรณ์เครื่องมือทางการแพทย์ และอาหารเสริม ,ธุรกิจสินค้าที่มีมูลค่าสูง เป็นการต่อยอดจากปิโตรเคมี โดยจะมุ่งเน้นพลาสติกที่ต่อยอดการผลิตเป็นอุปกรณ์ทางการแพทย์ ชิ้นส่วนรถยนต์ ,ธุรกิจ Mobility &Lifestyle มีอาร์โอเร่งดำเนินการขยายการลงทุนอยู่
ธุรกิจ Logistic &Infrastructure ทางปตท.ได้มีการลงทุนลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานโดยร่วมกับพันธมิตรในการลงทุนท่าเทียบเรือมาบตาพุด เฟส 3และท่าเทียบเรือแหลมฉบัง เฟส 3 ขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาโอกาสเข้าไปลงทุนโครงการรถไฟทางคู่ด้วย ส่วนธุรกิจAI Robotics Digitalization ทางปตท.สผ.ได้ตั้งบริษัทย่อย คือ ARV เพื่อพัฒนาด้านAI และหุ่นยนต์ เนื่องจากเป็นธุรกิจที่จะมีส่วนสำคัญที่จะขับเคลื่อนให้ประเทศไทยโตไปอีกขั้น
นอกจากนี้ กลุ่มปตท.จะต่อโครงการ“Restart Thailand” จากเดิมสิ้นสุดในสิ้นปีนี้ โดยจะมีสัญญาจ้างต่อนักศึกษาจบใหม่อีก 1 ปี รวมถึงการจ้างงานแรงงานสำหรับโครงการต่างๆรวมแล้ว 2.5หมื่นอัตรา รวมทั้งการส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศ เพื่อมีส่วนร่วมในการBoost Up เศรษฐกิจประเทศไทย
ทั้งนี้ ในปี2564 เศรษฐกิจโลกคาดว่าจะฟื้นตัวเติบอยู่ที่ 5.9% และคาดการณ์ปี 2565 โตอยู่ที่ 5% ขณะที่ เศรษฐกิจไทยในปี 2563 ติดลบ 6% ส่วนปีนี้คาดว่าเติบโตอยู่ที่ 0.7 – 1% ส่วนปี2565 หวังว่าจะโตมากกว่านี้ ขณะที่ราคาน้ำมันยังมีความผันผวน ซึ่งปัจจุบันราคาน้ำมันได้ปรับตัวสูงขึ้นมากเนื่องจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจทั้งโลก และกลุ่มโอเปก พลัสรวมตัวกัน จำกัดโควตาการผลิตน้ำมันดิบ ส่งผลให้ราคาน้ำมันโลกปรับเพิ่ม
ส่วนการใช้น้ำมันในประเทศไทยนั้น พบว่าครึ่งปีแรกมีการใช้อยู่ในระดับทรงตัว ยกเว้น น้ำมันเครื่องบิน ที่ยังคงติดลบอยู่ เนื่องจากการบินยังไม่กลับมาปกติ สขณะที่การใช้ก๊าซฯเริ่มมีการฟื้นตัวสูงขึ้น โดยนำไปใช้ในการผลิตไฟฟ้า เติบโตขึ้นเกือบ 4% อุตสาหกรรมเติบโตขึ้น 7% รวมถึงปิโตรเคมีเติบโต 6% เป็นสัญญาณที่ดีว่าภาคการผลิตกลับมาแล้ว