xs
xsm
sm
md
lg

“สุริยะ” ปลื้มสัญญาณ ศก.ฟื้น MPI 9 เดือนแรกปีนี้โต 6.10% สศอ.ลุ้นปรับเป้าใหม่เดือน พ.ย.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“สุริยะ” ปลื้มสัญญาณเศรษฐกิจไทยเริ่มกระเตื้องหลังดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรม (MPI) เริ่มฟื้นตัวต่อเนื่อง 9 เดือนแรกปีนี้แตะ 97.01 โต 6.10% คาดเปิดประเทศ 1 พ.ย.มาตรการกระตุ้นศก.รัฐหนุนโตต่อเนื่อง สศอ.จ่อปรับเป้าเพิ่มเดือน พ.ย.นี้


นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) ได้รายงานดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนกันยายนอยู่ที่ระดับ 93.72 ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 1.28% แต่เพิ่มขึ้นจากเดือน ส.ค. 64 อยู่ที่ 7.49% ส่งผลให้ 9 เดือนแรก (ม.ค.-ก.ย. 64) MPI อยู่ที่ระดับ 97.01 ขยายตัว 6.10% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่อัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ระดับ 61.98% ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่อยู่ระดับ 63.44 % เพิ่มขึ้นจากเดือน ส.ค. ซึ่งอยู่ที่ 57.06% และมีสัญญาณว่า MPI จะทยอยฟื้นตัวมากขึ้นจากการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ที่เริ่มคลี่คลายจากการกระจายการฉีดวัคซีนเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ประกอบกับรัฐได้ทยอยคลายล็อกดาวน์ พร้อมกับออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและเยียวยาผลกระทบต่อเนื่อง และเตรียมเปิดประเทศเพื่อรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ 1 พ.ย.นี้จะช่วยให้เศรษฐกิจในประเทศมีแนวโน้มดีขึ้นในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ได้

“ปัจจัยต่างๆ เริ่มส่งสัญญาณบวกมากขึ้น ดังนั้น สศอ.จะมีการปรับประมาณการตัวเลข MPI ปี 2564 ใหม่อีกครั้งในเดือนพฤศจิกายนนี้ แต่ทั้งนี้ยังคงต้องจับตาราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น รวมถึงค่าเงินบาทที่มีความผันผวน รวมถึงปัญหาการขาดแคลนชิปและชิ้นส่วนอย่างใกล้ชิด” นายสุริยะกล่าว


นายทองชัย ชวลิตพิเชฐ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กล่าวว่า MPI ก.ย.ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 สะท้อนให้เห็นถึงการกลับมาฟื้นตัวของภาคการผลิตโดยเฉพาะจากการส่งออกของไทยที่ยังคงมีแนวโน้มขยายตัวได้ดี โดยจะขอติดตามสถานการณ์ต่างๆ อีกครั้งเพื่อปรับเป้าหมายตัวเลขประมาณการใหม่จากขณะนี้ ศศอ.ได้คาดการณ์ MPI ปี 2564 จะขยายตัว 3-4% และผลิตภัณฑ์มวลรวม (จีดีดี) ภาคอุตสาหกรรมขยายตัว 4-5%

“ปัจจัยบวกต่อ MPI มาจากการเติบโตของภาคการส่งออกที่มีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นจากการที่หลายประเทศเริ่มฟื้นตัวจากการฉีดวัคซีน อานิสงส์ของค่าเงินบาทที่อ่อนค่าที่ส่งผลดีต่อการส่งออก โดยเฉพาะสินค้าส่งออกที่ใช้วัตถุดิบในประเทศเป็นหลัก เช่น แป้งมันสำปะหลัง ผลิตภัณฑ์ยาง น้ำตาล อาหาร เสื้อผ้า ชิ้นส่วนยานยนต์ แต่ก็ยังต้องติดตามการขาดแคลนชิปและชิ้นส่วนรถยนต์บางรายการแม้ขณะนี้เริ่มมีทิศทางที่ดีขึ้น

ส่วนสถานการณ์น้ำท่วมที่เกิดขึ้นในหลายจังหวัดของประเทศไม่ส่งผลกระทบต่อการผลิตในภาคอุตสาหกรรมอย่างมีนัยสำคัญ แต่ทั้งนี้อาจส่งผลกระทบบ้างในด้านโลจิสติกส์ รวมถึงอุตสาหกรรมที่ต้องพึ่งพิงวัตถุดิบทางการเกษตรอาจจะได้รับผลกระทบบ้างในระยะถัดไป


กำลังโหลดความคิดเห็น