ปตท.สผ.เร่งจัดทำแผนการลงทุน 5 ปีใหม่ ตั้งเป้าปริมาณการขายปิโตรเลียมเพิ่มขึ้นจากปีนี้เฉลี่ย 4.17 แสนบาร์เรล/วัน จากโครงการเอราวัณและบงกช รวมโครงการใหม่ในต่างประเทศ ส่วนราคาก๊าซฯ ในปีหน้าปรับตัวสูงขึ้นตามทิศทางราคาน้ำมันปีนี้มาอยู่ที่ 5.5-6 เหรียญสหรัฐ/ล้านบีทียู และราคาน้ำมัน 70 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล
นายธนัตถ์ ธำรงศักดิ์สุวิทย์ ผู้จัดการแผนกนักลงทุนสัมพันธ์ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) (PTTEP) หรือ ปตท.สผ. เปิดเผยว่า เป้าหมายปริมาณการขายปิโตรเลียมในปี 2565 จะเติบโตค่อนข้างดี จากปีนี้มีปริมาณการขายเฉลี่ย 4.17 แสนบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ เนื่องจากรับรู้ปริมาณการขายปิโตรเลียมจากแหล่งเอราวัณ (G1) และบงกช (G2) ที่เข้ามาตามสัญญาแบ่งปันผลผลิต (PSC) และมีโครงการใหม่คือ แอลจีเรีย ฮาสสิ เบอร์ ราเคซ ที่เริ่มผลิตในไตรมาส 4 นี้ รวมทั้งโครงการในมาเลเซียและโครงการโอมานบล็อก 61 ที่จะรับรู้รายได้เต็มปี
จากราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นในปี 2564 มีผลทำให้แนวโน้มราคาก๊าซธรรมชาติของบริษัทในปี 2565 จะปรับเพิ่มขึ้น เนื่องจากสัญญาซื้อขายก๊าซฯ อิงราคาน้ำมันย้อนหลัง 6 เดือน แต่ราคาขายก๊าซฯ จากแหล่งเอราวัณ (G1) และแหล่งบงกช (G2) มีราคาต่ำกว่า ส่งผลให้ปีหน้าคาดการณ์ราคาก๊าซฯ เฉลี่ยอยู่ที่ 5.5-6 เหรียญสหรัฐ/ล้านบีทียู
ขณะที่แนวโน้มราคาน้ำมันดิบในปี 2565 คาดว่าราคาน้ำมันจะเริ่มอ่อนตัวลงในต้นปีหน้าเฉลี่ยอยู่ที่ 70 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ขณะที่ราคาก๊าซฯ ในช่วงนี้ปรับตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะ Spot LNG เป็นผลจากความต้องการใช้ก๊าซที่เพิ่มขึ้นอันสืบเนื่องมาจากการปรับเปลี่ยนการใช้ถ่านหินมาเป็นก๊าซฯ แทน ทำให้ราคาก๊าซฯ ปรับสูงขึ้นช่วงระยะสั้น โดยต้นปีหน้าเป็นต้นไปราคาก๊าซฯ น่าจะปรับลดลงเข้าสู่ภาวะราคาปกติในช่วงกลางปี 2565
อย่างไรก็ตาม บริษัทอยู่ระหว่างการจัดทำแผนลงทุน 5 ปี (ปี 2565-2569) ฉบับใหม่ คาดว่าจะแล้วเสร็จในช่วงต้นเดือนธันวาคมนี้ โดยแผนลงทุนในโครงการใหม่ๆ ของ ปตท.สผ.นั้นยังคงโฟกัสโครงการในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คือ ไทย เมียนมา มาเลเซีย ส่วนตะวันออกกลางเน้น 2 ประเทศ คือ โอมาน และยูเออี
ส่วนความคืบหน้าโครงการ Gas to Power ที่เมียนมา หลังได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบในเมียนมา และสถานการณ์โควิด-19 ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ทำให้โครงการได้รับผลกระทบและมีความล่าช้าจากแผนเดิม เนื่องจากติดปัญหาด้านการเข้าพื้นที่บางส่วน แต่ล่าสุดได้กลับเข้าพื้นที่บางส่วน และไม่มีแผนลงทุนโครงการใหม่ในเมียนมา แต่โฟกัสโครงการที่มีอยู่ ทั้งโครงการเอ็ม 3 และโครงการ Gas to Power ปัจจุบันยังอยู่ระหว่างรอการอนุมัติสัญญาแนบท้าย PSC (PSC Supplementary) และการเตรียมการต่างๆ เพื่อเข้าสู่การพัฒนาแหล่งเอ็ม 3 ต่อไป
ปัจจุบันรายได้จากโครงการในเมียนมาคิดเป็น 10-125% ของรายได้ทั้งหมดของ ปตท.สผ.