xs
xsm
sm
md
lg

ฝุ่นละอองกับการเข้าสู่อวัยวะภายในร่างกาย และรู้จักกับวิธีการลดปัญหา PM2.5 อย่างยั่งยืนด้วยวิธีง่ายๆ กับต้นไม้แต่ละประเภท

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ดร.วรนุช ดีละมัน และ ศ.ดร. ศิวัช พงษ์เพียจันทร์

ดร. วรนุช ดีละมัน
สาขาวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสิ่งแวดล้อม คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร
ศาสตราจารย์ญาณวิทย์ ดร. ศิวัช พงษ์เพียจันทร์
ศูนย์วิจัยและพัฒนาการป้องกันและจัดการภัยพิบัติ คณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หัวหน้าโครงการสร้างพลเมืองสร้างสรรค์ (Active Citizen) และผู้นำเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลง (Prime Mover) ในบริบทการจัดการคุณภาพอากาศสำหรับประเทศไทย สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
Email: pongpiajun@gmail.com


สำหรับประเทศไทยเมื่อมองย้อนกลับไปในช่วงเวลาหลายสิบปีก่อนหน้านี้ (ปัจจุบัน พ.ศ.2564) คำว่า “PM2.5” เป็นคำที่หลายๆคนอาจไม่คุ้นหูมากหนัก มีเพียงเฉพาะบางกลุ่มคนเท่านั้นที่เข้าใจและรู้ความหมายอย่างแท้จริง อย่างไรก็ตามเมื่อไม่กี่ปีมานี้ประชาชนในประเทศไทยส่วนใหญ่หันมาให้ความสนใจและรู้จัก PM2.5 เพิ่มมากขึ้น สืบเนื่องมาจาก PM2.5 มีปริมาณเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่องในเมืองใหญ่และยังสามารถคงอยู่ในชั้นบรรยากาศได้นานติดต่อกันหลายวัน สถานการณ์เช่นนี้ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนในวงกว้าง นอกจากนี้ยังส่งผลกระทบต่อวิถีการดำรงชีวิตที่แตกต่างออกไปจากเดิม สำหรับการใช้ชีวิตประจำวันมีเหตุจำเป็นให้ต้องสวมหน้ากากอนามัยทุกครั้งที่ออกจากเคหะสถานหากพบว่าในช่วงเวลานั้นมีการรายงานค่า PM2.5 เกินมาตรฐานที่กำหนดไว้ในบริเวณที่ประชาชนอาศัยอยู่

ผลกระทบเหล่านี้จึงกลายเป็นสิ่งกระตุ้นที่ทำให้ประชาชนกลุ่มใหญ่หันมาให้ความสนใจและศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับ PM2.5 เพิ่มมากขึ้นนั้นเอง จากที่ผู้เขียนกล่าวนำมาข้างต้นนี้ บทความนี้จะเป็นการให้ข้อมูลพื้นฐานกับประชาชนหลายๆกลุ่มที่ยังขาดความเข้าใจเกี่ยวกับ PM2.5 และเปิดโอกาสในการเข้าถึงข้อมูลทางวิชาการเพิ่มมากขึ้นโดยจะมุ่งเน้นให้บทความฉบับนี้สามารถอ่านและทำความเข้าใจได้ง่ายมากขึ้น ก่อนอื่นท่านผู้อ่านลองจินตนาการดูว่าไม่ว่าตอนนี้ท่านกำลังอ่านบทความฉบับนี้อยู่ที่ใดก็ตาม รอบๆตัวท่านจะโดนล้อมรอบไปด้วยชั้นบรรยากาศอยู่ตลอดเวลา ชั้นบรรยากาศที่ว่าเหล่านี้เป็นพื้นที่ที่มีขนาดใหญ่ และนั้นเป็นเหตุผลหนึ่งที่ชั้นบรรยากาศกลายเป็นพื้นที่ที่สามารถรองรับสิ่งต่างๆที่ถูกปลดปล่อยออกมาในรูปแบบต่างๆและสามารถลอยตัวปนเปื้อนอยู่ในชั้นบรรยากาศได้นั้นเอง ยกตัวอย่างเช่น ก๊าซที่เกิดจากการเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์ของพวกเชื้อเพลิงอย่างคาร์บอนมอนอกไซด์ ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ และไนโตรเจนออกไซด์ นอกจากก๊าซเหล่านี้แล้วยังมีมลสารอีกหลายชนิดที่สามารถเข้าสู่ชั้นบรรยากาศได้โดยง่ายทั้งในรูปแบบของไอระเหย ก๊าซ และอนุภาค

รูปที่ 1 ขนาดของอนุภาคฝุ่นละออง [1]
ฝุ่นละอองหรือ PM หมายถึงอนุภาคของแข็งและของเหลวที่ลอยอยู่ในชั้นบรรยากาศ ได้แก่ ฝุ่น เขม่า สิ่งสกปรก ควัน และหยดของเหลว โดยอนุภาคเหล่านี้จะถูกแบ่งออกเป็นแบบหยาบ แบบละเอียดและละเอียดมาก อนุภาคหยาบจะมีเส้นผ่านศูนย์กลาง 2.5 ไมโครเมตรถึง 10 ไมโครเมตร “หากเปรียบเทียบกับเส้นผมของมนุษย์พบว่าอนุภาคหยาบจะมีขนาดเล็กกว่าประมาณ 25 ถึง 100 เท่า” จัดเป็นฝุ่นละอองที่ค่อนข้างหนักมีแนวโน้มที่จะต้องลงสู่พื้นดินจากแรงโน้มถ่วงของโลกได้ง่ายกว่าฝุ่นประเภทอื่นๆ ตัวอย่างฝุ่นละอองที่มีอนุภาคหยาบ เช่น ฝุ่น สปอร์ และละอองเกสร เป็นต้น สำหรับ PM2.5 จัดเป็นฝุ่นละอองละเอียด อนุภาคของฝุ่นละอองจะมีเส้นผ่านศูนย์กลางน้อยกว่า 2.5 ไมโครเมตร “เมื่อทำการเปรียบเทียบกับขนาดของเส้นผมมนุษย์พบว่า PM2.5 มีขนาดเล็กกว่าเส้นผมมนุษย์ 100 เท่า” ด้วยขนาดที่เล็กมากและมีน้ำหนักเบาจึงเป็นอีกเหตุผลที่ทำให้ PM2.5 สามารถลอยตัวอยู่ในชั้นบรรยากาศได้นาน ผู้เขียนเชื่อว่าหลายๆท่านคงทราบดีอยู่แล้วว่าการหายใจเอาฝุ่นละอองปริมาณมากเข้าสู่ร่างกายสามารถส่งผลกระทบต่อระบบต่างๆภายในร่างกายได้ เช่น การสัมผัสกับมลพิษทางอากาศในระดับสูงเป็นปัจจัยเสี่ยงทำให้เกิดโรคหัวใจ หลอดเลือด และระบบทางเดินหายใจ [2] ส่วนหนึ่งพบว่าเป็นผลมาจากการเกิดภาวะการอักเสบและภาวะความเครียดขึ้น [3] นอกจากนี้ยังมีผลต่อระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายที่ลดน้อยลง เป็นสาเหตุที่สามารถก่อให้เกิดโรคมะเร็ง ร่วมทั้งปัญหาทางสุขภาพจิตอีกด้วย แล้วผู้อ่านทราบหรือไม่ว่าฝุ่นละอองแต่ละขนาดมีความอันตรายที่ต่างกัน ?

จากข้อมูลงานวิจัยจำนวนมากยืนยันว่าฝุ่นละอองที่มีขนาดเล็กอย่างเช่น PM2.5 จะส่งผลและก่อให้เกิดอันตรายต่อร่างกายของมนุษย์ได้สูงกว่าฝุ่นละอองขนาดใหญ่ ในขณะที่มนุษย์หายใจเข้าสู่ร่างกายผ่านทางจมูก อวัยวะภายในร่างกายในที่นี้คือขนจมูกจะทำหน้าที่กำจัดสิ่งแปลกปลอมออกไปก่อนในขั้นตอนนี้ฝุ่นละอองที่มีขนาดใหญ่จะถูกดักจับไว้ที่ขนจมูกหรือทางเดินหายใจส่วนบน มีบางส่วนที่ผ่านเข้ามายังบริเวณทางเดินหายใจส่วนล่างในบริเวณ กล่องเสียง หลอดคอ และหลอดลม แต่ในขณะเดียวกันนั้นฝุ่นละอองที่มีขนาดเล็กจะสามารถเล็ดรอดผ่านเข้าไปสู่อวัยวะภายในร่างกายและแพร่กระจายในถุงลมปอด นอกจากนี้อนุภาคฝุ่นละอองขนาดเล็กมากยังสามารถเข้าสู่กระแสเลือดไหลเวียนในร่างกายและมีโอกาสจะไปสะสมอยู่ในอวัยวะภายใน เช่น ตับ ม้าม และสมองได้ ไม่เพียงตัวของฝุ่นละอองเองที่เป็นอันตรายเท่านั้นแต่ยังรวมถึงสารเคมีอีกหลายชนิดที่สามารถเกาะติดกับฝุ่นละอองและเข้าสู่ร่างกายของมนุษย์ซึ่งมีความเชื่อมโยงกับการก่อให้เกิดโรคมะเร็งปอดและมะเร็งชนิดอื่นๆอีกด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ป่วยที่เป็นโรคหอบหืด โรคหัวใจและโรคปอด ถือได้ว่าเป็นผู้ป่วยทีมีความอ่อนไหวต่อ PM2.5 เป็นอย่างมาก ยังมีปัญหาสุขภาพที่ร้ายแรงอีกมากมายที่เกิดจากการสูดดม PM2.5 และเป็นสาเหตุการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรในท้ายที่สุด

รูปที่ 2  การสะสมของฝุ่นละอองขนาดต่างๆภายในอวัยวะและเนื้อเยื่อร่างกายของมนุษย์ [4]
สำหรับแนวทางการแก้ไขปัญหามลพิษอากาศในขณะนี้มีการดำเนินการไปแล้วในหลายรูปแบบ ตัวอย่างเช่น การแก้ปัญหาเชิงนโยบาย การออกกฏหมายหรือข้อบังคับด้านสิ่งแวดล้อมกับแหล่งกำเนิดมลพิษขนาดใหญ่ เช่น โรงงานอุตสาหกรรม การเร่งให้ความรู้ความเข้าใจแก่ประชาชนในเรื่องของมลพิษทางอากาศ รวมทั้งมีการจัดโครงการต่างๆเพื่อสร้างความตระหนักให้แก่เยาวชนของประเทศ พร้อมกับการศึกษาวิจัยเชิงลึกในการนำเทคโนโลยีระดับสูงมาใช้ในการแก้ปัญหาฝุ่นละออง ที่กล่าวมานี้เป็นเพียงบางส่วนเท่านั้นที่รัฐบาล หน่วยงานราชการ อุตสาหกรรมและผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหลายร่วมมือกันเพื่อแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับฝุ่นละออง คำถามคือ “ในขณะที่ทุกภาคส่วนยังคงร่วมมือกันหาแนวทางการแก้ไขปัญหานี้สำหรับประชาชนเองสามารถป้องกันตัวเองจากฝุ่นละออง PM2.5 ได้ด้วยวิธีไหนบ้าง”

สำหรับการดูแลตัวเองขั้นพื้นฐานอย่างหลีกเลี่ยงจากบริเวณพื้นที่ที่มีฝุ่นเกินเกณฑ์มาตรฐาน งดทำกิจกรรมนอกบ้าน หรือหากจำเป็นต้องออกข้างนอกต้องใส่หน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันฝุ่นละอองสิ่งเรานี้เชื่อว่าทุกท่านคงทราบกันดี สำหรับวันนี้เราจะมาแนะนำวิธีง่ายๆที่สามารถช่วยลดฝุ่นละอองและยังช่วยป้องกันตัวเราจากฝุ่นได้แบบยั่งยืน นั้นคือ การปลูกต้นไม้ ต้นไม้มีบทบาทสำคัญในการกำจัดมลพิษในอากาศโดยตรง

พืชมักถูกมองว่าเป็น "ปอด" ของระบบนิเวศเพราะดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และปล่อยก๊าซออกซิเจนออกสู่สิ่งแวดล้อม แต่ Rita Baraldi นักสรีรวิทยาพืช จากสถาบัน Bioeconomy ของสภาวิจัยแห่งชาติอิตาลีกล่าวไว้ว่า ต้นไม้ยังทำหน้าที่เป็น "ตับ" ของระบบนิเวศเช่นกันโดยพวกมันจะทำหน้าที่กรองสารมลพิษในชั้นบรรยากาศ ต้นไม้มีประสิทธิภาพอย่างยิ่งในการกำจัดฝุ่นละออง (PM) โดยอาศัยสองวิธีหลักๆคือ 1) การกระจายตัว ในบริเวณพื้นที่ที่มีการปลูกต้นไม้ หากมีการปนเปื้อนของฝุ่นละอองในชั้นบรรยากาศ ฝุ่นเหล่านี้จะมีโอกาสชนเข้ากับต้นไม้เกิดการกระจายตัวและถูกทำให้เจือจางลง ลดความเสี่ยงที่มนุษย์จะสูดดมเข้าไป 2) การตกสะสม อนุภาคของฝุ่นละอองสามารถติดอยู่กับสารเหนียวๆที่มีลักษณะคล้ายขี้ผึ้งที่ใบไม้ปล่อยออกมา นอกจากนี้พืชบ้างชนิดจะมีขนอ่อนๆตามใบและลำต้นซึ่งมีส่วนช่วยในการดักจับฝุ่นละอองได้เช่นกัน เมื่อฝนตกอนุภาคฝุ่นละอองเหล่านี้จะถูกชะล้างลงสู่พื้นดินต่อไป

อย่างไรก็ตามประสิทธิภาพในการกรองฝุ่นละอองของต้นไม้นั้นขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น สายพันธุ์ของพืช ขนาดของพุ่มไม้ ขนาดของใบ และโครงสร้างของใบ เป็นต้น ต้นไม้ที่มีพุ่มขนาดใหญ่สามารถดักจับอนุภาคได้มากกว่าที่เล็กและใบไม้ที่ใหญ่ขึ้นก็สามารถดักจับมลพิษได้มากกว่าขนาดเล็กในขณะที่ใบพืชมีพื้นผิวที่หยาบกร้าน ขรุขระ และมีขนจะทำหน้าที่เป็น "ตัวกรองที่ดีที่สุด" สำหรับฝุ่นละออง ในปี 2015 Jun Yang นักนิเวศวิทยา มหาวิทยาลัย Tsinghua ในปักกิ่ง ประเทศจีน ได้ทำการจัดอับดับสายพันธุ์ของต้นไม้ที่เกิดขึ้นบ่อยที่สุดในเมืองและพิจารณาความสามารถในการดูดซับ PM 2.5 พบว่าจากการพิจารณาต้นไม้ทั้งหมด 10 สายพันธุ์ ต้นสนและต้นไซปรัส จัดเป็นตัวกรองมลพิษที่ดีที่สุดและการปลูกต้นสนน่าจะสมเหตุสมผลที่สุดในเมืองที่มีมลพิษเช่นปักกิ่งเพื่อลด PM2.5 เมืองหลวงของจีน ดังนั้นการปลูกต้นไม้จึงเป็นวิธีการที่ช่วยในการลดมลพิษในอากาศแบบยังยื่นที่ทุกคนสามารถทำได้ง่ายๆ

“4 ประเภทต้นไม้แนะนำปลูกเพื่อช่วยลดฝุ่นละอองในชั้นบรรยากาศ” [6]

1.ประเภทไม้ล้มลุก มีลำต้นเป็นไม้เนื้ออ่อนไม่มีเนื้อไม้ หรือมีเนื้อไม้เล็กน้อยบริเวณโคนต้น ได้แก่
• ต้นไผ่รวก เป็นไผ่ขนาดค่อนข้างเล็ก เหง้ารวมเป็นกอแน่น ทนแล้งได้ดี กระจายพันธุ์ทั่วทุกภาคของประเทศไทย นิยมปลูกกันลมหรือปลูกเป็นรั้ว
• วงศ์ส้มกุ้ง ไม้เถาเลื้อย มักเกาะพันต้นไม้อื่น เถาเป็นปล้อง ใบเดี่ยวเรียงสลับรูปหัวใจหยักเว้า พบตามป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ ป่าผลัดใบ ยอดอ่อนและผลอ่อนรับประทานเป็นผักได้ [5]
• ฉัตรพระอินทร์ ลำต้นสูงชะลูดมีอายุเพียงฤดูเดียว เป็นพืชพื้นเมืองของทวีปแอฟริกา ในประเทศไทยมักพบขึ้นบริเวณที่มีความชุ่มชื้น ดินร่วนซุย ตามป่าละเมาะ และที่ว่างทิ้งร้างริมทางทั่วไป

2. ประเภทไม้เถาหรือไม้เลื่อย คือ พืชที่ไม่มีเนื้อไม้แข็ง ไม่สามารถทรงตัวได้โดยลำพังเลื้อยไปตามดินหรือพันสิ่งที่อยู่ใกล้เคียงอาจมีอวัยวะพิเศษช่วยในการเกี่ยวยึด เช่น ราก มือเกาะ ขอเกี่ยว ต้นที่แนะนำให้ปลูกเพื่อลดฝุ่นละอองได้แก่ เล็บมือนาง การเวท เงินไหลมา สร้อยอินทนิล พวงชมพู พลูแฉก อัญชัน และ พวงคราม เป็นต้น

รูปที่ 3 พวงชมพู ที่มา : https://medthai.com

รูปที่ 4 เล็บมือนาง ที่มา : https://medthai.com
3. ประเภทไม้พุ่ม มีหลายลำต้นแตกขยายเป็นพุ่มและเตี้ย ปกติจะเตี้ยกว่า 5-6 เมตร ต้นที่แนะนำให้ปลูกเพื่อลดฝุ่นละอองได้แก่ เข็ม ทองอุไร วาสนา โมกบ้าน หางนกยูงไทย ตะเคียนหนู ตาเป็ดตาไก่ ลำดวน ชาฮกเกี้ยน สนอินเดีย กรรณิการ์ เป็นต้น

4.ประเภทไม้ต้น พืชที่มีเนื้อไม้แข็งและมีเนื้อเยื่อเจริญในชั้นเปลือกนอก ซึ่งต้นที่แนะนำให้ปลูกในการช่วยลดฝุ่นละอองได้ดี คือ อินทนิล จามจุรี ชงโค ชมพูพันธุ์ทิพย์ ขี้เหล็กบ้าน สะเดา เสลา พิกุล และตะลิงปลิง เป็นต้น

รูปที่ 5 อินทนิล ที่มา : https://medthai.com

รูปที่ 6 ตะลิงปลิง ที่มา : https://medthai.com
อ้างอิง
[1] R. Bruce Urch. 2010. Controlled Human Exposures to Concentrated Ambient Fine Particles and Ozone: Individual and Combined Effects on Cardiorespiratory Outcomes. Collaborative Program in Environment & Health, Centre for Environment, University of Toronto.
[2] F.J. Kelly, J.C. 2015. Fussell Air pollution and public health: emerging hazards and improved understanding of risk Environ. Geochem. Health, 37, pp. 631-649
[3] R.J. Laumbach, H.M. Kipen, S. Ko, K. Kelly-McNeil, C. Cepeda, A. Pettit, et al. 2014. A controlled trial of acute effects of human exposure to traffic particles on pulmonary oxidative stress and heart rate variability Part. Fibre Toxicol., 11, pp. 1-12
[4] T. Li, R. Hu, Z. Chen, M. Huang, Q.Y. Li, S.X. Huang, Z. Zhu, L.F Zhou. 2018. PM2.5: The culprit for chronic lung diseases in China. Chronic Diseases and Translational Medicine, S2095882X17301287–. doi:10.1016/j.cdtm.2018.07.002
[5] “ส้มกุ้ง” ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี [ออนไลน์]. แหลงที่มา: http://www.phargarden.com/main.php?action=viewpage&pid=284
[6] “ปลูกต้นไม้วิธีง่ายๆช่วยลดฝุ่นละออง” กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม [ออนไลน์]. แหลงที่มา: https://www.facebook.com/deqpth



กำลังโหลดความคิดเห็น