ในที่สุด ปธน.ไบเดนก็เลือกท่านปธน.เฟด (ธนาคารกลางสหรัฐฯ) เจอโรม พาวเวลล์ เพื่อเข้าดำรงตำแหน่งเดิมนี้อีกเป็นสมัยที่สอง
หลังจากมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์กันเซ็งแซ่ ทั้งที่กดดันให้เปลี่ยนตัวประธานเฟด และที่สนับสนุนให้เจอโรม พาวเวลล์ อยู่ต่อสมัยที่สอง
ที่กดดันให้ไบเดนเปลี่ยนตัว นำโดย ส.ว.หญิงเสียงดังจากรัฐแมสซาชูเซตส์ เอลิซาเบธ วอร์เรน ซึ่งเป็นอดีตอาจารย์เก่าสอนวิชากฎหมายการเงินที่ฮาร์วาร์ด และเป็นแกนนำปีกซ้ายของพรรคเดโมแครตที่เคยอภิปรายตีแสกหน้าประธานพาวเวลล์ (ในช่วงที่ประธานเฟดต้องไปเสนอรายงานสภาวะเศรษฐกิจ และนโยบายการเงินต่อกรรมาธิการการเงินการธนาคารของวุฒิสภา-รายงานนี้มีปีละ 2 ครั้ง-ในช่วงที่โรคระบาดโควิดได้โจมตีสหรัฐฯ มาเกือบ 2 ปีนี้) ว่า ประธานเจอโรม พาวเวลล์ เป็นบุคคลอันตรายยิ่ง และกำลังจะนำพาให้ประเทศสหรัฐฯ กลับไปสู่วิกฤตการเงิน และวิกฤตเศรษฐกิจใหญ่หลวงเหมือนดังที่เคยเกิดวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์เมื่อปี 2008-09
เพราะปีที่แล้วที่สหรัฐฯ เผชิญโรคระบาดโควิด ได้มีแรงกดดันจากปธน.ทรัมป์ และเหล่า ส.ส., ส.ว.รีพับลิกัน เพื่อให้เฟดผ่อนคลายกฎเกณฑ์ที่เข้มงวดต่อสถาบันการเงิน เพื่อรับมือกับเศรษฐกิจที่ถดถอยในสหรัฐฯ (2 ไตรมาสที่หดตัวอย่างแรง) เมื่อประเทศต้องล็อกดาวน์ และเศรษฐกิจหยุดชะงักแทบทั้งหมด
กฎเกณฑ์เข้มงวดต่อสถาบันการเงินนี้ ได้มีการเสนอเป็นกฎหมายช่วง 2010 (ชื่อย่อว่า Dodd-Frank Act ซึ่งเป็นผลงานของ ส.ว. Chris Dodd และ ส.ว. Barney Frank) หลังจากปธน.โอบามาเข้ามารับตำแหน่งในยามที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ มีการถดถอยอย่างรุนแรงจากวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ (ในสมัยของบุช) ซึ่งมีความหละหลวมไม่โปร่งใสของวอลล์สตรีท โดยเฉพาะสถาบันการเงิน-ทำให้เกิดวิกฤตการเงินและลามไปถึงเศรษฐกิจสหรัฐฯ และทั่วโลกด้วย
เมื่อเกิดการหดตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ จากโควิดในปีแห่งการเลือกตั้ง (2020) เสียด้วย-การรับมือของประธานพาวเวลล์ ก็มีเครื่องมือในการลดดอกเบี้ย และการเพิ่มสภาพคล่อง (QE) ตลอดจนการผ่อนคลายกฎเกณฑ์เข้มงวดด้านการปล่อยกู้ของสถาบันการเงินด้วย...และนี่เป็นประเด็นที่ ส.ว.วอร์เรน ออกมาวิพากษ์วิจารณ์มาก
เธอยังมองด้วยว่า สภาพคล่องจำนวนมหาศาลที่ธนาคารกลาง (เฟด) ปล่อยออกมานี้ กลับไปช่วยให้คนรวยยิ่งมั่งคั่งขึ้น (ในตลาดเงิน, ตลาดทุน) และยิ่งทำให้ความเหลื่อมล้ำที่มีอยู่สูงมากในสหรัฐฯ จะยิ่งถ่างให้กว้างมากขึ้น เป็นการเติบโตทางเศรษฐกิจแบบตัว K นั่นเอง
ทั้งเธอและแกนนำปีกซ้ายของเดโมแครต ก็มีทางเลือกอันใหม่คือ เสนอให้กรรมการบอร์ดของเฟด ที่เป็นผู้หญิงชื่อ Dr.Lael Brainard และมีดีกรีปริญญาเอกเศรษฐศาสตร์จากฮาร์วาร์ด (ต่างกับประธานเจอโรม พาวเวลล์ ที่จบจากพรินซ์ตัน ทางการเมือง แล้วไปจบด้านกฎหมาย ไม่มีพื้นฐานเนื้อแท้ด้านเศรษฐศาสตร์) เพื่อเข้ามาดำรงตำแหน่งประธานเฟด (ซึ่งเจอโรม พาวเวลล์ จะครบกำหนดวาระในปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2022 นี้)
เจอโรม พาวเวลล์ เป็นประธานเฟดคนแรกในรอบ 40 ปีของเฟด (เฟดมีอายุ 107 ปีขณะนี้) ที่ไม่ได้เรียนมาทางเศรษฐศาสตร์ และเป็นคนแรกในรอบ 30 ปีที่ไม่ได้รับปริญญาเอก...แต่เขาเป็นรีพับลิกัน...ขณะที่ดร.Lael Brainard (อ่านว่า เลเอล เบรนาร์ด) เป็นเดโมแครตคนเดียวในกรรมการบอร์ด 7 ท่านในเฟด-อีก 6 คนเป็นรีพับลิกัน และ ส.ว.วอร์เรนยังโจมตีประธานพาวเวลล์ว่า ได้ละเลยนโยบายของเฟดในการส่งเสริมให้สถาบันการเงินสหรัฐฯ ปล่อยกู้แก่โครงการที่จะต่อสู้กับโลกร้อน และการลดความเหลื่อมล้ำของสังคม
และยังมีเรื่องฉาวภายใต้การนำของพาวเวลล์ ที่มีผู้ว่าเฟด ประจำเขตบอสตัน และเทกซัสซื้อขายหุ้น เข้าข่ายผลประโยชน์ทับซ้อน
ด้านเจอโรม พาวเวลล์-แม้จะได้รับแต่งตั้งมาจาก ปธน.ทรัมป์ ในปี 2018 (โดยทรัมป์ไม่ยอมเสนอชื่อนางเจเน็ต เยลเลน ให้เป็นประธานเฟดสมัยที่สอง ต่อมา-ปธน.ไบเดนได้เลือกเจเน็ต เยลเลน เป็น รมต.คลังคนปัจจุบัน-นับเป็น รมต.คลังหญิงคนแรกของสหรัฐฯ) แต่ทรัมป์ก็ไม่พอใจประธานพาวเวลล์ที่ทยอยขึ้นดอกเบี้ย เพื่อถ่วงดุลกับเศรษฐกิจที่ร้อนแรงมากขึ้นหลังจากที่ทรัมป์ได้ประกาศลดภาษีนิติบุคคลอย่างฮวบฮาบ-ถึงขนาดประณามพาวเวลล์ในการปราศรัยสาธารณะตลอดเวลาว่า ทรัมป์ผิดหวังในตัวพาวเวลล์ที่เขาตั้งมากับมือให้นั่งเป็นประธานเฟด-ที่เขาวิพากษ์สาดเสียเทเสียกับพาวเวลล์ ก็เป็นสไตล์ของทรัมป์ ที่ต้องการกดดันให้พาวเวลล์ลาออกเอง แต่พาวเวลล์ก็ยังดันทุรังทำหน้าที่ต่อไป
ในการเสนอชื่อเจอโรม พาวเวลล์ เป็นประธานเฟดต่อสมัยที่สองของปธน.ไบเดน เขาได้พูดสรรเสริญเจอโรม พาวเวลล์ ว่า ได้กุมบังเหียนนโยบายการเงินภายใต้สถานการณ์เลวร้ายของการระบาดโควิดได้เป็นอย่างดี ภายใต้นโยบายที่ไบเดนได้เข้ามาบริหาร ที่ต้องการจะทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวจากแรงกดดันหนักของการระบาดใหญ่โควิด
ปธน.ไบเดน ยังได้เสนอชื่อดร.เบรนาร์ด ให้เข้าดำรงตำแหน่งรองประธานเฟดด้านนโยบายการเงิน ซึ่งจะเป็นตัวตายตัวแทนของประธานพาวเวลล์นั่นเอง (ถ้าพาวเวลล์ไม่สามารถดำเนินการประชุมเฟดเมื่อใด เธอจะเข้ารับหน้าที่แทนทันที) นับเป็นการโอนอ่อนต่อเสียงเรียกร้องจากปีกซ้ายของเดโมแครตได้ระดับหนึ่ง
ที่สำคัญคือ คะแนนนิยมของไบเดนขณะนี้ได้ลดต่ำลงมาจากกว่า 80% เหลือแค่ประมาณ 40% จากเหตุการณ์ถอนทหารอย่างโกลาหลจากอัฟกานิสถาน, เรื่องราคาน้ำมันหน้าปั๊มที่แพงขึ้น 60% จากปีที่แล้ว ตลอดจนความล่าช้าของงบประมาณฟื้นเศรษฐกิจที่เพิ่งคลอดออกมาได้ 1 ฉบับ (มูลค่า 1.2 ล้านล้านเหรียญ)-แต่ออกมาช้าไป 4 เดือน และอีกฉบับมูลค่าสูงถึง 3.5 ล้านล้านเหรียญ (ที่ถูกต่อรองและถูกตัดไปจนเหลือแค่ 1.75 ล้านล้านเหรียญ-ที่เพิ่งผ่านสภาล่างไปเมื่ออาทิตย์ที่แล้วนี้เอง) ที่จะสร้างงานอย่างมโหฬาร และปฏิรูปสังคมให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น...และงบก้อนนี้ จะถูกฝ่าย ส.ว.รีพับลิกันในสภาสูงตั้งท่าคัดค้านอย่างมาก (เพราะคะแนนเสียงจะไปตกอยู่กับพรรคเดโมแครต-ก่อนการลงคะแนนเลือกตั้งมิดเทอมในปีหน้านี้)
ไบเดนจึงเลือกพาวเวลล์ ซึ่งนอกจากจะไม่เปลี่ยนม้ากลางศึก (และตลาดเงินตลาดทุนก็ดูจะพอใจกับพาวเวลล์-ดีกว่าต้องมาทำความรู้จักกับผู้ว่าเฟดคนใหม่-ที่ตลาดคงต้องทดสอบความรู้ความสามารถของเธออีกพักใหญ่) ก็เป็นการเอาใจ ส.ว.รีพับลิกัน เพื่อให้ผ่านงบก้อนโตเพื่อปฏิรูปสังคมที่ไบเดนหมายมั่นปั้นมือ จะพลิกโฉมสังคมความเป็นอยู่ของคนชั้นกลาง และผู้มีรายได้น้อย ตลอดจนการพลิกโฉมเพื่อสู้กับโลกร้อน และการลดความเหลื่อมล้ำให้ได้
และเขาก็ยังเลือกให้ดร.เบรนาร์ด นั่งในจุดที่จะทดแทนพาวเวลล์ได้ด้วยซ้ำ