ศึกชิงเก้าอี้ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์กำหนดวันที่ 2 พฤษภาคมปีหน้า โดยผู้ชนะจะได้มาแทนจอมห้าว โรดริโก ดูเตอร์เต นั้น เริ่มเห็นแววของความเข้มข้น เมื่อลูกสาวดูเตอร์เตลงชิงในตำแหน่งรองประธานาธิบดี คู่กับลูกชายอดีตเผด็จการ มาร์กอส
ขณะเดียวกัน แมนนี ปาเกียว นักชกขวัญใจชาวตากาล็อก เจ้าของเข็มขัดแชมป์โลก 4 รุ่น เป็นหนึ่งเดียวในโลก ก็ประกาศชัดว่า ถ้าตัวเองชนะ จะกวาดพวกที่เป็นนักคอร์รัปชัน แม้จะเป็นเพื่อน เข้าคุกให้หมด
ปาเกียวให้เหตุผลว่าประเทศต้องปลอดจากการคอร์รัปชัน เพื่อจะได้พัฒนา แก้ปัญหาความยากจนได้อย่างมีประสิทธิผล และบอกว่าตัวเองไม่หวั่นอะไรทั้งนั้น แม้แต่การจะทวงสมบัติของประเทศคืนจากตระกูลมาร์กอส
ในช่วงที่ประธานาธิบดีเฟอร์ดินานด์ มาร์กอส บริหารประเทศแบบเผด็จการนาน 25 ปี มีการประเมินว่าได้มีการโกงกินประเทศไปมากกว่า 1 หมื่นล้านดอลลาร์
การติดตามเอาเงินคืนมาจากธนาคารในสวิตเซอร์แลนด์โดยคณะกรรมการที่รัฐบาลตั้งขึ้นมาได้เพียง 500 ล้านดอลาร์ โดยตระกูลมาร์กอส ปฏิเสธว่าไม่ได้ทุจริต
การลงชิงคู่กันระหว่าง เฟอร์ดินานด์ มาร์กอส จูเนียร์ หรือ “บองบอง” ลูกชายหัวแก้วหัวแหวนวัย 54 ปี ของมาร์กอสผู้เป็นบิดา ทำให้เป็นเต็งหนึ่งในผลโพลสำรวจ ก่อนหน้านี้ซาราห์ ดูเตอร์เต-คาร์ปิโอ ลูกสาวของดูเตอร์เต ได้เป็นตัวนำ
ไม่มีคำอธิบายชัดเจนว่าทำไมซาราห์ ซึ่งอยู่ในวัย 43 ปี และเป็นนายกเทศมนตรีเมืองดาเวา จึงตัดสินใจลงชิงในตำแหน่งรองประธานาธิบดี
การเมืองฟิลิปปินส์มีการเลือกตั้งแยกกันระหว่างประธานาธิบดี และรองฯ การจับคู่กันถือว่าเป็นความลงตัวอย่างยิ่งเพราะมาร์กอส จูเนียร์ได้รับความนิยมในภาคใต้ของประเทศ ขณะที่ดูเตอร์เต ได้รับความนิยมทางภาคเหนือ
แม้จะถูกกล่าวหาว่าเป็นตัวการทุจริต คอร์รัปชัน เป็นเผด็จการ จับกุมคุมขังประชาชนและฝ่ายต่อต้านหลายพันคน มาร์กอสตัวพ่อยังคงได้รับความนิยมอย่างมากในกลุ่มประชาชนในท้องถิ่น ไม่ต่างจากเผด็จการในสังคมด้อยพัฒนาการเมือง
ดังนั้น คู่ชิง มาร์กอส-ดูเตอร์เต จึงมีความน่าเกรงขาม เพราะตัวดูเตอร์เตผู้เป็นพ่อก็ยอมรับความเป็นผู้นำของอดีตประธานาธิบดีมาร์กอส ทัศนคติและแนวคิดทางการเมืองก็ออกแนวทางรวบอำนาจ ให้ความเด็ดขาดแก้ปัญหา
ดูเตอร์เตเองก็ใช้กฎเหล็กทำสงครามกับยาเสพติด มีคนถูกสังหารหลายพันคน ซึ่งมีทั้งผู้ค้า และผู้ไม่เกี่ยวข้อง แต่โดนสวมรอยคิดบัญชีกันเอง
ตัวเองอยากอยู่ต่อในอำนาจ แต่รัฐธรรมนูญฟิลิปปินส์ห้ามการดำรงตำแหน่งมากกว่า 1 สมัยซึ่งมีระยะเวลา 6 ปี ดูเตอร์เตก็เกรงว่าตัวเองจะโดนคิดบัญชี ในคดีอาญาข้อหาฆ่าประชาชน ถูกดำเนินคดีโดนศาลอาญาระหว่างประเทศ
ถ้ามาร์กอส-ซาราห์ คาร์ปิโอ ชนะการเลือกตั้ง ดูเตอร์เตคาดว่าจะได้รับการคุ้มครอง เป็นหนทางรอดจากการถูกดำเนินคดี ตัว “บองบอง” ซึ่งก็เป็นนักการเมือง หวังเต็มที่ในการกู้ภาพลักษณ์ของครอบครัวและกุมอำนาจรัฐเหมือนบิดา
ตระกูลมาร์กอส และดูเตอร์เต ถือว่าเป็นกลุ่มมีชื่อเสียงและมีอิทธิพลทางการเมือง มีฐานในชนบท ดังนั้น จึงเป็นสองแรงแข็งขัน คะแนนเสียงไม่แตก
รูปแบบการเมืองของฟิลิปปินส์คือผู้สมัครต้องเป็นคนดัง เป็นเซเลบ ยิ่งมีอิทธิพลด้วยแล้ว โอกาสชนะจึงมี ดังเช่นพวก ส.ส. และ ส.ว.ล้วนเป็นคนมีระดับ
ปาเกียวเองต้องเผชิญศึกหนักเพราะต้องสู้กับคนดัง เป็นนักการเมืองทั้งคู่ แม้ตัวเองจะดำรงตำแหน่งเป็นวุฒิสมาชิก ก็ยังไม่แน่ใจว่าจะได้รับชัยชนะ ดังนั้น จึงต้องมีลีลาหาเสียงแบบนักสู้เหมือนนักชกบนสังเวียน ให้โดนใจชาวตากาล็อก
ก่อนหน้านี้ปาเกียวก็ชื่นชอบ สนับสนุนดูเตอร์เต ภายหลังเริ่มมีอาการปีนเกลียวกันเพราะความเห็นต่างทางการเมือง และความต้องการชิงตำแหน่ง
ปาเกียวโจมตีความล้มเหลวของรัฐบาลดูเตอร์เตในการจัดการปัญหาการระบาดของโควิด-19 ความล่าช้าในการจัดหาวัคซีนและบริการประชาชนที่ยากจน และอ้างว่าในเดือนกรกฎาคม มีเงินช่วยเหลือ 200 ล้านดอลลาร์ในโครงการวัคซีน
แต่ไม่รู้ว่าเงินหายไปไหน สงสัยว่าไปเข้ากระเป๋านักคอร์รัปชัน
ด้วยเหตุนี้ ปาเกียวจึงได้ประกาศว่าจะเล่นงานพวกคอร์รัปชัน โดยเฉพาะที่อยู่ในวงจรอำนาจยุคดูเตอร์เต เท่ากับเป็นการเร่งสร้างศัตรูทางการเมืองเพิ่มขึ้น
ดูเตอร์เตปฏิเสธข้อกล่าวหา ท้าให้ปาเกียวหาหลักฐานมาแสดง และอ้างว่าปาเกียวต้องการหาเสียงเท่านั้น
การเลือกตั้งประธานาธิบดีจะเป็นรูปแบบที่ว่า ใครได้คะแนนเสียงมากที่สุด ก็จะเป็นผู้ชนะ ไม่มีการชิงรอบสองเพื่อตัดเชือก ดูเตอร์เตชนะการเลือกตั้งได้เป็นผู้นำประเทศก็ได้คะแนนเสียงเพียง 39 เปอร์เซ็นต์ของคะแนนรวม ไม่ถึงครึ่งด้วยซ้ำ
ดังนั้น ไม่ว่าจะได้คะแนนเท่าไหร่ ขอให้ได้ชนะคนอื่นก็ได้ตำแหน่ง
คู่ชิงคนอื่นๆ ก็มีวุฒิสมาชิก คริสโตเฟอร์ “บอง” โก ซึ่งเป็นรองประธานาธิบดีคนปัจจุบัน ภายใต้ดูเตอร์เต และ เลนี โรเบรโด ซึ่งเป็นนักวิพากษ์นโยบายของดูเตอร์เต
อีกหนึ่งรายเป็นนายกเทศมนตรีกรุงมะนิลา อิสโก โมเรโน ซึ่งเป็นอดีตนักแสดงภาพยนตร์ กลุ่มนี้คาดว่าจะตัดคะแนนซึ่งกันและกัน แต่ถือว่าเป็นคนดังด้วยกัน
อีกไม่กี่เดือน ก็จะรู้ว่าใครจะคุมชะตากรรมของการเมืองฟิลิปปินส์