xs
xsm
sm
md
lg

การประชุม COP26 ปฏิบัติการกู้โลก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: นพ นรนารถ



COP ย่อมาจาก Conference of the Parties คือ การประชุมภาคีCOP26 ภาคีนี้หมายถึง ภาคีสมาชิก กรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC- United Nations Framework Convention on Climate Change) ซึ่งประเทศสมาชิกองค์การสหประชาชาติ 197 ประเทศ ล้วนเป็นภาคีสมาชิก UNFCC ด้วย

การประชุม COP มีขึ้นครั้งแรกเมื่อปี 1995 และประชุมต่อกันมาทุกปี ครั้งนี้เป็นครั้งที่ 26 จัดขึ้นที่เมืองกลาสโกว์ ประเทศสกอตแลนด์ ระหว่างวันที่ 31 ตุลาคม-12 พฤศจิกายนนี้ ซึ่งคาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมการประชุมมากถึง 25,000 คน

วาระสำคัญของการประชุมครั้งนี้คือ การตรวจสอบ ทบทวน เร่งรัด มาตรการที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยเฉพาะก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้เหลือศูนย์ หรือ NET ZERO CARBON ภายในปี 2060 โดยตั้งเป้าจะลดให้เหลือครึ่งหนึ่ง ในปี 2030 หรืออีกแค่ 9 ปีนับจากวันนี้ ทั้งนี้ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายสำคัญที่มีผลต่อสิ่งแวดล้อมและสิ่งมีชีวิต คือ ควบคุมอุณหภูมิโลก ไม่ให้สูงขึ้นกว่ายุคก่อนอุตสาหกรรม 1.5-2.0 องศาเซลเซียส

การประชุม COP ก็เหมือนกับการประชุมนานาชาติทั่วไป ที่มีแต่คำพูดสวยงาม จบลงด้วยแถลงการณ์สวยหรู แล้วมาประชุมครั้งต่อไปปีหน้า ไม่มีปฏิบัติการที่เป็นจริงเกิดขึ้น

ปัญหาโลกร้อน เป็นสิ่งที่ทุกคนสัมผัสได้ว่า เป็นปัญหาจริงที่ก่อตัว ส่งผลกระทบอย่างช้าๆ แต่รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ อุณหภูมิโลกที่สูงขึ้นปีละนิดๆ ทำให้การประชุม COP เมื่อ 6 ปีก่อนที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ให้ความสำคัญกับปัญหานี้อย่างจริงจัง จนมีการลงนาม “ข้อตกลงปารีส” ที่มีประเทศสมาชิก 130 กว่าประเทศตกลงว่าจะลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงจนปริมาณสุทธิ (ที่ปล่อยออกสู่บรรยากาศและที่เอาคืนกลับมา เช่น โดยการปลูกต้นไม้) เป็นศูนย์ในปี ค.ศ. 2060 หรืออีก 39 ปีข้างหน้า โดยมีความคาดหวังว่าอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกจะเพิ่มขึ้นไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับอุณหภูมิโลกก่อนการปฏิวัติอุตสาหกรรม

ข้อตกลงปารีส ไม่มีผลผูกพันในเชิงกฎหมายที่บังคับให้ประเทศที่ลงนามต้องปฏิบัติตาม แต่ให้เป็นความสมัครใจของแต่ละประเทศที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อช่วยกันรักษาสิ่งแวดล้อม และโลกให้รอดพ้นจากหายนะ โดยทุกๆ 5 ปี ประเทศที่ลงนามจะรายงานว่า ตัวเองได้ทำอะไรไปบ้าง ที่ช่วยลดปริมาณก๊าซเรือนกระจก และที่ทำลงไปนั้น เพียงพอทันการณ์หรือไม่

การประชุม COP26 ครั้งนี้ จะเป็นครั้งแรกหลังข้อตกลงปารีสครบ 5 ปี ความจริงครบตั้งแต่ปีที่แล้ว แต่การระบาดของโควิด ทำให้ไม่สามารถจัดประชุมแบบเต็มรูปแบบได้ ต้องประชุมออนไลน์ จึงไม่มีการรายงานผลการดำเนินการตามข้อตกลงปารีสในช่วง 5 ปีแรก เมื่อการประชุม COP ครั้งที่แล้ว เลื่อนมารายงานในปีนี้แทน

ผลกระทบจากอุณหภูมิโลกที่สูงขึ้น เป็นที่ปรากฏชัดในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา ทั้งภัยแล้ง น้ำท่วม ไฟไหม้ป่า ระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นช้าๆ ความตายของแหล่งปะการัง ปรากฏการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นอย่างไม่คาดคิด เกิดขึ้นในที่ที่ไม่เคยเกิด และเกิดขึ้นรุนแรงกว่าปกติ ทำให้นักวิทยาศาสตร์บางคนกล่าวว่า สายเกินไปแล้ว ที่จะลดอุณหภูมิของโลก ไม่ให้เพิ่มขึ้นมากกว่า 1.5 องศาในอีก 30 ปีข้างหน้า

สำหรับประเทศไทย (ร่าง) ยุทธศาสตร์ระยะยาวในการพัฒนาแบบปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำของประเทศไทย ซึ่งจัดทำโดยสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) พบว่า หากประเทศไทยจะบรรลุเป้าหมายตามที่คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) ได้กำหนดไว้ คือ รักษาอุณหภูมิให้เพิ่มขึ้นไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียส ประเทศไทยจะต้องบรรลุเป้าหมาย Net Zero ภายในปี 2050 (พ.ศ. 2593) และหากจะรักษาอุณหภูมิให้เพิ่มขึ้นไม่เกิน 2 องศาเซลเซียส ประเทศไทยจะต้องบรรลุเป้าหมาย Net Zero ภายในปี 2090 (พ.ศ.2633)

ภาครัฐและภาคเอกชนได้เริ่มให้ความสำคัญกับเป้าหมายนี้แล้ว โดยภาคพลังงานซึ่งปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงที่สุด (71.65% ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งประเทศ) เป็นภาคส่วนแรกที่แสดงท่าทีที่ชัดเจนต่อเป้าหมายดังกล่าว โดยกำหนดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิให้เป็นศูนย์ (Carbon Neutral) ภายในปี 2065-2070 (พ.ศ. 2608-2613) ในกรอบแผนพลังงานชาติ ซึ่งถือเป็นสัญญาณเริ่มต้นที่ดีที่จะนำไปสู่เป้าหมาย Net Zero ในระดับประเทศ

กรอบแผนพลังงานชาติได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ปัจจุบันยังอยู่ระหว่างการจัดทำรายละเอียดและรับฟังความคิดเห็น โดยแผนพลังงานชาติมีเป้าหมายสนับสนุนให้ประเทศไทยมุ่งสู่การใช้พลังงานสะอาด และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี 2065-2070 (พ.ศ. 2608-2613) โดยเน้นภาคการไฟฟ้าและขนส่งเป็นหลัก เนื่องจากเป็นภาคส่วนที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากที่สุด

ภาคการผลิตไฟฟ้าจะมีมาตรการเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าใหม่และปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนมากขึ้น ให้ไม่น้อยกว่า 50% โดยสนับสนุนทั้งโรงไฟฟ้าชีวมวล ก๊าซชีวภาพ โซลาร์ฟาร์ม และขยะ

สำหรับภาคขนส่ง จะมีมาตรการปรับเปลี่ยนการใช้พลังงานภาคขนส่ง เป็นพลังงานไฟฟ้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น การส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า และเชื้อเพลิงชีวภาพ เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาของคุณภาพอากาศที่เกิดขึ้นในปัจจุบันเนื่องมาจากฝุ่นละออง PM 2.5

จุดเด่นของแผนพลังงานชาติ คือ เป้าหมายการเปลี่ยนแหล่งที่มาของพลังงาน จากการพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิลเป็นส่วนใหญ่ให้พึ่งพาพลังงานหมุนเวียนมากขึ้น โดยการปรับเปลี่ยนดังกล่าวนอกจากจะช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์แล้ว ยังมีผลประโยชน์ร่วม (Co-benefit) อีกหลายประการ เช่น การลดมลพิษทางอากาศที่เป็นเหตุให้ในแต่ละปีมีผู้เสียชีวิตก่อนวัยอันควรถึง 5 หมื่นคน และสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจนับแสนล้านบาท ตลอดจนช่วยสร้าง “งานสีเขียว” (Green Jobs) หรืองานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และทำให้ประเทศไทยลดการพึ่งพาเชื้อเพลิงนำเข้า

การประชุมระดับโลก COP26 ที่กำลังจะเกิดขึ้น ทำให้เห็นชัดเจนว่าประเทศไทยยังคงตามหลังหลายประเทศในด้านเป้าหมาย และการดำเนินงานเพื่อลดก๊าซเรือนกระจกที่เข้มข้น ในปัจจุบันมี 63 ประเทศที่ได้ประกาศเป้าหมาย Net Zero อย่างเป็นทางการ ซึ่งในจำนวนนี้รวมประเทศเพื่อนบ้านของไทย เช่น ลาว และสิงคโปร์ โดยประเทศลาวได้ประกาศคำมั่นสัญญาทางการเมือง (Political Pledge) เรื่อง Net Zero และประเทศสิงคโปร์มีการบูรณาการแนวทาง Net Zero ไว้ในนโยบายระดับชาติแล้ว ในขณะที่ประเทศไทยยังคงไม่มีการประกาศนโยบายหรือเป้าหมาย Net Zero ครอบคลุมทุกภาคส่วน มีเพียงกรอบแผนพลังงานชาติที่ตั้งเป้าหมายที่เป็นรูปธรรมที่สุด


กำลังโหลดความคิดเห็น