xs
xsm
sm
md
lg

หยุดถ่านหิน!! ที่ปรึกษาด้านความยั่งยืน แนะไทยประกาศจุดยืนใน COP26

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


เยาวชนและบุคคลทั่วไปร่วมประท้วงเพื่อสภาพภูมิอากาศ (Climate Strike) ในเมือง Bogot? ก่อนการประชุม COP26 จะเกิดขึ้นในเดือนพฤศจิกายน 2564 ? Ivan Valencia / Greenpeace
ที่ปรึกษาด้านความยั่งยืนชี้ หากไม่ยอมปลดระวางถ่านหิน หรือเปลี่ยนผ่านพลังงานในไทย จะส่งผลกระทบต่อธุรกิจอย่างไร เผยอุปสรรคในการเปลี่ยนผ่านพลังงานในไทย พร้อมแนะไทยประกาศจุดยืนใน COP26 หลังเดินหน้าเปิดตัวรายงานสำคัญของกรีนพีซ ประเทศไทย 2 ฉบับ “เบื้องหลังการนำเข้าถ่านหินและข้อเสนอการเปลี่ยนผ่านพลังงานที่ยั่งยืนและเป็นธรรมในไทย” และ “ปลดระวางถ่านหินเพื่อการเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรมในประเทศไทย”

ภาคภูมิ โกเมศโสภา ที่ปรึกษาด้านความยั่งยืน ตัวแทนผู้ทำงานกับภาคธุรกิจด้านความยั่งยืน กล่าวถึง การหยุดใช้ถ่านหินและเปลี่ยนผ่านพลังงานไทย ซึ่งส่งผลกระทบต่อธุรกิจว่า เป้าหมายระดับประเทศของไทยประกาศไว้ว่า ตั้งใจจะลดก๊าซเรือนกระจกในปี ค.ศ. 2030 (พ.ศ.2573) ให้ได้ 20% ถือเป็นเป้าหมายที่ต่ำเตี้ยเรี่ยดิน ไม่เข้ากับสถานการณ์โลก ซึ่งได้แจกแจงเป็นประเด็น ดังนี้

1) หากเทียบตามหลักวิทยาศาสตร์แล้วปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่เราสามารถปล่อยได้ใน 10 ปีต่อจากนี้ ต้องน้อยกว่าที่สัญญาไว้ถึงครึ่งหนึ่ง

2) ภาคธุรกิจในประเทศต้องรับแรงกดดันจากกลุ่มคู่ค้าต่างชาติหรือบริษัทต้นสังกัดที่อยู่ในประเทศที่มีนโยบายบังคับให้บริษัทตั้งเป้าหมายลดก๊าซเรือนกระจกที่จริงจังตามหลักวิทยาศาสตร์ (SBTi) คือการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระดับที่ไม่ทำให้โลกมีอุณหภูมิเกิน 2 องศาเซลเซียสเป็นอย่างน้อย โดยจะมีการตรวจสอบข้อมูลทั้งหมดตั้งแต่วัตถุดิบ ซึ่งประเทศไทยก็เป็นฐานการผลิตวัตถุดิบเช่นกัน เพราะฉะนั้นจึงถือเป็นงานหนักสำหรับภาคธุรกิจในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพราะในภาคการผลิตสินค้าและบริการใด ก็ยังต้องใช้พลังงานไฟฟ้าจากแหล่งผลิตซึ่งมีที่มาจากถ่านหิน

3) หรือแม้แต่กับคนทั่วไปที่อยากลดคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของตัวเอง ก็ไม่ใช่เรื่องที่ทำได้ง่าย เพราะหนึ่งในรอยเท้าคาร์บอนคือการใช้ไฟฟ้า การจะลดปัญหาก๊าซเรือนกระจก หรือการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม ไม่สามารถทำได้เพียงแค่การเริ่มที่ตัวเอง เพราะมันเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่ทุกคนต้องใช้ไฟฟ้าที่เราไม่สามารถเลือกได้จากแหล่งฟอสซิล

4) ยกตัวอย่าง การใช้รถยนต์ไฟฟ้า (EV) นั้นจะมีประสิทธิภาพในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกหรือไม่ ขึ้นอยู่กับแหล่งที่มาของพลังงานไฟฟ้า โดยประเทศในแถบยุโรปการใช้รถยนต์ไฟฟ้าสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้สูงถึง 69% เพราะสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียนสูง ในขณะที่ประสิทธิของการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการใช้รถยนต์ไฟฟ้าในจีนมีเพียง 20 – 45% เนื่องจากยังมีสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงฟอสซิลที่สูงอยู่

๐ อะไรคืออุปสรรคในการเปลี่ยนผ่านพลังงานในไทย

สฤณี อาชวานันทกุล กรรมการผู้จัดการ ด้านการพัฒนาความรู้ บริษัท ป่าสาละ จำกัด ให้ความเห็นว่า อุปสรรคในการเปลี่ยนผ่านพลังงานในไทยมี 3 เรื่องใหญ่คือ หนึ่ง-ไม่มีภาวะการรับผิด สอง-ปัญหาวิสัยทัศน์ของผู้กำหนดนโยบาย สาม-กลุ่มผลประโยชน์ที่มีอิทธิพลทางเศรษฐกิจและการเมือง

การไม่มีภาวะรับผิดเห็นชัดจากเรื่องการวางแผนพลังงานของประเทศไทยที่มีการพยากรณ์ความต้องการการใช้ไฟฟ้าค่อนข้างสูง และแม้จะไม่เป็นไปตามที่คาดการณ์ แต่เมื่อกลับมาพยากรณ์ใหม่อีกครั้งก็ยังพยากรณ์ไว้สูงอยู่ เป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้กำลังการผลิตไฟฟ้าาสำรองเมื่อเทียบกับการใช้ไฟฟ้าจริงนั้นต่างกันเยอะมาก

วิธีคิดว่าพลังงานต้องจัดการโดยผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น ต้องรวมศูนย์ ต้องคุมจากศูนย์กลางกลายเป็นอุปสรรคสำคัญ ทั้ง ๆ ที่หากส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียนอย่างโซลาร์รูฟท็อปที่คนทุกคนสามารถผลิตไฟฟ้าได้เองและหากมีเหลือก็สามารถนำไฟฟ้าไปขายได้ ก็สอดคล้องกันกับแนวคิดเรื่องประชาธิปไตยพลังงาน และหลายๆ ประเทศเองก็เริ่มส่งเสริมโครงการนี้

การแข่งขันเป็นหัวใจสำคัญที่ช่วยผลักดันเรื่องธรรมาภิบาลในภาคพลังงาน แต่ประเทศไทยกลับไม่ส่งเสริมให้เกิดการแข่งขัน หนำซ้ำยังปล่อยให้ธุรกิจฟอสซิลได้เงินอุดหนุน ได้สิทธิประโยชน์ เช่น การลดหย่อนภาษี มีอิทธิพลทางการเมือง

๐ จุดยืนของประเทศไทยใน COP26

“แถลงไปเลยว่าเราจะเลิกใช้ถ่านหินในการผลิตพลังงานไฟฟ้า โดยเริ่มต้นแห่งแรกคือโรงไฟฟ้าของรัฐบาลเอง เพราะถ้าเกิดเราสามารถทำให้เห็นเป็นตัวอย่างได้ว่ารัฐบาลเอาจริงเอาจังในเรื่องนี้ ก็จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นได้ว่าประเทศไทยกำลังก้าวไปเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมโลก และรับผิดชอบต่อสังคม” รศ.ชาลี เจริญลาภนพรัตน์ นักวิชาการด้านวิศวกรรมไฟฟ้า

“ตั้งเป้าหมายที่อิงตามหลักวิทยาศาสตร์ ตั้งไปเลยว่าประเทศเราจะไม่ไปทำให้อุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้นเกิน 2 องศาเซลเซียส และช่วยทำให้ตลาดการซื้อขายพลังงานหมุนเวียนสะดวกมากขึ้นหน่อย ช่วยทำนโยบายที่เปิดทางให้ภาคธุรกิจที่อยากได้แหล่งพลังงานหมุนเวียนมาลดก๊าซเรือนกระจกด้วย” ภาคภูมิ โกเมศโสภา ที่ปรึกษาด้านความยั่งยืน ตัวแทนผู้ทำงานกับภาคธุรกิจด้านความยั่งยืน

“เห็นด้วยว่าควรประกาศเลิกใช้ถ่านหิน เพราะไม่ใช้ก็ไม่เป็นไร กำลังการผลิตไฟฟ้าสำรองของประเทศเรายังมีมโหฬารมาก และอยากให้ตั้งเป้าหมายอยู่บนฐานของความเป็นจริง มันดูตลกที่ประเทศอื่นจะ Net Zero Carbon ในปี ค.ศ. 2050 (พ.ศ.2593 )แล้วเราจะทำให้สำเร็จในปี ค.ศ 2070 (พ.ศ.2613 ) เหมือนอยู่ดีๆ ก็อยากขอเวลาเพิ่มจากคนอื่นโดยไม่มีเหตุผล เราควรจะไปในหมุดหมายเดียวกัน คือปี ค.ศ. 2050” (พ.ศ.2593 )

“นอกจากนี้ สิ่งที่อยากเห็นคือเรื่องของการส่งเสริมการแข่งขัน ขจัดอำนาจผูกขาดในภาคพลังงาน ซึ่งสิ่งนี้คงจะเรียกร้องที่รัฐบาลอย่างเดียวไม่ได้ ต้องเรียกร้องไปที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานด้วย เพราะการทลายอำนาจผูกขาด ส่งเสริมการแข่งขันเป็นหัวใจสำคัญที่จะทำให้ภาคธุรกิจเข้ามาอยู่ในสถานะที่ทำให้เขามีอำนาจต่อรองและช่วยขับเคลื่อนนโยบายไปสู่สังคม Low Carbon ได้” สฤณี อาชวานันทกุล กรรมการผู้จัดการ ด้านการพัฒนาความรู้ บริษัท ป่าสาละ จำกัด

รถไฟฟ้ากำลังชาร์จแบตเตอรี่ ? Bernd Hartung / Greenpeace
๐ รู้จัก COP26

COP26 เป็นการประชุมรัฐภาคีของความตกลงพหุภาคีระหว่างประเทศ(Multilateral Agreements)ต่างๆ ภายใต้การดำเนินงานขององค์การสหประชาชาติ Conference of Parties ที่เป็นรู้จักกันดีคือการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิ อากาศ(UNFCCC) ซึ่งเป็นเวทีเจรจาระหว่างประเทศที่ดำเนินสืบเนื่องมาเกือบ 3 ทศวรรษ และในต้นเดือนพฤศจิกายนนี้ จะมี COP26 ที่กลาสโกว์ ซึ่งทุกประเทศภายใต้ UNFCCC จะเข้าร่วมการเจรจาและให้คำมั่นต่อเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งแน่นอนว่าพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีของไทยก็จะเข้าร่วมประชุมและแถลงเป้าหมาย Net Zero ที่เพิ่งหยิบยกขึ้นมา เมื่อเร็วๆ นี้

COP26 คืออะไร ทำไมทั่วโลกจึงให้ความสำคัญ ธีระพงศ์ แสงลาภเจริญกิจ ผู้ประสานงานการปฏิวัติเมืองยั่งยืน กรีนพีซ ประเทศไทย อธิบายเกี่ยวกับการประชุม COP26 ดังนี้

หนึ่ง COP ย่อมาจาก (Conference of Parties) โดยเป็นการประชุมรัฐภาคีของความตกลงพหุภาคีระหว่างประเทศ(Multilateral Agreements)ต่างๆ ภายใต้การดำเนินงานขององค์การสหประชาชาติ Conference of Parties ที่เป็นรู้จักกันดีคือการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ(UNFCCC) ซึ่งเป็นเวทีเจรจาระหว่างประเทศที่ดำเนินสืบเนื่องมาเกือบ 3 ทศวรรษ

สอง เวทีเจรจาว่าด้วยวิกฤตสภาพภูมิอากาศเป็นที่รู้จักมากที่สุดคือ COP21 ซึ่งนำไปสู่ความตกลงปารีส(Paris Agreement)

สาม ในต้นเดือนพฤศจิกายนนี้ จะมี COP26 ที่กลาสโกว์ ทุกประเทศภายใต้ UNFCCC จะเข้าร่วมการเจรจาและให้คำมั่นต่อเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งแน่นอนว่าพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีของไทยก็จะเข้าร่วมประชุมและแถลงเป้าหมาย net zero ที่เพิ่งหยิบยกขึ้นมาเมื่อเร็วๆ นี้

และสี่ เสวนา ‘นายกฯ ไป COP26 = สภาพพ!!’ โดย Greenpeace Thailand การพูดคุยครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของการเปิดตัวรายงานสำคัญของกรีนพีซ ประเทศไทย 2 ฉบับ “เบื้องหลังการนำเข้าถ่านหินและข้อเสนอการเปลี่ยนผ่านพลังงานที่ยั่งยืนและเป็นธรรมในไทย” และ “ปลดระวางถ่านหินเพื่อการเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรมในประเทศไทย” ซึ่งการพูดคุยครั้งนี้ได้กล่าวถึงแผนการเดินทางไปประชุม COP26 ของผู้นำไทยที่กลาสโกว์ต้นเดือนหน้านี้ ว่าจะมีแนวทางให้คำมั่นสัญญาสำคัญอย่างการลดการปลดปล่อยคาร์บอนจนสามารถปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ หรือ Net Zero และการประกาศเลิกใช้ถ่านหินในการผลิตกระแสไฟฟ้าได้หรือไม่ รายงานทั้งสองฉบับนี้จะเป็นคำตอบว่าถึงเวลาแล้วที่ประเทศไทยสามารถปลดระวางการใช้ถ่านหินได้จริงภายในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า และชวนจับตามองท่าทีของผู้นำไทยในเวทีโลกในเรื่องนี้

ที่มา - เสวนา ‘นายกฯ ไป COP26 = สภาพพ!!’ โดย Greenpeace Thailand


กำลังโหลดความคิดเห็น