xs
xsm
sm
md
lg

นักวิชาการพลังงานเจาะลึก ทำไมโลกต้องหยุดใช้ถ่านหิน?!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นักวิชาการด้านพลังงานให้ข้อมูลสถานการณ์ถ่านหินทั่วโลกและไทย เจาะลึกทำไมต้องพูดเรื่องการปลดระวางถ่านหินตัวการปล่อยก๊าซเรือนกระจก แจกแจงละเอียดต้นทุนแฝงเพียบ ไม่ใช่เชื้อเพลิงราคาถูกจริง ชี้ประโยชน์สำคัญมหาศาลหากเลิกใช้ได้จริง


รศ.ชาลี เจริญลาภนพรัตน์ นักวิชาการด้านพลังงาน สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า การปลดระวางถ่านหินคือการเลิกพึ่งพาการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากถ่านหิน คนจึงกังวลว่าหากมีการเลิกใช้ถ่านหินจริงๆ สถานการณ์ไฟฟ้าและพลังงานในประเทศจะเป็นอย่างไร ในเมื่อรู้กันว่าพลังงานถ่านหิน เป็นเชื้อเพลิงที่มีราคาถูก

ในความจริงการจะได้พลังงานถ่านหินมาเราต้องผ่านกระบวนการตัดต้นไม้ เปิดหน้าดิน ขุดทำเหมืองถ่านหินขึ้นมา และขนส่งทางทะเลเพื่อกลับมาใช้ในไทย แล้วจึงจะผลิตเป็นพลังงานได้ ใช้พลังงานเยอะมาก แต่สิ่งที่เราได้กลับมาเป็นไฟฟ้านั้นนับเป็นแค่ 1 ใน 3 ของพลังงานที่เสียไปเท่านั้น และนอกจากพลังงานที่ได้รับ ยังก่อให้เกิดมลพิษทางน้ำ ทางอากาศ และทางดินแถมมาด้วย

คาร์บอนไดออกไซด์ (CO₂ ) ที่ปลดปล่อยออกมาจากถ่านหินนั้นสูงกว่าเชื้อเพลิงอื่นๆ ถึง 2 เท่า ในการผลิตไฟฟ้าหนึ่งหน่วยเท่าๆ กัน เมื่อเทียบการเผาไหม้เชื้อเพลิงจากก๊าซธรรมชาติกับการเผาไหม้ถ่านหิน พบว่าถ่านหินจะปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกมา 1 กิโลกรัม แต่ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากจากการเผาไหม้ของก๊าซธรรมชาติจะมีแค่ 400 กว่ากรัมเท่านั้น

ถ่านหินเป็นตัวการสำคัญที่ปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO₂) ออกมามากที่สุด ในปีที่ผ่านๆ มาปล่อยมากถึง 13.7 กิกะตัน

เมื่อนับความสูญเสียที่เกิดขึ้น ทั้งต้นทุนภายนอกที่ต้องนำไปดูแลคนที่ได้รับผลกระทบทางด้านสุขภาพ การเยียวยาเรื่องที่ดินทำกิน จัดการกับปัญหาสิ่งแวดล้อม ต้นทุนที่แท้จริงของถ่านหินที่หลายคนคิดว่าราคาถูกจึงอาจไม่ได้ถูกอย่างที่คิด ดังนั้น ถ่านหินจึงไม่ใช่พลังงานราคาถูกอย่างที่คิด

แนวโน้มทั่วโลกเริ่มมีการถอนการลงทุนด้านถ่านหิน (Coal Divestment) แล้ว ยิ่งมีการพยายามแก้ไขปัญหาวิกฤตสภาพภูมิอากาศผ่าน ความตกลงปารีส ‘Paris Agreement’ โดยรักษาอุณหภูมิเฉลี่ยของโลก ให้ต่ำกว่า 2 องศาเซลเซียส เหนืออุณหภูมิในช่วงก่อนการพัฒนาอุตสาหกรรม และพยายามจำกัดให้อุณหภูมิโลกต่ำกว่านั้นประมาณ 1.5 องศาเซลเซียสในช่วงก่อนยุคอุตสาหกรรม

หลาย ๆ ประเทศจึงเริ่มมีการประกาศเป้าหมายสู่ Net Zero Carbon แล้ว ส่วนของประเทศไทยประกาศไว้ว่าจะทำให้ได้ภายในปี ค.ศ. 2070 (พ.ศ. 2613) แต่ยังไม่มีแผนการว่าจะไปสู่จุดนั้นได้อย่างไร

๐ ถ้าปลดระวางถ่านหินได้จริง ประเทศไทยจะเป็นอย่างไร

แม้จะเอาสัดส่วนถ่านหินออกไปจากแผน PDP ก็ไม่ได้กระเทือนความมั่นคงทางพลังงานทางไฟฟ้าของไทย ที่ปกติก็เพียงพอแล้ว ทั่วโลกตั้งกำลังการผลิตไฟฟ้าสำรองตามมาตรฐานสากลจะกำหนดไว้ราว 15% ของความต้องการไฟฟ้าสูงสุดก็เพียงพอแล้ว

ปัจจุบันประเทศไทยมีกำลังผลิตไฟฟ้าสำรองสูงถึง 43-48% จากการจำลองว่าในปี 2570 เราสามารถปลดระวางถ่านหินได้จริง กำลังการผลิตไฟฟ้าสำรองของประเทศไทยก็ยังสูงกว่ามาตรฐานสากลที่กำหนดไว้ที่ 15% หรือแม้ว่าจะเลิกในปี 2580 ประเทศไทยก็ยังมีความมั่นคงทางพลังงานอยู่ดี

ประเทศไทยมีพลังงานทางเลือกหลายประเภท ทั้งพลังงานหมุนเวียน ได้แก่ พลังงานลม พลังงานแสงแดด พลังงานน้ำ และก๊าซชีวภาพ ซึ่งหลายๆ แหล่งพลังงานมีประสิทธิภาพสูงมาก ทำให้สามารถกระจายแหล่งพลังงานให้สมดุลได้

กำลังการผลิตไฟฟ้าในประเทศไทยมีแค่ 30,000 เมกะวัตต์ก็เพียงพอแล้ว แต่เรากลับมีมากถึง 45,000 เมกะวัตต์ ทำให้กำลังการผลิตไฟฟ้าส่วนที่เราสร้างโรงไฟฟ้าสำรองเอาไว้ กลายเป็นต้นทุนที่สำคัญของค่าไฟฟ้าในประเทศไทย

ที่ผ่านมา แม้โรงไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่จะไม่มีการเดินเครื่องเลย แต่รัฐก็ต้องจ่ายค่าความพร้อมจ่ายให้เอกชน (ประมาณการว่าค่าความพร้อมจ่ายอยู่ที่ 33,000 ล้านบาทต่อปี) ซึ่งค่าความพร้อมจ่ายเหล่านี้ถูกบวกรวมอยู่ในค่าไฟฟ้าของพวกเรา ค่าไฟฟ้าจึงแพงกว่าที่ควรจะเป็น

การตัดโรงไฟฟ้าถ่านหินออกไปก็เหมือนลดค่าความพร้อมจ่าย แม้ช่วงแรกหลังจากตัดค่าไฟฟ้าอาจจะแพงขึ้นเพราะมีการเปลี่ยนแปลง แต่ในระยะยาวค่าไฟในประเทศจะดีขึ้นเรื่อย ๆ

๐ ประโยชน์สำคัญหากเลิกใช้ถ่านหินได้จริง

สิ่งที่เกิดทันทีคือการลดปริมาณสารปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม ลดมลพิษทางอากาศ และปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็ก นอกจากนี้ยังมีการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นตามมา คือ

หากสามารถยกเลิกถ่านหินได้ในปี 2570 จะทำให้เราลดการปล่อยก๊าซไนโตรเจนออกไซด์ มากถึง 38,200 ล้านตัน แต่หากไม่ทำอะไรเลยอย่างในปัจจุบัน และมีการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ก็จะทำให้เรามีผู้ป่วยจากมลพิษทางอากาศมากถึง 8,000-9,000 รายต่อปี

เพราะถ่านหินสร้างคาร์บอนไดออกไซด์มากกว่าฟอสซิลอื่นๆ ถึงเราจะใช้พลังงานไฟฟ้าเท่าเดิม ก็สามารถลดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 2 เท่าถ้าเลิกใช้ถ่านหิน กรณีที่เรายกเลิกการใช้ถ่านหินทันทีจะลดคาร์บอนไดออกไซด์ไปได้ปีละ 37-47 ล้านตัน (ปริมาณเทียบเท่ากับการดูดซับคาร์บอนของป่าที่มีใหญ่ขนาด 4 เท่าของกรุงเทพฯ) ซึ่งจะทำให้ไทยก้าวไปสู่ Net Zero Carbon ได้เร็วขึ้นด้วย

นอกจากนั้น ยังมีประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจ เพราะสามารถนำเงินที่จ่ายเป็นค่าความพร้อมจ่ายให้โรงไฟฟ้าต่างๆ ไปลงทุนอย่างอื่นได้ หรือลดค่าไฟฟ้าให้ไม่ต้องจ่ายค่าความพร้อมจ่ายที่ไม่จำเป็นได้

ที่มา - เสวนา ‘นายกฯ ไป COP26 = สภาพพ!!’ โดย Greenpeace Thailand


กำลังโหลดความคิดเห็น