xs
xsm
sm
md
lg

หน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์คือกองทัพส่วนพระองค์ใช่หรือไม่?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผศ.ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์
สาขาวิชาวิทยาการประกันภัยและการบริหารความเสี่ยง
สาขาวิชาปัญญาและการวิเคราะห์ธุรกิจ
คณะสถิติประยุกต์สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์


พวกล้มเจ้าหรือปฏิกษัตริย์นิยมมักกล่าวโจมตีใส่ร้ายว่า สถาบันพยายามสร้างกองทัพส่วนพระองค์ขึ้นมา เป็นการกระชับพระราชอำนาจให้เข้มแข็งมากกว่าเดิมที่เข้มแข็งมากอยู่แล้ว กระแสข่าวลือนี้เริ่มมีมาให้เห็นในโลกออนไลน์นับตั้งแต่สส. พรรคอนาคตใหม่ 70 คน ในเวลานั้นลงมติคัดค้าน พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) โอนอัตรากำลังพลและงบประมาณบางส่วนของกองทัพบก กองทัพไทย กระทรวงกลาโหม ไปเป็นของหน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ ซึ่งเป็นส่วนราชการในพระองค์ ในปีพ.ศ.2562 ดังที่ผมได้เขียนไว้ในบทความอนาคตของอนาคตใหม่ผู้หาญท้าทายพระราชอำนาจ? https://mgronline.com/daily/detail/9620000101896 พร้อมทั้งทำนายว่าพรรคอนาคตใหม่จะถูกยุบ คนเนรคุณสองแผ่นดินจะหมดอนาคตทางการเมืองและท้ายที่สุดจะไม่มีแผ่นดินอยู่

ทั้งนี้บทความนี้จุดมุ่งหมายสามประการ

หนึ่ง ถ่ายทอดประวัติความเป็นมาของหน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ ขอเรียกโดยย่อว่า นถปภ.รอ.
สอง อธิบายความจำเป็นและเหตุผลในเชิงทฤษฎีองค์การและการออกแบบ (Organizational theory and design) ของนถปภ.รอ.
และสาม อภิปรายว่านถปภ.รอ. เป็นกองทัพส่วนพระองค์จริงหรือไม่ และนถปภ.รอ. ทำให้งบประมาณหน่วยราชการในพระองค์เพิ่มขึ้นสูงผิดปกติหรือไม่?

ความเป็นมาของนถปภ.รอ.

เพื่อให้เข้าใจความเป็นมาของนถปภ.รอ. ได้โดยง่าย ผมได้วาดแผนภาพเส้นเวลาหรือ Timeline ของนถปภ.รอ. ดังรูปด้านล่างนี้

การกล่าวถึงความเป็นมาของนถปภ.รอ. จำเป็นต้องเล่าย้อนไปถึงมหาดเล็กไล่กาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ในปีพุทธศักราช 2402 ทรงให้รวบรวมเยาวชนที่หน่วยก้านดีมาฝึกหัดเป็นทหารอย่างสมัยใหม่ ทำหน้าที่ทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชศรัทธาในพระพุทธศาสนาอย่างมั่นคงแรงกล้า ทรงบาตรทุกวันในตอนย่ำรุ่งในพระบรมมหาราชวัง แต่ในเวลานั้นบริเวณพระบรมมหาราชวังมีกามากมายมาคอยก่อกวนจิกกินภัตตาหารที่จะทรงบาตรถวายพระภิกษุสงฆ์ รัชกาลที่ 4 ทรงพระกรุณาให้ทหารเยาวชนฝึกหัดทหารอย่างสมัยใหม่ มาทำหน้าที่ช่วยไล่กาเวลาทรงบาตร จึงเป็นที่มาของคำว่า ทหารมหาดเล็กไล่กา


ต่อมาในปี 2411 ต้นรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้รวบรวมทหารมหาดเล็กข้าหลวงเดิมจำนวน 24 คน ตั้งขึ้นเป็นหน่วยทหาร “ทหารสองโหล ถือปืนชไนเดอร์”

ทั้งนี้ พระยาสุรศักดิ์มนตรี (แสง ชูโต) ได้นำบุตรชาย คือ นายเจิม ชูโต (ต่อมาคือเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี เจิม แสง-ชูโต) เข้าถวายตัวเป็นทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ โดยสมัครเป็นตัวอย่างคนแรก

การที่โปรดให้รวบรวมทหารมหาดเล็กข้าหลวงเดิมนั้น เป็นการที่ทรงต้องการให้ฝึกหัดทหารอย่างยุโรปหรือสมัยใหม่ อีกนัยหนึ่งเป็นการถ่วงดุลอำนาจและสร้างฐานพระราชอำนาจของยุวกษัตริย์ที่เมื่อต้นรัชกาลนั้น ไม่ได้มีพระราชอำนาจเต็ม เจ้านายและข้าราชการต่างเกรงกลัวสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ หรือสมเด็จเจ้าพระยาองค์ใหญ่แห่งสกุลบุนนาค ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ การรวบรวมทหารมหาดเล็กที่เป็นข้าหลวงเดิมนั้น ก็เพราะต้องถวายงานรักษาพระองค์ รักษาความปลอดภัยถวายอย่างใกล้ชิด จึงต้องทรงเลือกผู้ทรงไว้วางพระราชหฤทัยใกล้ชิด

ในปี 2413 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าแต่งตั้งมีราชองครักษ์คนแรก คือ นายพลโท พระบรมวงศ์เธอกรมหลวงอดิศรอุดมเดช พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงต้นราชสกุล “ศุขสวัสดิ์” ให้ตามเสด็จสิงคโปร์และปัตตาเวีย (อินโดนีเซียในปัจจุบัน) โดยในภายหลังทรงเรียกว่า "แอด-เดอ-แกมป์หลวง" หรือ Royal Thai Aide-De-Camp ยังมิได้ทรงบัญญัติศัพท์ว่าราชองครักษ์ขึ้นมาใช้อย่างเป็นทางการ

ในปี 2414 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงตั้งกรมทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ (ราบ 1 ในปัจจุบัน) และทรงดำรงพระยศเป็นนายพันเอก ผู้บังคับการพิเศษแห่งกองทหารราบมหาดเล็กรักษาพระองค์ ด้วยพระองค์เอง

ด้วยเหตุนี้เครื่องหมายประจำกรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ ในพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวในปัจจุบัน จึงมีตราพระเกี้ยวอันเป็นพระราชลัญจกรประจำพระองค์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประดิษฐานบนพานแว่นฟ้า มีฉัตรประกอบสองข้างเหนือตราอาร์มแผ่นดินรูปไอยราพตหรือช้างสามเศียร ด้านซ้ายของตราอาร์มแผ่นดินไอยราพตมีคชสีห์ถือพระแสงดาบโค้ง ด้านขวาของตราอาร์มแผ่นดินมีราชสีห์ถือพระแสงของ้าวและชูช่อธัญพืช และผูกริ้วแพรแถบที่มีคำว่าราชวัลลภอยู่ด้านใต้ตราอาร์มแผ่นดิน

คำว่าราชวัลลภ เป็นคำสมาส ราช+วัลลภ วัลลภหมายถึง คนสนิท คนใกล้ชิด ดังนั้นราชวัลลภจึงหมายถึงคนสนิทใกล้ชิดของพระราชา


ในปี พ.ศ. 2434 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนนามเป็น "ราชองครักษ์" สืบมาจนปัจจุบัน

ในปี พ.ศ. 2441 (รัตนโกสินทร์ศก 117) พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงตรา "พระราชบัญญัติราชองครักษ์ ร.ศ.117" จึงเป็นที่มาของกรมราชองครักษ์ ในกระทรวงกลาโหม ซึ่งต่อมาได้ผนวกรวมเข้ามาเป็น นถปภ.รอ. ในรัชกาลปัจจุบัน

สำหรับผู้ที่สนใจประวัติความเป็นมาของราชองครักษ์ในแต่ละรัชกาล นับตั้งแต่รัชกาลที่ 5 ถึงรัชกาลที่ 9 สามารถอ่านและศึกษาได้จากหนังสือ 100 ปีกรมราชองครักษ์ ซึ่งรวบรวมรายพระนามและรายนามสมุหราชองครักษ์ (เทียบเท่ากับอธิบดีกรมราชองครักษ์) และรายชื่อราชองครักษ์ไว้อย่างครบถ้วน

ปกหนังสือ 100 ปีกรมราชองครักษ์ ตีพิมพ์ในปี พ.ศ. 2541
ในปี 2445 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโปรดให้ตั้งกองทหารรักษาพระบรมมหาราชวังหรือกองทหารล้อมวัง (ซึ่งคือกรมทหารราบที่ 11 มหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ในพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ในปัจจุบัน) โดยมีนายพันเอกสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชเจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงเป็นนายทหารประจำกอง

ต้นรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณารับเป็นผู้บังคับการพิเศษกองทหารรักษาพระบรมมหาราชวัง (หรือราบ 11 ปัจจุบัน)

ด้วยเหตุนี้ตราประจำกรมทหารราบที่ 11 มหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ในพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงเป็นตราโล่ห์พื้นสีน้ำเงินอันเป็นสีประจำวันพระบรมราชสมภพในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ในตราโล่ประดิษฐานพระมหามงกุฎ ผูกแพรแถบ และมีตราอุณาโลมอันตราประจำพระมหาจักรีบรมราชวงศ์ ภายใต้พระมหามงกุฎ ด้านใต้พระมหามงกุฎ มีตราวชิราวุธ (วชิร+อาวุธ=อาวุธของพระอินทร์) แนวนอน อันเป็นตราพระราชลัญจกรประจำพระองค์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ตราวชิราวุธนี้ผูกลายถวายโดยสมเด็จครู สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ (โปรดอ่านได้จากบทความตำนานวชิราวุธ เขียนโดย อาจารย์วรชาติ มีชูบท https://www.vajiravudh.ac.th/VC_Annals/vc_annal65.htm)

สิ่งที่น่าสังเกตอีกประการหนึ่งคือพระราชลัญจกรประจำพระองค์ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวและพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวมีความละม้ายกันมาก โปรดอ่านได้จาก รามาธิบดีศรีสินทร มหาวชิราวุธ-รามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ https://mgronline.com/daily/detail/9620000042737


ในปี 2469 อันเป็นปีที่สองของรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงให้ตราพระราชบัญญัติราชองครักษ์ พ.ศ. 2469 ขึ้น

การเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 2475 ที่เกิดขึ้นในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว นอกจากมีการยุบกระทรวงวังลงมาเป็นศาลาว่าการพระราชวังเพราะคณะราษฎรต้องการลิดรอนพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ และท้ายที่สุดนำสู่การโอนกรมทหารรักษาวังไปสังกัดกระทรวงกลาโหม ในวันที่ 10 สิงหาคม 2478 หลังเกิดเหตุการณ์กบฏบวรเดชในปี 2476 เพื่อไม่ให้พระเจ้าแผ่นดินมีกำลังทหารในพระราชวัง

อย่างไรก็ตามพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าให้ตราพระราชบัญญัติราชองครักษ์แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช 2479 โดยความยินยอมของสภาผู้แทนราษฎร เพื่อปรับแก้ปลอกแขนของราชองครักษ์ และยกเลิกคำว่ากระทรวงทหารเรือเนื่องจากมีการยุบรวมกระทรวงทหารเรือเข้ามาอยู่ในกระทรวงกลาโหม (ซึ่งในสมัยรัชกาลที่ 6 เรียกว่ากระทรวงยุทธนาธิการ)
มีนักวิชาการหลายคนได้ตั้งข้อสังเกตว่ากรมราชองครักษ์หลัง 2475 ได้หายไปจากโครงสร้างของกระทรวงกลาโหม หรืออีกนัยหนึ่งกรมราชองครักษ์ถูกยุบหรือลดความสำคัญลงไป ได้แก่ ปรัชญากรณ์ ละครพล. (2563). กองทัพคณะราษฎร: การปรับปรุงกองทัพบกช่วงเปลี่ยนผ่านทางการเมือง (พ.ศ. 2475-2476). วารสารประวัติศาสตร์ ธรรมศาสตร์,7(2), 65-90. และ ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์. (2534). รัฐประหาร 20 มิถุนายน พ.ศ. 2476, วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต, ภาควิชาประวัติศาสตร์คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หน้า 162. ซึ่งวิทยานิพนธ์เล่มหลังนี้มี ดร. ชาญวิทย์ เกษตรศิริ เป็นอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ โดยอ้างอิงว่า พระบรมราชโองการ ประกาศจัดระเบียบป้องกันอาณาจักร พ.ศ. 2475 ว่ากระทรวงกลาโหม ในโครงสร้างใหม่ไม่มีกรมราชองครักษ์ โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา ลงวันที่ 6 กรกฎาคม 2475 หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองแผ่นดินเพียงไม่ถึงสองสัปดาห์ นอกจากนี้ยังมีการปลดนายทหารออกรับพระราชทานบำนาญเป็นจำนวนมาก

ที่มา: ปรัชญากรณ์ ลครพล. (2561). คณะราษฎรกับการปรับปรุงกองทัพบกไทย พ.ศ. 2475-2488 วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต, ภาควิชาประวัติศาสตร์คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. หน้า 40
ข้อนี้ไม่ตรงกับที่นำเสนอในหนังสือ 100 ปีกรมราชองครักษ์ ซึ่งไม่ได้มีการบันทึกประวัติศาสตร์ในช่วงนี้ไว้ จึงทำให้สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นการย้ายกรมราชองครักษ์ จากกรมใหญ่ในกระทรวงกลาโหม ไปเป็นกรมเล็กในสังกัดกรมใหญ่ของกระทรวงกลาโหม ก็อาจจะเป็นได้เช่นกัน มีความเป็นไปได้ว่ากรมราชองครักษ์น่าจะได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 2475 อยู่มากพอสมควร เพื่อลิดรอนพระราชอำนาจของสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งประเด็นนี้น่าจะสนใจศึกษาเพิ่มเติมอีกต่อไป

ในปี พ.ศ. 2580 ในตอนต้นรัชกาลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ได้มีการตราพระราชบัญญัติองครักษ์ 2580 มีสมุหราชองครักษ์ เป็นผู้บังคับบัญชารับผิดชอบกรมราชองครักษ์ มีการแบ่งราชองครักษ์ ออกเป็นสามประเภท หนึ่งราชองครักษ์พิเศษเป็นตำแหน่งกิตติมศักดิ์ สองราชองครักษ์ประจำ สามราชองครักษ์เวร

ในต้นรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช มีนายพันโทหลวงสุรณรงค์ (ธงไชย โชติกเสถียร) ตามเสด็จพระราชดำเนินกลับสวิสเซอร์แลนด์ไปถวายงานในฐานะราชองครักษ์ จนกระทั่งเสด็จนิวัติพระนครในปี 2493 หลังจากนั้นได้มีการแก้ไขและตรากฎหมายเกี่ยวกับราชองครักษ์ตลอดรัชกาลที่ 9 อีกหลายครั้งหลายครา

ในปี 2495 มีการตราพระราชบัญญัตินายตำรวจราชสำนัก พ.ศ. 2495 กำหนดให้มีนายตำรวจราชสำนักสามประเภท คือนายตำรวจราชสำนักพิเศษ นายตำรวจราชสำนักเวร และนายตำรวจราชสำนักประจำ

เมื่อวันที่ 3 มกราคม 2520 หลังจากที่สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร ได้อภิเษกสมรสกับหม่อมหลวงโสมสวลี กิติยากร ได้ทรงย้ายออกจากพระตำหนักจิตรลดารโหฐานมาประทับที่พระที่นั่งอัมพรสถาน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชทรงพระกรุณาโปรดเกล้าแต่งตั้งราชองครักษ์ประจำปฏิบัติหน้าที่ถวายสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร คือพันเอกสายัณห์ คัมภีรพันธุ์ (ต่อมาดำรงตำแหน่งพลเอก สมุหราชองครักษ์) เป็นหัวหน้าราชองครักษ์ประจำพระองค์ เรือเอกนาวี เปล่งวิทยา เรืออากาศเอกอนุพันธ์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา นายตำรวจราชสำนักประจำคือพันตำรวจเอกจารักษ์ แสงทวีป นอกจากนี้ยังมีมีบุคคลสำคัญที่โอนจากกรมราชองครักษ์อีกสองนายคือเรืออากาศเอก พัลลภ บุญลือ และร้อยเอก ต่อศักดิ์ ปาละกะวงศ์ ณ อยุธยา (ซึ่งต่อมาได้รับการโปรดเกล้าแต่งตั้งเป็นราชองครักษ์ประจำ)

ต่อมาจึงได้มีการตั้งหน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยเป็นหน่วยงานในสังกัด กระทรวงกลาโหม และในวันที่ 9 มกราคม 2535 ได้ปรับย้ายหน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัย จากกระทรวงกลาโหม มาสังกัดสำนักผู้บัญชาการทหารสูงสุด กองบัญชาการกองทัพไทย กระทรวงกลาโหม จึงถือว่าเป็นวันที่ 9 มกราคม 2535 เป็นวันสถาปนาหน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์

ในวันที่ 29 มกราคม 2535 มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าให้พลโท สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร ผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ เป็นผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัย สำนักผู้บัญชาการทหารสูงสุด (อัตราพลเอก พลอากาศเอก พลเรือเอก) และพระราชทานยศเป็น พลเอก พลอากาศเอก พลเรือเอก


ในวันที่ 18 พฤศจิกายน 2535 ได้พระราชทานพระบรมราชานุญาตสถาปนาหน่วยทหารเป็นหน่วยทหารรักษาพระองค์โดยใช้นามว่า “หน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์”


ในปี 2556 มีการยกฐานะนถปภ.รอ.เป็นกรมในสังกัดกระทรวงกลาโหม โดยมีสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการ

ในปี 2557 มีการออกพระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการและกําหนดหน้าที่ของส่วนราชการหน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ กระทรวงกลาโหม พ.ศ. 2557 http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2557/A/038/1.PDF นอกจากนี้ยังมีการออกพระราชบัญญัติการถวายความปลอดภัย พ.ศ. 2557 https://library2.parliament.go.th/giventake/content_nla2557/law77-131157-1.pdf กำหนดให้มี คณะกรรมการการถวายความปลอดภัย ประกอบด้วยหัวหน้าหน่วยงานด้านการข่าว ความมั่นคง และราชสำนักมีหน้าที่ร่วมกันในการวางแผน กำหนดแนวทาง พิจารณาระเบียบข้อบังคับ เกี่ยวกับการถวายความปลอดภัย

ในปี 2560 ได้มีการยกระดับ นถปภ.รอ. เป็นหน่วยราชการในพระองค์ตามพระราชกำหนดระเบียบบริหารราชการในพระองค์ 2560 https://library2.parliament.go.th/giventake/content_nla2557/law48-010560-1.pdf และ พระราชกฤษฎีกาจัดระเบียบราชการและการบริหารงานบุคคลของราชการในพระองค์ พ.ศ. 2560 http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2560/A/051/1.PDF โดยอาศัยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 15 นอกจากนี้ยังมีการโอนกรมราชองครักษ์ กระทรวงกลาโหม และ สำนักงานนายตำรวจราชองครักษ์ในพระองค์ มาเป็น นถปภ.รอ.

และมีการออกพระราชบัญญัติการถวายความปลอดภัย พ.ศ. 2560 https://library2.parliament.go.th/giventake/content_nla2557/law126-161260-1.pdfเพื่อปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยการถวายความปลอดภัยให้สอดคล้องกับการกําหนดหน้าที่ส่วนราขการในพระองค์และกําหนดหลักเกณฑ์ในการถวายความปลอดภัยให้สามารถดําเนินการถวายพระเกียรติในการปฏิบัติภารกิจได้ตามพระราชประสงค์

ในปี 2562 มีการโอนกรมทหารราบที่ ๑ และ ๑๑ มหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ ตามพระราชกำหนด โอนอัตรากำลังพลและงบประมาณบางส่วนของกองทัพบก กองทัพไทย กระทรวงกลาโหมไปเป็นของหน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ซึ่งเป็นส่วนราชการในพระองค์ พ.ศ. 2562 http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2562/A/103/T_0001.PDF

โครงสร้างองค์กรหรือผังองค์การของ นถปภ.รอ. ในปัจจุบันแสดงดังภาพด้านล่างนี้


ปัจจุบัน นถปภ.รอ. มีภารกิจดังนี้

มีหน้าที่วางแผน อำนวยการ ประสานงาน บังคับบัญชา ควบคุม และกำกับดูแลการปฏิบัติงานในการถวายอารักขา รักษาความปลอดภัย และถวายพระเกียรติองค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี พระรัชทายาท และพระบรมวงศานุวงศ์ รวมทั้งปฏิบัติหน้าที่ทางพระราชพิธีตามที่ได้รับมอบหมาย และรักษาความสงบเรียบร้อยภายในเขตพระราชฐาน ตลอดจนวางแผน อำนวยการ ประสานงาน ดำเนินการ และกำกับงานในหน้าที่ในองค์พระมหากษัตริย์ และมีหน้าที่รักษาความปลอดภัยสำหรับผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ผู้แทนพระองค์ และพระราชอาคันตุกะ

นอกจากนี้นถปภ.รอ. ยังทำงานในเรื่องจิตอาสาพระราชทาน 904 และโรงเรียนจิตอาสาพระราชทานอีกด้วย

นถปภ.รอ. ประกอบด้วยห้าหน่วยงานในสังกัดดังนี้

1. สำนักงานผู้บังคับบัญชา มีหน้าที่บังคับบัญชา ควบคุม และกำกับดูแล การปฏิบัติงานในการถวายอารักขาและถวายพระเกียรติสำหรับองค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี พระรัชทายาท ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ พระบรมวงศานุวงศ์ ผู้แทนพระองค์ และพระราชอาคันตุกะ

2. สำนักงานนายทหารปฏิบัติการพิเศษในพระองค์ มีหน้าที่ดำเนินการ และปฏิบัติการเพื่อสนองตอบความต้องการของผู้บังคับบัญชาในสายงานที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนปฏิบัติงานโดยตรงต่อในพระองค์

3. สำนักงานฝ่ายเสนาธิการในพระองค์ มีหน้าที่วางแผน สั่งการ อำนวยการประสานงาน กำกับการ และดำเนินการตามพระราชกรณียกิจและพระราชกิจทั้งปวงให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อยตรงตามพระราชโองการหรือพระราชประสงค์

4. หน่วยบัญชาการทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ มีหน้าที่เกี่ยวกับการถวายพระเกียรติ การถวายความปลอดภัย การถวายอารักขา และการปฏิบัติตามพระราชประสงค์ในพระองค์ การรักษาความสงบเรียบร้อยภายในโดยรอบเขตพระราชฐาน ตลอดจนการปฏิบัติภารกิจอื่นตามที่ได้รับมอบหมาย และมีหน้าที่รักษาความปลอดภัยสำหรับพระบรมวงศานุวงศ์ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ผู้แทนพระองค์ และพระราชอาคันตุกะ โดยมี กรมทหารราบที่ 1 และ 11 มหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ เป็นหน่วยงานในสังกัดนี้

5. สำนักงานรายตำรวจราชองครักษ์ในพระองค์ มีหน้าที่ถวายความปลอดภัย ถวายอารักขา ถวายพระเกียรติ องค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี พระรัชทายาท ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ พระบรมวงศานุวงศ์ ผู้แทนพระองค์ พระราชอาคันตุกะ และบุคคลอื่นตามที่พระมหากษัตริย์ทรงมอบหมาย และปฏิบัติภารกิจทั้งปวงให้เป็นไปตามพระราชประสงค์ ตามราชประเพณี
(อ้างอิง https://www.royaloffice.th/about-royaloffice/หน่วยบัญชาการถวายความป/อำนาจหน้าที่/)

ปัจจุบันตราประจำหน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ เป็นรูปพระมหามงกุฎประกอบด้วยรัศมี 17 แฉก ประกอบแพรแถบ ภายใต้พระมหามงกุฎมีตราอุณาโลมอันเป็นตราประจำพระมหาบรมราชจักรีวงศ์และตราอุณาโลมเหนือเลข 10 ไทย เลขสิบไทยหมายถึงรัชกาลที่ 10 พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหามงกุฎประดิษฐานเหนืออักษรย่อพระปรมาภิไธย วปร โดยที่

ตัวอักษร ว. ใช้สีขาวนวล แทนวันพระราชสมภพ (วันจันทร์) โดยใช้สีจากคติสีประจำกายของเทวดานพเคราะห์ นั่นคือ พระจันทร์ ซึ่งมีสีขาวนวล

ตัวอักษร ป. ใช้สีเหลือง แทนวันพระบรมราชสมภพพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (รัชกาลที่ 9) ใช้สีตามคติสีประจำวันตามที่สันนิษฐานว่าปรับใหม่ในสมัยรัชกาลที่ 5 คือ สีเหลือง แทนวันจันทร์

ตัวอักษร ร. ใช้สีฟ้า แทนวันพระราชสมภพ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ใช้สีตามคติสีประจำวันที่สันนิษฐานว่าปรับใหม่ในสมัยรัชกาลที่ 5 คือ สีฟ้า แทนวันศุกร์


ความจำเป็นและเหตุผลในเชิงทฤษฎีองค์การและการออกแบบ (Organizational theory and design) ของนถปภ.รอ.

พล.ต.อ.วสิษฐ เดชกุญชร อดีตหัวหน้านายตำรวจราชสำนักประจำยาวนานเกือบ 20 ปี ได้กราบบังคมทูลพระกรุณาขอลาออกจากตำแหน่งหัวหน้านายตำรวจราชสำนักประจำต่อพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ด้วยเกรงว่าการรับราชการถวายยาวนานเกินไปจะทำให้เกิดความหละหลวมในการถวายความปลอดภัยเพราะทำทุกวันมาจนชินเกินไป ก่อนจะออกมาดำรงตำแหน่งรองอธิบดีกรมตำรวจฝ่ายกิจการพิเศษ

แต่พล.ต.อ.วสิษฐ เดชกุญชร ได้เขียนเล่าเอาไว้ในหนังสือ รอยพระยุคลบาท ว่าเมื่อท่านกลับมารับราชการที่กรมตำรวจ ทางกรมตำรวจไม่ได้แลเห็นคุณค่าในตำแหน่งหน้าที่หัวหน้านายตำรวจราชสำนักประจำ ท่านไม่ได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติงานอันจะเป็นประโยชน์แก่ราชการตำรวจเท่าที่ควรจะได้ทำ อีกทั้งท่านเป็นเหมือนคนนอกที่ออกจากบ้านไปนานจนเป็นคนแปลกหน้าในสายตาของข้าราชการและผู้บริหารกรมตำรวจในเวลานั้น ทำให้พล.ต.อ.วสิษฐ เดชกุญชร ตัดสินใจลาออกจากราชการตำรวจในท้ายที่สุด และต่อมาท่านได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยในภายหลัง

นายตำรวจน้ำดีตงฉิน ทำงานในหน้าที่อย่างเข้มแข็งในฐานะหัวหน้านายตำรวจราชสำนักประจำ แต่เมื่อกลับมาในหน่วยราชการต้นสังกัดเดิมกลับเกิดปัญหา

ปัญหาดังกล่าวนี้ เป็นปัญหาที่องค์กรมีการจัดโครงสร้างที่ขาดเอกภาพในการบังคับบัญชา หรือขาด Unity of command มีภาวะที่เรียกว่า ข้าสองเจ้า บ่าวสองนาย หรือ Two bosses

เนื่องจากปฏิบัติหน้าที่ถวายความปลอดภัยและถวายอารักขาในราชสำนัก ย่อมมีองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุด แต่ก็มีผู้บังคับบัญชาตามสายงานเดิม ไม่ว่าจะเป็นกรมตำรวจ หรือกระทรวงกลาโหม ภาวะที่มีเจ้านายสองทางเช่นนี้ ทำให้ทำงานลำบาก ในทางหนึ่งเมื่อมาทำงานในราชสำนัก ก็กลับกลายเป็นว่าไม่ได้ทำงานในหน้าที่ของตำรวจในหน่วยงานต้นสังกัดไปนานมากจนกลายเป็นคนนอก ที่ไม่มีประสบการณ์ด้านงานตำรวจเช่นนี้ เป็นต้น

ปัญหาเช่นนี้ ทำให้เกิดปัญหาในสายอาชีพ (Career path) ว่าผู้ที่ทำหน้าที่ถวายความปลอดภัยและถวายอารักขาจะมีเส้นทางอาชีพและการเติบโตเป็นเช่นไร

ปัญหาอีกประการหนึ่งคือ การมีต้นสังกัดแตกต่างกันมากมายหลายหน่วยงาน เช่น กองทัพไทย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมราชองครักษ์ และกรมทหารราบที่ 1 และ 11 หรือเท่ากับ ประมาณ 5-6 หน่วยงาน ทำให้การประสานงานไม่ง่ายนักและอาจจะไม่เป็นเอกภาพในการประสานงาน หรือทำให้การทำงานอาจจะล่าช้า โครงสร้างองค์การแบบนี้เกิดปัญหาที่เรียกว่า fragmented structure หรือโครงสร้างแตกเป็นส่วนๆ ทำให้การประสานงานจะต้องใช้ความพยายามมากและเหนื่อย โดยเฉพาะในการสนธิกำลังข้ามหน่วยงาน

นอกจากนี้การทำหน้าที่ นถปภ.รอ. หรือ Royal security ต้องถือว่าเป็นข้าราชการในพระองค์หรือข้าราชบริพาร ต้องเรียนรู้ขนบธรรมเนียมราชสำนักและราชสวัสดิ์ 10 และต้องปฏิบัติตามนอกเหนือจากวินัยข้าราชการทหาร/ตำรวจ โปรดอ่านได้จาก วงศ์เทวัญในอิเหนาและราชสวัสดิ์ในขุนช้างขุนแผน https://mgronline.com/daily/detail/9610000094193

การเปลี่ยนแปลงมาเป็นนถปภ.รอ. ในฐานะหนึ่งในสามของหน่วยราชการในพระองค์นั้น ไม่ได้มีการเพิ่มอัตรากำลังพลเลยแม้แต่นายเดียว เป็นเพียงแค่การปรับปรุงโครงสร้าง เพื่อลดความซ้ำซ้อน ทับซ้อนของหน่วยงาน ทำให้การบังคับบัญชามีเอกภาพ ตัดโอนมาเฉพาะอัตรากำลังพลและค่าจ้างเงินเดือน

การปรับโครงสร้างของนถปภ.รอ. แสดงดังรูปด้านล่างนี้

หนึ่ง โอนหน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ กระทรวงกลาโหมมาเป็น นถปภ.รอ. ในฐานะหนึ่งในสามหน่วยราชการในพระองค์
สอง โอนกรมราชองครักษ์ กระทรวงกลาโหม มาเป็นสำนักงานฝ่ายเสนาธิการในพระองค์ใน นถปภ.รอ.
สาม โอนสำนักงานนายตำรวจราชสำนักประจำ สำนักงานตำรวจแห่งชาติมาเป็นสำนักงานนายตำรวจราชองครักษ์ในพระองค์
สี่ โอนกรมทหารราบที่ 1 และ 11 มาอยู่ในสังกัดหน่วยบัญชาการทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ใน นถปภ.รอ.


นถปภ.รอ. เป็นกองทัพส่วนพระองค์จริงหรือไม่ และนถปภ.รอ. ทำให้งบประมาณหน่วยราชการในพระองค์เพิ่มขึ้นสูงผิดปกติหรือไม่?

นถปภ.รอ. มีข้าราชการทหารตำรวจ ในพระองค์ราว 8,500 นายในปัจจุบัน ข้อมูลจากวิกิพีเดียได้ระบุไว้ว่า ยอดกำลังประจำการกองทัพไทย 305,860 นาย และ ยอดกำลังสำรองกองทัพไทย (ได้แก่ทหารเกณฑ์)245,000 นาย คำว่ากองทัพไทยหมายรวมถึง กองบัญชาการกองทัพไทย กองทัพบก กองทัพอากาศ และกองทัพเรือ ตลอดจนกระทรวงกลาโหม

เมื่อเปรียบเทียบอัตรากำลังพล 8,500/305,860= ร้อยละ 2.77 คงไม่มีกำลังเพียงพอที่จะเป็นกองทัพส่วนพระองค์ได้แต่อย่างใด

แต่ถ้าเป็นตัวหารที่ถูกต้อง ควรต้องรวมอัตรากำลังพลของสำนักงานตำรวจแห่งชาติอีก 213,826 นายเข้าไปด้วย เนื่องจากมีการโอนตำรวจจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติเข้ามาในนถปภ.รอ. ด้วยเช่นกัน เมื่อตัวตั้งมีอัตรากำลังของตำรวจ ตัวหารก็ต้องมีอัตรากำลังของตำรวจด้วย จึงจะถูกต้อง

ดังนั้นจึงคิดเป็นอัตรากำลังพลที่โอนมาจาก 4 เหล่าทัพ (รวมตำรวจด้วย) 8500/(305,860+213,826) เท่ากับร้อยละ 1.63 จึงไม่อาจจะจัดว่าเป็นกองทัพส่วนพระองค์ได้เลยเพราะ นถปภ.รอ. มีขนาดเล็กมาก

นอกจากนี้การโอนอัตรากำลังพลเมื่อปี 2560 ตามพระราชกำหนดระเบียบบริหารราชการในพระองค์ 2560 พระราชกฤษฎีกาจัดระเบียบราชการและการบริหารงานบุคคลของราชการในพระองค์ พ.ศ. 2560 และพระราชบัญญัติการถวายความปลอดภัย พ.ศ. 2560 ก็เป็นเพียงการโอนอัตรากำลังพล ค่าจ้างเงินเดือน ไม่ได้โอนรถยนต์ รถถัง อาวุธ ช้างม้าศึกมาด้วยแต่ประการใด

เมื่อพิจารณาจากขนาดอัตรากำลังเพียงร้อยละ 1.63 ที่โอนมา ประกอบกับไม่มีการโอนรถยนต์ รถถัง เรือรบ เครื่องบินรบ อาวุธสงครามใดๆ มาด้วย โอนมาเพียงแค่อัตรากำลังพลและค่าจ้างเงินเดือน จึงไม่อาจจะนับว่าเป็นกองทัพส่วนพระองค์ได้แต่อย่างใด

ประเด็นที่สองที่ นถปภ.รอ. ถูกใส่ร้ายคือทำให้งบประมาณหน่วยราชการในพระองค์เพิ่มขึ้นสูงผิดปกติหรือไม่?

ในข้อนี้ขอให้พิจารณาจากกราฟด้านล่างที่มาจากการชี้แจงของสำนักงบประมาณ ทำให้เห็นภาพชัดเจนว่า เมื่อมีการโอนหน่วยงานจากกระทรวงกลาโหม กรมราชองครักษ์ กองทัพไทยในปี 2560 ไปส่งผลให้เกิดงบประมาณที่เพิ่มขึ้นตามจำนวนอัตรากำลังพลเท่าเดิมที่รับโอนมาสังกัด นถปภ.รอ. ในปี 2561 จำนวน 2,195 ล้านบาท

ในปี 2562 มีการโอนกรมทหารราบที่ 1 และ 11 จากกองทัพบกเข้ามานถปภ.รอ. ทำให้เกิดการเพิ่มขึ้นของงบประมาณที่ตัดโอนมาจากหน่วยงานเดิมเท่ากับ 2,128 ล้านบาท

ซึ่งเป็นแค่การตัดโอนงบประมาณจากหน่วยงานเดิมจากอัตรากำลังพลที่โอนมานถปภ.รอ. เดิม และเฉพาะส่วนค่าจ้างเงินเดือนด้วย ทำให้กราฟแท่งรวมเหมือนกับมีการก้าวกระโดดพุ่งขึ้นของงบประมาณส่วนราชการในพระองค์ถึงสองครั้งในปี 2561 และ 2563 อันต่อเนื่องจากการโอนในปี 2560 และในปี 2562 ตามลำดับ จะเหลื่อมปีช้าออกไปในปีถัดไป ทำให้สามารถสรุปได้ว่านถปภ.รอ. ไม่ได้ทำให้งบประมาณของหน่วยราชการในพระองค์พุ่งขึ้นอย่างก้าวกระโดดเพราะมีคำอธิบายได้ ยิ่งในปี 2564 และแผนงบประมาณในปี 2565 กลับเห็นว่างบประมาณของหน่วยราชการในพระองค์กลับลดลงติดต่อกันมาสองปีแล้วดังกราฟด้านล่างนี้

ที่มา: การชี้แจงของสำนักงบประมาณ
ดังนั้นข้อกล่าวหาใส่ร้ายของฝ่ายปฏิกษัตริย์นิยมที่กล่าวหาว่า นถปภ.รอ. มีอัตรากำลังมากเกินไป เป็นกองทัพส่วนพระองค์ และทำให้งบประมาณแผ่นดินของหน่วยราชการในพระองค์มีมากมายเกินความจำเป็นก็นับว่าเป็นข้อกล่าวหาที่เลื่อนลอยเป็นอย่างยิ่ง


กำลังโหลดความคิดเห็น