xs
xsm
sm
md
lg

รามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราวุธ-รามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ

เผยแพร่:   โดย: ผศ.ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์
ผู้อำนวยการหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิตและวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต
สาขาวิชาการวิเคราะห์ธุรกิจและวิทยาการข้อมูล
คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์


พระปรมาภิไธยพระเจ้าแผ่นดินไทยในราชวงศ์จักรี หากเป็นรัชกาลที่เป็นเลขคี่จะใช้คำว่าพระบาทสมเด็จพระปรมินทร ส่วนรัชกาลที่เป็นเลขคู่จะใช้คำว่าพระบาทสมเด็จพระปรเมนทร ดังนั้นพระปรมาภิไธยในหลวงรัชกาลที่ 10 ภายหลังพระราชพิธีบรมราชาภิเษกจึงเป็นพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว

สิ่งที่ทำให้ผมเกิดความประหลาดใจมากเหลือเกินก็คือพระปรมาภิไธยล้นเกล้ารัชกาลที่ 6 กับ รัชกาลที่ 10 ช่างละม้ายคล้ายคลึงกันเหลือเกิน มหาวชิราวุธ มาจาก วชิระ+อาวุธ แปลว่าเทพศาสตราของพระอินทร์ ส่วน มหาวชิราลงกรณ์ มาจาก วชิระ+อลงกรณ์ คำว่าอลงกรณ์ แปลว่าเครื่องประดับผมบนศีรษะ เช่น พระเกี้ยว พระปรมาภิไธย จุฬาลงกรณ์ ก็มาจากคำว่า อลงกรณ์ และเป็นการใช้คำขนานกับพระปรมาภิไธย พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (พระจอมเกล้าน้อย) หรืออาจจะเทียบเคียงได้ว่า มหาวชิราลงกรณ์ = วชิราวุธ+อลงกรณ์ ดังพระราชลัญจกรประจำรัชกาลที่ 10

ตราวชิราวุธนั้นเกิดจากการที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนริศรานุวัดติวงศ์ (สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์) ทรงคิดผูกตราประจำพระองค์สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร ขึ้นใหม่ใน พ.ศ.2451 ซึ่งสมเด็จครูได้มีหนังสือทูลเกล้าถวายล้นเกล้ารัชกาลที่ 5 ว่า

“ถ้าดังนั้นตรามกุฎราชกุมารที่ตั้งแบบขึ้นไว้แต่ก่อนก็ตาย จะแก้เปนอย่างไรดี คิดถึงแบบฝรั่งก็มืดแปดด้าน ต้องดันไปไท ๆ ลองดูเครื่องหมายตำแหน่งอุปราชจะมีอไรบ้าง เคยได้ยินชื่ออนุราชมงกุฎ แต่ไม่เคยเห็นตัว ฤาบางทีจะเห็น ถ้ามีเดี๋ยวนี้คงอยู่ห้องภูษามาลา แต่หากไม่รู้จักด้วยไม่มีผู้ชี้ แต่อย่างใดก็ดี รูปก็คงเปนมงกุฎ ที่จะปรากฏเห็นผิดกับพระมหามงกุฎนั้นเปนอันยาก ไม่ควรคำนึงเอามาใช้ เอาฉัตรเจ็ดชั้นใช้ดีกว่าอื่นหมด ตรงตำแหน่งอุปราชซึ่งเทียบเปนมกุฎราชกุมาร จะเปนเครื่องหมายที่เห็นง่ายแลไม่ซ้ำกับใคร

ถ้าเอาฉัตรกับวชิราวุธเปนหลัก จะผูกตราได้สามอย่าง คือ

1. ตราตำแหน่งสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช มกุฎราชกุมาร ทำเปนรูปฉัตรเจ็ดชั้น (อย่างแขวนไม่มีคัน)
2. ถ้าทำตราผสม คือตราสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ มกุฎราชกุมาร ควรทำรูปวชิราวุธมีคมสองข้างนอนไว้ข้างล่าง มีฉัตรเจ็ดชั้นกั้นเบื้องบน
3. ถ้าทำตราฉเพาะพระองค์เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ ควรใช้รูปวชิราวุธคมข้างเดียวตั้งขึ้น (แบบข้างอินเดียเขาทำคมข้างเดียวมีเหมือนกัน) มีรัศมีหว่านล้อมเปนรูปทรงเข้าบิณฑ์ ตรารูปนี้จะเห็นเหมือนตราตรี ซึ่งได้ตีเงินในชั้นแรกรัชกาลที่ 1 ซึ่งเรียกว่าตราซ่อม” (คัดลอกจาก ตำนานวชิราวุธ โดย อาจารย์วรชาติ มีชูบท)

ซึ่งตราเฉพาะพระองค์เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ แบบที่ 3 นี้ เป็นตราวชิราวุธที่ปรากฎอยู่ในพระราชลัญจกรประจำรัชกาลที่ 6 และ รัชกาลที่ 10

นอกจากพระปรมาภิไธยและตราพระราชลัญจกรแล้ว เมื่อลองพิจารณาใคร่ครวญจะพบได้ว่าล้นเกล้ารัชกาลที่ 6 และล้นเกล้ารัชกาลที่ 10 ทรงมีบางสิ่งบางอย่างที่ใกล้เคียงกันมากเหลือเกิน ดังแสดงในตารางด้านล่างนี้



ความคล้ายคลึงกันในล้นเกล้ารัชกาลที่ 6 และ รัชกาลที่ 10 จึงมิใช่เพียงความคล้ายคลึงกันในพระปรมาภิไธย พระปรมาภิไธยย่อ ตราประจำพระองค์ และตราพระราชลัญจกร หากแต่ล้นเกล้าทั้งสองพระองค์ทรงมีแนวคิดและพระราชดำริหลายสิ่งอย่างที่คล้องจองต้องตรงกันข้ามกาลเวลานับร้อยปี ผ่านทั้งทางสายพระโลหิตและสืบสายราชสันตติวงศ์

ในมหามงคลวโรกาสพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่จะถึงนี้ ขอน้อมเกล้าน้อมกระหม่อม ถวายพระพรชัยมงคล ให้ทรงพระเจริญยิ่งยืนนาน ขอคุณพระศรีรัตนตรัยและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายในสากล ขออัญเชิญพระบรมราชบูรพการีทุกพระองค์ พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทร มหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นอาทิ ได้ทรงคุ้มครอง ปกปัก รักษาดูแลคุ้มครองพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ให้ทรงพระพลานามัยแข็งแรง สถิติเป็นมิ่งขวัญปวงชนชาวไทย และเป็นศรีแห่งพระมหาจักรีบรมราชวงศ์ตราบนานเท่านาน


กำลังโหลดความคิดเห็น