xs
xsm
sm
md
lg

วงศ์เทวัญในอิเหนาและราชสวัสดิ์ในขุนช้างขุนแผน

เผยแพร่:   โดย: ผศ.ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์


ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์
ผู้อำนวยการหลักสูตร Ph.D. และ M.Sc. (Business Analytics and Data Science)
สาขาวิชาวิทยาการประกันภัยและการบริหารความเสี่ยง
คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์


อิเหนานั้นเกิดมาเป็นวงศ์เทวัญ สืบเชื้อสายมาจากเทวดา จึงเรียกว่าระเด่นมนตรี

โดยคำว่าวงศ์เทวัญอสัญหยาปรากฎในกลอนพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เรื่องอิเหนา ตอนศึกท้าวกะหมังกุหนิง ความว่า

เมื่อนั้น    พระสุริย์วงศ์เทวัญอสัญหยา
ปลอบนางพลางเช็ดชลนา    ดวงยิหวาอย่าทรงโศกี
จงสร่างสิ้นกินแหนงแคลงใจ    ที่ในบุษบามารศรี
พี่สลัดตัดใจไม่ใยดี    มิได้มีปรารถนาอาลัย


ซึ่งเป็นตอนที่อิเหนาปลอบนางจินตะหราไม่ให้คลางแคลงใจหึงหวงในนางบุษบา

ส่วนวงศ์เทวัญในประเทศไทยก็คงเป็นคำที่ได้รับอิทธิพลมาจากบทละครพระราชนิพนธ์เรื่องอิเหนาด้วยเช่นกัน แต่หมายถึงทหารสายวงศ์เทวัญมักจะเติบโตมาจากผู้บังคับการกรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์ (ร.1 รอ.) หรือผู้บังคับการกรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์ (ร.11 รอ.) อันได้แก่ พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา พล.อ.กัมปนาท รุดดิษฐ์ พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ว่าที่ผู้บัญชาการทหารบก บุตรชาย พล.อ.สุนทร คงสมพงษ์ อดีตหัวหน้าคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ

สำหรับ พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ หรือบิ๊กแดงนั้นเป็นทหารสายวงศ์เทวัญที่เอาจริงเอาจังเข้มแข็งในการต่อสู้และปราบปรามขบวนการล้มเจ้ามายาวนาน เคยเข้าไปถามกลุ่มคนเหล่านี้ตรง ๆ เลยว่าอย่ามายุ่งกับพระเจ้าอยู่หัวของผม

ทหารสายวงศ์เทวัญต้องเป็นทหารของพระราชา อิเหนานั้นเป็นที่มาของคำว่าวงศ์เทวัญเป็นแน่แท้

ส่วน ราชสวัสดิ์ นี้มีสอนกันมายาวนาน โดยเฉพาะในหมู่ข้าราชบริพารและทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ นายพอพล สุขใส ได้เขียนวิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาจารึกภาษาไทย ภาควิชาภาษาตะวันออก คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ในปี 2550 ในหัวข้อ ราชวัสตี คำสอนของวิธุรบัณฑิตสำหรับข้าราชการที่สืบทอดในวรรณกรรมคำสอนของไทย อันได้รับมาจาก วิธุชาดก และปรากฎในวรรณคดีไทยหลายเรื่อง เช่น โคลงพาลีสอนน้อง โคลงราชานุวัตร พาลีสอนน้องคำกลอน แต่บทที่แพร่หลายนั้นมาจากขุนช้างขุนแผน ตอนที่ 15 ขุนแผนต้องพรากนางลาวทอง ซึ่งเป็นคำสอนของนางทองประศรีที่สอนพลายแก้วก่อนไปรับราชการว่าการเป็นข้าราชการต้องรักษาราชสวัสดิ์ 10 ให้จงดี จึงจะมีความก้าวหน้าในชีวิตราชการ (งานของพระราชา)

ครานั้นจึงนางทองประศรี    ได้ฟังคดีที่ลูกว่า
แกดีใจจนหลั่งถั่งน้ำตา    ลูบหลังลูบหน้าด้วยปรานี
ไปเถิดเจ้าอย่าเฝ้าเป็นห่วงใย    เมียของเจ้านั้นไซร้ให้อยู่นี่
แม่จะกล่อมเกลี้ยงเลี้ยงทางนี้    มิให้มีเดือดร้อนรำคาญใจ
เจ้าอุตส่าห์อดเปรี้ยวไว้กินหวาน    ฝึกหัดราชการให้จงได้
ถ้าได้ดีมียศปรากฏไป    เหมือนแทนคุณขุนไกรผู้บิดา
...
โบราณว่าเป็นข้าจอมกษัตริย์    ราชสวัสดิ์ต้องเพียรเรียนรักษา
ท่านกำหนดจดไว้ในตำรา    มีมาแต่โบราณช้านานครัน
หนึ่งวิชาสามารถมีอย่างไร    ไม่ปิดไว้ให้ท่านทราบทุกสิ่งสรรพ์
หนึ่งกล้าหาญทำการถวายนั้น    มุ่งมั่นจนสำเร็จเจตนา
หนึ่งมิได้ประมาทราชกิจ    ชอบผิดตริตรึกหมั่นศึกษา
หนึ่งสัตย์ซื่อถือธรรมจรรยา    เหมือนสมาทานศีลไว้มั่นคง
หนึ่งเสงี่ยมเจียมตัวไม่กำเริบ    เอื้อมเอิบหยิ่งเย่อเฟ้อหลง
หนึ่งอยู่ใกล้ชิดติดพระองค์    ไม่ทำเทียมด้วยทะนงพระกรุณา
หนึ่งไซร้ไม่ร่วมราชาอาสน์    ด้วยอุบาทว์จัญไรเป็นหนักหนา
หนึ่งเข้าเฝ้าสังเกตซึ่งกิจจา    ไม่ใกล้ไกลไปกว่าสมควรการ
หนึ่งผู้หญิงชาวในไม่พันพัว    เล่นหัวผูกรักสมัครสมาน
หนึ่งสามิภักดิ์รักใคร่ในภูบาล    ถึงถูกกริ้วทนทานไม่ตอบแทน
ราชสวัสดิ์จัดจบครบสิบข้อ    พ่อจงจำไว้ให้หนักแน่น
สัตย์ซื่อและสำคัญนั่นเป็นแดน    พ่อแผนของแม่จงใส่ใจ
จงไปดีมาดีศรีสวัสดิ์    พ้นวิบัติเสี้ยนหนามความเจ็บไข้
ให้พระองค์ผู้ทรงภพไตร    โปรดปรานประทานให้เป็นพระยา
ว่าพลางทางออกมานอกห้อง    ร้องเรียกผู้คนพวกบ่าวข้า
พ่อแผนเอาอ้ายเต่ากับอ้ายมา    ไปติดหน้าตามหลังทั้งสองคน ฯ


ใจความของราชสวัสดิ์ 10 ข้อ มีดังนี้ (คำในวงเล็บเป็นความเห็นส่วนตัวของผม)

ข้อแรก คือ เมื่อมีวิชาอย่างไรต้องกราบบังคมทูลให้พระเจ้าแผ่นดินทราบ (เพื่อจะได้ทรงเลือกใช้ได้อย่างเหมาะสม)
ข้อสอง ให้ทำงานถวายโดยกล้าหาญมุ่งมั่นจนกว่าจะสำเร็จ (จะมาเหยาะแหยะไม่เอาจริงเอาจังไม่ได้)
ข้อสาม หากเป็นราชกิจใดก็ตาม ให้ศึกษาและคิดไตร่ตรองให้รอบคอบที่สุดโดยไม่ประมาท (เพื่อให้เกิดผลดีที่สุดแก่ราชการ)
ข้อสี่ ให้มีจริยธรรมรักษาศีลให้มั่นคง (จะได้ไม่หลงผิด)
ข้อห้า ให้สงบเสงี่ยมเจียมตัว ไม่เย่อหยิ่ง ไม่ฟุ้งเฟ้อ หลงลืมตัว (จะได้ไม่กำเริบ ไม่ทำสิ่งที่ไม่สมควรทำ)
ข้อหก การอยู่ใกล้ชิดติดพระองค์ต้องไม่ตีตนเสมอ ต้องไม่ทำตัวเทียมเท่า โดยหลงคิดผิดไปว่าตัวเองได้รับพระกรุณาจะทำอะไรก็ได้ (จะได้ไม่ลืมตัว และรู้ว่าตนเองอยู่ที่ระดับไหน)
ข้อเจ็ด ไม่ไปนั่งพระเก้าอี้ พระโธรน พระราชอาสน์ ซึ่งเป็นของสูงยิ่ง จะเป็นอัปมงคล
ข้อแปด ให้หมั่นสังเกตพระราชกิจและพระราชนิยม รู้จังหวะ รู้ระยะที่เหมาะสม (ไม่ล้ำหน้า ไม่ล่าช้า ถูกกาละและเทศะ)
ข้อเก้า ไม่เล่นหัว ไม่ให้มีเรื่องชู้สาวกับนางในหรือผู้หญิงในวัง ให้เว้นระยะให้เหมาะสม (จะเกิดเหตุ ไม่งดงามขึ้นได้)
ข้อสิบ ซื่อสัตย์ จงรักภักดี อดทนแม้ว่าจะทรงกริ้วหรือทรงโกรธ

นี่คือที่มาของคำที่เราใช้กันในทุกวันนี้ วงศ์เทวัญ และ ราชสวัสดิ์ ได้รับอิทธิพลมาจากวรรณคดีไทยเรื่องอิเหนาและขุนช้างขุนแผนนั่นเอง