xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ศาสตราจารย์ ดร. ชัยอนันต์ สมุทวนิช (35): Utopia---อุตตรกุรุ---Pharmakon

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



คนแคระบนบ่ายักษ์
ไชยันต์ ไชยพร

 ใครที่อยากจะได้ความเสมอภาคอันสมบูรณ์ ควรอ่านอุตตรกุรุ เพราะอุตตรกุรุเป็นสังคมที่ไม่มีปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำ เพราะอุตตรกุรุสามารถตัดต้นตอหรือที่มาของความไม่เสมอภาคไปได้ ต้นตอของความไม่เสมอภาคคือ กรรมสิทธิ์ส่วนบุคคล อันมีต้นกำเนิดจากความไม่เท่าเทียมกันทางร่างกายและสติปัญญาของมนุษย์ ที่มีคนที่มีความสามารถเหนือคนอื่น ไม่ว่าจะเป็นกำลังกาย สติปัญญา ความถนัดและทักษะในด้านต่างๆ และเมื่อคนเราลงแรงหรือสติปัญญาไปเพื่อให้ได้สิ่งที่ต้องการ ก็ย่อมจะหวงแหนต้องการเป็นเจ้าของเจ้าของผลพวงที่เกิดจากน้ำพักน้ำแรงของตน 

แต่ปัญหาดังกล่าวนี้ไม่เกิดขึ้นในอุตตรกุรุ เพราะนอกจากคนในอุตตรกุรุจะไม่มีความแตกต่างทางกายและสติปัญญาทั้งหญิงชายแล้ว ยังได้ของกินของใช้มาโดยไม่ต้องลงแรงใดๆด้วย ดังนั้น กรรมสิทธิ์ส่วนบุคคลที่ยังจะหลงเหลืออยู่ ก็คือ การหวงคู่รักและบุตร
 
แต่อุตตรกุรุก็จัดให้ผู้หญิงสวยสาวเหมือนกันหมด ดังนั้น จึงไม่จำเป็นต้องหวงแหนใครคนใดคนหนึ่ง ส่วนเรื่องลูก ก็จัดให้ลูกไม่ได้เป็นของพ่อแม่ เพราะเมื่อเกิดมาแล้ว เอาเด็กไปวางไว้ตามถนนหนทาง ผู้คนผ่านไปมา ก็จะมาช่วยกันเลี้ยงดู ป้อนข้าวป้อนนมให้
 
และเมื่อเริ่มโตขึ้น อุตตรกุรุกล่าวไว้ว่า “ลูกอ่อนนั้นใหญ่ รู้เดินไปมาได้แล้วไซร้ ถ้าลูกอ่อนนั้นเป็นผู้หญิงก็ไปอยู่กับเพื่อนเด็กผู้หญิงทั้งหลายเล่นกันนั้นแลฯ ถ้าว่าลูกอ่อนเป็นผู้ชายไซร้ ก็ไปอยู่ด้วยฝูงเด็กผู้ชายทั้งหลายนั้นแลฯ ลูกเต้าเขานั้นหากใหญ่กลางบ้าน ลูกก็มิรู้จักแม่ แม่ก็มิรู้จักลูก ถ้อยทีถ้อยมิรู้จักกัน เพราะว่าคนฝูงนั้นงามดังกันทุกคนแล…...” (คัดลอกข้อความมาจาก “บทที่ ๒ อุตตรกุรุทวีป: ยูโทเปียของไทย” ใน ความคิดทางการเมืองการปกครองไทยโบราณ ของ ศาสตราจารย์ ดร. ชัยอนันต์ สมุทวนิช)


 จะเห็นได้ว่า แม้แต่คู่ครองและบุตร ก็หาได้มีใครเป็นเจ้าของในอุตตรกุรุ ไม่มีใครมีกรรมสิทธิ์ส่วนบุคคลในคู่ครองหรือบุตร อาจารย์ชัยอนันต์ตีความว่า แม้ว่าอุตตรกุรุจะยกเลิกกรรมสิทธิ์ส่วนบุคคล แต่กรรมสิทธิ์ก็ยังคงมีอยู่ แต่เปลี่ยนจากกรรมสิทธิ์ส่วนบุคคลเป็นกรรมสิทธิ์ร่วมของชุมชน ผู้หญิงผู้ชายเป็นของทุกคน เพราะทุกคนเหมือนกันหมด และลูกก็เป็นของทุกคน  

การแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำอย่างถอนรากถอนโคนจะต้องแก้เรื่องการหวงแหนบุตรให้ได้ แต่การยกเลิกความเป็นเจ้าของเจ้าของบุตรนั้นนับว่ายากที่สุดในบรรดากรรมสิทธิ์ส่วนตัวทั้งหลายแหล่

 งานเขียนในแนว “ยูโทเปีย” หรือสังคมในอุดมคติ มักจะหาทางยกเลิกกรรมสิทธิ์ส่วนตัวในบุตร เช่น งานเขียนของเพลโตเรื่อง “Republic” (ที่ศาสตราจารย์ ปรีชา ช้างขวัญยืนตั้งชื่อไทยว่า “อุตมรัฐ”) ก็มีการจัดให้มีการเลี้ยงดูเด็กในแบบรวม นั่นคือ เมื่อพ่อแม่มีลูก ก็จะเอาลูกมาเลี้ยงรวมกับลูกของพ่อแม่คู่อื่น เด็กจะไม่รู้จักพ่อแม่แท้ๆ ของตน แต่จะรับรู้ว่า ตนมีพ่อแม่มากมาย และเด็กก็จะเป็นพี่เป็นน้องกับเด็กอื่นๆ 

 แต่ Republic ของเพลโตจะต่างจากอุตตรกุรุ ตรงที่ Republic นั้นยกเลิกกรรมสิทธิ์ในตัวลูกก็แต่เฉพาะคนกลุ่มหนึ่งเท่านั้น ในขณะที่ในอุตตรกุรุยกเลิกทุกคน  

 สาเหตุที่ Republic จัดให้เฉพาะคนกลุ่มหนึ่งเท่านั้นที่ไม่มีกรรมสิทธิ์ในบุตรหรือครอบครัว ก็เพราะคนกลุ่มนั้นจะเป็นผู้ปกครองในเวลาต่อไป ผู้ปกครองไม่ควรมีกรรมสิทธิ์ส่วนบุคคล เพราะการมีกรรมสิทธิ์ในคู่ครองก็ดี ในครอบครัวและในบุตรก็ดี จะทำให้คิดถึงประโยชน์ของลูกหรือครอบครัวของตัวเอง นั่นคือ เกิดความเห็นแก่ตัว แต่ผู้ปกครองที่ดีและเที่ยงธรรมจะต้องปกครองเพื่อผลประโยชน์ของประชาชนคนอื่นๆ เป็นสำคัญ แต่จะได้ผู้ปกครองแบบนั้น ก็ต้องหล่อหลอมมาตั้งแต่เกิด คือให้เติบโตมาในเงื่อนไขที่ไม่ทำให้คิดถึงประโยชน์ส่วนตน นั่นคือ ไม่ได้เติบโตมาในแบบครอบครัวใครครอบครัวมัน ! 

และที่สำคัญคือ ใน Republic แบ่งคนออกเป็นสามประเภท และคนประเภทหนึ่งเท่านั้นที่จะเป็นผู้ปกครองได้ เพราะมีธรรมชาติที่จะรับรู้และพัฒนาสติปัญญาได้มากกว่าคนอีกสองประเภท คนที่มีธรรมชาติแบบนี้จะสามารถยอมสละกรรมสิทธิ์ส่วนตัวในเหล่าบุตรของตน เพื่อสร้างให้เขาเหล่านั้นเติบโตไปเป็นผู้ปกครองที่ดีและเที่ยงธรรม โดยไม่ยึดติดกับประโยชน์ส่วนตน

ส่วนพ่อแม่ที่ไม่ได้มีธรรมชาติแบบนี้ ก็คงยากที่จะสละกรรมสิทธิ์ในตัวลูกของตนได้

แต่กระบวนการเลี้ยงดูเด็กในแบบเลี้ยงรวมเพื่อสร้างผู้ปกครองที่ดีใน Republic ก็เป็นอะไรที่ผิดธรรมชาติของมนุษย์ทั่วไปที่เห็นๆ กันอยู่


ด้วยเหตุนี้ จึงมีผู้ตีความประเด็นดังกล่าวนี้ของเพลโตไปต่างๆ นานา ได้แก่

 หนึ่ง  มีผู้ตีความว่า จริงๆ แล้ว เพลโตไม่ได้เชื่อในแผนการเลี้ยงดูเด็กดังกล่าว แต่เขากำลังหยอกล้อกับคนอ่านมากกว่า โดยเฉพาะคนอ่านที่ปรารถนาจะได้สังคมที่มีความเสมอภาคอันสมบูรณ์ ซึ่งการจะได้มา จะต้องทำอะไรที่ผิดธรรมชาติ ดังนั้น ความเสมอภาคอันสมบูรณ์จึงยากที่จะเกิดขึ้นเพราะมันต้องไปปรับเปลี่ยนธรรมชาติมนุษย์ และคนอ่านที่มีสติปัญญาเท่านั้นที่จะเข้าใจว่า จริงๆ แล้ว เพลโตกำลังต้องการสื่ออะไร

 สอง  แต่ก็มีคนอ่านที่เชื่อว่า เพลโตจริงจังกับแผนการที่ว่า และก็วิพากษ์วิจารณ์เพลโตอย่างใหญ่โตว่า เขามีความคิดแบบเผด็จการ นั่นคือ รัฐที่ดีจะต้องบังคับให้คนต้องสละครอบครัวและลูก เพื่อสร้างชนชั้นปกครองที่ดีและเที่ยงธรรม

 สาม  แต่ก็มีคนอ่านที่เชื่อว่า เพลโตจริงจังกับแผนการที่ว่า แต่ไม่ได้ไปด่าทออะไร กลับเชื่อว่า มันเป็นจริงเช่นนั้นได้ ส่งผลให้คนอ่านแบบนี้ ยามเมื่อเป็นผู้ปกครองหรือรัฐบาลก็ตั้งกฎให้ต้องเลี้ยงเด็กแบบรวมหมู่ เพื่อให้เด็กไม่เห็นแก่ตัว และมีสำนึกถึงผลประโยชน์ร่วมกัน

 สี่  แต่ก็มีคนอ่านที่เชื่อว่า แม้นว่าเพลโตจะจริงจังกับแผนการที่ว่า แต่ก็ไม่ได้จริงจังมากนัก เพราะตระหนักรู้ดีว่า มันยากที่จะทำ แต่ถ้าทำได้บ้าง ก็จะเกิดผลดี นั่นคือ ผู้ปกครองจะเห็นแก่ตัวน้อยลง แม้ว่าจะไม่ถึงกับหมดความเห็นแก่ตัว เห็นแก่ครอบครัวไปได้หมด

 พูดถึง การสละสิทธิ์ในตัวบุตรภริยาและสิทธิ์ในเรื่องอื่นๆ ก็อดคิดถึงพระเวสสันดรไม่ได้ พระเวสสันดรน่าจะไม่ใช่เรื่องจริง (ขออภัยนะครับ สำหรับผู้ที่เชื่อว่าเป็นเรื่องจริง) แต่น่าจะเป็นเรื่องแต่งให้คิด ใช้สติปัญญาพิจารณาเสียมากกว่า และข้อคิดหรือคติที่ได้ ก็น่าจะได้แก่ทั้งสี่ข้อที่ว่าไปแล้ว ขึ้นอยู่ว่า เขาผู้นั้นมีต้นทุนทางสติปัญญามากน้อยแค่ไหน และขึ้นอยู่กับว่า เขาตระหนักรู้ไหมว่า เมื่อไรควรจะใช้คติข้อใด !!!  

พูดถึงประเด็นในอุตตรกุรุที่ว่า “…..ลูกก็มิรู้จักแม่ แม่ก็มิรู้จักลูก ถ้อยทีถ้อยมิรู้จักกัน เพราะว่าคนฝูงนั้นงามดังกันทุกคนแล……” สะท้อนว่า ในอุตตรกุรุ ลูกไม่รู้ว่าแม่คือใคร และแม่ก็ไม่รู้ว่าใครคือลูกตน เพราะคนในอุตตรกุรุหน้าตาคล้ายๆ กันหมด และยิ่งไม่ได้เลี้ยงดูกันมาอย่างแม่ลูก แต่เลี้ยงแบบสาธารณะด้วยแล้ว ก็ยิ่งยากที่จะจำกันได้ เมื่อจำไม่ได้ ก็ไม่รู้จะมีความเป็นเจ้าข้าวเจ้าของกันและกันได้อย่างไร

ต่อประเด็นการออกแบบให้คนหน้าตาคล้ายๆ กันหมดในอุตตรกุรุนี้ ถือว่าผู้แต่งอุตตรกุรุมีความละเอียดถี่ถ้วนกว่าผู้แต่ง Republic เพราะใน Republic เพลโตไม่ได้กำหนดให้กลุ่มคนพิเศษนั้นมีหน้าตาคล้ายๆ กัน ดังนั้น พ่อแม่ก็ยังน่าจะจำหน้าตาของลูกได้อยู่ แต่ลูกต่างหากที่จำหน้าตาคนที่เป็นพ่อแม่แท้ๆ ของตนไม่ได้ เพราะถูกจับเอาไปเลี้ยงรวมเสียตั้งแต่แรกเกิด เมื่อพ่อแม่ยังจำลูกของตนได้ ก็น่าจะยังมีอารมณ์ความรู้สึกผูกผันยึดติดอยู่

หรือเพลโตจะให้พ่อแม่เหล่านั้นมีจิตใจที่สูงจนไม่ให้ใบหน้าลูกมีอิทธิพลต่อความรู้สึกของตนได้ !

 ประเด็น ลูกไม่รู้จักแม่ แม่ไม่รู้จักลูกนี้ ยังพบได้ในงานของนักคิดทางการเมืองชาวฝรั่งเศสที่ชื่อ รุสโซ ด้วย แต่การไม่รู้จักกันและกันที่ว่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นในสังคมอุดคติ แต่กลับเกิดขึ้นในสภาวะที่มนุษย์ยังไม่มีสังคม ! รุสโซเรียกสภาวะก่อนเกิดสังคมนี้ว่า สภาวะธรรมชาติ 

ทำไมในสภาวะธรรมชาติของรุสโซ ลูกถึงไม่รู้จักแม่ แม่ไม่รู้จักลูก แล้วพ่อหละ ?!! สภาวะแบบนี้มันไม่ผิดธรรมชาติดอกหรือ ?

แต่กระนั้น เขาก็บอกอยู่ทนโท่ว่า สภาวะการไม่รู้จักกันและกันนี้ เกิดขึ้นในสภาวะธรรมชาติ ดังนั้น มันจึงไม่ผิดธรรมชาติ เพราะในความคิดของรุสโซ ครอบครัวไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติ

 ครอบครัวต่างหากเป็นเรื่องที่ผิดธรรมชาติ !


มันเป็นไปได้อย่างไรหนอ ครอบครัวเป็นสิ่งที่ผิดธรรมชาติ ? 


โปรดติดตามตอนต่อไป




กำลังโหลดความคิดเห็น