xs
xsm
sm
md
lg

ถอดสมการคดีเด็กสาว ม.6 จนตรอกบุกจี้ร้านทอง เทียบมังงะ “ดาบพิฆาตอสูร” เราจะสร้างอสูร หรือจะดึงเขาออกมาจากเงามืด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รายงานพิเศษ

คดีจี้ชิงทรัพย์ร้านทองภายในห้างสรรพสินค้าบิ๊กซี รัตนาธิเบศร์ จ.นนทบุรี เมื่อบ่ายวันที่ 12 ก.ย. ที่ผ่านมา ดูเหมือนจะเป็นคดีเล็กๆ ที่ผู้ก่อเหตุถูกจับกุมได้อย่างรวดเร็ว มีอาวุธเพียงมีด 1 เล่ม และไม่ได้ทำร้ายใครเลย มันก็น่าจะจบเพียงเท่านั้น แต่กลับกลายเป็นเรื่องราวแสนสลับซับซ้อน และกลายเป็นข่าวใหญ่ เมื่อข้อเท็จจริงถูกเปิดเผยว่า ผู้ก่อเหตุ เป็นเพียงเด็กผู้หญิงวัย 17 ปี กำลังเรียนอยู่ชั้น ม.6 เท่านั้น

“พ่อของเธอเสียชีวิต ได้เงินประกันมา 5 หมื่นบาท จากที่ต้องนำเงินไปเก็บในบัญชี เธอไปหลงเชื่อคำชักชวนให้ลงทุนในกลุ่มแชร์ออนไลน์หวังจะได้ดอกเบี้ยเพิ่ม แต่กลับถูกโกงเงินไปหมด จนกระทั่งแม่ที่ป่วยเป็นโควิดอยู่ที่อยุธยาถามหาเงิน ทำให้สาวน้อยวัย 17 ปีคนนี้ เกิดความเครียดเพราะไม่มีเงินเหลือแล้ว จึงมาก่อเหตุปล้นร้านทอง เพียงเพื่อหวังจะนำเงิน 5 หมื่นบาทกลับเข้าไปอยู่ในบัญชี”

ดูเหมือนว่า อนาคตของเด็กผู้หญิงคนหนึ่งที่กำลังจะเรียนจบ ม.6 กำลังจะเรียนต่อในมหาวิทยาลัย ต้องดับวูบลง เพียงเพราะการตัดสินใจที่ผิดพลาดเพียงครั้งเดียว

คำถาม คือ เด็กคนนี้ เป็น “อาชญากร” หรือ ???

ควรถูกลงโทษเช่นเดียวกับอาชญากรหรือ ???

*******

ช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา การ์ตูนมังงะ Demon Slayer หรือชื่อไทยคือ “ดาบพิฆาตอสูร” ซึ่งเป็นการ์ตูนยอดขายอันดับ 1 ในญี่ปุ่น แซงหน้า One Peach ในรอบ 20 ปี เข้ามาได้รับความนิยมในไทยเช่นกัน จนเด็กๆหันไปใส่เสื้อคลุมตามแบบตัวละคร “หน่วยพิฆาตอสูร” ในเรื่องกันเต็มบ้านเต็มเมือง ก่อนที่กระแสจะหายไป เพราะโรงเรียนปิดยาวจากสถานการณ์โควิด

“ดาบพิฆาตอสูร” เป็นการ์ตูนที่มองผิวเผิน อาจเป็นเพียงเรื่องราวการต่อสู้ของ “หน่วยพิฆาตอสูร” ที่ออกตามล่า “อสูร” ซึ่งกินมนุษย์ผู้อ่อนแอเป็นอาหาร แต่จริงๆแล้ว เนื้องเรื่องเกือบทั้งหมดในการ์ตูนเรื่องนี้ เน้นไปให้ความสำคัญที่สุดคือ “อดีตของตัวละคร”

ก่อนจะมาเป็นหน่วยพิฆาตอสูร ตัวเอกในเรื่อง 3 คน ชื่อ ทันจิโร่ เซ็นอิตซึ และ อิโนะสุเกะ ต่างก็เป็นเด็กมีปัญหา เป็นผู้อ่อนแอ และหากไม่เข้มแข็งพอ พวกเขาก็จะกลายเป็นเหยื่อ

หนึ่งเป็นเด็กที่ครอบครัวยากจน ต้องทำงานหนักรับผิดชอบดูแลแม่และน้องหลายคนถูกสถานการณ์บังคับให้ต้องเข้มแข็ง อีกหนึ่งเป็นเด็กที่ขาดความอบอุ่น หวาดกลัวทุกอย่าง ต้องการความรักจากคนรอบข้าง และอีกคนหนึ่งเป็นเด็กขาดการอบรมเลี้ยงดู เติบโตมาในสังคมแบบสัตว์ป่า ดูเหมือนเด็กเกเรเหลือขอคนหนึ่ง จุดร่วมของทั้งสามคน คือ ถ้าไม่กลายเป็นผู้ล่า ไม่ชนะ พวกเขาก็จะกลายเป็นเหยื่อ

แม้ในเรื่องนี้จะใช้ชื่อว่า Demon Slayer คือ หน่วยล่าอสูร แต่ผู้แต่งกลับให้ความสำคัญในการเล่าถึงภูมิหลัง “ก่อนจะมาอสูร” ของตัวละครฝ่ายอสูรทุกตนอย่างจริงจัง ซึ่งจริงๆ แล้ว อสูร ก็มีภูมิหลังแทบไม่ต่างอะไรจากฝ่ายตัวเอก เหล่าอสูรร้ายที่ฆ่าคนเป็นว่าเล่น ล้วนเคยมีวัยเด็กที่น่ารัก อยากเติบโตเป็นคนดี แต่พวกเขาล้วนมีปมที่ต่างกันไป

เหล่าอสูร ล้วนเกิดจากเด็กที่เคยถูกทอดทิ้งให้โดดเดี่ยว เคยถูกทำร้ายจากครอบครัวตัวเอง เคยถูกกดขี่ทางชนชั้น นั่นคือ พวกเขาล้วนเคยเป็นคนที่ “อ่อนแอกว่า”

จนวันนึงพวกเขาตัดสินใจขายวิญญาณ ยอมรับข้อเสนอเปลี่ยนตัวเองเป็นอสูร เพื่อทำให้ตัวเองกลายเป็นฝ่ายที่เข้มแข็งกว่าได้บ้าง แต่แม้จะเข้มแข็งแล้ว เหล่าอสูรก็ยังต้องมาแข่งขันกันเองเพื่อทำผลงานให้นายใหญ่พอใจ กลายเป็นความพยายามต้องเข้มแข็งอย่างไม่มีจุดสิ้นสุด จึงต้องฆ่ามนุษย์ไปเรื่อยๆ เพื่อให้ตัวเองมีสถานะที่มั่นคงขึ้น

ตัวละครที่น่าสนใจที่สุด คือ "เนสึโกะ" เพราะเธอถูกทำให้เป็น "อสูร" โดยไม่ได้เกิดจากความยินยอม เธอเคยเกือบบถูกสมาชิกหน่วยพิฆาตอสูรฆ่าหลายครั้ง เพราะไม่มีใครเชื่อว่าเธอจะกลับมาเป็นมนุษย์ได้ มีแต่พี่ชายของเธอที่เชื่อเช่นนั้น

"เนสึโกะ" จึงเป็นตัวแทนของผู้ที่ถูกบีบบังคับให้ต้องมีตราบาปทางสังคม ถูกตัดสินว่า “เลว” ทั้งที่เกิดจากภาวะจำยอม

เพียงแต่เธอโชคดีที่มีคนคุ้มครอง ไม่ถูกลงโทษ ไม่ถูกจองจำ ไม่ถูกฆ่า จึงมีโอกาสที่จะพิสูจน์ตัวเองว่าจะกลับคืนมาอยู่ร่วมกับคนทั่วไปในสังคมได้

*********

แล้วเด็กสาววัย 17 ปีคนหนึ่ง ที่ใช้มีดเล่มเดียว ก่อคดีชิงทรัพย์ด้วยการข่มขู่ เพราะถูกฉ้อโกงหลังสูญเสียพ่อ ในเวลาที่แม่ก็ป่วยโควิด ควรได้รับการตัดสินอย่างไร ???

ทางแรก ... ใช้กติกาหลัก ส่งเธอไปจองจำ ส่งเธอเข้าไปสู่เส้นทางที่จะได้พบปะกับอาชญากรตัวจริงอยู่ทุกวัน เส้นทางที่กำลังจะเปลี่ยนผู้อ่อนแอคนหนึ่ง ให้กลายเป็น “อสูร” อีกตนหนึ่ง

อีกทาง ... เธอควรได้รับโอกาสเพื่อแก้ไข “ก้าวที่เดินพลาดไปเพียงก้าวเดียว” ครั้งนี้หรือไม่ ยื่นมือไปดึงเธอออกมาจากเงาของอสูร

ดร.ขัตติยา รัตนดิลก
ดร.ขัตติยา รัตนดิลก ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนากระบวนการยุติธรรม สำนักงานกิจการยุติธรรม กระทรวงยุติธรรม ให้ข้อมูลเกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรมสำหรับเด็ก ซึ่งเมื่อพิจารณาเหตุปัจจัยต่างๆแล้วพบว่า เด็กกระทำความผิดจากการตัดสินใจแก้ปัญหาที่ผิดพลาด เกิดจากความคิดชั่ววูบ เช่นในกรณีนี้ที่เด็กถูกโกงเงินไป 5 หมื่นบาท จึงต้องพยายามหาเงินมาคืนแม่ เจ้าหน้าที่ของรัฐสามารถเสนอทางเลือกดำเนินการด้วยมาตรการพิเศษได้

วิธีการ คือ กรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน สามารถเชิญผู้เสียหายมาเจรจาทำความเข้าใจว่า มี 2 แนวทางในการดำเนินการ คือ ดำเนินคดีตามปกติกับเด็ก หรือ ใช้มาตรการพิเศษแทนการดำเนินคดีอาญา คือ การผันคดีเด็กและเยาวชนออกจากกระบวนการยุติธรรมทางอาญา และเปิดโอกาสให้ผู้กระทำผิด ซึ่งเป็นเด็กและเยาวชนได้รับการคุ้มครองและพัฒนาทางด้านจิตใจแทนการดำเนินคดีอาญา เพื่อให้เด็กได้สำนึกในการกระทำ ส่วนผู้เสียหายก็ได้รับการเยียวยาชดใช้ตามสิทธิและความเหมาะสม

การใช้มาตรการพิเศษแทนการดำเนินคดีอาญาในชั้นก่อนฟ้อง ตามพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว มาตรา 86 หากเยาวชนกระทำความผิดในคดีที่มีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ทางผู้อำนวยการสถานพินิจฯ ในพื้นที่ เห็นว่า เด็กหรือเยาวชนคนนั้นอาจกลับตัวเป็นคนดีได้โดยไม่ต้องฟ้องคดี สามารถจัดทำแผนแก้ไขบำบัดฟื้นฟูเพื่อปรับเปลี่ยนความประพฤติของเด็ก เสนอให้อัยการพิจารณาได้เลย โดยผ่านความยินยอมจากเด็กหรือเยาวชนและผู้เสียหาย หากแผนได้รับความเห็นชอบให้ดำเนินการตามแผน พร้อมทั้งรายงานให้ศาลทราบ

โดยแผนบำบัดฟื้นฟู จะต้องไม่จำกัดสิทธิหรือเสรีภาพของเด็กหรือเยาวชน เว้นแต่เป็นการกำหนดขึ้นเพื่อประโยชน์ของเด็กหรือเยาวชน หรือเพื่อคุ้มครองประโยชน์สาธารณะและไม่ลักษณะละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของเด็กหรือเยาวชนด้วย

แต่หากเป็นคดีที่อัตราโทษสูงกว่า คือ โทษจำคุกไม่เกิน 20 ปี ตามมาตรา 90 ตามพระราชบัญญัติศาลเยาวชนฯ หากมีข้อเท็จจริงปรากฏว่า พฤติการณ์แห่งคดีไม่เป็นภัยร้ายแรงต่อสังคมเกินควร และศาลเห็นว่า หากใช้วิธีทำแผนบำบัดฟื้นฟู จะเป็นประโยชน์ต่ออนาคตของเด็กหรือเยาวชนมากกว่าการพิพากษา อาจทำให้กลับตัวเป็นคนดีได้ ผู้เสียหายอาจได้รับการชดเชยเยียวยาตามสมควร ให้ศาลมีคำสั่งให้ผู้อำนวยการสถานพินิจหรือบุคคลที่ศาลเห็นสมควร จัดทำแผนแก้ไขบำบัดฟื้นฟูได้

อีกช่องทางหนึ่ง คือ ศาล สามารถใช้มาตรา 132 ตามพระราชบัญญัติศาลเยาวชนฯ หากเห็นว่าเป็นคดีที่ยังไม่สมควรมีคำพิพากษา ศาลอาจมีคำสั่งปล่อยตัวชั่วคราวโดยมีเงื่อนไข ตามดุลพินิจของศาลเช่น การให้เข้ามารายงานตัวต่อศาล เข้ารับการแก้ไขฟื้นฟู หรือ จัดทำแผนเเก้ไขบำบัดฟื้นฟู โดยไม่ต้องคำนึงถึงโทษ

ดร.ขัตติยา ย้ำว่า ในกระบวนการยุติธรรมเด็กและเยาวชน เน้นให้ความสำคัญกับการให้โอกาสในการได้รับการบำบัดแก้ไขฟื้นฟูและสงเคราะห์คุ้มครองมากกว่าการลงโทษ ด้วยเหตุที่เข้าใจว่าเด็กและเยาวชนที่กระทำ ผิดนั้นมีพัฒนาการทางสมองที่ยังเติบโตไม่เต็มที่ไม่สมบูรณ์เทียบเท่าในวัยผู้ใหญ่ ทำให้ยังอ่อนด้อยด้านความสามารถในการคิดและคาดการณ์ถึงผลกระทบทางลบที่อาจเกิดขึ้นกับตนเองหรือผู้อื่น จึงออกแบบให้มีทางเลือกที่ค่อนข้างมากสำหรับคดีเด็กและเยาวชน โดยเฉพาะเมื่อเห็นว่า เด็กที่กระทำความผิดไม่ใช่อาชญากร จึงควรได้รับโอกาสในการแก้ไขฟื้นฟูให้เติบโตเป็นทรัพยากรที่มีคุณค่าต่อสังคม มากกว่าที่จะนำตัวเด็กเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ซึ่งกระบวนการเหล่านี้เป็นกระบวนการที่ส่งผลกระทบทางลบต่อสภาพจิตใจและพัฒนาการปกติตามช่วงวัย ของเด็กทั้งการจับกุม การควบคุมตัว การถูกนำเสนอข่าว การกลับเข้าไปอยู่ในครอบครัว ชุมชน หรือโรงเรียน ที่มีความคิดทางลบกับตัวเด็กไปแล้ว ซึ่งต้องมีกระบวนการทำให้คนอื่นรอบตัวมีความเข้าใจต่อเด็กที่ก้าวพลาดควบคู่ไปด้วย เมื่อเด็กที่หลงผิดก้าวพลาดได้รับโอกาสในการปรับเปลี่ยนแก้ไขพฤติกรรม เขายังสามารถกลับมาเป็นพลังที่สำคัญให้กับสังคมต่อไปได้

อย่างในตัวอย่างนี้ หากน้องได้รับโอกาสในการแก้ไขตนเองและชดใช้ชดเชยต่อผู้เสียหายและสังคม อาจใช้ประสบการณ์ที่มีช่วยเป็นกระบอกเสียงในการให้ความรู้ความเข้าใจกับเด็กวัยเดียวกัน ถึงวิธีการป้องกันการตกเป็นเหยื่อการถูกหลอกลวง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจใช้เป็นกรณีศึกษาในการกำหนดกลไกการป้องกันและการให้ความช่วยเหลือผู้ตกเป็นเหยื่อการหลอกลวง เพื่อไม่ให้เด็กที่เป็นเหยื่อกลายเป็นผู้ก่ออาชญากรรมเสียเองได้อีกทางหนึ่งด้วย

“มีงานวิจัยที่พบว่า ทันทีที่เด็กถูกใส่กุญแจมือ ภาพจำของเขาต่อตัวเองก็เปลี่ยนไป เด็กบางคนมีความรู้สึกว่าตัวเองได้กลายเป็นอาชญากรไปแล้ว และหากครอบครัว โรงเรียน สังคม กระบวนการยุติธรรม ต่างมีภาพจำเกี่ยวกับเด็กคนนี้ จากการนำเสนอข่าวที่จัดเขาไปอยู่ในกลุ่มอาชญากร ก็ส่งผลกระทบทางลบทางด้านจิตใจของเด็กจนอาจเป็นการยากที่เราจะดึงเขากลับมาได้อีก สิ่งแวดล้อมเหล่านี้ ถ้าไม่ช่วยกันให้การคุ้มครองเด็กของพวกเรา ไม่ว่าเขาจะอยู่ในสถานะใดก็ตาม ก็จะเป็นเสมือนสิ่งแวดล้อมที่ทำให้เยาวชนถลำลึกกลายเป็นผู้ที่มีปัญหาพฤติกรรมและการกระทำความผิดที่รุนแรงยิ่งขึ้นต่อไป” ดร.ขัตติยา กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น