xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ยามชรา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ในความเป็นไป
วรศักดิ์ มหัทธโนบล

 ตอนเรียนชั้นประถมศึกษาอยู่นั้น ผมมักใช้เวลาว่างในช่วงหยุดเรียนไปนั่งเล่นที่บ้านพักของมิชชันนารีอยู่เสมอ ผมไปบ่อยจนจำไม่ได้ว่าแล้วเพื่อนเด็กของผมใช้เวลาที่ว่างเช่นเดียวกับผมทำอะไร 


มีอยู่วันหนึ่งผมถามท่านว่า อายุเท่าไหร่แล้ว

ท่านยิ้มให้กับคำถามไร้เดียงสาตามวัยเด็กของผม แล้วถามกลับว่า ถามทำไม ผมตอบไปว่า อยากรู้เฉยๆ ท่านก็บอกว่า ท่านมีอายุพอควรแล้ว เดี๋ยวนี้มักจะลืมอะไรอยู่บ่อยๆ ผมสะดุดกับประโยคสุดท้ายของท่านมาก เพราะนั่นเป็นครั้งแรกในชีวิตที่ผมได้รู้ว่า คนเราพอมีอายุมากขึ้นจะเป็นคนขี้หลงขี้ลืม

แต่จนแล้วจนรอดท่านก็ไม่ได้ตอบว่าตัวท่านอายุเท่าไหร่ ส่วนตัวผมมารู้เอาตอนโตแล้วว่า การถามอายุคนอื่นแบบพร่ำเพรื่อเป็นเรื่องที่เสียมารยาทอย่างหนึ่ง โดยเฉพาะกับคนที่เราไม่สนิทด้วยและกับผู้หญิง

อย่างหลังนี้ผมยังมารู้เอาตอนโตอีกด้วยว่า เป็นเรื่องที่อ่อนไหวมากสำหรับผู้หญิง เพราะมันคล้ายกับไปกระตุ้นให้ผู้หญิงรู้สึกว่าความชรากำลังจะมาเยือน ผู้หญิงจึงไม่ชอบให้ถามเรื่องอายุ จนการถามเรื่องอายุของผู้หญิงมีปฏิสัมพันธ์กับมารยาททางสังคมไปในที่สุด

ด้วยเหตุนี้ จึงเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ง่ายว่า ทำไมผู้หญิงจึงดูแลใบหน้าของตัวเองด้วยความเอาใจใส่ยิ่งกว่าผู้ชาย

ผิดกับผู้ชายที่บางครั้งก็ไม่ต้องรอให้ถาม ตัวผู้ชายอาจจะเป็นคนบอกเอง ซึ่งเป็นเรื่องที่พบเห็นได้เสมอ ผมเคยเห็นผู้ชายที่ดูแลใบหน้าของตนเองเหมือนผู้หญิงก็แต่ในหมู่วัยรุ่นในยุคนี้เท่านั้น แต่กระนั้น พอพ้นวัยก็จะหยุดไปเอง ทั้งนี้ไม่นับผู้ชายที่มีอาชีพที่ต้องขายรูปร่างหน้าตาที่ยังไงเสียต้องดูแลให้ดูดีอยู่เสมอ

 เพราะฉะนั้นแล้ว ผมจึงรู้สึกว่าผู้ชายจะรับภาวะความชราได้ง่ายกว่าผู้หญิง แต่ที่ดูน่าจะเหมือนกันทั้งผู้ชายและผู้หญิงก็คือ อายุที่มากขึ้นย่อมไม่เกี่ยวกับความรู้สึกนึกคิดของเจ้าตัว นั่นคือ แม้อายุจะล่วงเข้าสู่วัยชราแล้ว แต่ความรู้สึกนึกคิดอาจจะยังคงเป็นแบบเมื่อวัยหนุ่มวัยสาวก็ได้ 

ความรู้สึกนึกคิดดังกล่าว จะถูกกระตุ้นให้เจ้าตัวรู้สึกว่าตนชราแล้วก็ต่อเมื่อเริ่มมีส่วนใดส่วนหนึ่งในสังขารร่วงโรยลง คือเป็นการร่วงโรยที่ทำให้เจ้าตัวรู้ว่า แม้ความรู้สึกนึกคิดยังคงไม่ต่างกับวัยหนุ่มสาวก็ตาม แต่ครั้นพอจะขยับตัวทำอะไรตามที่ใจนึกก็กลับทำไม่ได้ดังเคย

การมาเยือนของความชราจะเพิ่มขึ้นตามวันเวลาที่ผ่านไป โดยเจ้าตัวจะสะสมความจำได้บ้างไม่ได้บ้าง ว่ามีเรื่องอะไรที่ตนเริ่มจำไม่ได้ดังเมื่อยังไม่ชรา การที่จะจำได้มากหรือน้อยนั้นในด้านหนึ่งย่อมขึ้นอยู่กับความร่วงโรย ว่าแต่ละคนร่วงโรยไปมากน้อยแค่ไหน

 และเจ้าความร่วงโรยนี้ก็คือ สุขภาพ 

เรื่องของสุขภาพที่ร่วงโรยนี้เป็นเรื่องที่ละเอียดซับซ้อน บางคนเป็นคนขี้โรคจนเทียวเข้าเทียวออกโรงหมอเป็นกิจวัตร แต่กลับมีชีวิตอยู่ได้นานกว่าคนที่นานๆ จะเข้าโรงหมอสักครั้ง

ความชราที่มาพร้อมกับปัญหาสุขภาพนี้เป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นได้กับทุกคน แต่ถ้าไม่นับเรื่องสุขภาพและว่ากันเฉพาะเรื่องความชราแล้ว เป็นเรื่องที่ผมเตือนตัวเองโดยตลอด ถึงแม้ในใจจะรู้สึกตนว่ายังไม่ชราก็ตาม แต่พอทำอะไรที่เคยทำแล้วทำไม่ได้หรือทำแล้วสะดุด ผมก็ตระหนักว่า นั่นเป็นเพราะความชราได้มาเยือนแล้วนั้นเอง

นอกจากจะเตือนตัวเองแล้ว คนนอกตัวเราก็มีส่วนในการเตือนด้วยเช่นกัน และเป็นการเตือนที่โดยมากแล้วมิได้เจตนา เช่น ครั้งหนึ่งผมกระโดดขึ้นรถสองแถวแล้วโหนอยู่ที่ท้ายรถ ชั่วอึดใจเด็กวัยรุ่นที่นั่งอยู่ก็ลุกขึ้นแล้วเชิญให้ผมนั่ง

ผมตอบกลับไปว่า ไม่เป็นไร น้องนั่งเถอะ แต่เด็กวัยรุ่นคนนั้นตอบกลับมาว่า ไม่เป็นไรครับลุง มานั่งเถิด

 เรื่องนี้มีคำสำคัญอยู่สองคำ คำหนึ่งคือคำว่า “น้อง” ซึ่งเป็นคำของผม อีกคำหนึ่งคือคำว่า “ลุง” ซึ่งเป็นของเด็กวัยรุ่น ทั้งสองคำนี้ชี้ให้เห็นว่า ผมเห็นเด็กวัยรุ่นเป็นน้องซึ่งหมายความว่าผมเป็นพี่ แต่เด็กวัยรุ่นกลับเห็นผมเป็นลุงซึ่งหมายความว่าเขาเป็นหลาน 

 ตอนนั้นเองที่ผมรู้สึกว่ากำลังถูกเตือนว่า แก่แล้ว ทั้งๆ ที่อายุเพิ่งจะ 40 ต้นๆ เท่านั้น 

แต่นั้นมาผมจึงเริ่มเตรียมตัวชราอย่างช้าๆ เวลามีงานเขียนที่เกี่ยวกับความชราเข้ามาให้เห็น ผมก็จะอ่านเพื่อให้มีข้อมูลว่าควรเข้าใจความชราอย่างไร และเมื่อเรียนรู้มากขึ้น ผมจึงได้แต่บอกกับตัวเองว่า หากจะชราแล้วก็ขออย่าได้เป็นแบบ “แก่แล้วแก่เลย”  อย่างหนึ่ง และขออย่าให้เด็กมันว่าเราเป็น  “มนุษย์ลุง”  เอาได้ อีกอย่างหนึ่ง

จนถึงวันที่ผมเขียนบทความนี้เรื่องอย่างแรกยังไม่เกิด คือความคิดความอ่านยังพอไปได้ ไม่ใช่แบบ “แก่เพราะกินข้าว เฒ่าเพราะอยู่นาน”  แต่ความคิดความอ่านไม่สมกับที่ผ่านร้อนผ่านหนาวมานาน แต่ที่หลงๆ ลืมๆ นั้นมีบ้างเป็นธรรมดา เพียงแต่ยังมิใช่เรื่องที่ร้ายแรงเท่านั้น

ในแง่นี้ผมจึงกลัวอย่างหลังมากกว่าอย่างแรก เพราะอย่างหลังบางครั้งเราทำไปโดยไม่รู้ว่าได้ทำอะไรลงไป หรือถ้ารู้ตัวก็รู้ในแบบว่า ที่ทำอยู่นั้นมันถูกแล้ว ทั้งๆ ที่มันผิด อย่างหลังนี้จึงไม่จำเป็นว่าต้องเกิดกับคนชราเสมอไป คนที่ยังไม่ชราก็เกิดขึ้นได้

และใครที่ทำเช่นนั้นก็จะถูกเรียกว่า มนุษย์ลุงหรือมนุษย์ป้า จนปรากฏเป็นข่าวอยู่บ่อยๆ

 และแล้วอาการ “มนุษย์ลุง” ที่ผมกลัวก็เกิดกับผมเอาจนได้ในวันหนึ่ง ตอนที่เกิดเหตุขึ้นนั้นผมอยู่ที่เมืองจีนกับคณะที่ไปทัศนศึกษาด้วยกันอีกกว่าสิบชีวิต บ่ายวันหนึ่งไกด์พาเราไปชมนิทรรศการในอาคารแห่งหนึ่งโดยนัดหมายกับคณะว่า ให้ทุกคนมาเจอกันตรงจุดนัดพบในเวลาที่ตกลงกันไว้ ตอนที่ไกด์บอกนั้นผมไปทำอะไรที่ไหนไม่ทราบ ผมจึงไม่ได้ยิน 

ดังนั้น ผมก็เดินเพลินไปจนลงมาที่ชั้นล่างตรงจุดนัดพบแต่ไม่เจอใคร แทนที่ผมจะนึกเอะใจว่าคณะเราหายไปไหนกันหมด ก็กลับคิดว่าคงยังไม่มีใครกลับลงมา

ผมจึงไปนั่งหลบมุมรอในอีกห้องหนึ่ง แล้วคอยออกมาดูว่าคณะเรามากันแล้วหรือยัง แต่รอแล้วรอเล่าก็ไม่เห็นมีใครมาสักที แต่ก็ยังไม่เอะใจอยู่ดี จนเวลาผ่านไปราวครึ่งค่อนชั่วโมงเห็นจะได้ผมจึงเห็นไกด์ ผมรีบเดินไปหาไกด์แล้วถามว่า พวกเรายังไม่ลงมากันอีกหรือ ไกด์ตอบว่า ทุกคนไปกันหมดแล้ว มีแต่ผมคนเดียวที่หายไป และไกด์ก็กำลังตามหาตัวผมอยู่

ถึงตอนนั้นผมก็เข้าใจเหตุการณ์ทั้งหมดแล้วก็ใจหาย และเสียใจที่ทำให้ทุกคนเดือดร้อนกันหมด ตอนนั้นเองที่ผมบอกกับตัวเองว่า นี่มันอาการของ “มนุษย์ลุง” ชัดๆ

ตอนนั้นผมเพิ่งเกษียณได้เพียงไม่กี่เดือน แต่ไม่ทันไรก็เป็นได้ขนาดนี้เชียวหรือ เรื่องนี้รบกวนจิตใจผมทุกครั้งที่คิดถึงมัน มันเหมือนกับคอยเตือนผมให้ระวังอยู่เสมอว่าอย่าให้เกิดเรื่องเช่นว่าขึ้นอีก
พ้นจากการระวังไม่ให้เด็กว่าเอาได้ว่าเราเป็นมนุษย์ลุงแล้ว ที่เหลือนอกนั้นจึงมักจะเป็นเรื่องของอาการต่างๆ ที่ตามมาพร้อมกับความชรา อาการนี้มีสองแบบ แบบหนึ่งเป็นเรื่องของโรคภัยไข้เจ็บ อีกแบบหนึ่งเป็นอาการขี้หลงขี้ลืมดังที่ผมได้กล่าวไปแล้ว

ทั้งสองแบบนี้มักจะมาพร้อมกันอยู่เสมอ ชั่วอยู่แต่ใครจะมีอาการมากหรือน้อยเท่านั้น

อย่างเมื่อเร็วๆ นี้คนใกล้ตัวผมเล่าว่า เธอมองหาแว่นกันแดดอยู่ตั้งนาน แต่มาเจออีกทีก็พบว่าเธอคาดมันอยู่หัว เรื่องนี้ทำให้ผมคิดถึงการ์ตูนที่ได้อ่านเมื่อตอนเด็ก ที่วาดให้ลุงแก่ๆ มองหาแว่นของตนทั้งๆ ที่มันอยู่บนหัวของลุงเอง นึกไม่ถึงว่ามุกนี้จะเกิดขึ้นในชีวิตจริง

ส่วนเรื่องโรคภัยไข้เจ็บนั้นผมสังเกตเห็นว่า หลังจากอายุเลย 50 ไปแล้ว อาการป่วยไข้ที่เป็นอยู่จะหายช้าลง ไม่เหมือนตอนเป็นวัยรุ่นวัยหนุ่มสาวที่พอป่วยไม่กี่วันก็หาย ตอนเป็นวัยรุ่นผมเคยเป็นหวัดโดยไม่พึ่งพาหยูกยามันก็หายไปได้เอง พอเป็นหนุ่มที่พึ่งพาหยูกยาสองสามวันก็หาย

เดี๋ยวนี้ซึ่งแก่ตัวลงและพึ่งพาหยูกยาด้วย แต่ภูมิต้านทานลดลงก็ทำให้เวลาป่วยไข้ทีกว่าจะหายก็นานนับสัปดาห์ ทุกวันนี้ผมดูแลตัวเองด้วยการออกกำลังกายแทบทุกวัน และก็เตือนตนอยู่ตลอดเวลาในเรื่องของมรณานุสติ

ที่โชคดีอย่างก็คือ อาชีพที่ต้องเกี่ยวข้องกับการขีดๆ เขียนๆ ได้ทำให้ผมมีอะไรให้ทำอยู่ทุกวัน ทำให้ไม่คิดฟุ้งกระจาย ไม่เหงา และไม่ซึมเศร้า แต่ผมก็เตือนตัวเองอยู่เสมอว่า คงมีสักวันที่ผมคงแก่จนไม่อาจเขียนหนังสือได้อีกต่อไป

 จะมีก็แต่เรื่องเดียวที่ผมเฝ้าระวังด้วยความกลัวเอามากๆ และก็หวังว่ามันคงไม่เกิดขึ้นอีกก็คือ อาการแบบมนุษย์ลุง  




กำลังโหลดความคิดเห็น