xs
xsm
sm
md
lg

มลพิษทางอากาศ (PM2.5) ทำให้สุขภาพจิตของเด็กแย่ลงหรือไม่?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ดร.วรนุช ดีละมัน และ ศ.ดร.ศิวัช พงษ์เพียจันทร์


ที่มา Marazziti et al., 2021 [22]
ดร.วรนุช ดีละมัน
สาขาวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสิ่งแวดล้อม คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร
และ
ศาสตราจารย์ญาณวิทย์ ดร.ศิวัช พงษ์เพียจันทร์
ศูนย์วิจัยและพัฒนาการป้องกันและจัดการภัยพิบัติ คณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หัวหน้าโครงการสร้างพลเมืองสร้างสรรค์ (Active Citizen) และผู้นำเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลง (Prime Mover) ในบริบทการจัดการคุณภาพอากาศสำหรับประเทศไทย สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
Email: pongpiajun@gmail.com


มลพิษทางอากาศเป็นปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทย ปัญหาที่เกิดขึ้นแสดงให้เห็นถึงผลกระทบในหลายมิติเช่น ผลกระทบด้านเศรษฐกิจ สุขภาพ สิ่งแวดล้อม และสังคม ในหลายประเทศให้ความสำคัญและทำการศึกษาเพื่อหาทางแก้ปัญหามลพิษทางด้านอากาศอย่างจริงจังโดยเฉพาะปัญหาเรื่องฝุ่นละออง PM2.5 ตัวอย่างเช่น การแก้ปัญหาเชิงนโยบายมีหลายประเทศออกกฏหมายหรือข้อบังคับด้านสิ่งแวดล้อมสำหรับประเด็นทั่วไปและมีการออกกฏหมายพิเศษเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวกับอากาศขึ้นมาบังคับใช้ เช่น ประเทศญี่ปุ่น มีการใช้กฎหมายสิ่งแวดล้อมพื้นฐานและกฎหมายควบคุมมลพิษทางอากาศ (Basic Environment Law และ Air Pollution Control Law) ประเทศจีน มีการบังคับใช้พระราชบัญญัติสิ่งแวดล้อมพื้นฐานและพระราชบัญญัติควบคุมมลพิษทางอากาศ (Basic Environment Act และ Air Pollution Control Act) ประเทศอังกฤษมีการใช้พระราชบัญญัติคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและพระราชบัญญัติอากาศบริสุทธิ์ (Environmental Protection Act และ Clean Air Act)

นอกจากนี้ยังมีประเทศ อินเดีย เยอรมัน สวีเดน ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และอีกหลายประเทศ [1] ที่ใช้วิธีการแก้ปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 ในเชิงนโยบาย ขณะที่ในหลายๆประเทศอาศัยงานวิจัยและเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาช่วยสนับสนุนในการแก้ปัญหา เช่นประเทศจีนสร้างหอฟอกอากาศที่มีขนาดความสูง 60 เมตรขึ้นที่เมืองซีอาน เพื่อเป็นการลดฝุ่นละออง PM2.5ในชั้นบรรยากาศ ความพิเศษของหอคอย Xian Smog Tower นอกจากช่วยให้อากาศมีคุณภาพที่ดีขึ้นแล้วระบบการทำงานของหอฟอกอากาศทั้งหมดใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์ซึ่งเป็นพลังงานสะอาดไม่ก่อให้เกิดมลพิษเพิ่มขึ้นจากการใช้หอฟอกอากาศนี้ นอกจากนี้ยังพบว่าเทคโนโลยีหอฟอกอากาศถูกนำไปสร้างในฮ่องกง และเมื่อไม่นานมานี้ประเทศอินเดียเพิ่งเปิดตัวหอฟอกอากาศแห่งแรกที่ถูกสร้างขึ้นในกรุงนิวเดลี โดยมุ่งเป้าไปที่การลดมลพิษทางอากาศที่เป็นต้นเหตุของการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรของประชาชนหลายพันคนในทุกปี อย่างไรก็ตามการแก้ปัญหามลพิษเกี่ยวกับฝุ่นละออง PM2.5 ยังคงต้องดำเนินการต่อไป

จากที่ผู้เขียนกล่าวมาข้างต้นว่าผลกระทบที่เกิดจากปัญหามลพิษทางด้านอากาศสามารถส่งผลกระทบในหลายมิติ บทความฉบับนี้จะขอกล่าวถึงผลกระทบจากฝุ่นละออง PM2.5 ที่เกิดขึ้นกับมนุษย์ในแง่ของ “สุขภาพจิต” รายงานการวิจัยของ Susanna Roberts และคณะซึ่งทำการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการสำรวจมลพิษทางอากาศ NO2 PM2.5 และปัญหาสุขภาพจิตในตัวอย่างเด็กจำนวน 284 คน ในลอนดอน ประเทศอังกฤษ รายงานวิจัยได้ระบุไว้ว่าคุณภาพอากาศไม่ดีอาจเกี่ยวข้องกับปัญหาสุขภาพจิตมากขึ้น และผลการศึกษามีการบ่งชี้ถึงหลักฐานความสัมพันธ์ระหว่างการสัมผัสกับมลพิษทางส่งผลให้เด็กอายุ 18 ปี เกิดภาวะโรคซึมเศร้าขึ้นได้ [2] มีการวินิจฉัยพบอาการของปัญหาทางสุขภาพจิตในเด็กและวัยรุ่นทั่วโลกพบอยู่ที่ประมาณ 10-20% [3] อุบัติการณ์และอายุของผู้มีปัญหาสุขภาพจิตอาจแตกต่างกันไปตามการวินิจฉัย แต่ปัญหาทั้งหมดสามารถเกิดมาจากต้นเหตุที่ได้รับผลกระทบด้านลบจากดำรงชีวิตในหลายแง่มุมรวมทั้งกิจวัตรประจำวัน การมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคม และผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา เป็นต้น [4,5]

จากผลการวิจัยแสดงให้เห็นว่าโรคจิตเภทที่แสดงในผู้ใหญ่ส่วนใหญ่จะมีอาการเริ่มต้นตั้งแต่ในวัยเด็กและช่วงวัยรุ่น [6] การที่สามารถระบุถึงปัจจัยเสี่ยงในระยะเริ่มต้นได้นั้นอาจจะช่วยให้สามารถวางแผนเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาสุขภาพจิตขึ้นในที่เด็กและเยาวชนที่กำลังเติบโต ข้อมูลก่อนหน้านี้พบว่าในเขตพื้นที่เมืองจะพบปริมาณการตรวจวินิจฉัยทางจิตเวชในผู้ใหญ่และเด็กจำนวนมาก [7,8] ซึ่งมีปัจจัยทางสิ่งแวดล้อมหลายอย่างบ่งชี้ให้เห็นถึงความแตกต่างระหว่างสภาพแวดล้อมในเมืองและชนบท รวมถึงคุณภาพอากาศที่แตกต่างกันด้วย การสัมผัสกับมลพิษทางอากาศในระดับสูงเป็นปัจจัยเสี่ยงทำให้เกิดโรคหัวใจ หลอดเลือด และระบบทางเดินหายใจ [9] ส่วนหนึ่งพบว่าเป็นผลมาจากการเกิดภาวะการอักเสบและภาวะความเครียดขึ้น [10] ภาวะดังกล่าวได้รับการแนะนำว่ามีบทบาทสำคัญในการวินิจฉัยสาเหตุทางจิตเวชซึ่งชี้ให้เห็นถึงความเชื่อมโยงระหว่างการสัมผัสมลพิษทางอากาศและอุบัติการณ์ปัญหาสุขภาพจิตมีความเป็นไปได้ [11] การวิจัยเชิงทดลองในสัตว์ และการชันสูตรศพในมนุษย์ [12,13] แสดงให้เห็นว่ามลพิษอากาศโดยเฉพาะอย่างยิ่งฝุ่นขนาดเล็กและละเอียดมากสามารถเข้าสู่สมองได้และกระตุ้นให้เกิดอักเสบของเส้นประสาท [14] โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวัยเด็กและวัยรุ่นอาจส่งผลกระทบมากกว่าผู้ใหญ่เนื่องมาจากการพัฒนาสมองอย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้เด็กมีอัตราการหายใจต่ออัตราส่วนขนาดร่างกายที่สูงกว่า และมักจะใช้เวลาอยู่กลางแจ้งมากกว่าผู้ใหญ่ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อการสัมผัสกับมลพิษทางอากาศ นอกจากนี้ยังมีรายงานที่แสดงให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างมลพิษทางอากาศกับโรคจิตเภทในผู้ใหญ่พบว่ามีความสัมพันธ์ระหว่างการสัมผัสกับ PM2.5 และการก่อให้เกิดอาการวิตกกังวล ภาวะซึมเศร้า และการฆ่าตัวตายขึ้น [15,16,17] สำหรับการศึกษาในเด็กพบว่าความสัมพันธ์ระหว่างการสัมผัสกับมลพิษทางอากาศมีผลต่ออัตราที่สูงขึ้นของโรคสมาธิสั้น [18] ออทิสติก [19] อาการวิตกกังวล ซึมเศร้า [20] และปัญหาพฤติกรรมในเด็ก พบว่ามีรายงานอัตราการจ่ายยาจิตเวชที่เพิ่มขึ้นในเด็กและวัยรุ่นที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีความเข้มข้นของมลพิษทางอากาศสูงขึ้น [21]

อย่างไรก็ตามการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างมลพิษอากาศกับอาการป่วยทางจิตเวชยังคงมีปัจจัยจำกัดอยู่ค่อนข้างมาก เนื่องจากกลุ่มตัวอย่างสุขภาพจิตอาจตรวจพบได้น้อยเกินไปทำให้เกิดอคติในผลลัพธ์ และไม่สามารถอนุมานความเกี่ยวข้องกับผลลัพธ์ด้านสุขภาพจิตที่เฉพาะเจาะจงได้ ผู้เขียนเชื่อว่าปัญหาที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพจิตที่มีสาเหตุมาจากมลพิษทางสิ่งแวดล้อมเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงได้ยาก ดังนั้นการศึกษาในเชิงลึกเพื่อศึกษาความสัมพันธ์ที่อาจเกิดขึ้นระหว่างการสัมผัสมลพิษทางอากาศในวัยเด็กและปัญหาสุขภาพจิตจะช่วยหาสาเหตุและดำเนินการวางแนวทางป้องกันสำหรับเด็กและเยาวชนของประเทศต่อไปในอนาคตได้

แนวทางและวิธีการรับมือกับความเครียดที่เกิดมาจากปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 [23]

ผลกระทบของความเครียดมักจะก่อตัวขึ้นเมื่อต้องเผชิญกับปัญหาติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน เนื่องจากปัจจัยทางอารมณ์มีบทบาทสำคัญในการทำให้เกิดความเครียด จึงจำเป็นที่จะต้องปฏิบัติตามขั้นตอนดังต่อไปนี้เพื่อรักษาสุขภาพ ช่วยให้มองโลกในแง่ดี และป้องกันการเกิดปัญหาทางสุขภาพจิต

1. ขอความช่วยเหลือ การขอความช่วยเหลือหรือคำแนะนำจากหน่วยงานที่ให้บริการด้านสุขภาพจิตและบุคลากรที่มีความเชียวชาญอยู่เสมอ หากสังเกตุพบว่าตัวเองหรือคนในครอบครัวมีพฤติกรรมที่แสดงออกถึงความเครียด หนักใจไม่สามารถรับมือกับเหตุการณ์ต่างๆรอบตัวได้ ต้องใช้ยาหรือแอลกอฮอล์เพื่อรับมือกับสถานการณ์ นั้นแสดงว่าคุณต้องได้รับการช่วยเหลือจากผู้เชียวชาญด้านสุขภาพจิตเพื่อช่วยในการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น

2. เรียนรู้สัญญาณของความเครียด หากคุณหรือคนในครัวครอบเริ่มมีอาการนอนหลับยาก โกรธง่าย ซึมเศร้า หรือรู้สึกไม่มีเรี่ยวแรงในการทำกิจวัตรประจำวัน นั้นอาจบ่งบอกได้ว่าคุณอาจกำลังรู้สึกถึงผลกระทบจากความเครียด เริ่มหาสาเหตุและแก้ไขตั้งแต่เนิ่นๆ เพื่อไม่ให้อาการความเครียดแย่ลง

3.ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ การวิจัยพบว่าการออกกำลังกายแบบแอโรบิกเป็นประจำช่วยลดระดับความตึงเครียดโดยรวมได้ แม้แต่กิจกรรมแอโรบิกเพียงแค่ห้านาทีก็สามารถส่งผลดีในการลดความเครียด นอกจากนี้การออกกำลังกายแบบผ่อนคลาย เช่น การเล่นโยคะก็เป็นการช่วยได้เช่นกัน

4.ลดการสัมผัสกับมลภาวะ เนื่องจากมลภาวะด้านฝุ่นละออง PM2.5 เป็นสาเหตุก่อให้เกิดความเครียดที่เพิ่มมากขึ้น ดังนั้นจึงควรลดการสัมผัสกับมลพิษทางอากาศ ในกรณีที่หลีกเลี่ยงไม่ได้สำหรับบ้านหรืออาคารที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ซึ่งมีค่าฝุ่นละอองเกินมาตรฐานอยู่บ่อยครั้ง อาจแก้ปัญหาโดยการติดตั้งเครื่องฟอกอากาศในที่อยู่อาศัยเพื่อช่วยกำจัดมลภาวะในอากาศที่เพิ่มความเครียดในบ้านของคุณ

5.พักผ่อนให้เพียงพอ ต้องดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงอยู่เสมอ การนอนหลับที่เหมาะสมควรนอนให้ได้อย่างน้อยวันละ 6-8 ชั่วโมง เพื่อให้ร่างกายได้รับการพักผ่อนที่เพียงพอและเป็นการลดความเครียดได้อีกวิธีหนึ่ง

อ้างอิง
[1] คนึงนิจ ศรีบัวเอี่ยม. “ไดอารี่ความคิด…เรามีสิทธิที่จะหายใจอากาศสะอาด?” [ออนไลน์]. แหล่งที่มา https://thailandcan.org/knowledge
[2] S. Roberts, L. Arseneault, B. Barratt, S. Beevers, A. Danese, C. L. Odgers, T. E. Moffitt, A. Reuben, F. J. Kelly, H. L. Fisher. Exploration of NO2 and PM2.5 air pollution and mental health problems using high-resolution data in London-based children from a UK longitudinal cohort study. Psychiatry Research., 272. (2018), pp.8-17
[3] G. V. Polanczyk, G. A. Salum, L. S. Sugaya, A. Caye, L. A. Rohde. Annual research review: a meta-analysis of the worldwide prevalence of mental disorders in children and adolescents. J. Child Psychol. Psychiatry. 56 (2015), pp.345–365
[4] J.D. McLeod and K. Kaiser. Childhood emotional and behavioral problems and educational attainment. Am. Sociol. Rev.,69, (2004), pp.636–658.
[5] Parker C., Whear R., Ukoumunne O.C., Bethel A., Thompson-Coon J., Stein K. School exclusion in children with psychiatric disorder or impairing psychopathology: a systematic review. Emot. Behav. Diffic. 2015; 20:229–251.
[6] J. Kim-Cohen, A. Caspi, T.E. Moffitt, H. Harrington, B.J. Milne, R. Poulton Prior juvenile diagnoses in adults with mental disorder: developmental follow-back of a prospective-longitudinal cohort Arch. Gen. Psychiatry, 60 (2003), pp. 709-717
[7] J. Newbury, L. Arseneault, A. Caspi, T.E. Moffitt, C. Odgers, H.L. Fisher Cumulative effects of neighborhood social adversity and personal crime victimization on adolescent psychotic experiences Schizophr. Bull., 44 (2) (2018), pp. 348-358
[8] J. Peen, R. Schoevers, A. Beekman, J. Dekker The current status of urban‐rural differences in psychiatric disorders Acta Psychiatr. Scand., 121 (2010), pp. 84-93
[9] F.J. Kelly, J.C. Fussell Air pollution and public health: emerging hazards and improved understanding of risk Environ. Geochem. Health, 37 (2015), pp. 631-649
[10] R.J. Laumbach, H.M. Kipen, S. Ko, K. Kelly-McNeil, C. Cepeda, A. Pettit, et al. A controlled trial of acute effects of human exposure to traffic particles on pulmonary oxidative stress and heart rate variability Part. Fibre Toxicol., 11 (2014), pp. 1-12
[11] M. Guxens, J. Sunyer Deu A review of epidemiological studies on neuropsychological effects of air pollution Swiss Med. Wkly, 141 (2012), p. w13322
[12] S. Levesque, T. Taetzsch, M.E. Lull, U. Kodavanti, K. Stadler, A. Wagner, et al. Diesel exhaust activates and primes microglia: air pollution, neuroinflammation, and regulation of dopaminergic neurotoxicity Environ. Health Perspect., 119 (2011), pp. 1149-1155
[13] L. Calderón-Garcidueñas, A.C. Solt, C. Henríquez-Roldán, R. Torres-Jardón, B. Nuse, L. Herritt, et al. Long-term air pollution exposure is associated with neuroinflammation, an altered innate immune response, disruption of the blood-brain barrier, ultrafine particulate deposition, and accumulation of amyloid β-42 and α-Synuclein in children and young adults Toxicol. Pathol., 36 (2008), pp. 289-310
[14] M.L. Block, L. Calderón-Garcidueñas Air pollution: mechanisms of neuroinflammation and CNS disease Trends Neurosci., 32 (9) (2009), pp. 506-516
[15] M.C. Power, M.-A. Kioumourtzoglou, J.E. Hart, O.I. Okereke, F. Laden, M.G. Weisskopf The relation between past exposure to fine particulate air pollution and prevalent anxiety: observational cohort study BMJ, 350 (2015), p. h1111, 10.1136/bmj.h1111
[16] Y.-H. Lim, H. Kim, J.H. Kim, S. Bae, H.Y. Park, Y.-C. Hong Air pollution and symptoms of depression in elderly adults Environ. Health Perspect., 120 (2012), pp. 1023-1028
[17] A.V. Bakian, R.S. Huber, H. Coon, D. Gray, P. Wilson, W.M. McMahon, et al. Acute air pollution exposure and risk of suicide completion Am. J. Epidemiol., 181 (2015), pp. 295-303
[18] J.-Y. Min, K.-B. Min Exposure to ambient PM10 and NO2 and the incidence of attention-deficit hyperactivity disorder in childhood Environ. Int., 99 (2017), pp. 221-227
[19] T.A. Becerra, M. Wilhelm, J. Olsen, M. Cockburn, B. Ritz Ambient air pollution and autism in Los Angeles County, California Environ. Health Perspect., 121 (2013), pp. 380-386
[20] F.P. Perera, D. Tang, S. Wang, J. Vishnevetsky, B. Zhang, D. Diaz, et al. Prenatal polycyclic aromatic hydrocarbon (PAH) exposure and child behavior at age 6–7 years Environ. Health Perspect., 120 (2012), pp. 921-926
[21] A. Oudin, L. Bråbäck, D.O. Åström, M. Strömgren, B. Forsberg Association between neighbourhood air pollution concentrations and dispensed medication for psychiatric disorders in a large longitudinal cohort of Swedish children and adolescents BMJ Open, 6 (2016), Article e010004
[22] D. Marazziti, P. Cianconi, F. Mucci, L. Foresi, I. Chiarantini, A. D. Vecchia, Climate change, environment pollution, COVID-19 pandemic and mental health. Sci. Total Environ. SCI., 773, (2021), 145182
[23] IQAir. “Air pollution, stress and your health” [ออนไลน์]. แหล่งที่มาhttps://www.iqair.com/us/blog/health-wellness/air-pollution-stress-and-your-health



กำลังโหลดความคิดเห็น