xs
xsm
sm
md
lg

PM2.5 กับมาตรการ Lockdown & Work from Home

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ดร.โฉมศรี ชูช่วย และ ศ.ดร.ศิวัช พงษ์เพียจันทร์

ดร.โฉมศรี ชูช่วย
คณะการจัดการสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
และ
ศาสตราจารย์ญาณวิทย์ ดร. ศิวัช พงษ์เพียจันทร์
ศูนย์วิจัยและพัฒนาการป้องกันและจัดการภัยพิบัติ คณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หัวหน้าโครงการสร้างพลเมืองสร้างสรรค์ (Active Citizen) และผู้นำเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลง (Prime Mover) ในบริบทการจัดการคุณภาพอากาศสำหรับประเทศไทย สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
Email: pongpiajun@gmail.com

ในสถานการณ์ปัจจุบันการแพร่ระบาดของการติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ในประเทศไทยพบการระบาดเพิ่มมากขึ้น จากข้อมูลทั่วโลกพบว่าในช่วงการระบาดความเข้มข้นของมลพิษทางอากาศลดลงในหลายพื้นที่ เนื่องจากการจำกัดการเดินทาง องค์กรหลายแห่งให้พนักงานทำงานจากที่บ้านหรือที่เรียกว่า Work from Home และการระงับการทำกิจกรรมหลายอย่างทางสังคมทำให้ประชาชนใช้ชีวิตส่วนใหญ่ในที่อยู่อาศัยของตัวเอง ดังนั้นจึงส่งผลให้ประชาชนสัมผัสกับมลพิษทางอากาศลดลงด้วยเช่นกัน โดยวิกฤตการณ์ COVID-19 ส่งผลกระทบต่อผู้คนมากมายทั่วโลก โดยมีอัตราการเสียชีวิต 11% ในช่วงหกเดือนแรกของปี 2020 [1] ดังนั้นในหลายประเทศจึงใช้มาตรการบังคับล็อกดาวน์ (Forced lockdown) ที่เข้มงวดซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการควบคุม COVID-19 ทำให้หลายกิจกรรมต้องหยุดชะงักทั้งกิจกรรมทางด้านเศรษฐกิจและสังคม ด้วยมาตรการนี้จึงส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงกิจกรรมของมนุษย์และนำไปสู่การลดปริมาณการปล่อยมลพิษทางอากาศซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในระดับภูมิภาคที่เกิดขึ้นพร้อมกันในหลายพื้นที่ทั่วโลก

การล็อกดาวน์ในหลายประเทศ เช่น ฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี สเปน และจีน ทำให้รัฐบาลต้องสั่งปิดโรงไฟฟ้า หยุดการขนส่งและปิดโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ ส่งผลให้ระดับความเข้มข้นของก๊าซเรือนกระจก (GHGs), ก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ (NO2), ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (SO2), PM2.5, PM10 และ CO2 ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ [2,3] ส่งผลให้คุณภาพสิ่งแวดล้อมและสภาพภูมิอากาศดีขึ้นและการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse gas) เมื่อปีที่แล้ว (2021) ก็มีปริมาณลดลงอย่างมาก มาตรการล็อกดาวน์ที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่จากการระบาดของ COVID-19 ส่งผลให้คุณภาพอากาศดีขึ้นด้วย เนื่องจากแหล่งกำเนิดหลักโดยเฉพาะอย่างยิ่งการจราจรและภาคอุตสาหกรรมลดลง จากข้อมูลการล็อกดาวน์อย่างเข้มงวดในประเทศจีนโดยการจำกัดการเคลื่อนย้ายของมนุษย์ ระงับการขนส่งภายในเมืองและการปิดโรงงาน [4, 5] ทำให้ดัชนีคุณภาพอากาศดีขึ้น 7.8% [6] โดยเฉพาะอย่างยิ่งปริมาณความเข้มข้นของ PM2.5 ลดลงอย่างเห็นได้ชัดในเมืองอู่ฮั่น [7] ในส่วนของประเทศเพื่อนบ้านของประเทศไทยอย่างเช่นประเทศมาเลเซีย พบว่าช่วงล็อกดาวน์ปริมาณความเข้มข้นของฝุ่นละอองลดลงในหลายพื้นที่ ถึงแม้ว่าจะยังมีการเผาไหม้ชีวมวลในท้องถิ่นอยู่ก็ตาม [8-10]

อย่างที่หลายท่านทราบกันดีว่ามลพิษทางอากาศโดยเฉพาะอย่างยิ่ง PM2.5หรือที่รู้จักกันนาม “ฝุ่นจิ๋ว” ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพของมนุษย์ทั้งในระยะสั้น และระยะยาว ทั้งนี้ฝุ่นจิ๋วในบรรยากาศยังเป็นประเด็นที่หน่วยงานต่างๆให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก จากงานวิจัยทั่วโลกชี้ให้เห็นว่ามลพิษทางอากาศที่มีระดับความเข้มข้นเกินค่ามาตรฐานจะก่อให้เกิดผลกระทบต่อระบบนิเวศและสิ่งมีชีวิตต่างๆรวมถึงมนุษย์อย่างมหาศาล ดังนั้นมลพิษทางอากาศจึงกลายเป็นประเด็นสำคัญทางด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพในระดับโลก และมีหลักฐานทางวิชาการสนับสนุนชัดเจนว่าสารมลพิษที่ปนเปื้อนในอากาศเสี่ยงต่อการเกิดโรคระบบทางเดินหายใจ โรคปอดติดเชื้อ โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคมะเร็ง และสุขภาพอนามัยแม่และเด็ก เป็นต้น โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง เช่น เด็ก ผู้สูงอายุ ผู้มีรายได้น้อย เป็นกลุ่มที่ต้องให้การดูแลเป็นพิเศษ ดังนั้นจากมาตรการการควบคุมการแพร่กระจายของ COVID-19 ที่เข้มงวดในหลายพื้นที่ พบว่าการลดลงของ PM2.5ในช่วงล็อกดาวน์มีความสัมพันธ์อย่างมีนัยสำคัญต่อปัญหาสุขภาพของมนุษย์

โดยพบว่าระดับมลพิษทางอากาศที่มีอัตราลดลง 20% จากช่วงเวลาปกติก่อนมีมาตรการ ล็อกดาวน์ทำให้ผู้ป่วยโรคหอบหืดและระบบทางเดินหายใจมีความเสี่ยงต่ออัตราการเสียชีวิตลดลงด้วย [11] แต่อย่างไรก็ตามการสัมผัสกับมลพิษทางอากาศก็มีความแตกต่างกันภายใต้ข้อจำกัดที่กำหนดไว้ในการควบคุม COVID-19 เนื่องจากประชากรส่วนใหญ่ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีการล็อกดาวน์มักจะใช้เวลาส่วนใหญ่ในที่อยู่อาศัยของตัวเอง ดังนั้นโอกาสในการสัมผัสมลพิษทางอากาศจึงมีอัตราส่วนที่ลดลงด้วย [12] จากตัวอย่างงานวิจัยเรื่อง “Relationship Between COVID‑19‑Infected Number and PM2.5Level in Ambient Air of Bangkok, Thailand” ซึ่งได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร Aerosol Science and Engineering เดือน พฤษภาคม ปี 2564 ได้ทำการเปรียบเทียบความสัมพันธ์ระหว่างระดับความเข้มข้นเฉลี่ยของ PM2.5กับตัวเลขผู้ติดเชื้อ COVID-19 ในเขตกรุงเทพและปริมณฑลช่วงเดือนมกราคม 2564 ผลการศึกษาพบว่าระดับความเข้มข้นของ PM2.5ลดลงอย่างมีนัยสำคัญเมื่อมีจำนวนผู้ติดเชื้อ COVID-19 มากกว่า 500 และ 700 ราย โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางด้านทิศตะวันออกของกรุงเทพฯ ดังแสดงในรูปที่ 1 ซึ่งบริเวณพื้นที่ดังกล่าวส่วนใหญ่เป็นย่านธุรกิจและการค้า [13] ดังนั้นนโยบายล็อกดาวน์และ Work from Home จึงมีบทบาทสำคัญต่อการลดลงของระดับความเข้มข้นของ PM2.5และทำให้คุณภาพอากาศในช่วงนั้นดีขึ้นนั่นเอง

รูปที่ 1 เปรียบเทียบระดับความเข้มข้นของ PM2.5กับตัวเลขผู้ติดเชื้อ COVID-19 ในเขตกรุงเทพและปริมณฑลช่วงเดือนมกราคม 2564
อ้างอิง
[1] World Health Organization (WHO) (2020). WHO coronavirus disease (COVID-19) dashboard, https://www.who.int/ (accessed 20 August 2020).
[2] Fu, F., Purvis-Roberts, K.L., Williams, B. (2020). Impact of the COVID-19 Pandemic Lockdown on Air Pollution in 20 Major Cities around the World. Atmosphere. 11, 1189.
[3] Nigam, R., Pandya, K., Luis, A.J., Sengupta, R., Kotha, M. (2021). Positive efects of COVID‑19 lockdown on air quality of industrial cities (Ankleshwar andVapi) ofWestern India. Sci. Rep, 11:4285.
[4] Cole, M.A., Elliott, R.J.R., Liu, B. (2020). The impact of the Wuhan COVID-19 lockdown on air pollution and health: A machine learning and augmented synthetic control approach. Environ. Resour. Econ. 76, 553–580.
[5] Silver, B. He, X., Steve R Arnold, S.R., Spracklen, D.V. (2020). The impact of COVID-19 control measures on air quality in China. Environ. Res. Lett. 15, 084021.
[6] Bao, R., Zhang, A. (2020). Does lockdown reduce air pollution? Evidence from 44 cities in northern China. Sci. Total Environ. 731, 139052.
[7] Wang, P., Chen, K., Zhu, S., Wang, P., Zhang, H. (2020). Severe air pollution events not avoided by reduced anthropogenic activities during COVID-19 outbreak. Resour. Conserv. Recycl. 158, 104814.
[8] Abdullah, S., Mansor, A.A., Napi, N.N.L.M., Mansor, W.N.W., Ahmed, A.N., Ismail, M., Ramly, Z.T.A. (2020). Air quality status during 2020 Malaysia Movement Control Order (MCO) due to 2019 novel coronavirus (2019-nCoV) pandemic. Sci. Total Environ. 729, 139022.
[9] Kanniah, K.D., Kamarul Zaman, N.A.F., Kaskaoutis, D.G., Latif, M.T. (2020). COVID-19's impact on the atmospheric environment in the southeast Asia region. Sci. Total Environ. 736, 139658.
[10] Mohd Nadzir, M.S., Chel Gee Ooi, M., Alhasa, K.M., Bakar, M.A.A., Mohtar, A.A.A., Mohd Nor, M.F.F., Latif, M.T., Abd Hamid, H.H., Md Ali, S.H., Ariff, N.M., Anuar, J., Ahamad, F., Azhari, A., Hanif, N.M., Subhi, M.A., Othman, M., Mohd Nor, M.Z. (2020). The impact of Movement Control Order (MCO) during pandemic COVID-19 on local air quality in an urban area of Klang Valley, Malaysia. Aerosol Air Qual. Res. 20, 1237–1248.
[11] Venter, Z.S., Barton, D.N., Gundersen, V., Figari, H., Nowell, M. (2020). Urban nature in a time of crisis: recreational use of green space increases during the COVID-19 outbreak in Oslo, Norway. Environ. Res. Lett, 15, 104075.
[12] Abouleish, M.Y. (2020). Indoor air quality and coronavirus disease (COVID-19). Public Health 191, 1–2.
[13] Pongpiachan, S., Chetiyanukornkul, T., Manassanitwong, W. (2021). Relationship Between COVID‑19‑Infected Number and PM2.5Level in Ambient Air of Bangkok, Thailand. Aerosol Sci. Eng. 5, 383–392.



กำลังโหลดความคิดเห็น