เมื่อต้นอาทิตย์ที่ผ่านมา ได้เกิดปรากฏการณ์ใหม่ในประเทศแคนาดา ด้วยการจัดพิธีสาบานตนอย่างยิ่งใหญ่ และศักดิ์สิทธิ์เพื่อสถาปนาข้าหลวงใหญ่ของแคนาดาคนใหม่ ที่จะเป็นผู้นำสูงสุดของแคนาดาในปัจจุบัน
ข้าหลวงใหญ่ (Governor General) คนใหม่นี้ จะเป็นลำดับที่ 30 ในรอบ 200 ปีที่ได้เข้ารับตำแหน่ง โดยจะเป็นผู้มีอำนาจสูงสุดในแคนาดา ทั้งในตำแหน่งจอมทัพ (Commander-in-Chief) และผู้ลงนามในกฎหมายทุกฉบับที่ผ่านรัฐสภาแคนาดาเพื่อนำไปบังคับใช้ รวมทั้งการสาบานตนก่อนปฏิบัติหน้าที่ของสภา; รัฐบาล และฝ่ายตุลาการ
เป็นการสร้างประวัติศาสตร์อีกครั้งสำหรับประเทศแคนาดา ที่จะมีผู้หญิงเป็นข้าหลวงใหญ่ ดูแลต่างพระเนตรพระกรรณของพระมหากษัตริย์แห่งสหราชอาณาจักร ซึ่งปัจจุบันคือ สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 องค์กษัตริย์แห่งเครือจักรภพ
โดยสุภาพสตรีที่เข้ารับตำแหน่งนี้ จะเป็นสตรีเชื้อสายอินเดียนแดง ซึ่งเป็นชนเผ่าเจ้าของแผ่นดินแคนาดาในอดีต ซึ่งเธอจะเป็นชาวอินเดียนแดงคนแรกที่เข้ารับตำแหน่งนี้
เธออายุ 73 ปี และเกิดในชนเผ่าอินุกติตุต (Inuktitut) คือเธอเป็นคน “อินุก (Inuk)” นั่นเอง โดยมีพ่อเป็นชาวอังกฤษคนแรกที่แต่งงานกับแม่ของเธอที่เป็นคนอินุกเมื่อ 80 ปีที่แล้ว
ประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของแคนาดาจะเกิดขึ้นไม่ได้ ถ้าไม่ใช่เพราะแคนาดามีนายกรัฐมนตรีหนุ่มหัวเสรีชื่อ จัสติน ทรูโด ซึ่งเข้ามาบริหารบ้านเมืองตั้งแต่อายุ 44 ปี และกำลังอยู่ในสมัยที่ 2 ของการบริหารบ้านเมือง (ขณะนี้อายุ 49 ปี) โดย รมต.ในคณะของเขา เป็นสตรีถึงกว่าครึ่งหนึ่ง
จัสติน ทรูโด เป็นนายกฯ คนแรกของแคนาดาที่เป็นทายาทของอดีตนายกฯ ที่ได้สร้างความแปลกใหม่ และความเปลี่ยนแปลงมาสู่แคนาดาในหลายด้าน นั่นคือ อดีตนายกฯ ปิแอร์ ทรูโด ที่เป็นนายกฯ หนุ่มที่ได้เป็นหัวหน้าพรรคเสรี (Liberal Party) นำชัยในการเลือกตั้งหลายสมัย จนทำให้นายกฯ ปิแอร์ ทรูโด เป็นนายกฯ ที่ยาวนานที่สุดของแคนาดาคนหนึ่ง
ปิแอร์ ทรูโด ได้เปิดสัมพันธ์กับจีนแผ่นดินใหญ่ก่อนหน้าสหรัฐฯ จะดำเนินการเสียอีก และเป็นผู้สร้างประวัติศาสตร์ในการคัดเลือกเสนอชื่อสุภาพสตรีคนแรกเข้าสู่ตำแหน่งข้าหลวงใหญ่ประจำแคนาดา
โดยขบวนการเข้ารับตำแหน่งข้าหลวงใหญ่ของแคนาดานั้น นายกรัฐมนตรีจะเป็นผู้คัดเลือกบุคคลที่สมควรมารับตำแหน่งนี้ แล้วนายกฯ จะนำรายชื่อขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายพระมหากษัตริย์อังกฤษ ซึ่งในยุคของนายกฯ ปิแอร์ ทรูโด คือ พระราชินีเอลิซาเบธที่ 2 พระองค์ปัจจุบันนั่นเอง ซึ่งจะเป็นพระราชวินิจฉัยขององค์กษัตริย์อังกฤษว่าจะทรงเห็นชอบหรือไม่
นายกฯ ปิแอร์ ได้เสนอชื่อสุภาพสตรีที่เคยเป็นประธานสภาผู้แทนฯ ของรัฐสภาแคนาดาคือ นางจีนน์ โซเว่ (Jeanne Sauve) รับตำแหน่งช่วงปี 1984-1990 นับเป็นการคิดใหม่ทำใหม่ของปิแอร์ ทีเดียว
จึงไม่น่าแปลกใจที่บุตรชายคนโตของอดีตนายกฯ ปิแอร์ ทรูโด คือ นายกฯ จัสติน ทรูโด ผู้ซึ่งมีตำแหน่งเป็นหัวหน้าพรรคเสรี (เช่นเดียวกับคุณพ่อ) และชนะการเลือกตั้งอย่างถล่มทลายเข้ามาเป็นนายกฯ ตั้งแต่อายุยังน้อย จะเดินตามแนวทางคิดใหม่ทำใหม่เช่นเดียวกับคุณพ่อของเขา
ยิ่งเฉพาะในปัจจุบันที่กำลังมีคลื่นแห่งความเปลี่ยนแปลงทั่วโลกไปสู่ความเท่าเทียมมากยิ่งขึ้น ลดความเหลื่อมล้ำระหว่างฐานะทางเศรษฐกิจ, สังคม, การเมือง การยอมรับในความแตกต่างทั้งสีผิว, เชื้อชาติ, ศาสนา, วัย, เพศ จึงนับเป็นผลงานชิ้นสำคัญอันหนึ่งของจัสติน ทรูโด ทีเดียว
สำหรับแคนาดาแล้ว ประวัติศาสตร์ที่ถูกฝังกลบแอบซ่อนความโหดร้ายทารุณที่ผู้รุกรานชาวอังกฤษ (และฝรั่งเศส) ได้เข้ามาทำสงครามยึดครองดินแดนอันกว้างใหญ่ไพศาลอุดมสมบูรณ์ของแคนาดา ตั้งแต่เกือบ 400 ปีที่แล้ว โดยกระทำการสังหารและข่มเหงกลืนชาติแก่เหล่าชาวอินเดียนแดงเจ้าของแผ่นดินดั้งเดิมมาเป็นพันๆ ปี ด้วยการบังคับอย่างโหดเหี้ยมให้เด็กๆ ลูกหลานอินเดียนแดงต้องพลัดพรากจากพ่อแม่และครอบครัวของตน เพื่อมาอยู่ในโรงเรียนกินนอนที่เหมือนค่ายกักกันแล้วบังคับเด็กๆ (จำนวนเป็นแสนคนในหลายร้อยปีที่ผ่านมา) เหล่านี้ ให้ต้องเรียนรู้วัฒนธรรม, ศาสนาของเจ้าอาณานิคม โดยบังคับไม่ให้พูดภาษาเดิม (อินเดียนแดง) รวมทั้งห้ามทำกิจกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับวัฒนธรรมเดิมๆ ทั้งหมด บังคับให้หันมานับถือศาสนาคริสต์ และสั่งสอนให้เกรงกลัวคนผิวขาว
เด็กๆ เล็กๆ หลายคนที่ไม่สามารถปรับตัวได้ตามความต้องการของฝ่ายคนผิวขาวผู้เข้ามาครอบครองปล้นชิงดินแดน เด็กๆ ก็จะถูกทำโทษอย่างรุนแรงเพื่อเป็นเยี่ยงอย่างให้เด็กๆ ที่เหลือให้เกิดความเกรงกลัว
จนเมื่อต้นปีนี้เอง ได้พบหลุมฝังศพเด็กๆ จำนวนมาก เป็นจำนวนพันหลุม ซึ่งมีกระดูกของเด็กๆ ที่บางทีมีการฝังรวมหมู่เกิดขึ้นทั่วไปในแคนาดา โดยเฉพาะดินแดนทางตะวันตก และการค้นพบเหล่านี้ มักเกิดในบริเวณโรงเรียนที่อยู่ในโบสถ์คริสต์ ซึ่งมีร่องรอยของเด็กถูกทำร้ายร่างกาย
ด้วยเทคโนโลยีปัจจุบัน ทำให้สามารถพบกระดูกเด็กเหล่านี้เพิ่มมากขึ้นในหลุมที่ฝังอยู่ใต้พื้นดิน มีการออกมาทวงถามหาความเป็นธรรมของเหล่าลูกหลานของชนเผ่าอินเดียนแดง ที่ปัจจุบันกลายเป็นคนกลุ่มน้อยของแคนาดา และมีจำนวนน้อยมากเพราะคนรุ่นก่อนๆ ถูกทำลายล้างชนิดฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ทีเดียว
ยิ่งเมื่อมีการระบาดของโควิด-19 เกิดการเรียกร้องของกลุ่มชนเผ่าอินเดียนแดง ที่พวกเขาถูกยึดครองดินแดนอุดมสมบูรณ์ แล้วถูกบังคับให้ไปรวมกันอยู่ในที่กันดาร, ขาดทั้งการศึกษา, การสาธารณสุข และไม่มีงานทำ และหลังจากคลื่นความเคลื่อนไหวใหญ่ในสหรัฐฯ เมื่อปีที่แล้ว จากเหตุการณ์สังหารโหดของตำรวจผิวขาวที่ทำร้ายนายจอร์จ ฟลอยด์ นำมาสู่การตั้งรมต.มหาดไทยของสหรัฐฯ ภายใต้รัฐบาลไบเดน เป็นผู้หญิงเผ่าอินเดียนแดงคนแรกคือ เด็บ ฮาแลนด์ (Deb Haaland) ทำให้เกิดคลื่นเปลี่ยนแปลงนี้ไปทั่วในแคนาดา และรวมถึงที่ออสเตรเลีย ที่มีเหตุการณ์คล้ายคลึงกับที่ชาวอาณานิคมอังกฤษไปบังคับขู่เข็ญกับชาวพื้นเมือง โดยกว้านเอาเด็กๆ ชาวอะบอริจินพื้นเมืองมาเข้าโรงเรียนที่เป็นค่ายกักกันเช่นกัน
จัสติน ทรูโด ได้ออกมากล่าวขอโทษอย่างจริงใจต่อบาปของบรรพบุรุษผิวขาวนักล่าอาณานิคม ที่ได้ทำต่อชาวพื้นเมืองอินเดียนแดง (เช่นเดียวกับผู้นำออสเตรเลีย ก็ต้องออกมาขอโทษชาวพื้นเมืองเช่นกัน) จึงนับเป็นการยิงนกทีเดียวได้นกหลายตัว ในการแต่งตั้งหญิง (ลูกครึ่ง) เชื้อสายอินเดียนแดง เข้ามารับตำแหน่งผู้นำสูงสุดของแคนาดาในขณะนี้
ข้าหลวงใหญ่คนใหม่คือ นางแมรี ไซมอน (Mary Simon) เธอได้กล่าวน่าประทับใจในการสาบานตนที่วุฒิสภาเมื่อเข้ารับตำแหน่งว่า
“ความปรองดองคือ การทำความรู้จักกันและกันให้มากยิ่งขึ้น และต้องพยายามทุ่มเทเพื่อการรู้จักกันนี้ในทุกๆ วัน” และนายกฯ จัสติน ได้กล่าวในพิธีสาบานตนว่า “เป็นเวลาใหม่ของแคนาดา ที่จะต้องสร้างสิ่งใหม่ๆ หลังการระบาดของไวรัสร้าย, ที่จะต้องร่วมผนึกใจกันต่อสู้กับโลกร้อน, และ ฯลฯ ที่จะเดินไปข้างหน้าด้วยพลังแห่งความปรองดองสามัคคี เพื่อประเทศแคนาดาที่จะต้องแข็งแกร่งยิ่งขึ้นนั่นเอง”