กสม.ห่วงปมนายกฯ สั่งใช้ กม.แก้ปัญหาข่าวปลอม จี้ทบทวน ชี้การแสดงความเห็นเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานตามรัฐธรรมนูญ พร้อมขอบคุณ ครม.รับข้อเสนอแนะมาตรการส่งเสริมคุ้มครองสิทธิในการชุมนุม
วันนี้ (28 ก.ค.) คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ชี้แจงว่า ยินดีที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเมื่อวันที่ 27 ก.ค. ตอบรับข้อเสนอแนะ เรื่อง “มาตรการหรือแนวทางในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน กรณีสถานการณ์การชุมนุมและเรียกร้องทางการเมืองของนักเรียน นิสิต นักศึกษา และประชาชน” ซึ่ง กสม.ชุดที่ผ่านมา ได้เสนอไปเมื่อวันที่ 24 พ.ย. 63 รวม 4 ประเด็น คือ 1. การเคารพเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ ต้องคำนึงถึงเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ที่ว่า “การมีสิทธิเสรีภาพเป็นหลัก การจำกัดตัดสิทธิเสรีภาพเป็นข้อยกเว้น” อย่างเคร่งครัด และการใช้กำลังจัดการการชุมนุมต้องทำเท่าที่จำเป็นและจำกัด 2. ควรบังคับใช้กฎหมายเฉพาะว่าด้วยการชุมนุมสาธารณะเป็นหลักแทนการใช้กฎหมายอื่นๆ และทบทวนกฎหมายที่จำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชน 3. ความคิดเห็นและข้อเสนอในการแก้ไขปัญหาของผู้ชุมนุมควรจะได้รับการพิจารณาอย่างจริงจังและไม่ล่าช้า และ 4. ควรมีการชี้แจงเหตุผล ความจำเป็นและความได้สัดส่วนในการจำกัดสิทธิและเสรีภาพการชุมนุม และขอสนับสนุนให้มีคณะกรรมการปรองดองสมานฉันท์ เพื่อประกันว่า ข้อเรียกร้องจากทุกฝ่ายจะได้รับการพิจารณาและนำไปสู่การยุติความขัดแย้งอย่างสันติวิธี
“กสม.ขอบคุณที่ ครม.ตอบรับข้อเสนอแนะดังกล่าว และพร้อมที่จะร่วมมือกับทุกฝ่ายในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน รวมทั้งเสริมสร้างความปรองดองสมานฉันท์และการแก้ไขความขัดแย้งในสังคมด้วยสันติวิธี”
อย่างไรก็ตาม กสม.ยังกังวลต่อท่าทีและแนวทางการจัดการข่าวปลอม หรือ Fake news ที่นายกรัฐมนตรีระบุในสื่อสังคมออนไลน์ของท่าน ที่ให้แต่ละหน่วยงานตรวจสอบ แก้ไขปัญหาข่าวปลอมและแจ้งความดำเนินคดีกับผู้กระทำผิด รวมทั้งให้นำข้อกำหนดข้อที่ 11 จากข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 27) ว่าด้วยเรื่องการห้ามบิดเบือนข้อมูลข่าวสารมาเป็นแนวปฏิบัติ ซึ่ง กสม. เคยเสนอให้ทบทวนข้อกำหนดดังกล่าว เพื่อให้การดำเนินงานของเจ้าหน้าที่ของรัฐสอดคล้องตามหลักสิทธิมนุษยชน โดยย้ำว่า รัฐบาลควรทบทวนในเรื่องนี้ และระมัดระวังการใช้กฎหมายอันอาจเป็นการจำกัดสิทธิและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการนำเสนอข้อมูลข่าวสารของประชาชนและสื่อมวลชน ซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ได้รับการรับรองและคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ 60 และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองที่ไทยเป็นภาคีและมีพันธกรณีที่ต้องปฏิบัติตาม