ผู้นำคิวบาหลังจากยุคพี่น้องตระกูลคาสโตร ซึ่งปกครองประเทศนานกว่าครึ่งศตวรรษ กำลังเผชิญความท้าทายของประชาชนซึ่งทนต่อไปไม่ได้กับระบบคอมมิวนิสต์และความลำบากด้านชีวิตความเป็นอยู่ ขาดสิทธิพลเมือง ปัญหาเศรษฐกิจที่กำลังรุมเร้าอย่างหนัก
ประธานาธิบดี มิเกล ดิแอซ-คาเนล เริ่มรู้รสของแรงต้านเมื่อประชาชนเดินขบวนในหลายเมืองทั่วทั้งเกาะซึ่งเผชิญกับการระบาดของโรคโควิด-19 มีทั้งคนติดเชื้อหลายพันคนและมีคนเสียชีวิตหลายร้อยคน ขณะที่ประชาชนยังรอการฉีดวัคซีน
ช่วงอาทิตย์ที่ผ่านมา ประชาชนหลายร้อยคนเดินขบวนในกรุงฮาวานา เมืองหลวงพร้อมตะโกนเรียกร้องสิทธิเสรีภาพ และให้รัฐบาลจัดการแก้ปัญหาเศรษฐกิจซึ่งถูกซ้ำเติมโดยการระบาดของโควิด-19 ทำให้เกิดสภาวะอดอยากในกลุ่มคนไร้งาน และรายได้น้อย
ถือว่าเป็นครั้งแรกที่ประชาชนออกมาเดินขบวน ตำรวจและฝ่ายความมั่นคงได้ยิงแก๊สน้ำตาสลายการชุมนุม และมีคนถูกจับกุมคุมขังกว่า 100 คน แต่ครั้งนี้จะเห็นได้ว่าชาวคิวบาไม่ยอมถูกปิดกั้นกดขี่อีกต่อไป เพราะถือว่าถ้าไม่ลุกขึ้นต่อสู้ ก็ต้องลำบาก
ในยุคของฟิเดล คาสโตร ไม่มีโซเชียลมีเดีย ไม่มีอิทธิพลของสื่อเพราะอยู่ภายใต้การควบคุมโดยรัฐ ปัจจุบันมีโซเชียลมีเดียหลากประเภท มีคลิปความเคลื่อนไหว การชุมนุมซึ่งแพร่กระจายไปในกลุ่มประชาชนซึ่งเข้าถึงเทคโนโลยีผ่านโทรศัพท์มือถือ
นั่นทำให้รัฐบาลคิวบาต้องพิจารณาว่าจะปิดกั้นได้หรือไม่
ประธานาธิบดีดิแอซ-คาเนล ได้ออกมาเรียกร้องให้ประชาชนคำนึงถึงหลักการของการปฏิวัติซึ่งเกิดขึ้นในปี 1959 นำโดยฟิเดล คาสโตร ยึดอำนาจจากผู้นำบาติสตาซึ่งเป็นเผด็จการ และเอื้อประโยชน์ต่อสหรัฐฯ หลังจากพ่ายแพ้ บาติสตาได้ลี้ภัยไปสหรัฐฯ
คิวบาเคยมีรายได้จากการท่องเที่ยวทั้งๆ ที่โดนคว่ำบาตรโดยสหรัฐฯ และโลกตะวันตกนานหลายสิบปี แต่หลังจากโดนคว่ำบาตรรอบใหม่โดยประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ทำให้การท่องเที่ยว การนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศต้องหดหาย
นั่นทำให้เกิดสภาวะขาดแคลนทุกด้าน สินค้าที่จำเป็นหายไปจากท้องตลาด สินค้ามีขายในร้านแต่ประชาชนต้องจ่ายด้วยเงินตราสกุลต่างประเทศ โดยเฉพาะดอลลาร์สหรัฐ ประชาชนคิวบาซึ่งได้อพยพไปอยู่ในรัฐฟลอริดาก็ออกมาร่วมเดินขบวนด้วย
การประท้วงรอบนี้ทำให้ผู้นำประเทศรับกับสถานการณ์ได้ยากกว่าที่ผ่านมา หลังจากที่ชาวคิวบาได้ลิ้มรสของเศรษฐกิจเสรีบางช่วงยุคที่ประธานาธิบดีบารัค โอบามาได้ฟื้นฟูความสัมพันธ์ทางการทูตกับคิวบา ทำให้มีนักท่องเที่ยวอเมริกันเข้าไปมาก
เสียงร้องตะโกนในท้องถนนสะท้อนให้เห็นถึงการสิ้นสุดของการอดทน “ปลดปล่อย” “อิสระ เสรีภาพ” นั่นเป็นเป้าหมายหลัก นอกเหนือจากการเรียกร้องให้คนมีงานทำ มีบ้านอยู่อาศัย มีอาหารอย่างพอเพียง ซึ่งแปรสภาพจากยุคที่รุ่งช่วงก่อนทรัมป์
แต่ความเฟื่องฟูเป็นไปในช่วงสั้น เพราะทรัมป์ได้คว่ำบาตรคิวบาอีกรอบ ชีวิตของชาวคิวบาต้องเผชิญกับความขาดแคลนอีกรอบ เศรษฐกิจของคิวบาช่วงการถูกคว่ำบาตรทำให้การนำเข้าสินค้า ดังเช่นรถยนต์ เป็นไปได้ไม่นาน รถยนต์รุ่นโบราณยังเป็นจุดสนใจ
ความรู้สึกต่อต้านรัฐบาลสะท้อนให้เห็นว่าชาวคิวบาหมดความรู้สึกและอารมณ์ร่วมในด้านการปฏิวัติ เพราะไม่ได้ทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น เมื่อเทียบกับพวกที่ได้หลบหนีไปอยู่สหรัฐฯ หลายล้านคน จนกลายเป็นชุมชนใหญ่มีความสำคัญด้านเลือกตั้ง
ถ้าเป็นในยุคปี 1990 ถ้ามีประชาชนแสดงความไม่พอใจกับรัฐบาล ก็จะมีขบวนการจัดตั้งออกมาแสดงความคิดเห็นถล่มกระแสต่อต้านอย่างหนัก ทำให้กลุ่มผู้ต่อต้านขาดแรงสนับสนุน พลังของกระแสปฏิวัติยังอยู่รอดภายใต้ตระกูลคาสโตร
สภาวะสังคมในคิวบาที่อยู่รอดมาได้เพราะระบบสวัสดิการของรัฐ เช่นการศึกษาฟรี การรักษาพยาบาลฟรี โดยคิวบาเป็นเป้าหมายของแหล่งท่องเที่ยวผสมกับการแพทย์ สร้างรายได้มากพอสมควร โดยมาตรฐานทางการแพทย์และชีวภาพอยู่ในขั้นใช้ได้ดี
การแพทย์คิวบา แม้จะขาดอุปกรณ์ที่ทันสมัย ความรู้ด้านการแพทย์ การรักษาสุขภาพได้รับการยอมรับจากผู้ป่วย หรือต้องการฟื้นฟูสุขภาพจากหลายประเทศ โดยเฉพาะการรักษาพยาบาลโดยมีอัตราไม่แพง จึงได้รับความนิยม
แต่โควิด-19 ทำให้สภาวะเช่นนี้หยุดชะงัก รวมทั้งรายได้เป็นเงินตราต่างประเทศ ช่วงการระบาด คิวบาต้องพึ่งการบริจาควัคซีนจากต่างประเทศ เช่น รัสเซียและจีน แต่ขณะนี้อยู่ในช่วงการทดลองวัคซีนที่ผลิตในประเทศ 2 รุ่น ก่อนทดลองใช้กับประชาชน
ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ยังไม่ยอมยกเลิกมาตรการคว่ำบาตร และประกาศสนับสนุนการเคลื่อนไหวของชาวคิวบาที่เรียกร้องสิทธิเสรีภาพ และเรียกร้องให้ผู้นำประเทศรับฟังเสียงเรียกร้องของประชาชนที่ต้องการให้แก้ปัญหาความทุกข์ยาก
ไบเดนบอกว่าถ้าจะมีการเปลี่ยนแปลง ก็ขอให้เป็นไปอย่างปราศจากความรุนแรงฝ่ายผู้นำคิวบาได้กล่าวหาสหรัฐฯ ว่าอยู่เบื้องหลังของการลุกฮือของประชาชนคิวบา
รัสเซียซึ่งเป็นผู้สนับสนุนหลักได้ประกาศเตือนว่าประเทศอื่นๆ ไม่ควรเข้าไปแทรกแซงในกิจกรรมต่างๆ และฉกฉวยประโยชน์ด้านการเมือง พร้อมทั้งเตือนให้เห็นความสำคัญของคิวบาในแง่ยุทธศาสตร์และภูมิศาสตร์ ที่เคยเกิดขึ้นในปี 1962
ยุคนั้นภายใต้ประธานาธิบดี จอห์น เอฟ. เคนเนดี รัสเซียได้ตั้งฐานจรวดในคิวบา มีพิสัยการยิงถึงหลายเมืองของสหรัฐฯ ทำให้เกิดวิกฤตการณ์ปิดล้อมคิวบา จนเสี่ยงต่อการเกิดสงครามโลก หลังการเจรจา ทำให้ถอนจรวดขีปนาวุธออกไป
แต่คิวบาได้รับคำรับประกันจากสหรัฐฯ ว่าจะไม่มีการแทรกแซงอย่างใดทั้งสิ้น แต่คำเตือนของรัสเซียล่าสุดระบุว่าประวัติศาสตร์อาจซ้ำรอยถ้าคิวบาถูกต่างชาติเข้ายุ่งเกี่ยว