xs
xsm
sm
md
lg

อดีตผู้นำแอฟริกาใต้ติดคุก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: โสภณ องค์การณ์


จาค็อบ ซูมา อดีตประธานาธิบดีแห่งแอฟริกาใต้
ประเทศแอฟริกาใต้ได้พิสูจน์ให้เห็นว่า “กฎหมายต้องเป็นกฎหมาย” โดยศาลสั่งจำคุกอดีตประธานาธิบดี จาค็อบ ซูมา 15 เดือนให้ข้อหาหมิ่นศาล ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการไต่สวนคดีคอร์รัปชันยืดเยื้อ ซึ่งซูมาถูกกล่าวหาว่าทุจริตในคดีจัดซื้ออาวุธ

แม้ระยะเวลาจำคุกจะไม่นานมาก ซูมาต้องลำบากในวัยชราด้วยอายุ 79 ปี เป็นผู้นำประเทศแอฟริกาใต้คนที่ 4 ซึ่งผ่านกระบวนการเลือกตั้งแบบประชาธิปไตย และเป็นคนแรกของประเทศที่ต้องโทษอาญาถึงขั้นจำคุก

ผู้นำฝ่ายค้าน Herman Mashaba กล่าวในทำนองสะใจว่า “ในที่สุด ซูมาก็ต้องอยู่ในสถานที่ที่ตัวเองควรอยู่ นั่นคือคุก” และมองว่านี่เป็นชัยชนะของประชาชนที่เบื่อหน่ายกับการทุจริต คอร์รัปชัน ปล้นทรัพย์สินของประเทศอย่างไม่ยำเกรงต่อกฎหมาย

“คำพิพากษายังแสดงให้เห็นว่าระบบนิติรัฐและความเป็นอิสระในกระบวนการยุติธรรมของประเทศ ทั้งเป็นพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตย” นายMashaba ซึ่งเป็นอดีตนายกเทศมนตรีของเมืองโยฮันเนสเบิร์ก บอกผู้สื่อข่าว

ซูมาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีในช่วงปี 2009-2018 ได้ถูกผู้พิพากษาศาลรัฐธรรมนูญ ซิซิ คามเปเป้ ตัดสินว่า “ได้กระทำการดูหมิ่นศาลโดยปราศจากข้อสงสัย” โดยทำให้กระบวนการและความชอบธรรมในการไต่สวนของศาลเสียหาย

ผู้พิพากษายังได้วินิจฉัยว่าซูมาได้ทำการรณรงค์ทางการเมืองเพื่อป้ายสีคณะกรรมการปราบปรามการทุจริต และกระบวนการยุติธรรม และยังได้กล่าวซ้ำหลายครั้งว่าจะยอมติดคุกมากกว่าการยอมไปให้ปากคำต่อคณะกรรมการไต่สวน

“ไม่มีใครอยู่เหนือกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นตำแหน่งหรืออยู่ในสภาวะใด การขัดขืนและไม่เคารพคำสั่งในกระบวนการยุติธรรมสามารถนำไปสู่วิกฤตต่อรัฐธรรมนูญ ไม่เป็นการสมควรที่ผู้ถูกฟ้องสามารถทำอะไรหรือไม่ทำอะไรตามอำเภอใจ”

“การกระทำเช่นนั้นจะทำให้บทบัญญัติรัฐธรรมนูญเป็นเพียงแค่กระดาษเปล่า”

อดีตผู้นำแอฟริกาใต้ผู้อื้อฉาวถูกสั่งให้ไปรายงานตัวต่อตำรวจในเมือง Nkandla ซึ่งเป็นบ้านเกิด หรือโยฮันเนสเบิร์กภายใน 5 วัน ซึ่งไม่มีการรอลงอาญา หลังจากไม่ยอมไปปรากฏตัวให้ปากคำโดยคณะกรรมการปราบปรามการทุจริต

ไม่มีสาเหตุชัดว่าทำไมซูมาแข็งขืนคำสั่ง หรือยังเชื่อมั่นในอำนาจเก่าคงค้าง นอกจากนั้นยังใช้เครือข่ายเดิมรณรงค์สร้างภาพว่าตัวเองถูกกล่าวหาโดยไม่เป็นธรรม

ในการพิจารณาคดีทุจริต พยานสำคัญที่ไปให้ปากคำต่อคณะกรรมการมีทั้งอดีตรัฐมนตรี ข้าราชการระดับสูง เจ้าหน้าที่บริหารองค์กรของรัฐ ซึ่งให้การปรักปรำซูมาว่าเป็นผู้ใช้อำนาจเอื้อประโยชน์ต่อการกระทำทุจริตต่างๆ ช่วงกุมอำนาจรัฐ

ซูมาได้ปฏิเสธข้อกล่าวหาทุจริตโดยตลอด แต่ในช่วงการดำรงตำแหน่งนั้น มีแต่ข่าวอื้อฉาวเรื่องทุจริต คอร์รัปชัน โดยนักธุรกิจมีอิทธิพลอยู่เหนือกระบวนการตัดสินใจของรัฐบาลในการทำกิจกรรมต่างๆ เช่นการจัดซื้ออาวุธ การออกสัมปทาน ฯลฯ

อดีตผู้นำฉาวยังเผชิญข้อหารับสินบนก้อนใหญ่ในการจัดซื้ออาวุธในช่วงปี 1999 แต่ทนายของซูมาได้ยื่นคำร้องขอให้อัยการในคดีถอนตัว โดยกล่าวหาว่าอัยการมีอคติต่อซูมา และตัวเองก็ปฏิเสธข้อกล่าวหาเรื่องการรับสินบนเช่นกัน

แต่พยานหลายคนให้การว่าซูมายอมให้ครอบครัว Gupta ซึ่งเป็นกลุ่มธุรกิจใหญ่ในประเทศได้มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจของซูมาในการแต่งตั้งรัฐมนตรีหลายคน และเอื้อประโยชน์ในการทำสัญญาธุรกิจกับหน่วยงานของรัฐ

พฤติกรรมเอื้อประโยชน์เป็นสภาวะ “state capture” คือการที่กลุ่มนักธุรกิจสามารถมีอิทธิพลเหนือรัฐ ใช้อำนาจทางการเงินและเครือข่ายธุรกิจกอบโกยผลประโยชน์จากโครงการต่างๆ ของรัฐ โดยเจ้าหน้าที่หรือนักการเมืองมีส่วนร่วมในการทุจริต

สภาวะ state capture ได้เกิดขึ้นในหลายประเทศซึ่งกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ และนักการเมืองสร้างผลประโยชน์ร่วมกัน ดังเช่น ฮังการี รัสเซีย ซึ่งกลุ่ม oligarchs กลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ได้กุมสัมปทานสำคัญต่างๆ ในประเทศ เช่นพลังงาน อุตสาหกรรม

ซูมาได้ไปให้ปากคำต่อคณะกรรมการปราบปรามการทุจริตเพียงครั้งเดียว โดยการปฏิเสธข้อกล่าวหา จากนั้นไม่ยอมไปอีก ทำให้หัวหน้าคณะสอบสวน คือตุลาการ เรย์มอนด์ ซอนโด ได้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้สอบสวนพฤติกรรมของซูมา

แต่ซูมาก็ไม่ยอมไปให้ปากคำต่อศาลรัฐธรรมนูญ ไม่อธิบายว่าทำไมไม่ไปปรากฏตัวในการไต่สวนทุจริต และใช้พฤติกรรมดื้อแพ่ง แต่เลือกใช้วิธีการรณรงค์เพื่อหวังให้คณะไต่สวนและกระบวนการยุติธรรมได้รับความเสื่อมเสีย

ผู้พิพากษาคามเปเป้ ได้กล่าวช่วงหนึ่งในการพิพากษาโทษซูมาว่า “ศาลไม่มีทางเลือกอย่างอื่นนอกจากตัดสินให้นายซูมาได้รับโทษจำคุก โดยหวังว่าคำพิพากษานี้จะเป็นการส่งคำประกาศชัดเจนว่าระบบนิติรัฐและนิติธรรมนั้นศักดิ์สิทธิ์”

ซูมาไม่ได้ปรากฏตัวในขณะที่ศาลพิพากษา แต่อ้างโดยตลอดว่าตัวเองนั้นเป็นเหยื่อของการสมรู้ร่วมคิดเพื่อใส่ร้ายป้ายสีทางการเมือง การลงโทษจำคุกครั้งนี้ถือว่าเป็นจุดหักเหสำคัญต่อซูมาซึ่งได้เคยติดคุกเมื่อ 50 ปีที่แล้วในการต่อสู้ทางการเมือง


กำลังโหลดความคิดเห็น