โดย ชญานุช วีรสาร
มหาวิทยาลัยของรัฐหลายแห่งยังมีทั้งข้าราชการและพนักงานมหาวิทยาลัยทำงานร่วมกัน โดยมีข้าราชการเป็นผู้บริหารหลัก ภาระงานของคนทำงานสองประเภทไม่แตกต่างกันนัก ที่ต่างกันคือสวัสดิการ แน่นอนว่าสวัสดิการข้าราชการใครๆ ก็อยากได้ แต่ในเมื่อข้าราชการมหาวิทยาลัยยุติการรับไปแล้วตั้งแต่ 20 ปีก่อน และพนักงานมหาวิทยาลัยก็เริ่มขึ้นมา 20 ปีแล้วเช่นกันตามมติ ครม.ในยุคนั้นที่ผลักให้มหาวิทยาลัยของรัฐออกนอกระบบเพื่อลดภาระงบประมาณแผ่นดิน ความหวังของพนักงานมหาวิทยาลัยจึงอยู่ที่ฐานเงินเดือน 1.5/1.7 เท่าของเงินเดือนข้าราชการเพื่อชดเชยสวัสดิการที่ลดลงอย่างมาก
มหาวิทยาลัยส่วนใหญ่ที่ออกนอกระบบไปแล้ว การปรับเงินเดือนตามมติครม.ก็เป็นไปด้วยความเรียบร้อย บางแห่งยังมีสวัสดิการที่ดีเยี่ยมเกือบเท่าข้าราชการ แม้แต่มหาวิทยาลัยราชภัฏหลายแห่งก็ยังให้ความสำคัญกับประเด็นนี้เช่นกัน
ขณะที่ยังมีผู้บริหารมหาวิทยาลัยส่วนที่เหลือที่ยังไม่ออกนอกระบบเพิกเฉยกับความมั่นคงในอาชีพพนักงานมหาวิทยาลัย เพียงเพราะตนเองยังเป็นข้าราชการอยู่ ไม่พร้อมออกนอกระบบทั้งที่วันหนึ่งก็ต้องออกอยู่ดี ถ้าให้เดาแต่ละคนก็คงมีอายุราชการยังไม่ครบ 25 ปี กลัวต้องเปลี่ยนสภาพเป็นพนักงานมหาวิทยาลัยก่อนจะได้กินบำนาญ!?! เพราะส่วนใหญ่ก็มารับราชการช่วงท้ายๆ แล้ว
เข้าใจได้อยู่ว่าทำงานมานาน 20 ปีใครๆ ก็อยากได้ประโยชน์ แล้วคนที่เสียประโยชน์ร่วม 20 ปีล่ะ
ในความเพิกเฉยนี่เองที่ส่งผลให้เกิดความไม่พอใจของพนักงานมหาวิทยาลัยจำนวนมาก ฟ้องร้องขึ้นโรงขึ้นศาลกันเป็นโดมิโน ผู้บริหารบางแห่งไม่อยากมีคดีความพัวพันในบั้นปลายชีวิตการทำงานที่อุตส่าห์สร้างสมชื่อเสียงมาก็จะรีบแก้ปัญหาตัดไฟแต่ต้นลม เพราะเรื่องเงินเรื่องใหญ่ไม่เข้าใครออกใคร ผลักมิตรไปเป็นศัตรูก็เยอะ ที่สำคัญหากกลายเป็นคดีอาญาขึ้นมา คงไม่มีใครอยากแก่ตายในคุกแน่ แต่ผู้บริหารอีกหลายแห่งก็ทำเป็นทองไม่รู้ร้อนนั่งทับเงินในคลังไว้กลัวรั่วไหล
ปัญหาคาราคาซังนี้ใช่ว่าสภามหาวิทยาลัยจะไม่รับรู้ แต่เพราะเกาหลังกันไปมาทั้งที่ไม่ใช่เงินของตัวเองหรือมหาวิทยาลัยของตัวเองด้วยซ้ำ
จะสังเกตได้ว่าหลายๆ มหาวิทยาลัยจึงพยายามแต่งตั้งผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายระดับบิ๊กๆ ประเภทอัยการ ผู้พิพากษา หรือปรมาจารย์ด้านกฎหมายมาเป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัย เพื่ออะไรก็น่าจะดูกันออก โดยแต่ละคนไม่ได้เกี่ยวข้องโดยตรงกับวงการการศึกษาแต่อย่างใด ฉะนั้น ชงเรื่องปรับฐานเงินเดือนคราใด ปัดตกทุกครั้ง มองเห็นพนักงานมหาวิทยาลัยเป็นพลเมืองชั้นสอง ทั้งที่ความจริงแล้วทุกวันนี้พนักงานมหาวิทยาลัยมีจำนวนมากกว่าข้าราชการมหาวิทยาลัยหลายเท่า
น่าแปลกใจว่า จะไม่มีฮีโร่สักคนที่จะปลดล็อกปัญหานี้ได้เลยหรือ 20 ปีผ่านมากี่รัฐบาลแล้ว มติ ครม.เหมือนเสือกระดาษ มีคำสั่งศาลปกครองเป็นแนวทางก็แล้ว ตั้งกระทรวงอุดมศึกษาฯ ก็แล้ว ก็ยังไม่ได้รับการเหลียวแล ปล่อยให้พนักงานมหาวิทยาลัยอีกจำนวนมากซึ่งเป็นส่วนสำคัญของการขับเคลื่อนการศึกษาไทยต้องเผชิญชะตากรรมกันเอง
หรือว่านี่คือกับดักของคำว่า “ออกนอกระบบ” จึงเป็นเรื่อง “ตัวใครตัวมัน”