ในขณะนี้มีข่าวลือไปทั่วในวงการเมืองว่า จะมีการยุบสภาฯ หลังจากที่งบประมาณผ่านเรียบร้อยแล้ว และข่าวนี้ถ้าพิจารณาจากสภาวะที่รัฐบาล ซึ่งพรรคพลังประชารัฐเป็นแกนนำ ภายใต้การนำของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในขณะนี้ แล้วมีความเป็นไปได้มาก ทั้งนี้อนุมานจากเหตุปัจจัยดังต่อไปนี้
1. รัฐบาลชุดนี้เป็นรัฐบาลผสม ประกอบด้วยพรรคการเมืองหลายพรรค แต่ที่เห็นว่าพอจะมีอำนาจต่อรองก็มีอยู่เพียง 2 พรรคคือ ภูมิใจไทย และประชาธิปัตย์ แต่ทั้งสองพรรคที่ว่านี้ ในช่วงนี้ดูเหมือนว่าจะมีการกระทบกระทั่งกับผู้นำรัฐบาลในหลายๆ เรื่อง โดยเฉพาะกับพรรคภูมิใจไทยถึงกับลูกพรรคได้บอกให้หัวหน้าพรรคกลับบ้าน
ดังนั้น จึงอนุมานได้ว่าความเป็นเอกภาพของรัฐบาลลดน้อยลง และมีแนวโน้มว่าจะลดลงเรื่อยๆ
2. นอกจากปัญหาภายในของรัฐบาล อันเกิดจากการที่ผู้นำรัฐบาลขัดแย้งกับพรรคร่วมตามข้อ 1 แล้ว ปัญหาภายนอกก็เกิดขึ้น โดยเฉพาะปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำ คนว่างงานเพิ่มขึ้น จนเป็นเหตุให้เกิดปัญหาสังคมตามมา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ปัญหาอาชญากรรม จึงเป็นโอกาสให้ฝ่ายค้านและการเมืองภาคประชาชนออกมาวิพากษ์วิจารณ์โจมตีรัฐบาล ทำให้เกิดวิกฤตศรัทธาต่อรัฐบาลอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะในโลกโซเชียล
3. ตลอดเวลาที่พล.อ.ประยุทธ์ เป็นผู้นำรัฐบาล ทั้งในระบบเผด็จการและในระบอบประชาธิปไตย จัดฉากไม่มีผลงานอะไรที่โดดเด่นพอที่จะอวดอ้างได้ว่าเกิดจากภาวะผู้นำของพล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะเป็นนายกรัฐมนตรีของประเทศไทย เฉกเช่นผู้นำของต่างประเทศที่โลกยกย่องว่าทำเพื่อประเทศ และประชาชน
4. เมื่อใดก็ตาม ที่การระบาดของโควิด-19 ลดลงในระดับคนหมดความกลัว และวันนั้นพล.อ.ประยุทธ์ ยังคงดำรงตำแหน่งผู้นำรัฐบาล เชื่อได้ 100 เปอร์เซ็นต์ว่าจะต้องมีการชุมนุมใหญ่ขับไล่พล.อ.ประยุทธ์ แน่นอน
ด้วยเหตุปัจจัย 4 ประการข้างต้น จึงอนุมานได้ว่ารัฐบาลภายใต้การนำของพล.อ.ประยุทธ์ จะถึงทางตันทางการเมือง และต้องจบลงด้วยการยุบสภาฯ หรือลาออก แต่ถ้าให้ฟันธงทางเลือก 2 ประการนี้ ผู้เขียนเชื่อว่า พล.อ.ประยุทธ์ เลือกยุบสภาฯ มากกว่าลาออก (เว้นไว้แต่ว่าจะมีปัจจัยอื่นที่มีพลังเหนือกว่าทำให้พล.อ.ประยุทธ์ ต้องลาออกแทนการยุบสภาฯ) ทั้งนี้อนุมานจากเหตุปัจจัยดังต่อไปนี้
1. ถ้ามีการยุบสภาฯ โดยที่รัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2560 ยังมีผลบังคับใช้อยู่ พล.อ.ประยุทธ์ และกลุ่มสนับสนุนพล.อ.ประยุทธ์ มีความได้เปรียบทางการเมือง และมีโอกาสที่ตัวเองหรือผู้ที่พล.อ.ประยุทธ์ ไว้ใจจะได้เป็นรัฐบาล เป็นไปได้สูง
2. ถ้ามีการลาออกและมีการสรรหานายกฯ คนใหม่ เชื่อได้แน่นอนว่า จะต้องมีการแก้รัฐธรรมนูญในประเด็นที่ไม่เป็นประชาธิปไตย เช่น การให้อำนาจวุฒิสมาชิกเลือกนายกฯ และการคิดคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ เป็นต้น ซึ่งเท่ากับปลดล็อกให้นักการเมืองตรงกันข้าม ผู้ที่ครองอำนาจรัฐอยู่ในปัจจุบันได้มีโอกาสเข้ามาเป็นรัฐบาล อันอาจก่อให้เกิดผลเสียกับพล.อ.ประยุทธ์ และพวกพ้อง โดยการเข้ามาขุดคุ้ยการกระทำอันมิชอบด้วยกฎหมาย เช่น ในกรณีขายข้าวดีในราคาข้าวเน่า ซึ่งส่อเค้าเห็นแล้วจากการที่กลุ่มไทยไม่ทนนำมาวิพากษ์ผ่านทางสื่อ เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา
ด้วยเหตุปัจจัย 2 ประการนี้ เชื่อได้ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จะไม่เลือกการลาออกแน่นอน
อย่างไรก็ตาม โดยความเห็นส่วนตัวของผู้เขียนในฐานะสื่อ อยากเห็นการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในช่วงนี้ ด้วยการลาออกและสรรหานายกฯ ใหม่ แล้วทำการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตยก่อนแล้วค่อยยุบสภาฯ เลือกตั้ง ภายใต้รัฐธรรมนูญใหม่มากกว่า ทั้งนี้ด้วยเหตุปัจจัยดังนี้
1. ประเทศไทยได้เสียเวลากับการลองผิดลองถูกกับการพัฒนาประชาธิปไตยมามากพอแล้ว จึงควรที่ทุกฝ่ายร่วมมือกันพัฒนาระบอบการปกครองให้สอดคล้องกับวัฒนธรรม ประเพณี ศาสนา ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของความเป็นไทย ด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ครอบคลุมประเด็นต่างๆ ที่ว่านี้
2. ในการเลือกตั้ง ไม่ว่าในระดับท้องถิ่นหรือระดับชาติ จะต้องให้ความรู้แก่ประชาชนในทุกแง่มุมของความเป็นประชาธิปไตย ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด ไม่ควรปล่อยให้พรรคการเมืองในฐานะเป็นองค์กรทางการเมือง และตัวนักการเมืองในฐานะบุคคลสาธารณะ ชี้นำในสิ่งที่ขัดต่อวัฒนธรรม ประเพณี และความเชื่อของประชาชนเพื่อหวังผลทางการเมือง