วันที่ 7 มิถุนายน เราจะเข้าสู่มหกรรมนัดหมายการฉีดวัคซีนครั้งใหญ่ โดยรัฐบาลมีเป้าหมายว่าจะให้ได้วันละ 3 แสนโดส แต่ก่อนหน้านี้เราก็ฉีดมาตลอดอยู่แล้วทั่วประเทศโดยฉีดไปได้ร่วม 4 ล้านโดสแล้วไต่ระดับขึ้นมาอยู่แถวหน้าของอาเซียนเรื่อยๆ เชื่อว่าหลังจากนี้เดือนสองเดือนเราจะขึ้นมาอยู่แถวบนๆ เมื่อแอสตร้าเซนเนก้ามาเต็งที่รัฐบาลแทงเอาไว้วิ่งเข้าเป้า ในขณะที่ชาติอื่นนั้นต้องรอวัคซีนยี่ห้ออื่นที่สั่งจองเอาไว้ และถูกชาติในตะวันตกฮุบไว้หมด
และรัฐบาลยืนยันมาแล้วว่ากลุ่มผู้สูงอายุที่จองผ่านหมอพร้อมนั้น จะได้รับการฉีดแอสตร้าเซนเนก้าอย่างแน่นอน โดยมีซิโนแวคเป็นตัวเสริม แม้ซิโนแวคจะถูกมองว่ามีประสิทธิภาพด้อยกว่าพวกเทคโนโลยีแบบ mRNA พวกไฟเซอร์ โมเดอร์นา แต่ก็มีความปลอดภัยกว่ามาก เพราะเป็นวิธีการที่ใช้กับวัคซีนต่างๆ มานาน
และล่าสุดเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา วัคซีนซิโนแวคที่ถูกด้อยค่าจากบางฝ่ายมานานก็ได้รับการรับรองจากองค์การอนามัยโลกแล้ว โดยผ่านการประเมินทั้งคุณภาพความปลอดภัยและประสิทธิภาพของวัคซีนว่าเป็นไปตามมาตรฐานสากล โดยซิโนแวคเป็นวัคซีนจีนตัวที่สองที่ได้รับการรับรองจากองค์การอนามัยโลกต่อจากซิโนฟาร์ม
แล้วตอนนี้ทางจีนก็พิสูจน์แล้วครับว่า ซิโนแวคสามารถใช้ได้กับผู้สูงอายุเกิน 60 เช่นเดียวกัน ดูอย่าง ศ.นพ.นิธิ มหานนท์ ผอ.โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ยังฉีดวัคซีนซิโนแวคให้คุณพ่อคือพล.ต.อ.ณรงค์ มหานนท์ อายุ 95 ปี ซึ่งมีโรคหัวใจ มีโรคสมอง
ก่อนหน้านี้ราฟาเอล อาราออส ที่ปรึกษารองเลขาธิการสาธารณสุข ชิลี ระบุว่า จากการติดตามผลการฉีดวัคซีนซิโนแวคเป็นเวลา 4 เดือน ผลเป็นที่น่าพอใจมาก และมีตัวเลขที่เป็นบวก โดยข้อมูลอัปเดตข้อมูลการศึกษาที่ผ่านมา มีหัวข้อระบุว่า ประสิทธิภาพของวัคซีนซิโนแวคต่อไวรัส SARS-CoV-2 ในชิลี มีการติดตามกลุ่มตัวอย่าง 10.2 ล้านคน จนถึงวันที่ 1 พ.ค.ที่ผ่านมา
ทั้งนี้ตัวเลขประสิทธิภาพวัคซีนป้องกันการป่วยจนต้องเข้าโรงพยาบาลเพิ่มขึ้นเป็น 87 เปอร์เซ็นต์ ป้องกันการเข้าไอซียูเพิ่มขึ้นเป็น 90.3 เปอร์เซ็นต์ และป้องกันการเสียชีวิตจากโควิด 19 เพิ่มขึ้นเป็น 86 เปอร์เซ็นต์
ทางการอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศที่ร่วมทดลองวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 จากบริษัทซิโนแวคของจีน เปิดเผยผลการทดสอบประสิทธิภาพของวัคซีนล่าสุด ว่าสามารถป้องกันการเสียชีวิตจากโรคโควิดได้ 98 เปอร์เซ็นต์ และสามารถลดจำนวนผู้เข้ารักษาในโรงพยาบาลได้ 96 เปอร์เซ็นต์ หลังจากที่มีการฉีดวัคซีนดังกล่าวให้แก่บุคลากรทางการแพทย์ในกรุงจาการ์ตาจำนวน 120,000 คน ระหว่างเดือนมกราคมถึงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ซึ่งส่งผลให้อัตราการล้มป่วย และเสียชีวิตของบุคลากรทางการแพทย์มีแนวโน้มลดลง
ไม่ต้องดูอื่นไกลหรอกครับ ดูในประเทศจีนเจ้าของวัคซีนซึ่งส่วนใหญ่ใช้วัคซีนซิโนแวคและซิโนฟาร์ม เขาสามารถคุมโควิดได้อยู่หมัด แม้จะเป็นประเทศแรกที่พบการติดเชื้อแต่วันนี้เขามีตัวเลขผู้ติดเชื้ออยู่ที่ 8 หมื่นกว่าคนจากประชากร 1,400 ล้านคน น้อยกว่าประเทศไทยอีก และมีรายงานข่าวว่า จีนฉีดผสมกันระหว่างซิโนแวคกับซิโนฟาร์มด้วยซ้ำไป คือ บางคนได้เข็มแรกยี่ห้อหนึ่ง แต่เข็มสองเป็นอีกยี่ห้อหนึ่ง ทั้งนี้เพราะทั้งซิโนแวคและซิโนฟาร์มนั้นผลิตมาด้วยเทคโนโลยีแบบเดียวกันต่างกันแต่บริษัทผู้ผลิตเท่านั้นเอง
ตอนที่ซิโนแวคยังไม่ผ่านการรับรอง บางคนสงสัยนะครับว่า ทำไมไทยเราจึงไม่สั่งวัคซีนยี่ห้ออื่นที่ดีกว่าและองค์การอนามัยโลกรับรอง ต้องบอกนะครับว่า ช่วงที่มีการจองวัคซีนนั้น ยังไม่มีใครรู้เลยว่าวัคซีนตัวไหนจะประสบความสำเร็จก่อนกันและได้ผลดีกว่ากัน และยังไม่มีตัวไหนที่ได้รับการรับรองจากองค์การอนามัยโลก ดังนั้นจึงเป็นการแทงม้าอย่างที่ว่ากันนั่นแหละ
และเมื่อแอสตร้าเซนเนก้าเลือกประเทศไทยเป็นศูนย์กลางในการผลิตวัคซีนในภูมิภาคนี้ จึงเป็นความโชคดีของเราที่จะเข้าถึงวัคซีนได้ง่ายกว่าใคร และตอนนี้รัฐบาลก็พยายามจัดหาวัคซีนยี่ห้ออื่นเข้ามาอีก
สำหรับแอสตร้าเซนเนก้า แม้จะใช้เทคโนโลยีต่างๆ กับซิโนแวค แต่เป็นการใช้ไวรัสที่ไม่เป็นอันตรายต่อมนุษย์เป็นพาหะ เช่นเดียวกับวัคซีนสปุตนิก 5 ของรัสเซีย ก็ยังมีความปลอดภัยกว่าวัคซีนที่ผลิตด้วยเทคโนโลยี mRNA ดังนั้นพูดได้เลยว่า วัคซีนที่เรามีแอสตร้าเซนเนก้า ซิโนแวค รวมถึงวัคซีนตัวเลือกที่สถาบันจุฬาภรณ์จะสั่งเข้ามาคือ ซิโนฟาร์มของจีนนั้นมีความปลอดภัยกว่าพวกไฟเซอร์ และโมเดอร์นา ที่เป็น mRNA อย่างแน่นอน
วัคซีนที่ใช้เทคโนโลยี mRNA เพิ่งจะนำมาใช้ในมนุษย์เป็นครั้งแรก ไม่เคยมีการผลิตวัคซีนโดยใช้วิธีตัดต่อยีนเช่นนี้มาก่อน ไม่มีใครบอกได้ว่าสุดท้ายแล้วมันจะสร้างโปรตีนเพี้ยนที่ร่างกายคุมไม่ได้หรือไม่ อาจต้องใช้เวลาหลายปีจึงจะทราบผลข้างเคียง และถึงวันนั้นไม่มีใครรู้ว่าเราจะพบกับอาการที่ไม่พึงปรารถนาอย่างไรบ้าง
โอเคละครับว่ามีการพิสูจน์กันทางวิทยาศาสตร์ว่าพวกวัคซีน mRNA นั้นอาจมีประสิทธิภาพมากกว่า หรือในอนาคตอาจจะพิสูจน์ได้ว่าวัคซีนแบบ mRNA ไม่ได้มีผลต่อร่างกายในอนาคตอย่างที่หวั่นไปก็ได้ แต่ก็เชื่อว่าวัคซีนทุกชนิดไม่ได้ด้อยกว่ากันมากนัก
เราคงได้ยินข่าว ราเจนดรา คาปิลา ศาสตราจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดต่อแห่งมหาวิทยาลัยรัตเกอร์ส รัฐนิวเจอร์ซีย์ สหรัฐฯ ซึ่งฉีดวัคซีนไฟเซอร์ครบสองโดสแล้ว เดินทางไปยังอินเดียในช่วงปลายเดือนมีนาคม และมีกำหนดบินกลับอเมริกาในช่วงกลางเดือนเมษายน แต่เขาถูกพบติดเชื้อโควิด-19 ในวันที่ 8 เมษายน จากนั้นก็เข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลแห่งหนึ่งในกรุงนิวเดลีแล้วเสียชีวิต
และรายงานที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 26 พ.ค. เผยว่าจากการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิดในญี่ปุ่นให้ประชาชน 6,016,200 คน มีผู้เสียชีวิต 85 รายในช่วงอายุ 25-102 ปี สาเหตุการเสียชีวิต คือ หลอดเลือดในสมองแตก, หัวใจล้มเหลว, เลือดออกในเยื่อหุ้มสมอง, หลอดเลือดสมองอุดตัน และโรคชรา เป็นต้น
ผู้เสียชีวิตเหล่านี้ตายหลังได้รับวัคซีนโควิดของ “ไฟเซอร์” เพียงแต่ยังไม่มีข้อมูลพิสูจน์ชัดเจนว่าเสียชีวิตจากผลของวัคซีน ทางกระทรวงฯ กำลังรวบรวมข้อมูลเพิ่มเติม
ดังนั้นผมคิดว่าเราอย่าไปเกี่ยงยี่ห้อเลยครับ แม้จะมีประสิทธิภาพต่างกันอยู่บ้าง แต่วัคซีนที่คนไทยมีนั้นมีความปลอดภัยกว่าวัคซีนที่เราคิดว่าทำไมคนไทยไม่มี และไขว่คว้าอยากจะได้ และบางคนบินไปฉีดถึงต่างประเทศเพื่ออวดว่าได้รับวัคซีนที่ดีกว่า แต่จริงแล้วไม่ได้ดีกว่ากันมากมายหรอก และยังเป็นเทคโนโลยีที่ยังน่ากังขาด้วยซ้ำไป
เท่าที่สดับตรับฟังวันนี้ ผมคิดว่าคนไทยไม่กลัววัคซีนแล้วล่ะ และรู้ว่า โอกาสติดโควิดและตายนั้นมีสูงกว่าการฉีดวัคซีน ซึ่งแม้จะมีผลข้างเคียงบ้างก็มีโอกาสน้อยมาก ในขณะที่ยอดผู้เสียชีวิตจากโควิดในบ้านเรานั้นทะลุ 1,000 คนไปแล้ว และยังจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
อาจจะมีบางคนบางพวกอยู่บ้างที่ไม่แยกแยะอคติทางการเมืองกับรัฐบาลพยายามด้อยค่าตัวเอง ด้อยค่าวัคซีนที่ตัวเองมี เล่นการเมืองไม่แยกแยะแม้แต่สถานการณ์โรคระบาดที่ควรจะต้องช่วยกันฟันฝ่าวิกฤตให้ผ่านพ้นไป
ติดตามผู้เขียนได้ที่ https://www.facebook.com/surawich.verawan