ก.สาธารณสุข เผย สัปดาห์นี้กระจายวัคซีนโควิด 2 ล้านโดสทุกจังหวัด สัดส่วนตามสถานการณ์ระบาด รองรับคิกออฟฉีดวัคซีนวันที่ 7 มิถุนายนนี้ WHO ชี้ วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า และซิโนแวค ที่ไทยใช้ ป้องกันอาการป่วยรุนแรงและเสียชีวิตได้ มีความปลอดภัยสูง ขอคนไทยเข้ารับการฉีดวัคซีน
วันนี้ (2 มิถุนายน 2564) กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย สถาบันวัคซีนแห่งชาติ จัดบรรยายสรุปเรื่องการกระจายวัคซีนในประเทศไทย ผ่านทางออนไลน์ด้วยระบบ Zoom โดย นายแพทย์โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ขณะนี้ได้ทยอยส่งวัคซีนโควิด-19 ทั้งวัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้า และซิโนแวค ให้ทุกโรงพยาบาลแล้ว เพื่อคิกออฟฉีดวัคซีนโควิด 19 ในวันที่ 7 มิถุนายน 2564 พร้อมกันทุกพื้นที่ โดยคนที่ลงทะเบียนผ่านหมอพร้อมตั้งแต่เดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ได้รับการฉีดวัคซีนตามการนัดหมายของสถานพยาบาล ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขจะทยอยส่งวัคซีนให้โรงพยาบาลเป็นงวดๆ ในแต่ละสัปดาห์ ตามการจัดส่งของผู้ผลิต โดยสัปดาห์นี้จะกระจายวัคซีนทั้งของแอสตร้าเซนเนก้าและซิโนแวครวมประมาณ 2 ล้านโดส คาดว่าทั้งเดือนมิถุนายนจะมีการส่งวัคซีนประมาณ 5-6 ล้านโดส จัดส่งให้ทุกจังหวัด ส่วนพื้นที่ระบาดจะได้รับสัดส่วนสูงกว่าพื้นที่ระบาดน้อย เช่น กรุงเทพมหานครได้รับประมาณ 1 ล้านโดส จะส่งให้ 5 แสนโดสก่อนใน 2 สัปดาห์แรก ยืนยันว่าจะได้รับวัคซีนครบทุกจังหวัดภายใน 4-6 เดือน สำหรับการฉีดวัคซีนยึดตามหลักข้อบ่งชี้ทางการแพทย์และสาธารณสุข
นายแพทย์นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ กล่าวว่า ตามนโยบายประเทศไทยจะจัดหาวัคซีนให้ได้ 100 ล้านโดส ครอบคลุมร้อยละ 70 ของประชากร ภายในปี 2564 ขณะนี้จัดหาแล้วคือวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า 61 ล้านโดส เนื่องจากอยู่ในสถานการณ์ฉุกเฉิน จึงเป็นการผลิตไปส่งมอบไป โดยจะมีการเจรจาการส่งมอบและจัดสรรอย่างต่อเนื่องในแต่ละเดือน และซิโนแวคตั้งเป้าจัดหา 10-15 ล้านโดส ขณะนี้ส่งมอบแล้ว 6 ล้านโดสที่เหลือจะทยอยส่งมอบประมาณเดือนละ 3 ล้านโดส ได้รับบริจาคจากรัฐบาลจีน 1 ล้านโดส ส่วนวัคซีนของไฟเซอร์และจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน อยู่ระหว่างเจรจาเงื่อนไขในสัญญา โดยไฟเซอร์คาดว่าจัดหาให้ได้ 20 ล้านโดส ภายในไตรมาส 3 และจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน 5 ล้านโดสภายในไตรมาส 4 หากรวมวัคซีนทั้งหมดคาดว่าเกิน 100 ล้านโดส
นายแพทย์จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า สปสช.สนับสนุนค่าบริการฉีดวัคซีนโควิด-19 ทั้งในและนอกโรงพยาบาล และเตรียมงบประมาณสำหรับค่าเสียหายเบื้องต้นจากอาการไม่พึงประสงค์หลังฉีดวัคซีนโควิด-19 ไม่ต้องรอการตรวจสอบ โดยผู้เสียหายสามารถยื่นเรื่องมาที่ สปสช.จะมีคณะกรรมการพิจารณาให้แล้วเสร็จใน 5 วัน ทั้งนี้ ไม่มีการกำหนดลักษณะอาการไม่พึงประสงค์หากสงสัยว่ามีอาการเกี่ยวข้องกับวัคซีนสามารถยื่นเรื่้องได้ หรือปรึกษากับแพทย์ หากเกี่ยวกับวัคซีนแพทย์จะช่วยดำเนินการยื่นเรื่องเยียวยา หลังเปิดยื่นเรื่องมา 2 สัปดาห์ รับเรื่องแล้ว 250 ราย ชดเชยแล้ว 150 รายอาการไม่พึงประสงค์ส่วนใหญ่ คือ การนอนโรงพยาบาล ส่วนใหญ่มีอาการชา คลื่นไส้ อ่อนเพลีย ส่วนคนที่มีประกันเอกชนสามารถยื่นเรื่องได้เช่นกัน
ดร.ซุมยา สวามินาธาน หัวหน้านักวิทยาศาสตร์ขององค์การอนามัยโลก กล่าวว่า วัคซีนโควิด-19 แต่ละตัว ไม่สามารถนำตัวเลขประสิทธิภาพมาเปรียบเทียบได้ เนื่องจากระเบียบวิธีการวิจัยต่างกัน สถานการณ์การระบาดและสายพันธุ์ที่ระบาดในแต่ละประเทศต่างกัน สิ่งสำคัญคือต้องดูเรื่องการป้องกันโรครุนแรงและเสียชีวิต ซึ่งวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าและซิโนแวคป้องกันอาการรุนแรงและเสียชีวิตได้ การฉีดวัคซีน 2 เข็มควรเป็นวัคซีนตัวเดียวกัน โดยขณะนี้กำลังศึกษาประสิทธิผลของการฉีดวัคซีนครบ 2 เข็ม ว่า ป้องกันยาวนานแค่ไหน ขณะนี้มีข้อมูลแค่ช่วง 6 เดือน เนื่องจากยังต้องใช้เวลาในการศึกษา สำหรับคนที่ติดโควิดมาแล้วก็ยังต้องฉีดวัคซีนเพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกัน แต่หากวัคซีนในประเทศไม่เพียงพอ คนกลุ่มนี้รอฉีดได้ประมาณ 6 เดือน
ด้าน นายแพทย์แดเนียล เคอร์เทสซ์ ผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย กล่าวว่า การฉีดวัคซีนจำนวนมากตั้งแต่วันที่ 7 มิถุนายนของประเทศไทย เป็นเรื่องที่ดีมาก ทั้งนี้ วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าและซิโนแวคมีประสิทธิภาพและความปลอดภัยสูง ทั่วโลกมีการใช้แล้วช่วยป้องกันการเสียชีวิตได้ จึงขอให้ทุกคนไปรับการฉีดวัคซีน โดยเฉพาะผู้สูงอายุและ 7 โรคเรื้อรังที่เป็นกลุ่มเสี่ยงอาการรุนแรงและเสียชีวิตสูง นอกจากนี้ สื่อมวลชนมีความสำคัญช่วยในการช่วยควบคุมโรคและส่งเสริมให้ประชาชนเข้ารับวัคซีน ด้วยการให้ข้อมูลที่ถูกต้องแก่ประชาชนให้เข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้น ประเมินความเสี่ยงตัวเองได้ว่าอยู่กลุ่มไหน ควรทำอะไรอย่างไร เพราะไม่ใช่แค่วัคซีนที่ป้องกันการชีวิตได้ การให้ข้อมูลที่ถูกต้องจะป้องกันการเสียชีวิตได้ด้วย และย้ำว่าแม้ฉีดวัคซีนแล้วการ์ดอย่าตกยังต้องใส่หน้ากาก ล้างมือ เว้นระยะห่างเหมือนเดิม